สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า การใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด เช่น การตั้งด่านตรวจ การประกาศคำสั่งล็อกดาวน์ ในบริเวณเขตหนิงโบใกล้เมืองเซี่ยงไฮ้ของจีน ซึ่งเป็นที่ตั้งของท่าเรือที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก ได้ส่งผลกระทบต่อการขนถ่ายสินค้าของจีน จนมีสินค้าจำนวนมากติดค้างอยู่ในท่าเรือดังกล่าว
โดย Russell Group บริษัทที่ปรึกษาชื่อดังประเมินว่า ความล่าช้าในการขนถ่ายสินค้าจากท่าเรือดังกล่าว ประกอบกับการควบคุมธุรกิจรถบรรทุกสินค้าของจีนที่เข้มงวดในเวลานี้ อาจสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจมากถึง 4 พันล้านดอลลาร์ต่อสัปดาห์ เนื่องจากการส่งออกสินค้าจะต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยถึง 7 วัน
ด้านสื่อท้องถิ่นของจีนรายงานว่า ขณะนี้มีคนขับรถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่ดังกล่าวเพียง 6,000 คนจากทั้งหมด 20,000 คนที่ได้รับใบอนุญาตพิเศษให้สามารถเข้าออกท่าเรือหนิงโบได้
โดยสาเหตุที่คนขับรถบรรทุกจำนวนมากไม่มีใบอนุญาตนั้นส่วนหนึ่งเกิดจากการที่พวกเขาติดอยู่ในพื้นที่ประกาศล็อกดาวน์ จึงไม่สามารถสมัครขอรับใบอนุญาตพิเศษจากทางการได้ อีกส่วนหนึ่งเกิดจากตัวคนขับรถบรรทุกบางส่วนเองที่ไม่ต้องการเดินทางเข้าออกในพื้นที่เสี่ยงติดเชื้อ เพราะเกรงว่าจะนำเชื้อออกไปแพร่ในพื้นที่อื่น
ปัจจุบันทางการจีนออกกฎให้รถบรรทุกทุกคันจะต้องวิ่งในเส้นทางที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น ทำให้โรงงานและคลังสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในเส้นทางดังกล่าวไม่สามารถขนถ่ายสินค้าได้
เมื่อเร็วๆ นี้ Ningbo National Logistics บริษัทขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ในพื้นที่ดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงลูกค้าว่า การบังคับใช้มาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของรัฐบาล ทำให้บริษัทยังไม่สามารถขนส่งสินค้าได้ตามปกติในเวลานี้
ข้อมูลจาก Lloyd’s List ระบุว่า ขณะนี้นอกชายฝั่งเซี่ยงไฮ้และหนิงโบยังมีเรือสินค้าราว 120 ลำที่บรรทุกสินค้ากว่า 610,000 ตู้ที่ต้องถอดสมอลอยลำรอขนถ่ายสินค้าลงจากเรือ ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าในช่วงเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว ที่ท่าเรือหนิงโบถูกสั่งปิดเพราะคนงานท่าเรือติดเชื้อโควิดเสียอีก
ล่าสุด Jiang Yipeng ผู้บริหารระดับสูงของท่าเรือหนิงโบ ได้ชี้แจงกับสื่อมวลชนว่า ท่าเรือกำลังใช้ความพยายามอย่างเต็มที่เพื่อแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยท่าเรือมีการกำหนดเขตพื้นที่ปลอดเชื้อให้พนักงานกว่า 5,300 คนทำงานด้วยความปลอดภัย และแยกตัวออกจากบุคคลภายนอก นอกจากนี้ ท่าเรือหนิงโบยังมีการย้ายบริการบางอย่างไปยังท่าเรือในบริเวณใกล้เคียง เช่น Jiaxing และ Wenzhou เพื่อลดปัญหาคอขวด
ชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า ขณะนี้ สรท. ได้แจ้งเตือนผู้ส่งออกไทยถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นกับท่าเรือจีนแล้ว โดยแนะนำให้ผู้ส่งออกและผู้นำเข้าสินค้ามีการวางแผนล่วงหน้า เพราะการขนส่งสินค้าจากจีนอาจต้องใช้เวลาเพิ่มขึ้นราว 7 วัน
“การควบคุมแรงงานที่เข้มข้นของจีนทำให้การขนถ่ายสินค้ามีปัญหา ขณะเดียวกัน จีนจะมีวันหยุดยาวช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วย ดังนั้นสถานการณ์จะเหมือนกับปีที่ผ่านมาเป๊ะๆ คือการหมุนเวียนตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ และค่าระวางเรือจะทรงตัวอยู่ในระดับสูงต่อไป” ชัยชาญกล่าว
ประธาน สรท. ประเมินว่า ปัญหาตู้สินค้าหมุนเวียนไม่ทันนี้มีแนวโน้มว่าอาจต้องใช้เวลาถึงเดือนมิถุนายนกว่าจะคลี่คลาย เนื่องจากความเสี่ยงจากการระบาดของโควิดยังคงมีอยู่ ทำให้การออกมาตรการควบคุมต่อเนื่องยังมีความเป็นไปได้ นอกจากนี้ หลายประเทศก็เริ่มมีการส่งออกสินค้าในปริมาณสูงขึ้น เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ทำให้การขาดแคลนตู้จะยังเป็นความเสี่ยงของการส่งออกไทย
“จากที่เราติดตามมาพบว่าปริมาณตู้ที่เข้ามาในไทยยังไม่ค่อยดีนัก มีตู้ค้างอยู่ที่จีนเยอะ ซึ่งอาจส่งผลต่อค่าระวางเรือที่ตอนนี้ราคาขนส่งของตู้ขนาด 40 ฟุตไปสหรัฐฯ อยู่ที่ 20,000 ดอลลาร์แล้ว และในปีนี้ก็น่าจะทรงตัวอยู่ที่ระดับนี้” ชัยชาญกล่าว
อมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นกับท่าเรือจีนในครั้งนี้อาจส่งผลให้ค่าระวางเรือปรับตัวสูงขึ้น และซ้ำเติมภาวะตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนได้ หากสถานการณ์ยืดเยื้อและลากยาว
“คงต้องจับตาดูช่วงหลังตรุษจีนว่า ปัญหาคอขวดในการขนส่งสินค้านี้จะลากยาวหรือแค่ชั่วคราว ถ้าคนงานกลับมาทำงานได้ทุกอย่างก็น่าจะคลี่คลาย โดยส่วนตัวยังมองว่าจะเป็นอย่างนั้น” อมรเทพกล่าว
อย่างไรก็ดี หากสถานการณ์ลากยาวก็มีโอกาสที่ภาคการผลิตของไทยกลุ่มที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากจีนจะได้รับผลกระทบ โดยผลกระทบจะเริ่มเห็นได้ในช่วงปลายไตรมาสแรก เนื่องจากตอนนี้ผู้ผลิตส่วนใหญ่ยังมีวัตถุดิบที่เก็บสต๊อกเอาไว้อยู่ ดังนั้นการติดตามสถานการณ์และวางแผนล่วงหน้าในช่วงนี้อาจเป็นสิ่งจำเป็น
“กรณีที่สถานการณ์ลากยาว และภาคการผลิตได้รับผลกระทบจากการขาดแคลนวัตถุดิบ ก็มีความเสี่ยงที่การส่งออกไทยในบางกลุ่มสินค้าจะได้รับผลกระทบไปด้วย ซึ่งไม่ใช่แค่ไทยที่จะกระทบ แต่จะกระทบทั้งซัพพลายเชนของภูมิภาค เพราะจีนส่งออกไปทั่วโลก” อมรเทพกล่าว
อมรเทพกล่าวอีกว่า หนึ่งในสิ่งที่รัฐบาลไทยควรเร่งทำในเวลานี้คือการนำเข้าตู้คอนเทนเนอร์เพื่อสร้างความมั่นใจว่า อย่างน้อยที่สุดไทยจะมีตู้สำหรับส่งออกสินค้า เพราะคู่แข่งอย่างเวียดนามก็กำลังเร่งทำอยู่เช่นกัน
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/newsletters/2022-01-10/supply-chain-latest-chinese-ports-watched-for-more-supply-snarls?sref=CVqPBMVg
- https://lloydslist.maritimeintelligence.informa.com/LL1139406/Ningbo-port-clogged-by-lockdown-measures
ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH
- Twitter: twitter.com/standard_wealth
- Instagram: instagram.com/thestandardwealth
- Official Line คลิก https://lin.ee/xfPbXUP