เพราะการแข่งขันกีฬาไม่ได้มีแค่คำว่าชนะแต่มีคำว่าแพ้ด้วย นั่นทำให้แม้จะพยายามอย่างสุดความสามารถแล้ว แต่ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม ก็ไม่สามารถล้ม ปีเตอร์ โรเซนไมเออร์ นักตบลูกเด้งแชมป์เก่าจากพาราลิมปิกเกมส์ 2016 ที่รีโอเดจาเนโร ได้ในรอบรองชนะเลิศของ ‘โตเกียวเกมส์’ เมื่อช่วงเช้าวันเสาร์ที่ผ่านมา
ผลงานนั้นอาจจะเป็นสิ่งที่น่าผิดหวังเมื่อคิดถึงเป้าหมาย แต่อย่างน้อยนักเทเบิลเทนนิสขวัญใจชาวไทยก็คว้าเหรียญทองแดงพาราลิมปิกเกมส์มาครองได้อีกสมัย หลังจากที่เคยไปถึงจุดสูงสุดของโลกมาแล้วกับเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ที่กรุงลอนดอนเมื่อปี 2012
และเมื่อคิดถึงเรื่องราวในชีวิตที่ผ่านมาของรุ่งโรจน์แล้ว นี่ไม่ใช่ความพ่ายแพ้ครั้งแรกของเขา และทุกครั้งที่พลาดล้มลงก็จะมีแรงฮึดที่จะกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่ได้เสมอ ซึ่งเขายังเหลือการแข่งขันเทเบิลเทนนิสประเภททีม ที่มีโปรแกรมลงสนามในวันที่ 31 สิงหาคมนี้
THE STANDARD อยากชวนทุกคนมาทำความรู้จักกับเรื่องราวของนักเทเบิลเทนนิสที่ไม่ธรรมดาคนนี้กัน
– เพราะคลอดก่อนกำหนด ทำให้ รุ่งโรจน์ ไทยนิยม เกิดมาพร้อมกับแขนขาที่ลีบ ต้องใช้ชีวิตอยู่ในโรงพยาบาลเพื่อบำบัดฟื้นฟูมาตั้งแต่วัยเด็ก แต่ด้วยความพยายาม ทำให้เขาสามารถเดินและเริ่มทำกิจกรรมได้เหมือนกับคนทั่วไป
– เด็กชายรุ่งโรจน์ไม่ได้เข้าศึกษาในโรงเรียนพิเศษเพราะอยากจะใช้ชีวิตแบบคนปกติทั่วไปให้มากที่สุด เพียงแต่มันก็ไม่ใช่เรื่องง่ายนักที่จะหลีกเลี่ยงการโดนล้อเลียนจากเพื่อนที่ไม่เข้าใจ แต่รุ่งโรจน์ยืนยันว่าเขาไม่เอาคำพูดเหล่านั้นเก็บมาคิดเพื่อบั่นทอนอะไร เพราะที่บ้านสอนให้มองโลกในแง่ดีเสมอ
– โชคดีอีกอย่างคือการที่รุ่งโรจน์ได้พบกับเพื่อนกลุ่มนึงที่ไม่มองเขาอย่างแตกต่าง สามารถเป็นเพื่อนที่ดีต่อกันได้อย่างจริงใจ
– รุ่งโรจน์มีร่างกายที่ไม่แข็งแรงเหมือนคนทั่วไปจึงต้องพยายามหาทางพัฒนาร่างกายเสมอ และไม่มีอะไรดีไปกว่าการเล่นกีฬา ซึ่งหลังผ่านการคิดมาอย่างดีแล้วพบว่ากีฬาที่มีความเหมาะสมกับเขาคือเทเบิลเทนนิสหรือปิงปองนั่นเอง
– จากการเล่นเพื่อหวังให้แข็งแรง กลายเป็นการตกหลุมรัก หลงใหล และปิงปองได้กลายเป็นประตูวิเศษที่เปิดเส้นทางชีวิตใหม่ให้แก่รุ่งโรจน์ในเวลาต่อมา ทั้งจากการได้โอกาสเข้าศึกษาในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอย่างหอวัง และการได้มีโอกาสแข่งกับนักกีฬาระดับอาชีพของสโมสรตำรวจ ทั้งๆ ที่ในช่วงนั้นเขาต้องแข่งขันกับคนปกติทั่วไป
– การลงแข่งขันและการซ้อมร่วมกับคนทั่วไปกลายเป็นข้อได้เปรียบ เพราะสปีดของบอลจะเร็วกว่าคนพิการพอสมควร ซึ่งเมื่ออายุ 15 ปี รุ่งโรจน์ได้รับคำแนะนำจากรุ่นพี่ให้ลองคัดตัวนักกีฬาคนพิการทีมชาติ และด้วยฝีไม้ลายมือที่ฝึกปรือมาอย่างเข้มข้นทำให้เขาได้รับการคัดเลือกที่สุด
