×

ศูนย์ทนายฯ เผย ‘ตะวัน-แบม’ ยื่นคำร้องเร่งด่วนต่อ UN กรณีผู้ต้องหาการเมืองถูกคุมตัวโดยพลการ

โดย THE STANDARD TEAM
07.02.2023
  • LOADING...
ตะวัน-แบม

วันนี้ (7 กุมภาพันธ์) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่า เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2566 ทานตะวัน ตัวตุลานนท์ หรือ ตะวัน และ อรวรรณ ภู่พงษ์ หรือ แบม อนุญาตให้ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ยื่นคำร้องเร่งด่วน (An Urgent Appeal) ต่อคณะทำงานสหประชาชาติว่าด้วยการควบคุมตัวโดยพลการ (United Nations Working Group on Arbitrary Detention: UN WGAD) เพื่อรายงานกรณีเธอทั้งสองถูกดำเนินคดีในข้อหา มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา (หมิ่นประมาทกษัตริย์) ขณะนี้ทั้งสองคนในวัย 20 กว่าปี กำลังถูกจองจำและเฝ้าระวังอาการทางสุขภาพอย่างใกล้ชิด จากการอดอาหารและน้ำที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ภายใต้การควบคุมของกรมราชทัณฑ์ในกรุงเทพมหานคร 

 

ตะวันและแบมถูกควบคุมตัวอีกครั้ง และอยู่ในเรือนจำครั้งนี้มากว่า 22 วันแล้ว ตั้งแต่วันที่ 16 มกราคม 2566 ถือเป็นการควบคุมตัวคนรุ่นใหม่ระหว่างการพิจารณาอีกระลอกในประเทศไทย ต่อบุคคลที่ถูกดำเนินคดีภายใต้มาตรา 112 ในคดีที่ยังไม่มีคำพิพากษา  

 

ทั้งนี้ การยื่นถอนประกันตัวเองเมื่อวันที่ 16 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา เพื่อเรียกร้องสิทธิประกันตัวให้ผู้ถูกคุมขังทางการเมืองอื่นและการยกเลิกกฎหมายหมิ่นประมาทกษัตริย์ (มาตรา 112) และกฎหมายยุยง ปลุกปั่น (มาตรา 116) ผ่านพรรคการเมือง ไม่ได้ลบล้างข้อเท็จจริงที่ว่าประเทศไทย ‘ควบคุมตัวโดยพลการ’ บุคคลภายใต้คดีหมิ่นประมาทกษัตริย์ 


ในคำร้องเร่งด่วน เห็นว่าการจับกุมและควบคุมตัวตะวันจากเหตุไลฟ์ก่อนมีขบวนเสด็จเมื่อเดือนมีนาคม 2565 เป็นการจับกุมหรือควบคุมตัวโดยอำเภอใจ ตามข้อ 9 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (International Covenant on Civil and Political Rights: ICCPR) ซึ่งประเทศไทยเป็นรัฐภาคี อีกทั้งการดำเนินคดีและการลิดรอนเสรีภาพของตะวันและแบม เป็นการละเมิดสิทธิในการพิจารณาคดีด้วยความยุติธรรม สิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และหลักการห้ามเลือกปฏิบัติ เพราะเหตุแห่งความแตกต่างทางความคิดเห็นทางการเมืองและความเป็นนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นสิทธิที่ได้รับการรับรองตามข้อ 14, ข้อ 19 และข้อ 26 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมืองเช่นกัน

 

โดยหนึ่งประเด็นสำคัญที่คำร้องเร่งด่วนได้เน้นย้ำคือ การควบคุมตัวใดก็ตามภายใต้มาตรา 112 และมาตรา 116 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ) ถือว่าเป็นการควบคุมตัวโดยพลการ เนื่องจากกฎหมายดังกล่าวมีความชัดเจนไม่เพียงพอ เป็นการให้ดุลพินิจผู้บังคับใช้กฎหมายมากจนเกินไปในการตีความตัวบทกฎหมาย ทำให้ประชาชนทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่าการกระทำใดผิดหรือไม่ผิดกฎหมาย ความไม่ชัดเจนดังกล่าวขัดต่อหลักความชอบด้วยกฎหมาย หรือ Principle of Legality ข้อโต้แย้งนี้สอดคล้องกับความเห็นของ UN WGAD ในกรณีอื่นๆ ที่ประเทศไทยได้มีการดำเนินคดีและควบคุมตัวบุคคลภายใต้กฎหมายดังกล่าว

 

