×

‘จงเผาหัวใจให้ไหม้เป็นจุณ และไปให้ไกลกว่าขีดจำกัด’ สิ่งที่เราได้รับจาก ‘พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’

05.09.2021
  • LOADING...
‘จงเผาหัวใจให้ไหม้เป็นจุณ และไปให้ไกลกว่าขีดจำกัด’ สิ่งที่เราได้รับจาก ‘พาราลิมปิกเกมส์ โตเกียว 2020’

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • จากแนวคิดของ ศ.ลุดวิก กุตต์แมนน์ ที่อยากใช้กีฬาในการช่วยบำบัดเหล่าทหารผ่านศึกที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรงจากสงคราม กลายเป็นจุดกำเนิดของมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์จนถึงปัจจุบัน
  • พาราลิมปิกเกมส์ครั้งนี้ถูกตั้งคำถามไม่แตกต่างจากโอลิมปิกเกมส์ว่า ควรจะจัดหรือไม่ ในสถานการณ์ปัจจุบันที่โควิดยังระบาดอย่างหนัก แต่สุดท้ายก็มีการจัดการแข่งขันขึ้น และกลายเป็นหนึ่งในการตัดสินใจที่ดีที่สุด
  • เรื่องราวของเหล่าพาราลิมเปียน (Paralympian) คือประกายไฟที่สำคัญและมีความหมายต่อทุกคนบนโลก ในวันที่เราต่างต้องการแรงบันดาลใจที่จะต่อสู้ในชีวิตมากที่สุด

อีกครั้งที่ผมรู้สึกว่าพวกเราทุกคนโชคดี

 

เพราะหากเหล่าผู้ที่มีหน้าที่ตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการโอลิมปิกสากล, ฝ่ายจัดการแข่งขันโตเกียว 2020 หรือรัฐบาลญี่ปุ่น คิดไปอีกทางและตัดสินใจยกเลิกการแข่งขันมหกรรมกีฬาทั้งโอลิมปิกเกมส์และพาราลิมปิกเกมส์ไป ผมก็ตอบไม่ได้ว่า ณ วันเวลาเดินไป โลกของเราจะเป็นอย่างไร

 

ความจริงการแข่งขันมหกรรมกีฬาทั้งสองนั้นไม่สามารถเปลี่ยนแปลงโลกได้โดยตรง มันไม่สามารถช่วยหยุดยั้งโรคระบาดได้ และเราทุกคนก็ยังคงต้องใส่หน้ากากอนามัย ล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ และรอการฉีดวัคซีนที่จะช่วยให้กลับมาดำเนินชีวิตตามปกติ

 

แต่มหกรรมกีฬาระดับนี้สามารถเปลี่ยนแปลงโลกของใครสักคนได้ และโชคดีที่ทุกฝ่ายเลือกจะเดิมพันครั้งสำคัญด้วยการเดินหน้าจัดการแข่งขันต่อไป

 

จากความประทับใจมากมายนับไม่ถ้วนในโอลิมปิกเกมส์ที่สิ้นสุดไปเมื่อต้นเดือนที่แล้ว วันนี้พาราลิมปิกเกมส์เดินทางมาถึงเส้นชัยด้วยความรู้สึกประทับใจไม่แตกต่างกัน

 

หรืออาจจะจะมากกว่าด้วยซ้ำไป

 

หากเราย้อนกลับไปในจุดเริ่มต้นของมหกรรมกีฬาพาราลิมปิกเกมส์ เริ่มต้นจากคำร้องขอของรัฐบาลอังกฤษต่อ ศ.ลุดวิก กุตต์แมนน์ แพทย์ที่เกิดในครอบครัวเยอรมัน-ยิว ที่ขอลี้ภัยมาอยู่ในอังกฤษพร้อมครอบครัวในปี 1939 ไม่เช่นนั้นอาจจะถูกนาซีพรากเอาชีวิตไปได้

 

คุณหมอกุตต์แมนน์เป็นแพทย์ที่มีความชำนาญด้านประสาทวิทยาและการรักษาอาการเกี่ยวกับกระดูกสันหลัง โดยได้ก่อตั้งศูนย์สำหรับการรักษาผู้ป่วยที่มีการบาดเจ็บที่กระดูกสันหลังในโรงพยาบาลแมนเดอวิลล์ในเมืองสโตก ตามคำร้องขอของรัฐบาลอังกฤษ

 

ที่ศูนย์แห่งนี้เองที่กลายเป็นจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญที่เปลี่ยนแปลงชีวิตของคนพิการ โดยเฉพาะเหล่าทหารผ่านศึกที่สูญเสียอวัยวะหรือความสามารถไปจากการทำหน้าที่ในสงครามโลก

 

กีฬาคือสิ่งที่เขารู้ว่าจะสามารถช่วยบำบัดผู้ป่วยเหล่านี้ได้ “เมื่อพวกเขาเคลื่อนไหว ก็จะมีกำลังใจที่จะสู้ชีวิตต่อไป”

 

นั่นนำไปสู่การกำเนิดการแข่งขันกีฬาสำหรับผู้ที่มีความพิการเกี่ยวกับกระดูกสันหลังครั้งแรกในวันที่ 29 กรกฎาคม ปี 1948 – วันเดียวกับวันเปิดการแข่งขันโอลิมปิกเกมส์ 1948 ที่กรุงลอนดอน – โดยเป็นที่รู้จักกันในชื่อ สโตก แมนเดอวิลล์ เกมส์ (Stoke Mandeville Games) ซึ่งมีทหารผ่านศึกและเจ้าหน้าที่ 16 นายทั้งชายและหญิงเข้าร่วมแข่งขันในกีฬายิงธนู โดยคุณหมอกุตต์แมนน์เป็น ‘Poppa’ หรือ ‘พ่อ’ ของการแข่งขัน ได้นิยามมันในแบบของเขาเองว่า ‘Paraplegic Games’

 

จุดเริ่มต้นครั้งนั้นนำไปสู่พาราลิมปิกเกมส์ (Paralympic Games) ที่เริ่มต้นขึ้นครั้งแรกในอีก 12 ปีถัดมาที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี โดยจัดขึ้นต่อจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิก ที่ยังจัดการแข่งขันต่อเนื่องยาวนานมาถึงปัจจุบัน

 

พาราลิมปิกเกมส์เองก็ผ่านความยากลำบากมาไม่น้อย กว่าจะมาถึงจุดนี้ที่ผู้คนเริ่มให้การยอมรับการแข่งขันของผู้ที่มีความบกพร่องทางกาย ซึ่งการยอมรับนี่เองคือกำแพงใหญ่ที่สูงที่สุดที่พวกเขาต้องเผชิญในทุกวันของชีวิต

 

แต่วันนี้ ณ เข็มนาฬิกาเดินไป ผมรู้สึกได้ว่าพาราลิมปิกเกมส์นั้นได้ถูกยกระดับขึ้นมาอย่างมาก ไม่ใช่แค่เพียงในเชิงของคุณภาพการแข่งขัน หากแต่รวมถึงในเชิงของคุณค่าของการแข่งขันด้วย

 

เรื่องราวของเหล่า ‘พาราลิมเปียน’ (Paralympian) หรือนักกีฬาพาราลิมปิก กลายเป็นสิ่งที่ผู้คนให้ความสนใจ ด้วยความรู้สึกชื่นชมนักกีฬาเหล่านี้ด้วยใจจริง

 

บรรยาย: อิบราฮิม เอลฮุสไซนี ฮามัดตู ไอคอนแห่งพาราลิมปิกครั้งนี้

 

ใครเล่าจะไม่ทึ่งเมื่อเห็นภาพของ อิบราฮิม เอลฮุสไซนี ฮามัดตู ใช้เท้าโยนลูกปิงปองขึ้นมา ก่อนใช้ไม้ปิงปองที่ถูกคาบด้วยปาก ตีใส่คู่แข่งด้วยความคล่องแคล่วแข็งแรง ทั้งๆ ที่นักกีฬาชาวอียิปต์ผู้นี้ไม่มีแขนแม้แต่ข้างเดียว

 

ใครที่จะไม่รู้สึกทึ่งไปกับพลังของ สุมิต อันทิล พาราลิมเปียนชาวอินเดียผู้มีขาเดียว แต่สามารถทำลายสถิติโลกถึง 3 ครั้งซ้อนในการแข่งขันวันเดียว และประกาศเป้าหมายต่อไปว่าในอีก 3 ปีข้างหน้า เขาอยากจะคว้าสิทธิ์ไม่ใช่แค่การแข่งพาราลิมปิก แต่ขอไปสู้ในโอลิมปิกใน ‘ปารีส 2024’ ด้วย

 