– แต่การแข่งขันในนามทีมชาติครั้งแรกที่ประเทศญี่ปุ่น รุ่งโรจน์ต้องพบกับความจริงว่าโลกใบนี้กว้างใหญ่ เขาแพ้กลับมา แต่ก็กลายเป็นบทเรียนและกำลังใจในชีวิต ความพ่ายแพ้นั้นปลุกไฟในตัวทำให้เขาอยากจะเก่งให้มากขึ้นกว่านี้ และพร้อมจะลงแข่งเรื่อยๆ เพื่อวัดฝีมือของตัวเองว่าอยู่ในระดับไหน
– จนกระทั่งในปี 2003 เขาคว้าเหรียญทองแรกในชีวิตได้สำเร็จจากการแข่งขันอาเซียนพาราเกมส์ ที่ประเทศเวียดนาม ซึ่งถือเป็นการปลดล็อกครั้งสำคัญของชีวิต นอกจากจะไม่มีใครในโรงเรียนที่ล้อเลียนเขาอีกเลย ยังทำให้เขาเชื่อว่าเขาเอาดีทางนี้ได้
– รุ่งโรจน์ก้าวไม่หยุด จากอาเซียนพาราเกมส์ไปสู่เฟสปิกเกมส์ในปี 2006 (ก่อนจะมีการเปลี่ยนชื่อเป็นเอเชียนพาราเกมส์ในเวลาต่อมา) ที่เขาคว้าเหรียญทองได้ และทำให้เขามองไปสู่จุดสูงที่สุดคือการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์
– แต่พาราลิมปิกเกมส์ครั้งแรกเป็นเหมือนฝันร้าย เพราะนอกจากจะต้องหาผู้สนับสนุนให้เขาอย่างยากลำบากเพื่อให้เดินทางไปแข่งขันเก็บคะแนนก่อนจะเพียงพอลงแข่งที่กรุงปักกิ่งได้ รุ่งโรจน์ยังพ่ายแพ้ตกรอบแรกอีกด้วย
– ความพ่ายแพ้ครั้งนี้ทำให้เขาท้อแท้ถึงขีดสุดถึงขั้นกลายเป็นเด็กติดเกม เล่นเกมเพื่อหนีจากความจริงเพราะคิดว่าทุกอย่างมืดมนไปหมดแล้ว
– โชคดีที่ความพยายามของพ่อและโค้ชในการดึงเขากลับมาสู่แสงสว่างอีกครั้งสำเร็จ และในวันแรกที่กลับมาซ้อม รุ่งโรจน์ที่กลัวไปเองว่าจะโดนต่อว่าจากทุกคนกลับได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น ทำให้เด็กหนุ่มคนนี้เข้าใจชีวิตมากขึ้นทันทีว่าความกลัวคือสิ่งที่เขาสร้างขึ้นมาเอง มันไม่ใช่ความจริง
– และนั่นทำให้เขากลับมาจริงจังยิ่งกว่าเดิม ก่อนที่สุดท้ายจะสามารถพิชิตเหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์ได้สำเร็จที่ลอนดอน ในปี 2012 โดยครั้งนั้นเขาลงแข่งแบบนักกีฬาโนเนม ไม่มีชื่อเสียง ทำให้เล่นแบบไม่มีอะไรจะเสีย ปราศจากความกดดัน
– สำหรับรุ่งโรจน์ เหรียญทองพาราลิมปิกเกมส์คือความฝันที่เป็นจริงสำหรับเขาแล้ว แต่ก็ยังอยากจะทำฝันครั้งต่อไปให้สำเร็จ
– แม้ว่ารุ่งโรจน์จะยังไม่สามารถกลับมาคว้าเหรียญทองได้อีกในริโอเกมส์และโตเกียวเกมส์ แต่อย่างน้อยเขาก็ไม่เคยละความพยายาม และต่อให้พ่ายแพ้ครั้งใด เขาก็พร้อมจะกลับมาลุกขึ้นสู้ใหม่เสมอ
– เพราะหนึ่งในแรงบันดาลใจที่สำคัญเวลานี้ของรุ่งโรจน์ในวัย 33 ปี คือการได้รับโอกาสจาก บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ในการรับเข้าเป็นพนักงานประจำและให้การสนับสนุนด้านกีฬาอย่างเต็มที่ พร้อมด้วยครอบครัว โดยเฉพาะลูกๆ ที่ทำให้เขาอยากพยายามในทุกๆ วัน เพื่อให้ลูกได้ทันเห็นความสำเร็จของตัวเองและทำให้รู้ว่าพ่อสามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี