×

เลือกตั้ง 2566 : ทิสรัตน์ เลาหพล พรรคก้าวไกล ‘จากห้างย่านอนุสาวรีย์ชัยฯ สู่ก้าวไกล บางแค’

โดย THE STANDARD TEAM
05.05.2023
  • LOADING...
ทิสรัตน์ เลาหพล
  • ชื่อ-นามสกุล: ทิสรัตน์ เลาหพล
  • อายุ: 27 ปี
  • สังกัดพรรค: ก้าวไกล
  • เขตการเลือกตั้ง: กรุงเทพมหานคร เขต 29 เขตบางแค (แขวงบางแคเหนือ / บางไผ่) เขตหนองแขม (แขวงหนองค้างพลู)
  • การศึกษา: วิทยาศาสตรบัณฑิต (การจัดการออกแบบ ธุรกิจ และเทคโนโลยี) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  • สมาชิกในครอบครัว: บุตรสาวของ อดุลย์ เลาหพล รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนากล้า อดีตสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์

 

การเลือกตั้งสภาผู้แทนราษฎรไทย ปี 2566 มีการเปิดตัว ‘ผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่า’ จากหลายพรรคการเมือง สร้างความคึกคักให้กับผู้มีสิทธิเลือกตั้งทั่วประเทศ เป็นทางเลือกสดใหม่ให้หลุดพ้นจากความจำเจด้านการเมือง

 

ขณะที่อีกด้านของเหรียญ ผู้สมัครเหล่านี้คล้ายว่าจะเป็นสัญลักษณ์แห่ง ‘การเปลี่ยนมือ’ ของตระกูลนักการเมือง ไม่ว่าจะในระดับชาติหรือว่าท้องถิ่น เพราะต่อให้เป็นคนหน้าใหม่ แต่ ‘นามสกุล’ ที่คุ้นเคยยังคงติดอยู่บนป้ายหาเสียงไม่เลือนหายไปไหน

 

อย่างไรก็ตาม การพิพากษาตัดสินไปก่อนล่วงหน้าว่าผู้สมัครหน้าใหม่เป็นเพียงตัวแทนรุ่นถัดไปของครอบครัวบ้านเก่า ก็คงไม่ยุติธรรมมากนัก หากยังไม่ได้ทำความรู้จักกับผู้สมัคร ศึกษาทัศนคติ และทำความเข้าใจเลนส์ความคิด-ความเชื่อเกี่ยวกับการเมืองของพวกเขาและเธอ

 

การลงสนามการแข่งขันเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรครั้งแรกของผู้สมัครหน้าใหม่-เลือดเก่าเป็นเช่นไร มีความคิดเห็นอย่างไรกับการต่อสู้บนสนามเลือกตั้งที่ถูกแช่แข็งมายาวนานนับทศวรรษ

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

โควิดทำให้เข้าใจความสำคัญของการเมือง

 

ในฐานะผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุดจาก 33 เขตการเลือกตั้งในกรุงเทพมหานครของพรรคก้าวไกล เพ้น-ทิสรัตน์ เลาหพล เริ่มเล่าประวัติของตัวเองว่า ตนเองก็เรียกได้ว่าคลุกคลีมากับการเมืองตั้งแต่ยังเล็ก นับย้อนไปตั้งแต่สมัยที่ช่วยคุณพ่อ อดุลย์ เลาหพล หาเสียงสมัยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภากรุงเทพมหานคร เขตสัมพันธวงศ์

 

“เหมือนตอนเด็กๆ คลุกคลีมากับคุณพ่อ-คุณแม่ด้วย คุณพ่อเป็น ส.ก. (สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร) เคยช่วยคุณพ่อหาเสียงตั้งแต่เด็กเลย ขี่จักรยานซ้อนท้าย ผูกจุกอะไรอย่างนี้ เพราะคุณพ่ออยู่เขตสัมพันธวงศ์ เป็นพื้นที่เยาวราช ก็เลยแต่งตัวชุดจีนเป็นอาหมวย จำได้เลยว่าเบอร์หนึ่ง”

 

หลังจากนั้นเธอเองก็ยอมรับว่าตัวเองออกห่างจากวงการการเมือง ทั้งความไม่สนใจส่วนตัวและความเบื่อหน่ายในการเมืองรูปแบบเดิม หลังจากเรียนจบชั้นปริญญาตรีเธอเข้ารับช่วงต่อในการบริหารธุรกิจของครอบครัว รับผิดชอบร้านเครื่องดื่มแบรนด์ Amazon 2 สาขาที่บ้านเป็นเจ้าของ และมาจัดการเรื่องมาร์เก็ตติ้งของห้าง Victory Mall

 

หากภายหลังจากที่ทิสรัตน์เข้ามาบริหารงานธุรกิจทางบ้านไม่นานนัก เธอก็เจอกับความท้าทายครั้งใหญ่จากวิกฤตโควิด ซึ่งส่งผลกระทบกับทุกคนอย่างเลี่ยงไม่ได้ เมื่อรัฐบาลมีการประกาศล็อกดาวน์และปิดร้านค้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ร้านเครื่องดื่ม Amazon ของเธอ ก็จำเป็นต้องหยุดการจำหน่ายสินค้าไปพร้อมกับผู้ประกอบการอื่นทั่วประเทศเช่นกัน

 

เมื่อไม่สามารถค้าขายได้ตามปกติ ย่อมหมายความว่าร้านค้าขาดเงินทุนสำหรับการจ่ายเงินเดือนของพนักงาน ในช่วงเวลาที่ยากลำบาก ผู้ประกอบการแต่ละรายก็เลือกเส้นทางการหมุนเวียนเงินแตกต่างกันไป บ้างก็เลือกที่จะปลดพนักงานออก บ้างก็ลดเงินเดือนตามลำดับขั้น 

 

ส่วนทิสรัตน์ตัดสินใจที่จะจ่ายเงินเดือนเต็มจำนวนให้กับพนักงานทุกคนอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการหักหรืองดจ่ายเงินเดือน โดยมีการโยกผลประกอบการกำไรที่สะสมไว้มาใช้เป็นเงินจ่าย เพื่อให้ทุกชีวิตในร้านยังคงดำเนินชีวิตต่อไปได้ เพราะเธอเข้าใจดีว่า หากพนักงานไม่ได้รับเงินเดือนในส่วนนี้ พวกเขาก็จะลำบากกับการดำรงชีวิตแค่ไหน

 

“ตอนโควิด ร้าน Amazon มีพนักงานเป็นสิบคน คือรัฐบาลบอกให้ปิดร้าน ไม่ให้ขาย แล้วเพ้นต้องทำอย่างไร พนักงานล่ะ เงินเดือนที่จ่ายเป็นหมื่นๆ อะไรอย่างนี้ คือเพ้นก็เลยไม่ได้หักพนักงานสักบาท ก็เอาเงินจากกำไรที่ผ่านมาให้พนักงานหมดเลย แล้วสุดท้ายพนักงานก็มาเล่าว่า เพื่อนๆ เขาถูกไล่ออก ถูกเลย์ออฟ แล้วเขามาคุยกับเพ้นว่า ขอบคุณมากๆ ที่เพ้นไม่หักเงินสักบาทเลย”

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

มี ช่อ พรรณิการ์ เป็นไอดอล

 

จากคนที่ไม่ได้สนใจด้านการเมืองมากนัก เมื่อได้สัมผัสความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับตัวเองและคนรอบข้างอย่างต่อเนื่อง ทิสรัตน์จึงเริ่มศึกษาปัญหาภายในประเทศ ทั้งภาพรวมและในรายละเอียดมากขึ้น รวมถึงได้มีโอกาสเข้าร่วมการชุมนุมในปี 2564-2565 อีกด้วย

 

“มีม็อบที่อนุสาวรีย์ชัยฯ เพ้นก็ไปด้วย เพราะห้างตัวเอง (Victory Mall) ก็อยู่ตรงนั้นพอดี พออยู่หน้าห้างตัวเองก็เลยไป”

 

ประกอบกับการทำความรู้จักกับพรรคก้าวไกลที่เธอเห็นว่ามีแนวทางในทางการเมืองที่น่าสนใจ จึงสมัครเป็นสมาชิกพรรคในช่วงปี 2564 โดยมี ช่อ-พรรณิการ์ วานิช เป็นไอดอลทางการเมือง ทิสรัตน์เล่าให้ฟังว่า เธอชอบในวิธีการพูด การปราศรัย ที่สามารถสร้างแรงกระเพื่อมในหัวใจ ทำให้รู้สึกฮึกเหิม เป็นแรงขับเคลื่อนและผลักดันให้กล้าลงมือทำในสิ่งที่ตัวเองเชื่อและศรัทธา

 

รวมไปถึง ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ก็เป็นอีกคนที่เติมไฟในการทำงานด้านการเมืองไม่ต่างกัน สืบเนื่องจากความคิดเห็นของธนาธรที่บอกว่า “ถ้าต้องการจะแก้ไขปัญหา ก็ลองมาลงมือทำเอง” 

 

เป็นการสร้างแรงกระตุ้นว่า ถ้าต้องการความเปลี่ยนแปลง สิ่งที่สำคัญคือการก้าวออกจากพื้นที่ปลอดภัย แล้วลองปฏิบัติด้วยตัวเอง

 

“คุณธนาธรเคยพูดไว้ประมาณว่า ‘ถ้าคุณอยากจะแก้ไขปัญหา ทำไมคุณไม่ลองมาทำเองดูล่ะ’ คำนี้มันเป็นคำที่เพ้นชอบมาก ทำให้เพ้นตั้งใจว่า อยากลองสักครั้งว่าทำไมไม่ทำให้ประเทศที่มันเดิมๆ ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ได้เปลี่ยนแปลง ไหนๆ แล้วก็ขอเป็นคนหนึ่งที่อยากภูมิใจว่าเพ้นได้ทำแล้ว ฉันได้ทำเพื่อประเทศแล้ว” ทิสรัตน์กล่าว

 

เมื่อพรรคก้าวไกลเปิดรับสมัครว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบแบ่งเขตการเลือกตั้ง ทิสรัตน์จึงลองท้าทายขีดจำกัดและพิสูจน์ความเชื่อทางการเมืองของตัวเอง ด้วยการกรอกใบสมัครออนไลน์ เพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้สมัครของพรรคก้าวไกลในปี 2565

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

เส้นทางชีวิตที่มีความเชื่อเป็นของตัวเอง

 

การที่สมาชิกในครอบครัวทำงานอยู่ในวงการการเมืองมาก่อน มันคงไม่ใช่เรื่องยากเท่าไรนักกับการก้าวลงสมัครรับเลือกตั้งผ่านการฝากฝังผ่าน ‘ผู้ใหญ่’ ทางการเมืองสักราย 

 

แล้วทำไมทิสรัตน์ถึงเลือกที่จะสมัครในพรรคการเมืองที่มีการคัดสรรตามขั้นตอน ซึ่งเธออาจไม่ได้รับเลือกเป็นตัวจริงในสนามเลือกตั้งเสียด้วยซ้ำ

 

“เลือกพรรคก้าวไกล หนึ่งเลยเพราะอุดมการณ์ อันที่สองคือการเมืองแบบใหม่ หาเสียงแบบใหม่ การเดินแบบใหม่ ความคิดแบบใหม่ นโยบายด้วย สามคือปิดสวิตช์ 3 ป. (พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา, พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ, พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา)” ทิสรัตน์ระบุ

 

นอกจากนั้นทิสรัตน์ยังแสดงความแน่วแน่ว่า การลงสนามการเมืองของเธอไม่ใช่เพียงแค่เรื่องการได้ลงสมัครกับพรรคอะไรก็ได้ อย่างที่เธอมีความเชื่อมั่นอันแรงกล้าว่า การเลือกลงสมัครกับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด อุดมคติทางการเมืองและนโยบายของพรรคที่สอดคล้องกับความคิดของเธอเป็นเรื่องสำคัญ

 

เธอย้อนความให้ฟังว่า ภายหลังจากที่กรอกใบสมัครเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเป็นผู้สมัครสมาชิกผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกลแล้ว คุณพ่อเองก็เคยถามว่า ในกรณีที่พรรคก้าวไกลไม่ได้ติดต่อกลับมา ทิสรัตน์ต้องการให้คุณพ่อช่วยคุยกับคนรู้จัก เพื่อที่จะลงสมัครเป็นผู้สมัครในพรรคการเมืองอื่นแทนไหม

 

คำตอบเดียวของทิสรัตน์คือ ‘ไม่’ เธอจะลงสมัครกับพรรคก้าวไกลเท่านั้น

 

“คือถ้าสมัครแล้วไม่เรียกเพ้น เพ้นก็ไม่สมัครที่ไหนเลย อย่างพ่ออยู่พรรคชาติพัฒนากล้า เขาก็ถามว่าหรือจะไปอยู่กับเขาไหม แต่ก่อนเขาก็อยู่พลังธรรม มาไทยรักไทย เขาก็ถามว่าไปหาคนที่เขารู้จักไหม พวกผู้ใหญ่ในพรรค เพ้นก็บอกเลยว่า ไม่ ถ้าจะให้ลง จะไม่ลงพรรคไหนนอกจากก้าวไกลเท่านั้น” ทิสรัตน์ยืนยัน

 

แม้ต้องใช้เวลาเป็นเดือนในการตอบรับ จนเธอเองก็แอบถอดใจไปแล้ว แต่ในท้ายที่สุดพรรคก้าวไกลก็เรียกเธอสัมภาษณ์ และได้เป็นตัวจริง 1 ใน 33 คนของสนามการเลือกตั้งกรุงเทพมหานครในเวลาต่อมา

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

หาเสียงสไตล์ทิสรัตน์

 

ทิสรัตน์เริ่มต้นการหาเสียงในฐานะว่าที่ผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ระบบแบ่งเขตการเลือกตั้ง ของพรรคก้าวไกล เขตตลิ่งชัน แต่การเมืองไทยคือเรื่องของความไม่แน่นอน เมื่อสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ออกมาประกาศแบ่งเขตการเลือกตั้งครั้งใหม่ในช่วงเดือนมีนาคม 2566

 

ทางพรรคจึงโยกเธอมารับผิดชอบในเขตบางแค (แขวงบางแคเหนือ / บางไผ่) เขตหนองแขม (แขวงหนองค้างพลู) แทน จึงอาจเรียกได้ว่า การแบ่งเขตพื้นที่การเลือกตั้งครั้งใหม่แสนกระชั้นชิดเป็นข้อด้อยในการทำงาน เพราะเธอต้องล้างแผนการเดิมที่เคยวางไว้สำหรับการเดินลงไปแนะนำในพื้นที่ ย้ายตัวเองมาทำงานในเขตใหม่กะทันหัน

 

เธอบรรยายความรู้สึกในการลงพื้นที่หาเสียงครั้งแรกให้ฟังว่า ตอนนั้นเธอเองก็ยังพูดไม่เก่งเท่าไรนัก ยังคงเคอะเขินในการคุยกับผู้อยู่อาศัยในเขตพื้นที่อยู่ไม่น้อย อีกทั้งยังต้องมีการปรับตัวให้เข้ากับการหาเสียงแบบใหม่ที่เธอตั้งใจว่าจะต้องทำให้ได้ ซึ่งการหาเสียงของเธอจะแตกต่างจากสมัยที่เคยช่วยคุณพ่อหาเสียงในสมัยเด็ก ที่มีเพียงการกล่าวคำทักทาย แนะนำชื่อผู้สมัคร และการย้ำเรื่องเบอร์เท่านั้น

 

ส่วนตัวเธอเองนั้นจะไม่บอกเพียงแค่ชื่อและเบอร์ผู้สมัครเท่านั้น แต่จะมีการแนะนำนโยบายของพรรคที่สอดคล้องกับกลุ่มอายุหรือกลุ่มอาชีพคนในชุมชน อย่างเช่น ถ้าเป็นผู้สูงอายุในชุมชน เธอก็จะเลือกคุยในส่วนของนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการผู้สูงอายุ หรือเจอกลุ่มคนที่กำลังตั้งวงสังสรรค์ดื่มสุรา ก็จะแนะนำพรรคของตนเองว่ามีนโยบายอะไรบ้างเกี่ยวกับสุรา รวมไปถึงการพูดคุยสารทุกข์สุขดิบก็เป็นอีกเรื่องที่เธอให้ความสำคัญ ไม่ใช่เพียงแค่มาพูดให้จบประโยคแล้วเดินจากไป

