ก่อนหน้านี้คนไทยแทบไม่เคยรู้เลยด้วยซ้ำว่าเรามีฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยอยู่ จนกระทั่งเริ่มเป็นที่พูดถึงมากขึ้นเมื่อ 3 ปีที่แล้ว เมื่อเหล่าแข้งหูทิพย์ของไทยสามารถคว้าสิทธิ์ในการไปแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์คนตาบอด (World Blind Football Championship) หรือฟุตบอลโลกของคนตาบอด ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน
จากจุดนั้นทำให้ฟุตบอลของคนตาบอดเป็นที่รู้จักมากขึ้นในวงกว้าง นอกจากชื่อเสียงที่อาจจะไม่ได้มากมายแล้ว นักเตะทีมชาติไทยชุดนี้ก็ได้รับสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ ทั้งในเรื่องของการหล่อเลี้ยงด้วยการสนับสนุนจากผู้ที่มองเห็นคุณค่าและความหมายในสิ่งที่พวกเขาทำ
รวมถึงสิ่งสำคัญที่สุดที่พวกเขาต้องการ คือ กำลังใจจากแฟนฟุตบอล
มาถึงวันนี้ฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทย ซึ่งต้องบอกว่าเราโชคดีที่ได้สิทธิ์เข้าร่วมการแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 แบบคาดไม่ถึง เนื่องจากทีมชาติอิหร่านได้ขอถอนตัวไป ทำให้ไทยได้สิทธิ์เป็น 1 ใน 3 ตัวแทนของเอเชียร่วมกับจีนและญี่ปุ่น
โดยทีมที่ผ่านเข้ามาในพาราลิมปิกเกมส์นั้นมีแค่ 8 ทีมเท่านั้นจากทั่วโลก เรียกได้ว่าทีมชาติไทยเองก็นับเป็น ‘แปดอรหันต์’ ของโลกลูกหนังคนตาบอดเหมือนกัน
และเพราะพาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้นับเป็นครั้งแรก จึงไม่มีใครอยากให้โอกาสครั้งนี้ผ่านไปโดยไม่พยายามอย่างเต็มที่
ในส่วนของแรงสนับสนุนคราวนี้ สมาคมกีฬาคนตาบอดแห่งประเทศไทยยิ่งพยายามสนับสนุนมากขึ้น โดยมีการนำนักวิทยาศาสตร์การกีฬาต่างๆ รวมถึงนักกายภาพบำบัด นักโภชนาการ นักจิตวิทยา มาช่วยวางแผนงานอย่างเป็นระบบในการสร้างกล้ามเนื้อ ดูแลฟื้นฟูอาการบาดเจ็บ และเรื่องโภชนาการ
ที่มีขนาดนี้ได้เพราะมีกองทุนพัฒนาการกีฬาแห่งชาติ การกีฬาแห่งประเทศไทย, บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด, บริษัทฟุตบอลล์ไทย จำกัด และคณะกรรมการพาราลิมปิกแห่งประเทศไทย ที่ยื่นมือมา นอกจากจะจับกันแน่นแล้ว ยังช่วยตบบ่าให้ว่า ‘ในสนามลุยให้เต็มที่ ที่เหลือจะสนับสนุนให้เอง’
ถึงจะเป็นพาราลิมปิกเกมส์หนแรก แต่สมาคมกีฬาคนตาบอดตั้งเป้าหมายเอาไว้สูงสุดที่เหรียญทอง
