ปิติ ตัณฑเกษม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า ผลประกอบการ 6 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม -มิถุนายน) ทางธนาคารมีรายได้เพิ่มขึ้นตามการรับรู้รายได้จากธนาคารธนชาตเข้ามาในงบการเงินรวม ทำให้ครึ่งปีแรก 2563 ทางธนาคารมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และเพื่อตั้งรับกับแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลัง ทางธนาคารตั้งสำรองฯ 9,732 ล้านบาท
ทั้งนี้ ณ สิ้นไตรมาส 2/63 ทางธนาคารมีสินเชื่อรวมอยู่ที่ 1.38 ล้านล้านบาท ลดลง 1.5% ซึ่งลดลงตามการชะลอลงของยอดสินเชื่อใหม่ และจากการปรับโครงสร้างพอร์ตสินเชื่อด้วยการลดสัดส่วนสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และเพิ่มสัดส่วนสินเชื่อที่มีหลักประกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพอร์ตสินเชื่อรายย่อย ซึ่งปัจจุบันกว่า 90% ของพอร์ตสินเชื่อรายย่อยเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน
ในส่วนของรายได้ของไตรมาส 2 ทั้งรายได้ดอกเบี้ยและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยชะลอลงจากไตรมาส 1 ซึ่งก็เป็นไปตามคาด เนื่องจากในไตรมาส 2 มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ย ขณะที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนหดตัวลง ทำให้รายได้รวมอยู่ที่ 16,569 ล้านบาท ลดลง 8.9% ด้านค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานอยู่ที่ 7,776 ล้านบาท ลดลง 6.7% ส่งผลให้กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักสำรองฯ อยู่ที่ 8,791 ล้านบาท ลดลง 10.9% จากไตรมาสก่อนหน้า
ทั้งนี้ ผลประกอบการไตรมาส 2/63 และครึ่งปีแรก 2563 มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
กำไรสุทธิ ครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 7,258 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 107.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 3,095 ล้านบาท ลดลง 25.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ครึ่งปีแรก 2563 อยู่ที่ 27,059 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 115.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่เฉพาะไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 13,045 ล้านบาท ลดลง 6.9% จากไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลดอัตราดอกเบี้ย และมาตรการช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
รายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย อยู่ที่ 7,705 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 59.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เฉพาะไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 3,523 ล้านบาท ลดลง 15.8% จากไตรมาก่อนหน้า ซึ่งลดลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมและค่าบริการสุทธิ เพราะค่าธรรมเนียมกลุ่มลูกค้ารายย่อย และธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน อยู่ที่ 16,107 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 80% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ไตรมาส 2/63 อยู่ที่ 7,776 ล้านบาท ลดลง 6.7% จากไตรมาสก่อนหน้า
ส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ย (NIM) อยู่ที่ 3% เพิ่มขึ้น 2.90% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
ด้านคุณภาพสินทรัพย์ อัตราส่วนสินเช่ือด้อยคุณภาพ (NPL Ratio) ณ สิ้นเดือนมิถุนายน 2563 อยู่ที่ 2.34% ใกล้เคียงกับสิ้นปี 2562 ที่อยู่ระดับ 2.35%
ธนาคารดำเนินการแก้หนี้เสียเชิงรุกด้วยการตัดหนี้สูญ (Write off) และการขาย ทำให้สามารถลดยอดหนี้เสียลงได้ 12.2% จาก 44,183 ล้านบาท ในไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 38,805 ล้านบาท ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้เสียลดลงจาก 2.76% ในไตรมาสที่แล้วมาอยู่ที่ 2.34%
สำหรับสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง จากเงินฝากที่เพิ่มขึ้น และการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร
ขณะที่ไตรมาส 2/63 ทางธนาคารตั้งสำรองฯ เพิ่มขึ้น 4.5% จากไตรมาสก่อน มาอยู่ที่ 4,972 ล้านบาท มีทั้งการตั้งสำรองฯ ตามเกณฑ์ปกติ และสำรองฯ ส่วนเพิ่มเพื่อรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจ และการรับรู้การตั้งสำรองฯ จำนวน 1.6 พันล้านบาท จากธนาคารธนชาต ซึ่งมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ของ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) จำนวน 3.15 พันล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 2% ของพอร์ตการลงทุนตามงบการเงินรวม
“สำหรับครึ่งปีแรก ถือว่าในส่วนของการรวมกิจการทำได้ตามเป้าหมาย โดยเฉพาะในแง่ของการรับรู้ผลประโยชน์ด้านงบดุล (Balance Sheet Synergy) และด้านต้นทุน (Cost Synergy) ขณะที่ขั้นตอนการรวมธนาคาร เช่น การเปิดสาขาร่วมระหว่าง TMB และธนาคารธนชาต (Co-location) ก็คืบหน้าได้ตามแผนเช่นกัน” ปิติกล่าว
อย่างไรก็ตาม ประเมินว่าสถานการณ์โควิด-19 จะสร้างแรงกดดันต่อการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ในช่วงที่เหลือของปี โดย 3 เรื่องหลักที่ธนาคารได้เตรียมความพร้อมไว้ ได้แก่ การคงสภาพคล่องในระดับสูงด้วยการเติบโตฐานเงินฝาก การเพิ่มคุณภาพด้านงบดุลด้วยการลดยอดหนี้เสีย และการคงเงินกองทุนในระดับสูง
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์