สุทัศน์ เรืองมานะมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มทิสโก้ กล่าวว่าการระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ทำให้ภาวะธุรกิจชะลอตัวลง ธุรกิจมีความท้าทายจากความไม่แน่นอนว่าเศรษฐกิจจะใช้ระยะเวลาในการฟื้นตัวอย่างไร รวมถึงคุณภาพสินเชื่อจากตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ที่มีแนวโน้มสูงขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ การเริ่มใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9) เป็นครั้งแรกทำให้ผลประกอบการของบริษัทในปีนี้อาจแตกต่างจากที่เคยคาดการณ์ไว้
“การแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วนอย่างรุนแรง ทั้งภาคการท่องเที่ยว การผลิต การส่งออก การบริโภคภาคเอกชน ก่อให้เกิดความผันผวนรุนแรงในตลาดการเงินโลก เป็นแรงกดดันทางเศรษฐกิจที่มีการเติบโตแบบชะลอตัวอยู่ก่อนหน้านี้ให้ถดถอยลงอย่างรุนแรง ล่าสุดกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดเศรษฐกิจโลกจะหดตัว 3.0% ถือเป็นการติดลบมากที่สุดในรอบเกือบร้อยปี ขณะที่กลุ่มทิสโก้คาดว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะถดถอยในทิศทางเดียวกัน”
ทั้งนี้สรุปผลประกอบการไตรมาส 1/2563 มีรายละเอียดสำคัญดังนี้
บริษัทมีกำไรสุทธิจำนวน 1,484 ล้านบาท ลดลง 14.2% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2562 สาเหตุเพราะสภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ชะลอตัว รวมทั้งการใช้มาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)
รายได้ดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 4,524 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มาจากอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้นตามการขยายสัดส่วนสินเชื่อไปยังกลุ่มสินเชื่อเพื่อการอุปโภคบริโภค ประกอบกับต้นทุนทางการเงินที่ลดลง
รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิอยู่ที่ 1,397 ล้านบาท ลดลง 0.1% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งค่าธรรมเนียมธุรกิจธนาคารพาณิชย์ลดลงจากรายได้จากธุรกิจนายหน้าประกันภัยและค่าธรรมเนียมจากเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ธุรกิจเกี่ยวกับตลาดทุนปรับตัวดีขึ้น เพราะมีปริมาณการซื้อขายหลักทรัพย์และการออกกองทุนใหม่ที่เพิ่มขึ้นในภาวะที่ตลาดทุนผันผวน ขณะเดียวกันบริษัทมีการตั้งผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (Expected Credit Loss – ECL) เพิ่มขึ้นตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ฉบับที่ 9 (TFRS 9)
ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) อยู่ที่ 4.7% เพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อนที่อยู่ระดับ 4.1%
เงินให้สินเชื่อรวมของกลุ่มทิสโก้ ณ วันที่ 31 มีนาคม 2563 มีจำนวน 237,872 ล้านบาท ลดลง 2.0% จากสิ้นปีก่อนหน้า จากการชะลอตัวของสินเชื่อทุกภาคธุรกิจในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนตัว แต่ตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียนยังเติบโตได้ดี เช่น แบรนด์สมหวัง เงินสั่งได้ เติบโต 4.4%
ด้านหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.56% ตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และมีระดับเงินสำรองหนี้สูญต่อหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Coverage Ratio) อยู่ที่ 189.9%
ธนาคารทิสโก้ยังคงรักษาระดับฐานะเงินกองทุนที่แข็งแกร่งมาตลอดทั้งปี โดยมีประมาณการอัตราเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) อยู่ที่ 22.2% สูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 11.0% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย โดยมีอัตราเงินกองทุนชั้นที่ 1 และชั้นที่ 2 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 17.6% และ 4.6% ตามลำดับ
ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม 3 ประเด็น ได้แก่
1. สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 จะมีความรุนแรงเพียงใด และการล็อกดาวน์จะใช้เวลานานเท่าใด
2. ผลของมาตรการบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 ของทางการต่อระบบเศรษฐกิจที่คาดว่าจะส่งผลบวก ซึ่งต้องติดตามรายละเอียดของมาตรการการเบิกจ่ายงบประมาณและการใช้จ่ายเงินของประชาชนต่อไป
3. สถานการณ์ภัยแล้ง
อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมจ่ายปันผลให้กับผู้ถือหุ้นในอัตราหุ้นละ 7.75 บาท สำหรับรอบผลประกอบการวันที่ 1 มกราคม ถึง 31 ธันวาคม 2562 โดยจะขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 27 เมษายน 2563
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์