×

กฎหมายสกัดผู้อพยพ Title 42: เผือกร้อนจากทรัมป์ในมือไบเดน

16.05.2023
  • LOADING...
title 42

เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว (11 พฤษภาคม) การใช้อำนาจพิเศษผ่านกฎหมายชื่อ Title 42 ที่จำกัดสิทธิในการลี้ภัย (Asylum) ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งบังคับใช้มาตั้งแต่สมัยอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ต่อเนื่องมาจนถึงประธานาธิบดีคนปัจจุบันอย่างโจ ไบเดนได้หมดอายุลง ทำให้ไบเดนต้องตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อเรื่องนี้ ซึ่งเป็นประเด็นที่ละเอียดอ่อน เพราะเกี่ยวเนื่องไปกับเรื่องมนุษยธรรมของผู้ลี้ภัยหลายหมื่นคน ในขณะเดียวกันก็เป็นประเด็นแหลมคมทางการเมืองที่อาจส่งผลต่อคะแนนเสียงในการเลือกตั้งประธานาธิบดีในปีหน้า

 

Title 42 คืออะไร และไบเดนได้ตัดสินใจอย่างไรหลังจากที่กฎหมายนี้หมดอายุลง บทความนี้จะพาผู้อ่านไปทำความเข้าใจโดยละเอียด

 

1951 Refugee Convention 

ความตระหนักรู้ในเรื่องมนุษยธรรมต่อผู้ลี้ภัยในระดับนานาชาติเริ่มมีขึ้นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หลังจากที่ทหารนาซีฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปหลายล้านคน ซึ่งในระหว่างสงคราม หลายๆ ประเทศ (รวมทั้งสหรัฐฯ) ปฏิเสธที่จะรับชาวยิวเหล่านี้มาเป็นผู้ลี้ภัย ทำให้หลังสงคราม องค์การสหประชาชาติได้จัดประชุมที่กรุงเจนีวา ที่ต่อมาจะรู้จักกันในนาม 1951 Refugee Convention เพื่อป้องกันไม่ให้เหตุการณ์อันน่าสลดเช่นนี้เกิดขึ้นอีก ซึ่งหลายชาติรวมทั้งสหรัฐฯ ได้ให้สัตยาบันว่าจะสร้างระบบเพื่อรองรับการลี้ภัย

 

สำหรับสหรัฐฯ รัฐสภาได้ผ่านกฎหมายรองรับสิทธิของผู้ลี้ภัย โดยกฎหมายระบุไว้ว่า หากมีผู้อพยพเข้ามาเหยียบแผ่นดินของสหรัฐฯ (ไม่ว่าจะเข้ามาอย่างถูกกฎหมายหรือไม่) และอ้างว่าพวกเขาต้องการหนีภัยมาจากประเทศตนเอง พวกเขาจะมีสิทธิขึ้นศาลเพื่อร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย (แต่ศาลจะอนุมัติหรือไม่ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

 

Title 42 

สิทธิในการลี้ภัยอันนี้ถูกมองว่าเป็นช่องว่างในการเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมาย แถมยังอาจเป็นการกระตุ้นให้ผู้อพยพลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายด้วยซ้ำ

 

รัฐบาลฝ่ายขวาของทรัมป์ที่มีนโยบายต่อต้านการอพยพเห็นช่องในการปิดสิทธิในการลี้ภัยในช่วงที่มีการระบาดของโควิด โดยทรัมป์ตัดสินใจใช้อำนาจภายใต้ Title 42 ที่ให้อำนาจรัฐบาลควบคุมการผ่านด่านตรวจคนเข้าเมืองในภาวะที่มีโรคระบาดร้ายแรง โดยที่เขาได้ใช้อำนาจนี้ยกเลิกสิทธิในการลี้ภัย และขับไล่ (Deport) ผู้อพยพทั้งหมดที่ผ่านชายแดนอย่างผิดกฎหมาย โดยไม่ให้โอกาสขึ้นศาลร้องขอสถานะผู้ลี้ภัย ซึ่งชาวอเมริกันส่วนใหญ่ก็เห็นด้วยกับการใช้ Title 42 ของทรัมป์ เนื่องจากในช่วงนั้นชาวอเมริกันทุกคนเห็นตรงกันว่าการยุติการระบาดของโควิดเป็นเรื่องสำคัญที่สุด

 

เผือกร้อนในมือไบเดน

การใช้ Title 42 ของทรัมป์กลายมาเป็นเผือกร้อนในมือของไบเดนทันที หลังจากที่เขาชนะการเลือกตั้งและได้เป็นประธานาธิบดีแทนทรัมป์ในเดือนพฤศจิกายน 2020 เพราะฐานเสียงฝ่ายซ้ายของพรรคมองว่ามันเป็นนโยบายที่ไร้มนุษยธรรม และสะท้อนความกลัวอย่างไร้เหตุผลต่อผู้อพยพของฝ่ายขวา และต้องการให้ไบเดนยุติการใช้ Title 42 โดยเร็ว

 

อย่างไรก็ดี ไบเดนตัดสินใจคงการใช้ Title 42 หลังเขาเข้ารับตำแหน่ง เพราะเขาทราบดีว่าการยุติ Title 42 ในช่วงที่ยังมีการระบาดของโควิดจะทำให้เขาถูกมองว่าเป็นพวกซ้ายจัด (ไบเดนพยายามรักษาภาพของการเป็นคนกลางซ้ายอยู่เสมอ) ไบเดนคงการใช้ Title 42 จนกระทั่งรัฐบาลของเขาประกาศว่าโควิดไม่ใช่เหตุฉุกเฉินอีกต่อไปแล้วในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ทำให้โควิดไม่ใช่เหตุที่จะเอามาอ้างการใช้ Title 42 ได้อีก และ Title 42 ก็หมดอายุลงเมื่อวันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

 

ไม่ต่างจากทรัมป์

หลังจากที่ Title 42 หมดอายุลง ไบเดนได้ออกมาตรการใหม่สำหรับผู้อพยพ โดยเขากำหนดว่าผู้อพยพที่ต้องการร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยจะต้องนัดหมายผ่านแอปพลิเคชันก่อน เพื่อมาเจอกับเจ้าหน้าที่ตรวจคนเข้าเมืองชายแดน หากใครลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายก็จะถูกผลักดันกลับประเทศตัวเองทันที และจะถูกแบนไม่ให้สิทธิในการร้องขอสถานะผู้ลี้ภัยโดยอัตโนมัติ

 

มาตรการใหม่ของไบเดนนั้นแทบจะเรียกได้ว่ามีความเข้มงวดแทบจะไม่ต่างหรืออาจจะมากกว่า Title 42 ของทรัมป์เสียด้วยซ้ำ ซึ่งนำมาสู่ความไม่พอใจอย่างมากของฝ่ายซ้ายในพรรคที่มองว่าไบเดนมีแนวคิดต้านการอพยพไม่ต่างจากทรัมป์ จนนำไปสู่การฟ้องร้องที่นำโดย American Civil Liberties Union ว่ามาตรการของไบเดนนั้นขัดกับกฎหมายที่รับรองสิทธิการลี้ภัยของผู้อพยพทุกคนที่มาเหยียบแผ่นดินสหรัฐฯ ซึ่งเราก็คงต้องดูต่อไปว่าไบเดนจะตอบสนองอย่างไรกับแรงกระเพื่อมในพรรค

ภาพ: Mario Tama / Getty Images

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X