×

ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบี ประเมิน SMEs ส่วนใหญ่ 65% ‘ปรับตัวได้’ หลังวิกฤตโควิด-19 แต่กำไรลดลงมาก

26.10.2020
  • LOADING...
ทีเอ็มบี ประเมิน SMEs ส่วนใหญ่ ปรับตัวได้ หลังวิกฤตโควิด-19

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี ได้วิเคราะห์การฟื้นตัวของธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) แบ่งเป็น 3 กลุ่มคือ กลุ่ม Swift หรือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวรวดเร็ว รายได้เริ่มฟื้นกลับมาเพราะพึ่งพิงตลาดในประเทศเป็นหลัก ทำให้กำไรลดลงไม่มาก และส่วนใหญ่ผลการดำเนินงานของกำไรยังเป็นบวก

 

กลุ่ม Viable หรือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่พอปรับตัวได้ รายได้กลับมาได้บางส่วน ทำให้ผลกำไรยังลดลงค่อนข้างมาก แต่ผลการดำเนินงานยังพอมีกำไร

 

กลุ่ม Slow หรือกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ปรับตัวช้า รายได้ลดลงมาก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ทำให้ผลกำไรลดลงมาก ส่งผลให้ผลดำเนินงานของกลุ่มนี้ยังขาดทุนต่อเนื่อง

 

ผลจากศึกษาของศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีพบว่า กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ส่วนใหญ่ 65.7% อยู่ในกลุ่ม Viable ซึ่งเป็นกลุ่มที่พอปรับตัวได้ รายได้ลดลงบางส่วน ผลกำไรลดลงค่อนข้างมาก แต่ผลการดำเนินงานยังพอไปได้ ได้แก่ ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ร้านอาหาร ขายเครื่องจักร บริการทางธุรกิจ และธุรกิจที่ปรึกษา

 

รองลงมาคือ กลุ่ม Slow สัดส่วน 21.7% เป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ช้า รายได้ลดลงมาก แต่ต้นทุนและค่าใช้จ่ายกลับลดลงได้น้อยกว่า ทำให้ธุรกิจกำไรหดตัวจนส่วนหนึ่งประสบกับภาวะขาดทุนอย่างหนัก ได้แก่ กลุ่มธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร ค้าปลีกเสื้อผ้า สถานบันเทิง ประดับยนต์ และโรงแรม 

 

สุดท้ายคือ กลุ่ม Swift สัดส่วน 12.6% เป็นกลุ่มที่ปรับตัวได้ค่อนข้างเร็ว รายได้ฟื้นตัวกลับมาใกล้ระดับปกติ และมีการควบคุมต้นทุนค่าใช้จ่ายได้ดี ผลกำไรลดลงไม่มาก ทำให้ผลการดำเนินงานยังเป็นบวกอยู่มาก ได้แก่ ขายสินค้าอุปโภคบริโภค บริการคอมพิวเตอร์ ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อ และสถานพยาบาล

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีระบุด้วยว่า หลังจากประเมินผลกระทบจากโรคโควิด-19 และเศรษฐกิจโลก รวมถึงเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว พบว่า กลุ่ม Swift เป็นกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ผลการดำเนินงานลดลงบ้าง แต่ส่วนใหญ่ยังพอมีกำไรอยู่ จึงเป็นกลุ่มที่ค่อนข้างมีความพร้อมในการปรับตัวได้ค่อนข้างดี

 

ส่วนกลุ่ม Viable เป็นกลุ่มผู้ประกอบการที่รายได้ลดลงเป็นบางส่วน ตลาดยังไม่ฟื้นตัวอย่างเต็มที่ ทำให้กำไรของกิจการลดลงค่อนข้างมาก ธุรกิจในกลุ่มนี้จึงยังมีความเสี่ยงอยู่ ต้องดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวัง เพื่อประคองกิจการให้ข้ามผ่านไป

 

ขณะที่กลุ่ม Slow หนักสุด เป็นกลุ่มที่ส่วนใหญ่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและรายจ่ายไม่สามารถลดลงได้ เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 และกำลังซื้อที่ชะลอตัว ผลกำไรที่ลดลงมากจึงทำให้ผลการดำเนินงานขาดทุนมาก เป็นกลุ่มที่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งปรับโครงสร้างเพื่อความอยู่รอดในระยะต่อไป

 

ทั้งนี้เพื่อให้การวิเคราะห์สภาพธุรกิจของ SMEs ในยุคหลังโควิด-19 มีความชัดเจนยิ่งขึ้น หลังจากประเมินชีพจรธุรกิจ SMEs แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มดังกล่าวข้างต้น ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบีได้ศึกษาเพิ่มเติมถึงสุขภาพทางการเงินของ SMEs เพื่อให้ทราบว่า ผู้ประกอบการ SMEs กิจการมีความสามารถทำกำไรอยู่ในระดับใด และภาวะสภาพคล่องทางการเงินยังไหวหรือไม่ ด้วยการประเมินสุขภาพการเงินว่า สามารถรองรับวิกฤตและอยู่รอดข้ามผ่านสถานการณ์โรคโควิด-19 ได้ดีเพียงใด ซึ่งจะนำไปสู่แนวทางที่ช่วยให้ธุรกิจมีศักยภาพดีขึ้นสำหรับดำเนินธุรกิจในอนาคต โดยนำข้อมูลทางการเงิน 2 ด้านมาประเมินร่วมกันคือ 1. ความสามารถในการทำกำไร 2. สภาพคล่องธุรกิจ

 

ด้วยวิธีการประเมินสุขภาพการเงินที่กล่าวมาข้างต้นจากจำนวน 3 แสนรายที่ดำเนินธุรกิจอยู่ และส่งงบการเงินแก่กรมพัฒนาธุรกิจการค้าและศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี จัดลักษณะธุรกิจออกมาเป็น 4 กลุ่ม

 

กลุ่มที่ 1 ‘พร้อมโต’ เป็นกลุ่มที่สุขภาพทางการเงินดีที่สุด จากความสามารถในการทำกำไรสูง และมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง จากการวิเคราะห์พบว่า มี SMEs ที่อยู่ในกลุ่มนี้ 27% ของธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ต่ำ เช่น ร้านสะดวกซื้อ ค้าส่งสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น ทำให้กลุ่มนี้มีศักยภาพการเติบโตสูง หากสามารถวางแผนการลงทุนและการตลาดล่วงหน้าได้ เพื่อทำการขยายธุรกิจและรองรับการเติบโตในอนาคต

 

กลุ่มที่ 2 ‘พร้อมฟื้น’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินรองลงมา โดยมีความสามารถในการทำกำไรที่สูง แต่ยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่เปราะบาง จากการวิเคราะห์พบว่า มีสัดส่วนธุรกิจอยู่ในกลุ่มนี้ 27% จากธุรกิจ SMEs ทั้งหมด ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างต่ำ เช่น ค้าปลีกสินค้ายา เครื่องจักร เป็นต้น

 

กลุ่มที่ 3 ‘รอฟื้น’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินพอไปได้ ด้วยธุรกิจยังมีสภาพคล่องธุรกิจที่แข็งแรง สามารถประคองธุรกิจให้ไปต่อ แต่มีความสามารถในการทำกำไรที่ต่ำลง พบว่ามีสัดส่วนจำนวนธุรกิจที่ 19% โดยส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจขนส่งผู้โดยสาร งานบริการทางธุรกิจ เช่น รับเหมาก่อสร้าง ที่ปรึกษา เป็นต้น

 

กลุ่มที่ 4 ‘รอรักษา’ เป็นกลุ่มที่มีสุขภาพทางการเงินอ่อนแอกว่ากลุ่มอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 อย่างหนักจากรายได้ที่หดหายไปมาก กระทบต่อสภาพคล่องธุรกิจ ส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรและสภาพคล่องธุรกิจไม่ดี ในกลุ่มนี้มีจำนวนกระจุกตัว 34% ส่วนใหญ่อยู่ในธุรกิจโรงแรมที่พัก บริการท่องเที่ยว ค้าปลีกเสื้อผ้า เป็นต้น 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X