×

ศึกกงสีคลี่คลาย ‘โตทับเที่ยง’ เร่งจัดทัพปลุกชีพ ‘ปุ้มปุ้ย’ เตรียมรีแบรนด์ครั้งใหญ่ พร้อมนำหุ้นกลับเทรดในตลาดหลักทรัพย์

28.04.2022
  • LOADING...
โตทับเที่ยง

ตระกูลโตทับเที่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือ POMPUI เดินหน้าจัดทัพบริหารแบบมืออาชีพ หวังปลุกชีพผลิตภัณฑ์ ‘ปุ้มปุ้ย’ อีกครั้ง และผลักดันให้กลับเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ หลังจากที่คดีกงสีที่ฟ้องร้องกันกว่า 6 ปี พบทางออก

 

วันนี้ (28 เมษายน) ตระกูลโตทับเที่ยง ซึ่งเป็นกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.ผลิตภัณฑ์อาหารกว้างไพศาล หรือ POMPUI นำโดย สุธรรม โตทับเที่ยง เปิดเผยผลสรุปของคำพิพากษาในคดีธุรกิจครอบครัวหรือกงสีตระกูลโตทับเที่ยง โดยศาลฎีกาพิพากษาว่าหุ้นทั้ง 19 บริษัท ตลอดจนที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง เป็นกรรมสิทธิ์รวมของธุรกิจครอบครัวหรือกงสีของตระกูลโตทับเที่ยง

 

ทั้งนี้ คดีดังกล่าวเกิดขึ้นโดยสุธรรมกับพวกรวม 9 คน ยื่นฟ้อง สุรินทร์ โตทับเที่ยง กับพวกรวม 6 คน ต่อศาลแพ่งธนบุรี เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2559 ข้อหากรรมสิทธิ์รวมเรียกทรัพย์คืน ขอแบ่งทรัพย์ (กงสี) จากนั้นในวันที่ 20 มีนาคม 2561 ศาลชั้นต้นได้พิพากษาให้จำเลยทั้ง 6 คน ที่ถือกรรมสิทธิ์ในหุ้นไว้แทน โอนหุ้นในบริษัทรวม 19 บริษัท ให้แก่โจทก์ทั้ง 9 คน และจำเลยที่ 1 คนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วนของหุ้นในแต่ละบริษัท และให้โอนที่ดินที่จำเลยทั้ง 6 ถือกรรมสิทธิ์ไว้แทนให้แก่พี่น้องในตระกูลโตทับเที่ยงทั้ง 10 คน คนละ 1 ส่วน ใน 10 ส่วน

 

ต่อมาเมื่อวันที่ 24 เมษายน 2562 ศาลอุทธรณ์ได้พิพากษาแก้ไขบางส่วนเกี่ยวกับที่ดินของบริษัทกงสี นอกจากที่แก้ไขให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น และล่าสุด เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2565 ศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

 

สุธรรม โตทับเที่ยง ในฐานะตัวแทนตระกูล กล่าวว่า ขณะที่ข้อขัดแย้งภายในคลี่คลายแล้ว และจะดำเนินการตามที่ศาลพิพากษาด้วยวิธีเจรจาพูดคุยไกล่เกลี่ยภายใน และเป้าหมายจากนี้ไปคือการพลิกฟื้นธุรกิจในกงสี ซึ่งมีอยู่ 19 บริษัท ให้กลับมาดำเนินธุรกิจและมีผลการดำเนินงานที่เติบโตขึ้น 

 

สำหรับธุรกิจของ POMPUI ซึ่งเป็น Core Business ของครอบครัวนั้น หลังจากมีคดีข้อพิพาทเกิดขึ้น ทำให้คนในตระกูลโตทับเที่ยงไม่ได้เข้ามาดูแลและบริหารนานถึง 6-7 ปี ส่งผลให้กิจการของ ‘ปุ้มปุ้ย’ ได้รับผลกระทบจนทำให้แบรนด์ ‘ปุ้มปุ้ย’ เงียบหายไปจากตลาด แต่หลังจากเดือนพฤศจิกายน 2564 สุธรรมและคนในตระกูลโตทับเที่ยงส่วนหนึ่งได้เริ่มกลับมาดูแลธุรกิจอีกครั้ง จนปัจจุบันได้ปรับโครงสร้างการบริหารด้วยการแต่งตั้งคณะกรรมการบริษัทและคณะกรรมการบริหารเมื่อช่วงกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา และเตรียมเสนอแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารชุดใหม่ในที่ประชุมผู้ถือหุ้นวันที่ 30 เมษายนนี้ จากนั้นจะเดินหน้าขับเคลื่อนการตลาดอย่างจริงจังอีกครั้ง

 

ทั้งนี้ POMPUI ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายอาหารกระป๋องและอาหารในภาชนะปิดผนึกสำเร็จรูป ภายใต้เครื่องหมายการค้า ปุ้มปุ้ย และ ปลายิ้ม ปัจจุบันจดทะเบียนในหมวดบริษัทจดทะเบียนที่อยู่ระหว่างฟื้นฟูการดำเนินงาน (REHABCO) และยังถูกตลาดหลักทรัพย์ขึ้นเครื่องหมาย SP อยู่

 

“เราจะมีการจัดประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 30 เมษายนนี้ ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งก็มีมติรับรองงบการเงินประจำปี 2564 โดยจะดำเนินการยื่นขอให้ตลาดหลักทรัพย์ปลดเครื่องหมาย SP หลังจาก POMPUI ได้ส่งงบการเงินครบทุกไตรมาสแล้ว แต่ในเรื่องของระยะเวลาการปลด SP ขึ้นกับการพิจารณาของตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งตระกูลโตทับเที่ยงทุกคนคาดหวังให้กลับมาเทรดได้เร็วที่สุด เพราะ POMPUI ไม่ได้เป็นบริษัทที่มีแค่คนในครอบครัวโตทับเที่ยงเท่านั้น ยังมีนักลงทุนรายอื่นอีก” สุธรรมกล่าว 

 

สุธรรมกล่าวว่า ในการพลิกฟื้นธุรกิจ POMPUI นั้นจะเริ่มต้นจากจัดโครงสร้างการบริหาร โดยจะให้รุ่นลูกและหลาน (Gen 2) เข้ามารับผิดชอบสายงานตามที่ถนัด ซึ่งได้เริ่มกระจายความรับผิดชอบให้แต่ละคนได้เริ่มงานกันแล้วตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ที่ผ่านมา ซึ่งระยะเวลา 5 เดือนที่เริ่มกลับเข้ามาบริหาร ได้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจ 

 

กุลเกตุ โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด POMPUI กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำแผนธุรกิจซึ่งภาพใหญ่น่าจะชัดเจนในครึ่งปีหลัง แต่ในเบื้องต้นบริษัทจะเน้นขยายช่องทางการขายผ่านออนไลน์ในแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซมากขึ้น เพื่อให้เข้าถึงการสั่งซื้อสินค้าของ ‘ปุ้มปุ้ย’ ได้ง่ายมากขึ้น และสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้บริโภคในปัจจุบัน 

 

ขณะเดียวกันก็ยังให้ความสำคัญกับช่องทางการขายร้านค้าทั่วไป (TT) และโมเดิร์นเทรด (MT) อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นช่องทางการขายหลัก โดยปัจจุบันมีสัดส่วนยอดขายระหว่าง TT และ MT ที่ 50:50 แต่ช่องทางการขายผ่านออนไลน์จะเข้ามาเสริมและขยายฐานลูกค้า

 

นอกจากนี้ บริษัทจะมีการ Refresh Brand ผลิตภัณฑ์ ‘ปุ้มปุ้ย’ และปรับบรรจุภัณฑ์ให้ทันสมัยมากขึ้น ซึ่งในปีนี้จะเห็นการกลับมาทำการตลาดของผลิตภัณฑ์ ‘ปุ้มปุ้ย’ ที่ออกมามากขึ้น และการนำผลิตภัณฑ์ไปจัดแสดงในงาน THAIFEX ซึ่งถือเป็นการกลับมาโปรโมตสินค้าของ ‘ปุ้มปุ้ย’ อีกครั้ง

 

สำหรับภาพรวมของผลการดำเนินงานในปี 2565 คาดว่าจะเห็นการเติบโตอย่างก้าวกระโดด จากการกลับมาฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ส่งผลดีต่อการบริโภค รวมถึงการส่งออกมียอดขายที่เติบโตขึ้น ปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนการขายในประเทศที่ 80% และสัดส่วนการส่งออก 20%

 

สำหรับมูลค่าตลาดอาหารกระป๋องปรุงรสและราดซอสถือว่ายังมีการเติบโตที่ดี และมีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 1 หมื่นล้านบาท โดยที่ในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องปรุงรสของบริษัทยังคงครองส่วนแบ่งตลาด (Market Share) เป็นอันดับ 1 ในประเทศ ซึ่งมีผลิตภัณฑ์ที่ได้รับความนิยมคือ หอยลายกระป๋องปรุงรส และในส่วนของผลิตภัณฑ์อาหารกระป๋องราดซอสหรือปลากระป๋อง บริษัทมีส่วนแบ่งทางการตลาดติดเป็นอันดับที่ 3 แต่ปีนี้บริษัทจะมีการทำการตลาดมากขึ้น เพื่อผลักดันให้ Market Share ของปลากระป๋อง ‘ปุ้มปุ้ย’ ปรับเพิ่มขึ้นมาได้

 

ด้าน ปวิตา โตทับเที่ยง ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อสารองค์กร กล่าวว่า ในส่วนของผลกระทบจากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นนั้น บริษัทยังมีการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับที่บริษัทยอมรับได้ และไม่ส่งผลกระทบต่อราคาขายสินค้ามากนัก โดยยังสามารถตรึงราคาขายสินค้า ‘ปุ้มปุ้ย’ ในระดับ 18-23 บาท ซึ่งไม่ได้มีการปรับเพิ่มขึ้นมา 7-8 ปีแล้ว และการจะขอปรับราคาขายขึ้นของอาหารกระป๋องต้องขออนุญาตจากกระทรวงพาณิชย์ด้วย

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising4
X
Close Advertising5