ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ หรือ TMB Analytics เปิดเผยว่า ปี 2564 นี้ ธุรกิจไทยยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ระลอกใหม่ และคาดว่าการระบาดครั้งนี้จะอยู่กับไทยอีกอย่างน้อย 1 ปี เพราะยังไม่มีแผนวัคซีนต้านโควิด-19 ในประเทศที่ชัดเจน (หากมีวัคซีนจะแก้ปัญหาได้ถาวร) ซึ่งจะส่งผลต่อกำลังซื้อในประเทศและความเชื่อมั่นธุรกิจลดลง
ทั้งนี้ จากปัจจัยข้างต้นประเมินภาคธุรกิจไทยยังไม่ฟื้นตัว โดยคาดว่ารายได้ธุรกิจไทยในภาพรวมปี 2564 จะเติบโต 2.1% จากปี 2563 ที่รายได้รวมติดลบ 16.3% แต่เมื่อดูรายได้รวมทั้งปี 2564 ยังต่ำกว่าปี 2562 ที่ผ่านมาถึง 14.6% โดยสามารถแบ่งการฟื้นตัวกลุ่มธุรกิจเป็น 3 ส่วน ได้แก่
- กลุ่มธุรกิจที่ฟื้นตัวแล้ว โดยรายได้ธุรกิจปี 2564 จะสูงกว่าปี 2562 เนื่องจากอานิสงส์การส่งออกที่ดีขึ้นตามเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัว และเทรนด์ต่างๆ เช่น พฤติกรรม Social Distancing การซื้อขายสินค้าออนไลน์ และการดูแลสุขภาพ
โดยมี 7 ธุรกิจได้แก่ อาหาร, ฟาร์มเลี้ยงสัตว์, ยางพารา, อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน, ธุรกิจด้านสุขภาพ, ไอทีและเทเลคอม, เครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วน - กลุ่มธุรกิจกำลังฟื้น โดยรายได้ปี 2564 ยังต่ำกว่าปี 2562 ราว 80-100% แม้ว่ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวตามการบริโภคและลงทุนในประเทศที่ปรับตัวดีขึ้น แต่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ซึ่งต้องรอการกระจายวัคซีนต้านโควิด-19 อย่างทั่วถึงจึงจะดีขึ้น โดยมีกลุ่มธุรกิจกำลังฟื้นตัว ได้แก่ บรรจุภัณฑ์, เครื่องดื่ม, วัสดุก่อสร้าง, เคมีภัณฑ์, บริการธุรกิจ, สินค้าอุปโภคบริโภค, ยานยนต์และชิ้นส่วน, เครื่องจักรและอุปกรณ์, เหล็กและโลหะ, ผลิตภัณฑ์เกษตร, พลังงาน, รับเหมาก่อสร้าง
- กลุ่มธุรกิจที่ยังไม่ฟื้น โดยรายได้ปี 2564 เมื่อเทียบกับ 2562 ต่ำกว่า 80% ได้แก่ ผลิตภัณฑ์กระดาษและสิ่งพิมพ์, อสังหาริมทรัพย์, เฟอร์นิเจอร์, บริการส่วนบุคคล, การขนส่งทางอากาศ, สินค้าแฟชั่น, ธุรกิจท่องเที่ยว ปัจจัยหลักมาจากกำลังซื้อที่ลดลง และโควิด-19 ดังนั้นต้องรอการกระจายวัคซีนในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพ และต้องรอความเชื่อมั่นของผู้บริโภคให้กลับมาก่อน จึงจะทำให้เริ่มฟื้นตัวได้
อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยดูปัจจัยทางเศรษฐกิจ เช่น การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และมาตการช่วยเหลือของภาครัฐ รวมถึงการมองตลาดออนไลน์มากขึ้น ขณะเดียวกันรัฐต้องเร่งสนับสนุนภาคธุรกิจ ดังนี้
- ภาครัฐควรสนับสนุนธุรกิจที่ฟื้นแล้วและกำลังฟื้นให้กลับมาปกติ เช่น แนวโน้มเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวถือเป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกสินค้า
- ภาครัฐควรเร่งเจรจากับประเทศคู่ค้า เพื่อขายสินค้าให้ได้มากขึ้น
- การดูแลค่าเงินบาทไม่ให้แข็งค่ามากเกินไป
- การสนับสนุนการลดต้นทุนการผลิตสินค้าเกษตร เพื่อให้เกษตรกรและผู้ประกอบการมีกำไรมากขึ้น
- ในธุรกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว ภาครัฐควรออกมาตรการช่วยเหลือ เช่น การให้เงินกู้เสริมสภาพคล่อง การยืดหนี้ให้สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อได้ จนกว่าธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินธุรกิจได้ดังเดิมอีกครั้ง
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล