×

รู้จัก 22 ชนิดกีฬาที่แข่งขันใน ‘พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’ (ตอนที่ 1)

โดย THE STANDARD TEAM
25.08.2021
  • LOADING...
Sports in Paralympic Games

การแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ได้เริ่มต้นแล้วในวันนี้ แต่ชนิดและประเภทของการแข่งขันนั้นมีความแตกต่างจากการแข่งขันกีฬาทั่วไปอยู่ โดยเฉพาะการจัดหมวดหมู่ (Classifications) ในการแข่งขันในแต่ละประเภทหรือชนิดกีฬา

 

เพื่อความเข้าใจสำหรับคนที่ยังไม่ทราบรายละเอียด จะได้ติดตามเชียร์ได้อย่างสนุกขึ้น THE STANDARD จึงขอรวบรวมข้อมูลของการแข่งขันกีฬาทั้ง 22 ชนิดมาให้ทราบกัน

 

วันนี้มาเริ่มกันใน 11 ชนิดกีฬาแรกกันก่อน!

 

ยิงธนู (Archery): สำหรับการแข่งขันยิงธนู จะแบ่งออกเป็น 3 หมวดหมู่ด้วยกันคือ W1 (นักกีฬาที่ใช้วีลแชร์) Open Recurves (คันธนูโค้งกลับ) และ Open Compound (คันธนูทดกำลัง)

 

กรีฑา (Athletics): การแข่งขันกรีฑาในพาราลิมปิกเกมส์ เป็น 1 ใน 2 ชนิดกีฬาร่วมกับว่ายน้ำที่จะมีการแข่งขันสำหรับผู้พิการทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นความบกพร่องทางกายภาพ บกพร่องทางสายตา และบกพร่องทางการเรียนรู้

           

การแข่งกรีฑาจะมีการจัดหมวดหมู่ด้วยตัวอักษร F (นักกรีฑาประเภทลาน), และ T (นักกรีฑาประเภทลู่) ต่อด้วยตัวเลข เช่น T11 นักกรีฑาที่บกพร่องทางการมองเห็น ลงแข่งวิ่งโดยมีนักวิ่งนำทาง (Guide Runner) หรือ T12 นักกรีฑาที่บกพร่องทางสายตา แต่เลือกได้ว่าจะใช้นักวิ่งนำทางหรือไม่

 

แบดมินตัน (Badminton): กีฬาที่เปิดตัวครั้งแรกในพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียวครั้งนี้ กติกาส่วนใหญ่ไม่ต่างจากการแข่งขันแบดมินตันปกติ แข่งเกมละ 21 แต้ม ใช้ระบบ 3 เกม ใครชนะ 2 เกมก่อนชนะ นักกีฬาจะมีประเภทวีลแชร์ WH1 และ WH2 นักกีฬาที่พิการร่างกายส่วนล่าง SL3 นักกีฬาที่พิการร่างกายส่วนบน SU5 และนักกีฬาที่มีรูปร่างแคระ SH6

 

บอคเซีย (Boccia): การแข่งขันกีฬาในร่ม สำหรับนักกีฬาที่มีภาวะสมองพิการ หรือไม่สามารถควบคุมกล้ามเนื้อได้ โดยขนาดสนามจะเท่ากับสนามแบดมินตัน นักกีฬาจะแบ่งออกเป็น 2 ฝั่ง ฝั่งหนึ่งถือลูกบอลสีแดง อีกฝั่งถือลูกบอลสีน้ำเงิน แต่ละฝั่งจะมีลูกฟุตบอลคนละ 6 ลูก วิธีการเล่นคือการขว้างลูกบอลให้ใกล้ลูกสีขาวที่เรียกว่า The Jack ให้มากที่สุด ใครขว้างใกล้กว่าคนนั้นชนะ

 

สำหรับบอคเซียจะมีการแบ่งหมวดหมู่ตั้งแต่ BC1-4 ตามสภาพร่างกาย เช่น BC1 มีภาวะสมองพิการแต่ยังใช้มือหรือเท้าได้ โดยไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ช่วยเหลือ

 

เรือแคนู (Canoe): มีการแข่งเรือ 2 ประเภทคือ คายัค (ตัวอักษรย่อ KL ใบพายคู่) และ วา (ตัวอักษรย่อ VL ใบพายเดี่ยว เรือจะยาวกว่า) โดยพายในระยะทาง 200 เมตร

 

จักรยาน (Cycling): การแข่งขันจักรยานในพาราลิมปิกเกมส์หรือพาราไซเคิลจะมีทั้งประเภทถนน (Road) และประเภทลู่ (Track) ซึ่งจะมีจักรยานหลายประเภท เช่น จักรยานปกติ (C1-5) จักรยานที่มีผู้ซ้อนท้าย (B) จักรยานสามล้อ (T1-2) และจักรยานที่ใช้มือปั่น (Handcycle H1-5)

 

ขี่ม้า (Equestrian): กีฬาขี่ม้าในพาราลิมปิกเกมส์เป็นการแข่งเดรสซาจ โดยแบ่งนักกีฬาออกเป็น 5 เกรด (Grade 1-5) ตามความบกพร่องของร่างกาย เช่น Grade 1 นักกีฬาที่มีความบกพร่องทางร่างกายรุนแรง และต้องใช้วีลแชร์ในชีวิตประจำวัน

 

ฟุตบอล (Football 5-a-side): การแข่งขันฟุตบอลของพาราลิมปิกเกมส์ถือเป็นไฮไลต์หนึ่ง เพราะนักกีฬาที่แข่งคือคนที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น โดยจะแข่งกันข้างละ 5 คน ทุกคนจะสวมอุปกรณ์ปิดตายกเว้นผู้รักษาประตูที่มองเห็น แต่ไม่สามารถออกมาเล่นนอกเขตได้ และไม่มีกฎล้ำหน้าแต่อย่างใด

 

ลูกฟุตบอลที่ใช้แข่งจะมีตลับลูกปืนภายในเพื่อทำให้เกิดเสียงในเวลาบอลเคลื่อนที่ และจะมีโค้ชที่คอยสั่งการอยู่ด้านหลังด้วย

 

โกลบอล (Goalball): การแข่งสำหรับนักกีฬาที่มีความบกพร่องทางการมองเห็น นักกีฬาทุกคนใส่ผ้าปิดตา และกติกาง่ายๆ คือ ให้ขว้างบอลเข้าประตูคู่แข่งให้มากที่สุด ในการแข่งขัน 2 ครึ่ง ครึ่งละ 12 นาที ทีมไหนยิงเข้าเยอะกว่าทีมนั้นชนะ

 

ลูกบอลที่ใช้จะมีกระดิ่งข้างในเพื่อช่วยเหลือนักกีฬา ซึ่งทำให้การแข่งขันกีฬาประเภทนี้จะต้องแข่งในความเงียบ

 

ยูโด (Judo): อีกชนิดกีฬาที่แข่งโดยนักกีฬาที่บกพร่องทางการมองเห็นเท่านั้น ไม่มีการจัดหมวดหมู่ตามความบกพร่อง แต่จะมีการแบ่งระดับตามน้ำหนักเหมือนการแข่งยูโดทั่วไป ข้อแตกต่างเดียวคือก่อนเริ่มแข่งนักกีฬาจะจับเสื้อของคู่ต่อสู้ไว้ก่อน และที่ชายชุด Judogi (ชุดแข่ง)

 

ยกน้ำหนัก (Powerlifting): การแข่งขันยกน้ำหนักในพาราลิมปิกเกมส์เปิดกว้างสำหรับนักกีฬาที่มีความบกพร่องทุกประเภท โดยมีการแบ่งตามน้ำหนักอย่างเดียว เพราะงานนี้คนที่ทรงพลังกว่า ยกน้ำหนักได้มากที่สุดก็คือผู้ชนะ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X