ใครบ้างที่จะไม่ปรบมือให้การแข่งขันวีลแชร์เทนนิสรอบรองชนะเลิศระหว่าง ดีแลน อัลคอตต์ มือเทพของวงการกับ นีลส์ วิงค์ เด็กหนุ่มชาวเนเธอร์แลนด์วัยเพียง 18 ปี ที่กลายเป็นหนึ่งในการต่อสู้ที่ดุเดือดที่สุด แต่ก็ซาบซึ้งใจที่สุด เมื่อจบการแข่งขันต่างฝ่ายต่างโถมเข้ากอดกันและหลั่งน้ำตาที่เป็นตัวแทนของคำว่าน้ำใจนักกีฬา เพราะฝ่ายเด็กน้อยนั้นนับถือรุ่นพี่ ยกให้เป็นแบบอย่างในดวงใจ จนถึงวันนี้ที่ได้ต่อสู้กันในสนามอย่างสมศักดิ์ศรีนักกีฬา

 

และใครบ้างที่จะไม่รู้สึกจุกในลำคอ เมื่อได้รับรู้เรื่องราวเบื้องหลังเหรียญทองแดงของ ขวัญสุดา พวงกิจจา นักเทควันโดสาวไทย ที่ผ่านช่วงชีวิตที่ยากลำบากตั้งแต่วัยเด็ก และไม่ได้เคยร่ำได้เรียนกีฬามาก่อน แต่ใช้เวลาแค่ 3 ปี ก้าวมาถึงการเป็นนักเทควันโดคนพิการระดับโลก

 

เรื่องราวเหล่านี้เป็นแค่บางส่วนเท่านั้น และในความเป็นจริงแล้ว นักกีฬาที่แข่งขันในพาราลิมปิกทุกคนล้วนต้องผ่านการต่อสู้ที่หนักหน่วงในชีวิตมากเกินกว่าที่คนทั่วไปจะจินตนาการได้

 

เพียงแต่พวกเขาเหล่านี้ไม่เคยยอมแพ้ และไม่ต้องการให้ขีดจำกัดทางร่างกายมาเป็นอุปสรรคในการดำเนินชีวิตหรือการทำตามความฝัน

 

ยิ่งมีขีดจำกัดเท่าไร กำแพงจะสูงชันแค่ไหน นักกีฬาเหล่านี้ไม่เคยย่อท้อ พวกเขาพร้อมจะเผาหัวใจให้ไหม้เป็นจุณ และก้าวไปให้ไกลกว่านั้นให้จงได้ (ซึ่งเป็นคำพูดของ เร็นโงคุ เคียวจูโร่ เสาหลักเพลิงในมังงะ Kimetsu no Yaiba ที่ผมคิดถึงโดยบังเอิญเมื่อนึกถึงนักกีฬาเหล่านี้)

 

นี่คือเหตุผลที่ผมบอกว่ารู้สึกโชคดีที่พาราลิมปิกเกมส์ยังสามารถจัดการแข่งขันได้ ท่ามกลางสถานการณ์โควิดที่วิกฤตหนักยิ่งกว่าในช่วงของโอลิมปิกเกมส์

 

เพราะนอกจากจะเป็นการช่วยทำให้นักกีฬาที่ซุ่มฝึกซ้อมมาอย่างยาวนานกว่า 5 ปี ได้มีเวทีที่จะสำแดงฝีมือของพวกเขาให้โลกได้เห็นแล้ว

 

มันยังเป็นการช่วยต่อไฟในหัวใจให้แก่ผู้คนทั้งโลก ในยามที่เราต่างต้องการมันมากที่สุด

 

บรรยาย: โอลิเวีย บรีน นักกระโดดไกลทีมชาติสหราชอาณาจักร แสดงความยินดีกับ ลูกา เอกเลอร์ นักกีฬาทีมชาติฮังการี ในการแข่งกระโดดไกล คลาส T38 ซึ่งภาพน้ำใจนักกีฬาเหล่านี้มีให้เห็นตลอดการแข่งขัน

 

วันนี้พาราลิมปิกเกมส์ได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของมันแล้ว ในการส่งต่อไฟให้แก่ทุกคน

 

เช่นกันกับเหล่านักกีฬาพาราลิมเปียนทั้งหลาย ที่ได้ทำหน้าที่อันยิ่งใหญ่ของพวกเขาแล้ว

 

แต่สิ่งสำคัญที่สุดหลังจากนี้ไม่ใช่แค่การรับพลังของเขามาเพียงอย่างเดียว เพราะเราทุกคนบนโลกควรจะมอบสิ่งที่ดีที่สุดให้แก่ยอดนักกีฬาเหล่านี้กลับคืนเป็นการตอบแทนความพยายามของพวกเขาด้วยเช่นกัน

 

สิ่งนั้นไม่ใช่แค่เงินทองหรือชื่อเสียง แต่เป็นการยอมรับ โอกาส และความเท่าเทียม

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X