×

คนงานสร้างสนามโอลิมปิก 2020 ประเทศญี่ปุ่นฆ่าตัวตายหลังทำงานล่วงเวลา 190 ชั่วโมงในเดือนเดียว

12.10.2017
  • LOADING...

     เจ้าหน้าที่ตรวจสอบแรงงานงานของประเทศญี่ปุ่นยอมรับอย่างเป็นทางการว่า การเสียชีวิตของคนงานวัย 23 ปี ที่ทำงานอยู่ที่ไซด์ก่อสร้างสนามโอลิมปิกแห่งใหม่ในกรุงโตเกียวเป็นการฆ่าตัวตายจากสาเหตุทำงานหนักเกินไป และพร้อมจ่ายค่าชดเชยให้กับครอบครัวผู้เสียชีวิต

     ฮิโรชิ คาวาฮิโตะ (Hiroshi Kawahito) ทนายความของครอบครัวผู้เสียชีวิต เปิดเผยว่า ผู้เสียชีวิตมีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมคุณภาพของวัสดุภายในการก่อสร้างสนาม และได้มีบันทึกว่ามีการทำงานเกินเวลาถึง 190 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน ก่อนที่จะตัดสินใจปลิดชีวิตตัวเองในเดือนมีนาคม หลังจากที่เริ่มทำงานมาไม่ถึง 1 ปีจากการรายงานของ NHK สื่อโทรทัศน์ประเทศญี่ปุ่น

     โดยชั่วโมงการทำงานของผู้เสียชีวิตเกินลิมิต 80 ชั่วโมง ซึ่งเป็นลิมิตของทางรัฐบาลที่กำหนด เพื่อพยายามลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากการทำงานหนักเกินกำลัง หรือที่เรียกว่า ‘คาโรชิ’

     การก่อสร้างสนามแห่งนี้ ถือว่าเป็นการก่อสร้างอย่างเร่งด่วนหลังจากที่เริ่มต้นก่อสร้างช้ากว่ากำหนด เนื่องจากแผนการสร้างสนามแรกถูกแก้ไขเพราะเกินงบประมาณที่ตั้งไว้ และการออกแบบที่ไม่ได้รับความนิยม โดยปกติแล้วทางบริษัท Taisei Corporation บริษัทสัญชาติญี่ปุ่นที่รับผิดชอบโครงการก่อสร้างสนามจะต้องใช้แรงงานประมาน 1,000 คนต่อหนึ่งวัน

     ข่าวการเสียชีวิตของคนงานครั้งนี้เป็นที่พูดถึงภายในประเทศญี่ปุ่นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา เมื่อครอบครัวของผู้เสียชีวิตได้ยื่นฟ้องร้องเงินชดเชยจากบริษัทก่อสร้าง และขอให้รัฐบาลรับรองว่านี่เป็นการเสียชีวิตจากโรค ‘คาโรชิ’  

     ร่างของเขาถูกพบที่ภูเขาเมื่อเดือนเมษายน หลายสัปดาห์หลังจากที่หายตัวไป รวมถึงยังพบจดหมายลาตายที่ผู้เสียชีวิตระบุว่า “สภาพร่างกายและจิตใจถูกผลักดันจนถึงขีดสุด” ซึ่งทางรัฐบาลญี่ปุ่นได้เฝ้าจับตาสถานการณ์การทำงานหนักเกินไปของคนงานในประเทศญี่ปุ่นอย่างใกล้ชิด เพื่อพัฒนาบรรยากาศการทำงานให้ดีขึ้น

     ปัญหาการเสียชีวิตจากโรค ‘คาโรชิ’ ถือเป็นปัญหาใหญ่ในสังคมญี่ปุ่น จากการทำงานล่วงเวลาหลายชั่วโมง ซึ่งนำไปสู่อาการหัวใจล้มเหลว, เส้นเลือดในสมองแตก หรือฆ่าตัวตาย

     เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้บริหารของสถานีข่าว NHK ประเทศญี่ปุ่นได้กล่าวขอโทษให้กับครอบครัวของ มิวะ ซาโดะ ผู้สื่อข่าวการเมืองวัย 31 ปี ที่เสียชีวิตจากอาการหัวใจล้มเหลวเมื่อปี 2013 จากการทำงานล่วงเวลา 159 ชั่วโมงภายใน 1 เดือน โดยหยุดพักเพียง 2 วันเท่านั้น และได้รับการยืนยันว่าเป็นผู้เสียชีวิตจากโรค ‘คาโรชิ’ เมื่อเดือนพฤษภาคมปี 2016

 

Photo: Behrouz MEHRI/AFP

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising