ดัชนีหุ้นไทย (SET) กลับมายืนเหนือ 1,200 จุด อีกครั้งในวันนี้ (7 มีนาคม) ดัชนีเพิ่มขึ้น 12.48 จุด หรือ 1.05% จากวันก่อนหน้า ปิดที่ 1,202.03 จุด หลังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศประกาศมาตรการใหม่ที่ชื่อว่า Thai Individual Saving Account หรือ TISA ซึ่งคล้ายคลึงกับมาตรการ Nippon Individual Savings Account หรือ NISA ที่ประเทศญี่ปุ่นเคยนำมาใช้ก่อนหน้านี้
สำหรับมาตรการ NISA ของญี่ปุ่นเป็นบัญชีเพื่อการลงทุนที่หากใครเปิดบัญชีนี้ แล้วลงทุนตามเงื่อนไข จะได้รับการยกเว้นภาษีทั้งเงินปันผล (Dividend), กำไรจากส่วนต่างราคา (Capital Gain) และดอกเบี้ย (Interest) ที่ได้รับ
ส่วน TISA ของไทย ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ อุรพีพัฒนพงศ์ ประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวคิดการนำมาตรการ TISA ให้สิทธิการนำวงเงินการซื้อขายหุ้น และมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ให้สามารถนำมาใช้ลดหย่อนภาษีทางตรงได้ตามเงื่อนไขที่กำหนด เพื่อใช้เป็นหนึ่งในมาตรการฟื้นความเชื่อมั่น โดยปัจจุบันตลาดหลักทรัพย์ฯ อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดของข้อมูล ซึ่งคาดว่าตลาดหลักทรัพย์ฯ จะนำเสนอต่อกระทรวงการคลังให้พิจารณาภายในช่วง 1-2 เดือนนี้
“ตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่ได้นิ่งเฉยในการหาแนวทางฟื้นความเชื่อมั่นในตลาดทุนไทย เท่าที่เคยหารือกับท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังก็พร้อมสนับสนุนตลาดหลักทรัพย์ ก็ให้เราไปทำแผนแล้วนำกลับมาเสนอก็พร้อมพิจารณา” ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าว
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์พิเศษ กิติพงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า มีแนวคิดที่จะเสนอให้แก้กฎหมายในลักษณะ Omnibus law และเสนอออกกฎหมายพระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ฟื้นฟูตลาดทุนไทย
โดยเสนอให้มีการออก Omnibus law ปรับปรุงกฎหมายครั้งเดียวหลายฉบับ เช่น กฎหมายหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์, กฎหมายมหาชน, กฎหมายแพ่งและพาณิชย์, กฎหมายส่งเสริมการลงทุน (BOI) โดยเสนอให้พ่วงพิจารณา พ.ร.ก. สร้างความเชื่อมั่นด้วย
รวมทั้งปรับเงื่อนไขการซื้อหุ้นคืน ปัจจุบันมีข้อกำหนดมากมาย เช่น ซื้อได้แค่ 10% ของหุ้นทั้งหมด ต้องขายหุ้นคืนภายในระยะเวลา 3 ปี หรือซื้อหุ้นคืนแล้วจะไม่สามารถทำได้อีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน ซึ่งต้องการปลดล็อกให้ทำได้ง่ายขึ้น
การส่งเสริมธุรกิจใหม่ เช่น บริษัทเทคโนโลยี (Tech Company) ที่จะเข้ามาระดมทุนโดยไม่จำเป็นต้องมีกำไร แต่ได้รับการสนับสนุนจาก BOI ก็สามารถเข้าระดมทุนได้ รวมทั้งการปลดล็อกให้บริษัทต่างประเทศที่ลงทุนในไทยสามารถเข้ามาระดมทุนในตลาดหุ้นไทยได้
ทั้งนี้ การออก พ.ร.ก. จะช่วยให้กระบวนการแก้กฎหมายเร็วขึ้น หากรัฐบาลเห็นด้วย ก็คาดว่าจะสามารถแก้กฎหมายแล้วเสร็จภายใน 6 เดือน
‘ไพบูลย์’ เสนอขอวงเงินสิทธิลดหย่อน 500,000-1,000,000 บาท
ไพบูลย์ นลินทรางกูร กรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO), นายกสมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า แนวคิดของตลาดหลักทรัพย์ฯในการนำมาตรการ TISA (Thai Individual Saving Account) มาใช้ในตลาดหุ้นไทยของ โดยเปิดให้สิทธิการนำวงเงินการซื้อขายหุ้นและมีการกำหนดเงื่อนไขไว้ให้สามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีทางตรงได้นั้นมองว่าเป็นเรื่องที่ดี และเป็นทิศทางที่ถูกต้อง
เนื่องจากมาตรการนี้จะช่วยสร้างเม็ดเงินลงทุนใหม่ๆ ให้เข้ามาลงทุนในตลาดหุ้น อีกทั้งเป็นมาตรการที่ช่วยส่งเสริม รวมทั้งจูงใจ (Incentive) ให้สร้างวัฒนธรรมการออมผ่อนตลาดหุ้นไทยในระยะยาว ซึ่งคล้ายกับมาตรการของประเทศญี่ปุ่นที่มีการส่งเสริมสิทธินักลงทุนรายย่อยของญี่ปุ่นสามารถนำวงเงินซื้อขายหุ้นมาใช้ลดหย่อนภาษีได้ โดยปัจจุบันญี่ปุ่นกำหนดให้เป็นสิทธิลดหย่อนภาษีประจำส่วนบุคคลต่อปีแบบถาวร คล้ายกับค่าลดหย่อนภาษีของการมีลูกของไทย
“มาตรการสิทธิการนำวงเงินการซื้อขายหุ้นให้สามารถนำมาใช้ในการลดหย่อนภาษีทางตรง ผมเคยนำเสนอมาหลายปีแล้ว ซึ่งถ้าเกิดขึ้นได้จริงก็น่าจะเป็นเรื่องดีกับตลาดหุ้น และควรจะให้เป็นสิทธิลดหย่อนแบบประจำก็จะช่วยในระยะยาวเหมือนกับญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นก็ประสบความสำเร็จอย่างดีในการส่งเสริมการออมจากการใช้มาตรการนี้”
ไพบูลย์ยังมีข้อเสนอต่อว่า หากจะดำเนินมาตรการ TISA ควรกำหนดเงื่อนไขการให้วงเงินลดหย่อนภาษีที่จูงใจ โดยเสนอให้สิทธิลดหย่อนเป็นวงเงิน 5 แสน – 1 ล้านบาทต่อราย เพื่อให้เกิดอิมแพ็กต์ ขณะที่รัฐบาลไม่กังวลผลกระทบในระยะสั้นต่องบดุลของรัฐบาล เนื่องจากมองว่าหากมาตรการช่วยสนับสนุนให้ตลาดหุ้นฟื้นกลับมาได้จะมีผลบวกทางอ้อมกลับมามากกว่าเม็ดเงินของภาษีที่จะลดลงจากมาตรการนี้ ดังนี้
- หากปลุกตลาดหุ้นให้ฟื้นตัวขึ้นได้จะช่วยกระตุ้นให้กำลังซื้อของนักลงทุนที่เป็นกลุ่มผู้ใช้จ่ายซื้อสินค้าที่ขนาดใหญ่กลุ่มหนึ่งในประเทศกลับมาฟื้นได้ทันที โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่มีราคาสูง เช่น รถยนต์, ที่อยู่อาศัย, การใช้จ่ายในศูนย์การค้า ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ช่วยสร้างผลทวีคูณต่อระบบเศรษฐกิจ (Multiplier Effect ) ได้จำนวนมหาศาล เพราะในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาต้องยอมรับว่าการใช้จ่ายมีความซบเซาตามภาวะตลาดหุ้น
- หากตลาดหุ้นฟื้นตัวดีขึ้นบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ก็จะได้ประโยชน์ด้วย เนื่องจากจะสามารถระดมทุนได้คล่องขึ้น และมีต้นทุนที่ดีขึ้นซึ่งเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจของไทยให้มีความเข้มแข็งขึ้น
โดยไพบูลย์กล่าวทิ้งท้ายว่า ตลาดทุนจะเป็นหัวใจของเศรษฐกิจได้เลยหากบริหารจัดการได้ดีๆ
นักลงทุนเชื่อ TISA ดีต่อนักลงทุน
ทิวา ชินธาดาพงศ์ นักลงทุนหุ้นคุณค่า เปิดเผยว่า มาตรการดังกล่าวที่คล้ายกับ NISA ของญี่ปุ่นเป็นมาตรการที่ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ เพราะเปิดโอกาสให้นักลงทุนทั่วไปสามารถเลือกซื้อหุ้นเพื่อลดหย่อนภาษีด้วยตัวเองได้ ซึ่งแต่ละคนอาจมีความต้องการที่แตกต่างกัน เช่น บางคนอาจไม่อยากได้หุ้นที่มูลค่าแพง อย่าง DELTA ในขณะที่กองทุนจำเป็นจะต้องมีในพอร์ต หรือบางคนอาจจะอยากเลือกหุ้นปันผลเป็นหลัก
แต่เพียงแค่มาตรการ TISA อาจจะไม่ได้ส่งบวกต่อดัชนี SET โดยตรงเท่าใดนัก แต่ต้องอาศัยมาตรการอื่นๆ ประกอบ โดยเฉพาะการกระตุ้นเศรษฐกิจและกำไรของบริษัทจดทะเบียน
อย่างไรก็ดี ทิวามองว่า ดัชนีหุ้นไทยที่ร่วงลงมาบริเวณ 1,200 จุด เปิดโอกาสในการเข้าลงทุนมากขึ้น หากดูพื้นฐานเศรษฐกิจไทยบน GDP ที่เติบโต 2.5-3% ถือว่าไม่ดีแต่ก็ไม่แย่ เป็นระดับกลางๆ เมื่อเทียบกับทั้งโลก
ส่วนกำไรของบริษัทจดทะเบียนเมื่อปีก่อนที่ดูย่ำแย่ โดยเฉพาะไตรมาส 4 ปี 2567 เนื่องจากหลายบริษัทขนาดใหญ่มีผลขาดทุนพิเศษ เช่น การบินไทย (THAI) ปตท. (PTT)
“หุ้นไทย 1,200 จุด เป็นโอกาส ถ้ามองเทียบกับหลายประเทศบนตัวเลข P/E และ EPS หุ้นไทยตอนนี้ P/E 13-14 เท่า EPS ปีนี้น่าจะโต 18% ส่วน S&P 500 และ Nasdaq P/E 28-34 เท่า EPS น่าจะโต 11% ส่วนหุ้นจีน P/E 13.8 เท่า EPS น่าจะโต 5%
“เชื่อว่าหุ้นไทยจะฟื้นกลับไปจุดที่ดัชนีปิดเท่ากับปลายปีก่อนได้ (1,400 จุด) เพราะการไหลลงมาไม่ค่อยสอดคล้องกับพื้นฐานโดยรวม หลังจากนั้นต้องดูอีกทีว่าการกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นอย่างไร”