×

TMB หั่น GDP ปี 2562 เหลือโต 2.7% เหตุเศรษฐกิจครึ่งปีแรกแย่กว่าคาด ลุ้นปีหน้ากลับมาโต 3%

โดย THE STANDARD TEAM
19.08.2019
  • LOADING...
GDP ปี 2562

นริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics แถลงปรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 2562 เหลือ 2.7% จากเดิมมองที่ 3.0% เหตุตัวเลขเศรษฐกิจครึ่งปีแรกแย่กว่าคาด ทำให้แรงส่งต่อไปยังช่วงที่เหลือมีข้อจำกัด มองมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภาครัฐช่วยพยุงการบริโภคในประเทศ ท่ามกลางแรงกดดันจากปัจจัยภายนอกสงครามการค้าถึงทางตัน จึงยากที่จะเห็นส่งออกกลับมาในปีนี้ ลุ้นปีหน้าเศรษฐกิจกลับมาโตได้ 3%

 

นอกจากนี้ TMB Analytics ยังมองสถานการณ์ส่งออกไทยทรุด ฉุดไม่อยู่หดตัว 2.7% เหตุเพราะซัพพลายเชนโลกได้รับผลกระทบมากกว่าคาด คาดหดตัวเกือบทุกตลาดส่งออกสำคัญ ได้แก่ จีน (-5.5%) อาเซียน (-4%) ยุโรป (-2.7%) และในเกือบทุกสินค้าสำคัญ สอดคล้องกับปัจจัยเสี่ยงด้านต่างประเทศทั้งเศรษฐกิจหลักที่เป็นคู่ค้าชะลอตัวมากขึ้น และแรงกดดันสงครามการค้าที่ต้องลุ้นผลการเจรจาในแต่ละรอบ รวมทั้งหากสหรัฐฯ ประกาศขึ้นภาษีในหมวดยานยนต์และชิ้นส่วนที่อัตรา 25% จากทุกประเทศ (มาตรา 232) ในเดือนพฤศจิกายนจะส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกยานยนต์ทั่วโลก ซึ่งของไทยคิดเป็น 11% ของมูลค่าส่งออกทั้งหมด สอดคล้องกับที่ IMF ปรับประมาณการการค้าโลกลงจาก 3.4% เหลือเพียง 2.5% นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาทเป็นอีกปัจจัยที่มีส่วนทำให้ยังคงไม่เห็นการฟื้นตัวของการส่งออกได้เร็วในปีนี้ 

 

ด้านการเติบโตของนักท่องเที่ยว คาดว่าจะคลาดจากเป้าโดยขยายตัวแค่ 2% อยู่ที่ 39.1 ล้านคน ชะลอลงมาจากปี 2561 ที่ขยายตัว 7.5% ปัจจัยลบยังคงเป็นการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นหลัก ที่ทำให้นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางเข้าไทยน้อยลงจากเดิมทั้งปีอาจเห็นตัวเลขแตะ 40 ล้านคน ประกอบกับสถานการณ์บาทแข็งทุบสถิติส่งผลกระทบต่อภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย โดยเงินบาทแข็งค่าขึ้นถึง 10% เมื่อเทียบกับเงินหยวน จึงไม่แปลกที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนยังนิยมไปเที่ยวญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ แต่กลับมาเที่ยวไทยลดลง เพราะค่าเงินทั้งสองสกุลนี้ไม่ได้แข็งค่ามากเมื่อเทียบกับค่าเงินหยวน 

 

ด้านการลงทุนภาครัฐชะลอกว่าคาด เหตุรองบประมาณปี 2563 การเบิกจ่ายงบลงทุนมีแนวโน้มต่ำกว่าเป้า โดยเฉพาะรัฐวิสาหกิจ​ อีกทั้งถ้าเทียบเม็ดเงินลงทุนของรัฐบาลกลาง และรัฐวิสาหกิจแล้วก็ไม่ได้เพิ่มขึ้นจากปีก่อนมากนัก โดยเฉพาะงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ลดลงจากปีก่อนเกือบ 25% เหลือเพียง 3.33 แสนล้านบาท จาก 4.45 แสนล้านบาทในปีก่อน​ อย่างไรก็ตาม จากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณปี 2563 จะทำให้เริ่มเห็นเม็ดเงินจากการลงทุนภาครัฐอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยในปีหน้า 

 

การลงทุนภาคเอกชนส่อเค้าไม่ขยายตัวในช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปีคาดโตได้ 1.8% แม้บริษัทไทยจะมีสภาพคล่องเหลือ แต่ปัจจัยเสี่ยงจากเศรษฐกิจโลกชะลอ ส่งผลให้อัตราการใช้กำลังการผลิตต่ำกว่าปีที่ผ่านมา โดยอยู่ที่ระดับ 68% กดดันความต้องการขยายการลงทุน สะท้อนจากความเชื่อมั่นภาคธุรกิจที่อยู่ระดับต่ำกว่า 50 เป็นไตรมาสแรกในรอบเกือบสามปี​ อย่างไรก็ตาม คาดว่าแนวโน้มการลงทุนเอกชนจะเริ่มปรับดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 เป็นต้นไป จากมาตรการกระตุ้นการลงทุนของรัฐบาล ทั้งนโยบายภาษีและการช่วยเหลือ SMEs ผ่านมาตรการสินเชื่อ

 

การบริโภคภาคเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจ โดยทั้งปีคาดขยายตัวได้ 3.8% จากแรงหนุนเพิ่มจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเริ่มต้นปลายไตรมาส 3 ในช่วงครึ่งปีแรกการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวถึง 4.9% หลักๆ มาจากแรงซื้อสินค้าไม่คงทน ซึ่งสอดคล้องกับหนี้ครัวเรือนไทยที่พุ่งขึ้นเร็วมากอยู่ที่ 13 ล้านล้านบาท โดย 1 ใน 3 เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สำหรับในช่วงที่เหลือ ปัจจัยกดดันการบริโภคประกอบด้วยการชะลอตัวของเศรษฐกิจ สถานการณ์ภัยแล้ง และปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งในช่วงต่อไปจะมีข้อจำกัดของการขยายตัวของสินเชื่อรายย่อย จากแนวโน้มการนำมาตรการควบคุมภาระหนี้สินต่อรายได้ (DSR) มาใช้ ขณะที่การบริโภคภาคเอกชนจะได้รับผลบวกจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการปรับเพิ่มเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการบริโภคในประเทศ รวมวงเงินกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท และการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งอีกกว่า 2 แสนล้านบาท ซึ่งในส่วนของสถานการณ์ภัยแล้งที่เกิดขึ้น หากเทียบเคียงกับเอลนีโญปี 2558 และไม่มีมาตรการบรรเทาผลกระทบ จะส่งผลให้รายได้เกษตรกรลดลงประมาณ 11%

 

คาด ธปท. ลดดอกเบี้ยอีกหนึ่งครั้งในไตรมาส 4 ​ทำให้อยู่ในระดับต่ำสุดในประวัติการณ์ และอาจลดได้อีกหนึ่งครั้งถ้าเศรษฐกิจแย่กว่าคาด และเงินเฟ้อยังคงต่ำกว่ากรอบเป้าหมาย​ จากการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดมาอยู่ที่ระดับ 1.50% และเริ่มเห็นการส่งผ่านนโยบายการเงินไปยังระบบธนาคารพาณิชย์แล้ว​ แต่เศรษฐกิจที่ยังมีความเสี่ยงสูง การใช้ทั้งนโยบายการคลังและนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายจะเป็นแรงช่วยกระตุ้นการขยายตัวของเศรษฐกิจ ประกอบกับ ธปท. มีมาตรการ Macroprudential เพื่อดูแลความเสี่ยงในเรื่องเสถียรภาพการเงิน

 

ค่าเงินบาทในช่วงที่เหลือของปีมีแนวโน้มแข็งค่าแตะ 30.5 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือแข็งค่า 6% ธปท. หั่นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% มาอยู่ที่ 1.50% ในเดือนสิงหาคม แต่ค่าเงินบาทยังคงเคลื่อนไหวในกรอบ 30.83-30.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ด้วยเหตุผลหลักที่นักลงทุนยังมองเงินบาทเป็นสินทรัพย์เสี่ยงน้อย ขณะที่ค่าเงินสกุลอื่นๆในเอเชียในช่วงนี้อ่อนค่าลงตามเงินหยวน จากการที่ทางการจีนปล่อยให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจนทะลุ 7 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ดุลการค้าของไทยที่คาดว่าจะยังเป็นบวกถึงแม้ว่าส่งออกจะโตติดลบ การท่องเที่ยวที่แม้ชะลอแต่ยังขยายตัวได้ และกระแสเงินทุนที่มียังมีแนวโน้มเป็นไหลเข้าสุทธิ จะเป็นปัจจัยหนุนค่าเงินบาท

 

การคาดการณ์ของ TMB Analytics เกิดขึ้นภายหลังจากสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ (สศช.) เปิดเผยตัวเลข GDP ในไตรมาส 2.62 ที่ขยายตัว 2.3% ชะลอตัวจากไตรมาส 1/2562 ที่อยู่ในระดับ 2.8% 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising