ชีวิตของ ขวัญสุดา พวงกิจจา เริ่มต้นด้วยความมืดมนอนธการ
‘ขวัญ’ เป็นชาวบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เธอเกิดในครอบครัวที่ยากจน พักอาศัยในที่ทุรกันดารไม่มีน้ำประปาไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยพ่อต้องทำงานหนักเพื่อเลี้ยงดูครอบครัวเพียงลำพัง เนื่องจากแม่โชคร้ายประสบอุบัติเหตุทำให้เป็นอัมพาตไม่สามารถทำงานได้
แต่นั่นยังไม่ร้ายเท่ากับการที่พี่สาว (ซึ่งต่อมาเสียชีวิตจากการถูกฆาตกรรม) เผลอทำน้ำมันตะเกียงหกใส่น้องที่นอนหลับอยู่ และทำให้ไฟคลอกตัวขวัญสุดาทันที ก่อนที่เพื่อนบ้านที่เห็นเปลวไฟจะรีบมาให้ความช่วยเหลือ ทำให้เธอยังมีชีวิตรอดมาได้
บาดแผลครั้งนั้น แม้จะมีความโชคดีอยู่บ้างที่เธอนอนห่มผ้าทำให้ร่างกายถูกไฟเผาไหม้แค่ซีกเดียว แต่แผลนั้นเป็นแผลฉกรรจ์ และด้วยความยากจนทำให้ครอบครัวไม่สามารถจะพาเธอไปเข้ารับการรักษาตามโรงพยาบาลได้ การเยียวยาจึงเป็นไปตามมีตามเกิดประสาชาวบ้านยากไร้
สุดท้ายแผลเริ่มลุกลาม ผิวหนังเริ่มมีอาการติดเชื้อ จนแม้ว่าจะถึงมือหมอแล้ว หมอก็จนปัญญาเพราะไม่มีทางอื่นนอกจากต้องยอมให้ขวัญสุดาพิการบางส่วนเพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
ทีแรกแพทย์ขอตัดตั้งแต่หัวไหล่ซ้ายลงไป แต่พ่อไม่ยินยอมจึงตัดแค่ข้อมือซ้ายไปเท่านั้น และโชคดีที่เธอเข้มแข็งสามารถผ่านมันมาได้
อย่างไรก็ดี บาดแผลครั้งนี้ยังคงปรากฏบนร่างกายของเธออย่างชัดเจน และมันก็ฝังลึกลงไปในจิตใจมาโดยตลอด เพราะไม่ว่าจะไปที่ไหนขวัญสุดาจะรู้สึกว่าบาดแผลทำให้เธอถูกคนจับจ้องเสมอ มันทำให้เธอรู้สึกว่าเธอไม่เหมือนคนอื่น
แต่อาจเป็นเพราะเลือดนักสู้ที่ไม่ยอมถอย แทนที่จะทดท้อ ‘ขวัญ’ กลับคิดว่าถ้าหากร่างกายของเธอคือความเสียเปรียบแล้ว เธอจะต้องหาสิ่งที่เป็นจุดเด่นอะไรสักอย่างขึ้นมากว่าคนอื่นให้ได้
ความไฮเปอร์ของเธอทำให้เธอกลายเป็นที่สนใจ ที่โรงเรียนขวัญสุดารับอาสาทำกิจกรรมทุกอย่างที่เธอทำได้ ช่วยงานอะไรก็ได้ไม่เคยเกี่ยง เธอจึงได้เป็นหัวหน้าชั้น ได้เป็นหัวหน้านักเรียน และด้วยความน่ารักของเธอ ทำให้เธอกลายเป็นที่รักของเพื่อนๆ ทุกคน
ชีวิตของเธอก็ควรจะดำเนินไปเช่นนี้ แต่มันมาถึงจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญเมื่อเธอได้พบกับโค้ชชินยองกุน ซึ่งเดินทางมาพักผ่อนที่จังหวัดประจวบคีรีขันธ์พอดี
สำหรับโค้ชชินยองกุน เป็นอดีตโค้ชเทควันโดทีมชาติไทยที่ฝึกสอนร่วมกับโค้ชชเวยองซอก และกำลังศึกษาเกี่ยวกับเทควันโดคนพิการอยู่พอดี ซึ่งเมื่อได้พบกับขวัญสุดา จึงรู้สึกว่าเหมือนเป็นโชคชะตาที่นำพาให้ทั้งสองมาพบกัน
คำชวนจากโค้ชชาวเกาหลีใต้ให้มาลองเล่นเทควันโดคนพิการด้วยกันตั้งแต่ครั้งแรกที่พบกันมันอาจจะดูแปลกๆ หน่อย แต่ขวัญสุดาตอบตกลงแทบจะทันทีทั้งๆ ที่เธอเองก็ไม่เคยเล่นหรือซ้อมกีฬาอะไรอย่างจริงจังเลย และไม่ต้องพูดถึงเรื่องการติดทีมชาติ มันอยู่ไกลเหมือนคนละจักรวาลสำหรับเธอ
ขวัญสุดาแค่รู้สึกว่าเธออยากลอง อยากสู้ดู ทำให้โค้ชเชไปขออนุญาตจากพ่อก่อนที่ลูกสาวจะเดินไปยังเส้นทางที่ไม่เคยรู้จักมาก่อน
กีฬาเทควันโดขึ้นชื่อว่าเป็นกีฬามหาโหดที่ซ้อมกันหนักมาก ขวัญสุดาเองสู้แค่ไหนก็มีท้อ แต่ทุกครั้งที่เธอตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมเธอจึงไม่ได้ไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนบ้าง ทำไมต้องซ้อมหนักขนาดนี้ ก็จะมีกำลังใจจากโค้ชและภรรยาของโค้ชที่เป็นเหมือนพ่อและแม่อีกคนคอยโอบอุ้มไว้
และเพราะความตั้งใจทำให้เธอใช้เวลาไม่ถึง 2 ปี สร้างปรากฏการณ์คว้าแชมป์โลกเทควันโดคนพิการได้เป็นคนแรกของประเทศไทยได้อย่างน่าอัศจรรย์
ก่อนที่จะได้สิทธิ์เข้าแข่งขันพาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020 ซึ่งเทควันโด เป็น 1 ใน 2 กีฬาชนิดใหม่ที่ได้รับการบรรจุให้มีการแข่งเป็นครั้งแรก และสามารถคว้าเหรียญทองแดงมาครองได้ในรุ่นน้ำหนักไม่เกิน 49 กิโลกรัม คลาส K44 จากการเอาชนะ ซิโยดาคอน อิซาโควา คู่แข่งจากประเทศอุซเบกิสถาน
จากทีมชาติที่เหมือนจะไกลเกินเอื้อม สู่การเป็นแชมป์โลก และการได้มาแข่งขันกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ที่ขวัญสุดาบอกว่านี่คือ “ที่สุด” แล้ว วันนี้เธอดูเหมือนจะมาไกลจากจุดเริ่มต้นมาก