คำร้องเร่งด่วนยังเน้นย้ำอีกว่า สิทธิในการประกันตัวเป็นสิทธิที่ได้รับความคุ้มครองภายใต้ข้อ 9 แห่งกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง เนื่องจากกติกาฯ นี้มิให้ถือเป็นหลักทั่วไปว่าจะต้องควบคุมบุคคลที่รอการพิจารณาคดี คำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราวก่อนหรือระหว่างพิจารณาคดีจะทำได้ก็ต่อเมื่อมีความจำเป็นเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยหลบหนี ป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน หรือป้องกันไม่ให้ผู้ต้องหาหรือจำเลยไปกระทำความผิดซ้ำ ศาลต้องพิจารณาข้อเท็จจริงและพฤติการณ์คดีของแต่ละคดี คำสั่งไม่อนุญาตให้มีการปล่อยตัวชั่วคราวต้องเป็นไปตามหลักแห่งความจำเป็น (Necessity) เท่านั้น ศาลไม่สามารถสั่งคุมขังบุคคลเพียงเพราะข้อหามีความร้ายแรงและมีโทษสูง

 

ในคำร้องเร่งด่วน ให้ข้อเท็จจริงถึงการจับกุม การควบคุมตัว และการฟ้องคดีอาญาของแบมจากเหตุทำโพลสำรวจความเดือดร้อนจากขบวนเสด็จ ที่บริเวณห้างสยามพารากอน เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งทำให้แบมและเพื่อนอีก 7 คน รวมทั้งเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปีอีก 1 คน ถูกฟ้องในข้อหาหลักมาตรา 112 และมาตรา 116 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมีเงื่อนไขการประกันตัวชั่วคราว ติดกำไลอิเล็กทรอนิกส์ (EM) ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ           

 

ส่วนคดีของตะวันให้ข้อเท็จจริง การจับกุม การควบคุมตัว และการฟ้องคดีอาญาจากเหตุไลฟ์ทางเฟซบุ๊ก หน้าอาคารสหประชาชาติ (UN) ประจำประเทศไทย พูดเกี่ยวกับการจัดการพื้นที่ที่ขบวนเสด็จผ่านและการย้ายชาวนาออกจากพื้นที่ชุมนุมเพื่อเตรียมรับขบวนเสด็จ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2565, การไต่สวนและการสั่งถอนประกันเมื่อวันที่ 20 เมษายน 2565 เหตุร่วมรับเสด็จและโพสต์โพลขบวนเสด็จเดือดร้อนหรือไม่ และการควบคุมตัวโดยไม่ชอบในเรือนจำ ระหว่างชั้นสอบสวนระหว่างวันที่ 20 เมษายน ถึงวันที่ 26 พฤษภาคม 2565 เป็นเวลาถึง 37 วัน ก่อนได้รับการประกันตัวชั่วคราว พร้อมเงื่อนไขที่เคร่งครัด ทั้งการติดกำไล EM, ห้ามออกนอกเคหสถานตลอดระยะเวลาที่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว เว้นแต่กรณีเจ็บป่วยหรือได้รับอนุญาตจากศาล, ห้ามทำกิจกรรมหรือกระทำการใดๆ ในลักษณะเดียวกับที่ถูกฟ้อง อันอาจก่อให้เกิดความเสียหายหรือเสื่อมเสียต่อสถาบันพระมหากษัตริย์ ฯลฯ ข้อหาที่ตะวันถูกฟ้องในคดีนี้คือ มาตรา 112 ตามประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 14 (2) และ 14 (3) ของ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ

 

นับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2555 คณะทำงาน UN WGAD พบว่าประเทศไทยลิดรอนเสรีภาพของบุคคลถึง 9 คน ซึ่งถูกควบคุมตัวด้วยมาตรา 112 และถือเป็นการควบคุมตัว ‘โดยพลการ’ พวกเขาได้รับการปล่อยตัวทั้งหมดในเวลาต่อมา ยกเว้น อัญชัญ ปรีเลิศ ซึ่งศาลอาญาได้พิพากษาโทษจำคุกถึง 89 ปี เนื่องจากอัปโหลดและเผยแพร่คลิปเสียงบนสื่อโซเชียลมีเดีย โดยเจ้าหน้าที่พิจารณาว่าคลิปเสียงเหล่านั้นมีเนื้อหาหมิ่นประมาทต่อราชวงศ์ไทย ทั้งนี้ศาลได้ลดโทษจำคุกลงเหลือ 43 ปี 6 เดือน เนื่องจากเธอรับสารภาพ เธอยังคงถูกจองจำที่ทัณฑสถานหญิงกลาง

 

ตลอดทศวรรษที่ผ่านมา กลไกตรวจสอบสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติหลายภาคส่วนได้ย้ำข้อกังวลซ้ำหลายรอบต่อการบังคับใช้มาตรา 112 และเตือนว่าการลิดรอนเสรีภาพที่มีมูลเหตุจูงใจมาจากการหมิ่นประมาทพระมหากษัตริย์นี้ไม่สอดคล้องกับพันธกรณีที่ประเทศไทยมีภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก และได้เรียกร้องให้มีการแก้ไขหรือยุติมาตรา 112 พร้อมทั้งปล่อยตัวจำเลยข้อหาหมิ่นประมาทกษัตริย์ทุกคน

 

อ้างอิง: ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X