สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มทิสโก้ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2562 มีกำไรสุทธิ 5,405 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน โดยกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากธุรกิจหลัก เช่น ธุรกิจแบงก์แอสชัวรันส์ ฯลฯ ที่ยังเติบโตได้ดี ขณะเดียวกันค่าใช้จ่ายสำรองหนี้สูญลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
ทั้งนี้ ภาพรวมสินเชื่อของกลุ่มทิสโก้ทรงตัว จากผลกระทบของอุปสงค์ภายในประเทศที่อ่อนตัว เห็นได้จากยอดขายรถยนต์ในประเทศที่เติบโตชะลอตัวลง โดยสินเชื่อที่ยังเติบโตดีคือสินเชื่อจำนำทะเบียน โดยเฉพาะช่องทาง ‘สมหวัง เงินสั่งได้’ สินเชื่อเติบโตกว่า 20% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ 9,320 ล้านบาท ลดลง 2.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเพราะการขายสินเชื่อส่วนบุคคลไปในปีก่อนหน้า
รายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยสุทธิ อยู่ที่ 4,338 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากงวดเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งที่รายได้ลดลงเพราะไม่มีกำไรพิเศษจากเงินลงทุนและการขายธุรกิจบัตรเครดิตที่เคยมีเมื่อไตรมาส 3 ปี 2561
ค่าใช้จ่ายการดำเนินงาน อยู่ที่ 6,891 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.3% จากงวดเดียวกันของปีก่อน
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ณ 30 กันยายน อยู่ที่ 4.3%
หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Gross NPL) สิ้นเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 2.8% ปรับตัวดีขึ้นจากก่อนหน้า
“ภาพรวมเศรษฐกิจไทย ในช่วงที่เหลือของปีนี้ยังมีแนวโน้มชะลอตัวต่อเนื่อง จากการชะลอตัวลงของอุปสงค์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ทำให้เราปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจไทยในปีนี้ลงมาอยู่ที่ 2.9% โดยกลุ่มทิสโก้ยังเน้นการเติบโตแบบมีคุณภาพตามแผนงานที่เราวางไว้ตั้งแต่ต้นปี” สุทัศน์ กล่าว
ทั้งนี้เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 30 กันยายน 2562 อยู่ที่ 240,742 ล้านบาท ลดลง 0.2% จากไตรมาสก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการชะลอตัวของสินเชื่อรายย่อย และการชำระคืนหนี้ของลูกหนี้ในกลุ่มธุรกิจ SMEs
ทางธนาคารมีเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 169.0% และอัตราส่วนของเงินสำรองรวมของธนาคารต่อสำรองพึงกันตามเกณฑ์ขั้นต่ำของธนาคารแห่งประเทศไทยอยู่ที่ 220.5% และมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 23.2% สูงกว่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์