วันนี้ (14 มกราคม) ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนเผยแพร่รายงานเนื่องในเด็กแห่งชาติ ปี 2566 โดยระบุว่า นับเป็นปีที่สามแล้วที่เด็กและเยาวชนที่ออกมาชุมนุมและแสดงออกทางการเมือง ยังคงอยู่ภายใต้สถานการณ์การถูกดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง รอบปี 2565 ที่ผ่านมา แม้คดีจะไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าปี 2564 ที่มีเด็กและเยาวชนนับร้อยถูกดำเนินคดี แต่ก็ยังคงมีคดีใหม่เกิดขึ้นเป็นระยะ รวมทั้งคดีจากปีก่อนหน้าที่ยังไม่สิ้นสุดก็ทยอยมีความเคลื่อนไหว ทั้งการถูกสั่งฟ้องคดี การสืบพยาน หรือแม้แต่การมีคำพิพากษา
ศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุอีกว่า จากการติดตามสถานการณ์ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงวันที่ 12 มกราคม 2566 พบเด็กและเยาวชนที่ถูกกล่าวหาดำเนินคดีจากการแสดงออกทางการเมืองเป็นจำนวนไม่น้อยกว่า 283 คน ในจำนวน 210 คดี
ในจำนวนนี้แยกเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 40 คน และเยาวชนอายุระหว่าง 15-18 ปี จำนวน 243 คน
สถิติเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีปี 2565 นับได้ว่าเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าจำนวน 12 คน (นับเฉพาะผู้ที่ไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน บางรายถูกดำเนินคดีใหม่เพิ่มอีก) คิดเป็นจำนวน 21 คดี
หากเทียบเป็นสัดส่วนกับจำนวนคดีจากการแสดงออกทางการเมืองทั้งหมดหลังการชุมนุม ‘เยาวชนปลดแอก’ เป็นต้นมา พบว่าสัดส่วนผู้ถูกดำเนินคดีที่เป็นเด็กและเยาวชนคิดเป็นราวร้อยละ 15 ของคดีทั้งหมดเท่าที่ทราบข้อมูล
ในจำนวนเยาวชนทั้งหมดมีเยาวชนรายหนึ่งที่ถูกดำเนินคดีมากที่สุด คือรวมจำนวนถึง 22 คดี
ขณะที่เด็กอายุน้อยที่สุดที่ถูกดำเนินคดี ได้แก่ ‘เอีย’ เยาวชนที่ถูกดำเนินคดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ 2 คดี โดยขณะเกิดเหตุคดีแรกที่เขาถูกจับกุมที่บริเวณดินแดง เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2564 เขามีอายุเพียง 12 ปี 4 เดือนเศษ
ควรกล่าวด้วยว่าแม้ในคดีจากการแสดงออกทางการเมืองในรอบสามปีที่ผ่านมาที่ผู้ถูกกล่าวหาเป็น ‘ผู้ใหญ่’ แล้ว ก็พบว่ามีผู้ถูกดำเนินคดีที่อยู่ในช่วงวัย 18-20 ปี คือเพิ่งเลยวัยเยาวชนมาเล็กน้อยเป็นจำนวนมากเช่นกัน
ในจำนวนเด็กเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีทั้งหมด ยังแยกเป็นเด็กและเยาวชนที่ถูกดำเนินคดีข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 จำนวนอย่างน้อย 17 คน ใน 20 คดี โดยมี ‘เพชร ธนกร’ ที่ถูกดำเนินคดีข้อหานี้มากที่สุดถึง 3 คดี และมีเด็กที่อายุต่ำที่สุดที่ถูกดำเนินคดีมาตรา 112 ได้แก่ อายุ 14 ปี
เฉพาะในช่วงปี 2565 มีเยาวชนผู้ถูกดำเนินคดีข้อหามาตรา 112 เพิ่มขึ้นอย่างน้อย 4 คน ใน 5 คดี
ขณะที่มีเยาวชนถูกดำเนินคดี ‘ยุยงปลุกปั่น’ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 อย่างน้อย 3 คน ใน 3 คดี โดยทั้งหมดเป็นคดีที่เยาวชนถูกกล่าวหาในข้อหามาตรา 112 ร่วมด้วย
หากพิจารณาคดีเด็กและเยาวชนที่เกิดขึ้นแยกไปตามภูมิภาค พบว่าคดีส่วนใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลเป็นหลัก คือจำนวน 195 คดี หรือคิดเป็นเกือบร้อยละ 93 ของคดีเด็กและเยาวชนทั้งหมด
ขณะที่ในภูมิภาคอื่นๆ แยกเป็นคดีในภาคตะวันออกเฉียงเหนืออย่างน้อย 8 คดี คดีในภาคใต้ 6 คดี และคดีในภาคเหนือ 1 คดี โดยที่คดีในต่างจังหวัดเหล่านี้เป็นคดีที่ถูกเปรียบเทียบปรับในชั้นตำรวจ รวม 6 คดี ทำให้ในภูมิภาคมีคดีดำเนินอยู่ไม่มากนักเมื่อเทียบกับคดีในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล
ทั้งนี้ หากไม่นับกรุงเทพฯ และปริมณฑล ในพื้นที่ภาคใต้เป็นเพียงภูมิภาคเดียวที่มีรายงานการดำเนินคดีมาตรา 112 ต่อเยาวชน ในอย่างน้อย 3 คดี ได้แก่ คดีของ ‘เบลล์’ ในจังหวัดพัทลุง, คดีของ ‘ปูน ธนพัฒน์’ และเยาวชนอีกรายหนึ่งที่ทราบว่าถูกกล่าวหาที่จังหวัดนราธิวาส
หากพิจารณาความคืบหน้าทางคดีทางการเมืองของเด็กและเยาวชนถึงช่วงต้นปี 2566 โดยภาพรวมแยกได้เป็น
- คดีที่สิ้นสุดแล้ว 46 คดี
- คดีที่เด็กเยาวชนถูกตำรวจเปรียบเทียบปรับในชั้นสอบสวนจำนวน 18 คดี เนื่องจากข้อหาที่ถูกกล่าวหามีอัตราโทษปรับ
- คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนฟ้องคดีจำนวน 9 คดี
- คดีที่เด็กเยาวชนเข้าสู่มาตรการพิเศษก่อนมีคำพิพากษาจำนวน 13 คดี
- คดีที่อยู่ในชั้นสอบสวน 125 คดี
- คดีที่อยู่ในศาลชั้นต้น 34 คดี
- คดีที่อยู่ในระหว่างอุทธรณ์ 5 คดี
เท่ากับว่ายังมีคดีของเด็กและเยาวชนอีกไม่น้อยกว่า 164 คดี ที่ยังดำเนินอยู่ในวันเด็กแห่งชาติปีนี้
ทั้งนี้ ยังไม่พบว่ามีคดีเด็กและเยาวชนแม้แต่คดีเดียวที่พนักงานอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องคดีต่อศาล แม้แต่คดีฝ่าฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จากการชุมนุมโดยสงบ ซึ่งพบว่าคดีของผู้ใหญ่ในหลายคดี อัยการได้มีคำสั่งไม่ฟ้องคดีไปแล้ว แต่กลับไม่พบว่ามีคดีของเด็กและเยาวชนที่อัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องเป็นตัวอย่างไว้แต่อย่างใด
ในส่วนคดีที่เยาวชนเลือกที่จะต่อสู้คดี ไม่ยินยอมเข้าสู่มาตรการพิเศษ พบว่ามีคดีที่ศาลเยาวชนฯ มีคำพิพากษาแล้ว 5 คดี โดยมีคดีที่ศาลเห็นว่ามีความผิด 3 คดี และคดีที่ศาลยกฟ้อง 2 คดี
อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่: https://tlhr2014.com/archives/52249