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

“จะต้องพูดคุยกัน ถามเขาว่าเป็นอย่างไรบ้าง กินข้าวหรือยัง คือเพ้นมองว่าถ้าเพ้นเจอกับตัวเอง มีผู้สมัครมาหาเสียงอย่างนี้ มาขายๆ อย่างเดียว ก็คงไม่ชอบ แต่มาชวนคุยอย่างนี้ก็สนุก รู้สึกว่าเขาใส่ใจ”

 

รวมไปถึงการสร้างความเป็นกันเองให้กับการพูดคุย ทิสรัตน์มักเรียกคู่สนทนาว่า ‘พี่’ เสมอ ไม่เลือกใช้คำที่อาจฟังแล้วขัดใจคนฟังอย่างคุณป้าหรือคุณลุง และวิธีนี้ก็ช่วยให้เธอเข้าถึงผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตได้มากขึ้น

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

สเกตบอร์ดและจักรยานแม่บ้านคู่ใจ

 

อีกหนึ่งจุดขายของทิสรัตน์ในการหาเสียงลงพื้นที่ครั้งนี้คือ วิธีการเดินทางเข้าไปลงพื้นที่ชุมชน ที่มีทั้งจักรยานแม่บ้านคันเก่าเอามาซ่อมแซมและดัดแปลงให้สามารถตั้งป้ายหาเสียงได้ หรือสเกตบอร์ดคู่ใจที่พาเธอแล่นฉิวจนบางครั้งทีมงานก็ตามไม่ทัน

 

ทิสรัตน์บอกว่า เธอเล่นสเกตบอร์ดมาเป็นเวลาพอสมควรแล้ว แต่ก็มีร้างราจากกันไปเมื่อต้องเข้ามารับหน้าที่สานต่อดูแลธุรกิจที่บ้าน แต่ก็มีจังหวะได้เวลาหยิบสเกตบอร์ดคู่ใจมาปัดฝุ่นแล้วออกเดินทางไปพร้อมกันอีกครั้ง เมื่อการหาเสียงในเวลานี้ต้องแข่งกับเวลาเป็นอย่างมาก

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

โดยเธอกล้าพูดว่า ตั้งแต่เริ่มต้นการลงพื้นที่หาเสียงวันแรกจนถึงเวลานี้ เธอเป็นคนถือแผ่นพับหรือใบปลิวนโยบายพรรคไปเสียบที่ประตูบ้านเองเกือบทุกหลัง เพื่อเป็นการแสดงความตั้งใจจริงว่า การมาลงพื้นที่หาเสียงไม่ได้ทำพอเป็นพิธี แต่เธอมีความตั้งใจจริงที่อยากเข้ามาเปลี่ยนแปลงประเทศ

 

แล้วตอนนี้ทิสรัตน์ให้คะแนนการลงพื้นที่ของตัวเองเท่าไร

 

“ก็ร้อยเต็มอะ (หัวเราะ) เต็มที่มาก ไม่พัก สู้มาก บอกเลยว่าเก็บพื้นที่มาเยอะมากภายในไม่ถึงเดือน แล้วการพูดการจาเก่งขึ้น นโยบายแน่นขึ้น เวลาพูดมีสีหน้ามากขึ้น คือแรกๆ ก็ยังเขิน พอลงพื้นที่มากขึ้นก็จะจับประเด็นถูกมากขึ้นว่าใครควรคุยเรื่องอะไร”

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

นามสกุลไม่สำคัญ เพราะพรรคไม่สนใจ

 

คงต้องยอมรับว่า ในโลกการเมืองประเทศไทย การเห็นคนนามสกุลเดียวกันแบ่งปันตำแหน่งใหญ่น้อยในภาคส่วนต่างๆ ภายใต้การบริหารประเทศ เป็นเรื่องที่เห็นจนชินตา จนเกิดเป็นความคิดลำดับต้นๆ ของคนไม่น้อยว่า คนเหล่านี้อาจไม่ได้มีความรู้ความสามารถเพียงพอในการปฏิบัติหน้าที่ แต่เพียงเพราะว่าสืบเชื้อสายมาจากตระกูลเดียวกัน เลยมีการเกื้อกูลกันในวงญาติ

 

ไม่ต่างกับทิสรัตน์ที่มี ‘นามสกุล’ และความสัมพันธ์ทางสายเลือดกับคนที่อยู่ในแวดวงการเมืองมาอย่างยาวนาน ประกอบกับข้อเท็จจริงที่เธอเป็นผู้สมัครที่อายุน้อยที่สุดในเขตกรุงเทพมหานครของพรรคก้าวไกล มันคงยากที่จะไม่ตั้งคำถามเกี่ยวกับนามสกุลที่เพิ่มโอกาสในการทำงานการเมือง

 

แต่ทิสรัตน์ไม่ได้มองเช่นนั้น ไม่เคยมีความคิดว่านามสกุลของตนเองเป็นส่วนที่ทำให้ตนเองได้รับการคัดเลือก 

 

ตามที่เธอย้อนความกลับไปว่า สมัยที่สมัครเป็นผู้สมัครสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรคก้าวไกล เธอก็เพียงกรอกข้อมูลและส่งวิดีโอแนะนำตัวไม่ต่างกับคนอื่น หรือตอนเรียกสัมภาษณ์ก็ไม่มีการพูดคุยเกี่ยวกับประวัติของพ่อ-แม่ หรือว่าความเป็นมาทางบ้านเลย ดังนั้นเรื่องการสืบเชื้อสายทางการเมืองจึงไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอได้มายืนจุดนี้

 

“เพ้นคิดว่าตอนที่มาสมัคร พรรคไม่มีใครรู้จักว่าเพ้นเป็นใคร ก็รู้สึกว่าที่เขาเลือกไม่ใช่เพราะว่าคุณพ่อ-คุณแม่ หรือเพราะว่าเขาเคยเป็นนักการเมืองเก่ามา พรรคก้าวไกลชัดเจนอยู่แล้วว่าไม่ได้สนใจว่าคุณจะเป็นใครมาก่อน” เธอกล่าว

 

นอกจากนี้เธอยังแอบกระซิบบอกว่า การสัมภาษณ์กับพรรคก้าวไกล ตัวพรรคเองสนใจเรื่องปัญหา ‘งูเห่า’ เสียมากกว่า อย่างที่เธอเจอคำถามจากทางผู้สัมภาษณ์ว่า หากได้รับการเสนอเงินก้อนใหญ่เพื่อดึงตัวไปพรรคอื่น เธอจะเลือกเดินออกจากพรรคไปหรือเปล่า

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

คนตัวเล็กแต่ตั้งใจจริง

 

ผู้สมัครหน้าใหม่ ผู้หญิง ตัวเล็ก หน้าเด็ก หลายองค์ประกอบที่รวมกัน เป็นสิ่งที่ทิสรัตน์ยอมรับว่าเป็นโจทย์ใหญ่ในการสร้างความมั่นใจให้กับผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียงในครั้งนี้ เหมือนอย่างที่เธอเดินลุยเข้าไปในชุมชน แล้วผู้อยู่อาศัยมีการทักทายในเชิงปรามาส ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอายุที่น้อยกว่าผู้สมัครรายอื่นชัดเจน หรือจะเป็นเรื่องของประสบการณ์ทางการเมืองที่พวกเขามองว่ายังอ่อนในทางการเมือง ไม่น่าจะตามเหลี่ยมการเลือกตั้งได้ทัน

 

“เพ้นก็คอยพูดว่า พี่เคยกินพริกขี้หนูไหมล่ะ อะไรอย่างนี้” ทิสรัตน์เล่าด้วยน้ำเสียงฉะฉาน

 

อีกหนึ่งความท้าทายของเธอในการใช้วิธีการหาเสียงสไตล์ทิสรัตน์ในครั้งนี้ก็คงไม่พ้นการล้างความเชื่อเดิมในการทำการเมือง อย่างการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของงานบวชหรืองานศพของคนในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนคุ้นหน้าค่าตา เธอก็ไม่เคยแวะเวียนไปเลย ตามความเชื่อส่วนตัวที่ว่า เธออยากเข้าถึงประชาชนผ่านการลงพื้นที่เยี่ยมบ้านเรือนมากกว่า

 

หรือในเวลาที่มีคำแนะนำเรื่องการหาเสียงจากคุณพ่อผู้มีประสบการณ์มาก่อน การคุยกับประธานชุมชนหรือหัวคะแนนเป็นเรื่องที่ต้องทำ คนเหล่านี้จะเป็นคนที่พาคะแนนเสียงของคนในชุมชนมาได้ เธอเองก็มองแตกต่างอย่างสิ้นเชิงว่า ในบางครั้งประธานชุมชนก็ไม่ใช่คนที่คนในชุมชนนิยมชมชอบเสมอไป

 

ส่วนข้อดีของการเป็นหน้าใหม่ในพื้นที่นี้ เธอมองเรื่องของความสดใหม่ในการทำงาน เป็นตัวเลือกใหม่ๆ ให้กับประชาชนที่อาจเบื่อหน่ายกับผู้สมัครคนเดิม หน้าเดิม และได้การทำงานแบบเดิม

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

ปากท้องเป็นเรื่องแรก

 

ทุกพื้นที่ย่อมมีปัญหาที่ต้องการแก้ไขแตกต่างกันไป หากได้รับการเลือกเป็นผู้แทนประชาชนในเขตนี้ ทิสรัตน์มองเรื่องไหนมาเป็นอันดับต้นนั้น จากการลงพื้นที่เพื่อสอบถามความเป็นอยู่และสิ่งที่ต้องการการแก้ไขในเขตการเลือกตั้ง เธอมองเรื่องของเศรษฐกิจปากท้องเป็นหลัก อย่างในเขตบางแคจะมีร้านขายของชำจำนวนมาก ถ้านโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้ประกอบการรายย่อยได้รับการดำเนินงาน ก็คงเป็นเรื่องที่ดี

 

อีกเรื่องที่เธอมองว่าสำคัญไม่แพ้กันคือ เรื่องผู้สูงอายุในพื้นที่ที่มีปริมาณมาก ดังนั้นหากเธอสามารถเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประชาชนในพื้นที่ได้รับประโยชน์จากนโยบายของพรรคที่เกี่ยวข้องกับสวัสดิการผู้สูงอายุได้ ก็เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจไม่แพ้กัน

 

นอกจากความตั้งใจในการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหาในพื้นที่แล้ว ในกรณีที่เธอได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ก็คงเป็นเรื่องดีไม่น้อยสำหรับการปรับเปลี่ยนสัดส่วนตัวเลขของผู้หญิงและผู้ชายในรัฐสภา ซึ่งในปี 2565 มีการรวบรวมไว้ว่า สัดส่วนของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผู้ชาย 398 คน ผู้หญิง 73 คน และผู้มีความหลากหลายทางเพศ 3 คน

 

จะเห็นได้ว่า สัดส่วนระหว่างผู้ชายกับผู้หญิงมีความแตกต่างอย่างมีนัยสำคัญ และเป็นตัวเลขที่อาจส่งผลต่อการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับผู้หญิง ดังนั้นเธอก็พร้อมสู้เพื่อให้ได้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันนโยบายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิของผู้หญิง

 

“ที่ผ่านมาในสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรมีผู้ชาย 80% ผู้หญิง 15% จะผลักดันนโยบายเกี่ยวกับผู้หญิงมันก็ไม่ค่อยได้ มันไม่ถึงครึ่ง ก็อยากจะเป็นผู้หญิงคนหนึ่ง ผู้หญิงคนนี้แหละที่ไปสู้ด้วยกัน” ทิสรัตน์กล่าว

 

ทิสรัตน์ เลาหพล

 

ของมูของเพ้น

 

“แรกๆ ก็ไม่ค่อยมูหรอกค่ะ แต่พอมาลงการเมืองต้องเอาหน่อย ในตัวมีพระ ห้อยไว้ข้างใน มีท้าวเวสสุวรรณที่เอามาเป็นวอลล์เปเปอร์ในโทรศัพท์ เสริมบารมีให้ตัวเอง แล้วก็เพิ่งเช่าพระแม่ลักษมีเมื่อเดือนที่ผ่านมา เกี่ยวกับว่าเป็นผู้หญิงด้วย แล้วก็เรื่องคำพูดคำจา ทำให้คนหลงใหล”

 

เรื่อง: จามาศ โฆษิตวิชญ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X