ขณะที่ผู้ฝึกสอนอย่าง โค้ชก้อง-ก้องเกียรติ ก้องแดนไพร มองว่าความหวังอย่างน้อยคือการเข้ารอบ 4 ทีมสุดท้ายให้ได้ เรียกได้ว่าต่อให้ตาอาจจะมองไม่เห็นเป้าหมาย แต่หัวใจมองเห็นภาพนั้นชัด
ความมั่นใจนั้นเกิดจากการที่ขุนพลตาบอดทีมชาติไทยได้เคยผ่านการดวลแข้งกับทีมระดับชั้นนำของโลก และพวกเขาไม่กลัวใคร เชื่อว่าสู้ได้ทุกทีม และที่ผ่านมาทีมผ่านการฝึกซ้อมหนักต่อเนื่องยาวนานถึง 10 เดือนแล้ว
อย่างไรก็ดี เมื่อถึงคราวลงสนามจริงมันไม่ง่ายนัก เพราะทุกทีมต่างเตรียมตัวมาเป็นอย่างดีทั้งสิ้น และโดยพื้นฐานแล้วรูปร่างของทีมชาติไทยเสียเปรียบคู่แข่งเป็นทุนเดิม
3 นัดแรกของไทยในรอบแรกของการแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ ซึ่งเป็นการแข่งแบบพบกันหมด ผลปรากฏว่าเราแพ้รวด 3 นัด
โดยเฉพาะเกมแรกที่เจ็บสุด เพราะเป็นการพ่ายต่อสเปน คู่ปรับเก่าที่เคยฝากรอยแผลไว้ในเกมเปิดสนามฟุตบอลโลกคนตาบอดเมื่อ 3 ปีก่อน ซึ่งขุนพลแดนกระทิงดุเอาชนะได้หวุดหวิด 2-1 โดยครั้งนั้นสเปนได้ประตูจาก 2 จุดโทษ คราวนี้มายิงประตูชัยในช่วงนาทีสุดท้ายอีก
จากนั้นอีก 2 เกม ไทยพ่ายต่อโมร็อกโกและอาร์เจนตินา 0-2 และ 0-3 ตามลำดับ ตกรอบไปตามระเบียบ
แต่ขุนพลตาบอดของไทยยังมีโอกาสได้แก้ตัวอีก 1 ครั้งในเกมนัดชิงอันดับ 7 และ 8 ซึ่งเจองานหนัก เพราะต้องพบกับทีมชาติฝรั่งเศส อดีตรองแชมป์พาราลิมปิกเกมส์เมื่อปี 2012
ปรากฏว่าการแข่งขันที่มีขึ้นในช่วงเช้าวันนี้ (2 กันยายน) ฟุตบอลตาบอดทีมชาติไทยโชว์เพลงแข้งได้อย่างสุดยอด ไม่เพียงแต่จะทำประตูแรกจาก วิว-กิตติกร บัวดี นักเตะตัวเก่งของทีม ในนาทีที่ 9 ของการแข่งขัน
เต๋า-ปัญญาวุฒิ คุพันธ์ ดาวยิงตัวเก่งของทีม ก็มาบวกเพิ่มอีก 2 ประตู โดยยิงได้ในช่วงปลายครึ่งแรกในนาทีที่ 17 และอีกประตูในครึ่งหลังนาทีที่ 27 ทำให้ทีมชาติไทยนำห่างถึง 3-0
แม้ฝรั่งเศสจะพยายามไล่ตามทีมไทยมาได้เป็น 2-3 แต่ไม่ทัน นักเตะทีมชาติไทยคว้าชัยชนะนัดแรกในพาราลิมปิกเกมส์ไปครองได้สำเร็จ แม้ผลงานอาจจะไม่ได้ตามเป้าหมายที่หวังไว้ในทีแรก
แต่อย่างน้อยที่สุด นี่คือชัยชนะนัดแรกที่สำคัญของพวกเขา และแน่นอนว่าเป็นชัยชนะของพวกเราคนไทยทั้งประเทศด้วย
ประสบการณ์จากการเข้าแข่งขันในรายการระดับสูงสุดของโลกคือคุณครูที่ดีที่สุด
เช่นกันกับความหวังว่าหลังจากนี้ฟุตบอลคนตาบอดทีมชาติไทยจะได้รับการสนับสนุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ที่แน่ๆ วันนี้คนไทยทุกคนภูมิใจกับผลงานของพวกคุณ ขอบคุณสำหรับการอุทิศกายและใจเพื่อทำหน้าที่นักฟุตบอลทีมชาติไทย
เรื่องน่ารู้และน่าทึ่งการแข่งขันฟุตบอลคนตาบอด
- ฟุตบอลคนตาบอดมีชื่อการแข่งขันในพาราลิมปิกเกมส์อย่างเป็นทางการว่า Football 5-a-Side หรือแปลตรงตัวว่าฟุตบอลข้างละ 5 คน โดยแต่ละทีมจะมีผู้เล่นรวมผู้รักษาประตูด้วย 5 คน
- ผู้รักษาประตูจะเป็นคนเดียวที่มองเห็น ซึ่งสามารถใช้ผู้รักษาประตูที่เป็นคนปกติได้เลย (ทีมชาติญี่ปุ่นเคยใช้ผู้รักษาประตูทีมระดับเจลีกมาแข่ง)
- นักฟุตบอลที่แข่งในพาราลิมปิกเกมส์จะเป็นคลาส B1 หรือสูญเสียการมองเห็นทั้งหมดเท่านั้น (แต่ในฟุตบอลโลกนอกจากระดับ B1 แล้ว ยังมีระดับคลาส B2 และ B3 แยกไปด้วย) โดยแพทย์จะเป็นผู้ตรวจสภาพร่างกายและให้การรับรอง
- นักฟุตบอลบางคนตาบอดตั้งแต่กำเนิด บางคนมาสูญเสียการมองเห็นในภายหลังจากสภาพร่างกายหรืออุบัติเหตุ คนที่ตาบอดแต่กำเนิดจะลำบากกว่ามาก เพราะไม่เคยเห็นการเล่นฟุตบอล ต้องใช้จินตนาการในหัวล้วนๆ
- เพื่อให้นักฟุตบอลตาบอดแข่งได้ ลูกฟุตบอลจึงมีกระดิ่งอยู่ภายในทั้งหมด 6 จุดด้วยกัน นักฟุตบอลจะได้ยินเสียงจากลูกฟุตบอล โดยลูกฟุตบอลที่ใช้แข่งหรือซ้อมจะต้องเป็นลูกฟุตบอลที่ได้การรับรองจาก IBSA (International Blind Sports Federation) หรือสหพันธ์กีฬาคนตาบอดนานาชาติ
- นอกจากลูกฟุตบอลแล้ว นักฟุตบอลจะฟังคำสั่งจากโค้ช 2 คน คนแรกคือหัวหน้าโค้ชหรือโค้ชสอน ที่จะคอยสั่งการเล่นและแผนการ คนที่สองเรียกว่าโค้ชชี้เป้า ที่จะคอยบอกตำแหน่งที่จะต้องยิงประตู
- หากนับรวมเสียงจากเพื่อนร่วมทีมและคู่แข่งด้วยแล้ว เท่ากับนักฟุตบอลคนตาบอดจะต้องแยกประสาทเสียงเพื่อฟังเสียงจาก 5 แหล่งด้วยกัน
- เพื่อหลีกเลี่ยงการปะทะกัน นักฟุตบอลคนที่ไม่ได้ครอบครองบอลจะต้องส่งเสียงคำว่า Voy ซึ่งเป็นภาษาสเปนแปลว่า I Go เพื่อบอกว่าฉันจะเล่นแล้วนะ ในจังหวะที่จะเข้าสกัดหรือแย่งบอล
- เวลาได้ลูกจุดโทษ โค้ชจะเป็นคนเคาะบอกตำแหน่งเพื่อให้ผู้เล่นยิงประตู
- นักฟุตบอลคนตาบอดมีการซ้อมไม่ต่างจากนักฟุตบอลปกติ นอกจากการลงซ้อมทีมแล้ว ยังมีการซ้อมเวทเทรนนิ่ง มีการดูแลร่างกายโดยนักกายภาพ มีนักโภชนาการ นักจิตวิทยา เพื่อให้พร้อมที่สุดสำหรับการแข่งขัน
- ปัญญาวุฒิ คุพันธ์ เคยออกรายการ Super100 อัจฉริยะเกินร้อย โชว์ทักษะการเลี้ยงบอลผ่านเครื่องกีดขวาง และ Crossbar Challenge หรือการยิงชนคานติดต่อกัน 2 ครั้ง!
อ้างอิง: