×

เปิดเส้นทางในตลาดหุ้นของ ‘เฮียฮ้อ’ ตั้งแต่ปั้น RS เข้าตลาดหุ้น ขยายอาณาจักรลุยบริหารหนี้ จนขึ้นแท่นซีอีโอ GIFT

09.03.2023
  • LOADING...
ประลองยุทธ ผงงอย

หากพูดถึงชื่อของ เฮียฮ้อ-สุรชัย เชษฐโชติศักดิ์ คนส่วนใหญ่คงรู้จักในฐานะเจ้าของผู้ก่อตั้งและยังเป็นซีอีโอของ บมจ.อาร์เอส หรือ RS ที่ก่อตั้งมานานกว่า 40 ปี มีเส้นทางธุรกิจทั้งค่ายเพลงอาร์เอส จนขยายสู่ธุรกิจบันเทิงแบบครบวงจร รวมถึงต่อยอดไปธุรกิจคอมเมิร์ซ

 

ปัจจุบันเฮียฮ้อกับ RS ยังคงต่อยอดไปธุรกิจใหม่อย่างต่อเนื่อง ทั้งการบริหารหนี้ผ่านการร่วมทุนใน บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE รวมถึงเจาะลงไปธุรกิจต้นน้ำของธุรกิจสุขภาพ ความงาม อาหาร และเครื่องดื่ม ผ่านการฮุบกิจการของ บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท หรือ GIFT


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


 

THE STANDARD WEALTH พาย้อนดูเส้นทางของเฮียฮ้อกับ RS พบไทม์ไลน์สำคัญทางธุรกิจ ดังนี้

 

  • ปี 2519 เริ่มจากธุรกิจตู้เพลงและการอัดเพลงจากแผ่นเสียงลงตลับเทปด้วยแบรนด์ ‘ดอกกุหลาบ’ จากนั้นตั้งบริษัทชื่อ Rose Sound ด้วยเงินลงทุน 50,000 บาท
  • ปี 2525 ได้เปลี่ยนธุรกิจมาสู่บริษัทค่ายเพลง เน้นเจาะตลาดวัยรุ่น และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น อาร์.เอส.ซาวน์ โดยศิลปินวงแรกที่อยู่ในสังกัดคือ วงอินทนิล ตามมาด้วยคีรีบูน, ฟรุตตี้, ซิกเซ้นต์, บรั่นดี และเรนโบว์
  • ปี 2535 หลังจากประสบความสำเร็จอย่างต่อเนื่องได้เปลี่ยนชื่อจาก อาร์.เอส.ซาวน์. เป็น ‘อาร์.เอส.โปรโมชั่น 1992 จำกัด’ ย้ายออฟฟิศมาที่ซอยลาดพร้าว 15 ด้วยเงินลงทุน 300 ล้านบาท มุ่งสู่บริษัทธุรกิจบันเทิงครบวงจร รุกเข้าสู่ธุรกิจบันเทิงในสายงานอื่นๆ ทั้งรายการวิทยุ รายการโทรทัศน์ ละครทีวี และภาพยนตร์ 
  • ปี 2546 RS เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น บมจ.อาร์เอส หลังธุรกิจความบันเทิงเติบโตต่อเนื่อง
  • ปี 2559 อาร์เอสประกาศรุกเข้าสู่ธุรกิจสุขภาพและความงาม โดยเปิดตัวบริษัท ‘ไลฟ์สตาร์’ เปิดตัวแบรนด์มาจีค, กราวีธัส, รีไวว์ และโนเบิลไวท์ 
  • ปี 2560 สามารขยายธุรกิจคอมเมิร์ซจนมีรายได้เติบโตจากปีก่อนถึง 600% ด้วยโมเดลธุรกิจที่ดึงศักยภาพของสื่อและธุรกิจบันเทิงในเครือ สามารถเปลี่ยนผู้ชมและผู้ฟังเป็นผู้ซื้อได้สำเร็จ
  • ปี 2561 อาร์เอสทรานส์ฟอร์มเป็นบริษัทเชิงพาณิชย์ หรือ MPC ด้วยการบริหารสื่อในมืออย่างมีประสิทธิภาพ และยังมีการขยายตัวทั้งช่องทางการจัดจำหน่ายและประเภทผลิตภัณฑ์
  • ปี 2562 ธุรกิจคอมเมิร์ซของอาร์เอสเติบโตอย่างต่อเนื่องและสูงสุดเป็นประวัติการณ์ จึงรีแบรนด์ ‘ช้อป 1781’ เป็น ‘อาร์เอส มอลล์’ และเปลี่ยนหมวดธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ฯ จากสื่อและสิ่งพิมพ์เป็นพาณิชย์ หลังเปลี่ยนโมเดลเป็นธุรกิจ Entertainmerce 

 

เปิดงบการเงิน RS 

 

  • ปี 2561 มีกำไร 516.04 ล้านบาท มีรายได้ 3,956.08 ล้านบาท
  • ปี 2562 มีกำไร 363.34 ล้านบาท มีรายได้ 3,621.86 ล้านบาท
  • ปี 2563 มีกำไร 528.28 ล้านบาท มีรายได้ 3,790.22 ล้านบาท
  • ปี 2564 มีกำไร 127.35 ล้านบาท มีรายได้ 3,589.59 ล้านบาท
  • ปี 2565 มีกำไร 137.07 ล้านบาท มีรายได้ 3,549.21 ล้านบาท

 

โดยจะเห็นการปรับเปลี่ยนโมเดลธุรกิจ RS ในช่วงที่ผ่านมา ช่วยทำให้บริษัทมีกำไรได้ต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีผลกระทบจากสถานการณ์แพร่ระบาดโควิดที่กระทบให้หลายธุรกิจต้องเชิญสภาวะขาดทุน

 

เปิดพอร์ตเฮียฮ้อในหมวกนักลงทุน

เมื่อแกะพอร์ตลงทุนของเฮียฮ้อจะเห็นว่านอกจากจะมีฐานะเป็นผู้ถือหุ้นใน RS ด้วยสัดส่วน 23.74% แล้ว ยังมีการลงทุนส่วนตัวในหุ้นอื่นๆ โดยเมื่อแยกเป็นหุ้นที่เคยลงทุนในอดีตในช่วงปี 2546-2547 ซึ่งเป็นการลงทุนส่วนตัว ไม่ใช่เพื่อต่อยอดธุรกิจ RS แต่ปัจจุบันไม่ได้ถือหุ้นแล้ว มีดังนี้

 

  • บริษัทหลักทรัพย์ แอสเซท พลัส ถือหุ้นสัดส่วน 0.92%
  • บมจ.บางกอกแลนด์ หรือ BLAND ถือหุ้นสัดส่วน 0.65
  • บมจ.ดาต้าแมท หรือ DTM ถือหุ้นสัดส่วน 0.74%

 

อัปเดตพอร์ตเฮียฮ้อล่าสุด

มาดูข้อมูลล่าสุดของพอร์ตเฮียฮ้อปัจจุบัน มีดังนี้

 

  • บมจ.อาร์เอส หรือ RS ถือหุ้นสัดส่วน 23.74% มูลค่า 3,601 ล้านบาท
  • บมจ.แกรททิทูด อินฟินิท หรือ GIFT ถือหุ้นสัดส่วน 62.5% มูลค่า 1,519 ล้านบาท
  • RS ถือหุ้นสัดส่วน 20.35% ใน บมจ.เชฎฐ์ เอเชีย หรือ CHASE มูลค่า 1,419 ล้านบาท

 

RS กำไรหุ้น CHASE เฉียด 500 ล้านบาท

ช่วงต้นปี 2564 อาร์เอสประกาศเข้าซื้อหุ้น บริษัท เชฎฐ์ เอเชีย จำกัด ซึ่งประกอบธุรกิจบริหารสินทรัพย์-สินเชื่อรายย่อย ในสัดส่วน 35% ด้วยมูลค่าการลงทุน 920 ล้านบาท สร้างการเติบโตแบบ New S-Curve ซึ่งจะเกิด Synergy เพราะ RS และกลุ่มบริษัทเชฎฐ์สามารถใช้ประโยชน์ร่วมกันได้ผ่านการต่อยอดโมเดล Entertainmerce ของ RS 

 

ทั้งนี้ ในปี 2564 CHASE มีรายได้รวมราว 600-700 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิประมาณ 150-200 ล้านบาท ซึ่งเป็นโอกาสดีที่จะสร้างการเติบโตให้กับ RS ที่มีโอกาสจะรับรู้กำไรและรายได้จากการถือหุ้นใน CHASE เพราะเป็นธุรกิจที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง และยังมีแผนการเติบโตของพอร์ตบริหารหนี้และยอดสินเชื่อรายย่อยอย่างต่อเนื่องในอนาคต

 

ขณะที่ล่าสุดหุ้น CHASE เข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2566 และ ณ วันที่ 9 มีนาคม 2566 หุ้นของ CHASE ที่ RS ถือหุ้นใหญ่เป็นอันดับที่ 2 ด้วยสัดส่วน 20.35% นั้นมีมูลค่าเพิ่มขึ้นเป็น 1,418.62 ล้านบาทแล้ว เท่ากับว่า RS มีกำไรถึง 498.12 ล้านบาทจากเงินที่ลงทุนในครั้งแรก

 

เฮียฮ้อฟันกำไรหุ้น GIFT เกือบ 5 เท่า

เฮียฮ้อซึ่งเพิ่งขึ้นเป็นซีอีโอคนใหม่ และผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GIFT เคยออกมาอธิบายว่า ที่ทุ่มเงินลงทุน 340.88 ล้านบาท ซื้อ Big Lot 62.5% จนขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ใน GIFT ก็เพราะสนใจในธุรกิจของครอบครัว โดยหวังจะเข้าไปพัฒนาธุรกิจเดิมของ GIFT และยังมองหาโอกาสเพื่อขยายไปสู่สายธุรกิจใหม่ที่มีศักยภาพและสร้างผลกำไรที่ดีให้กับบริษัท ไม่จำกัดเพียงธุรกิจด้านการบริการและธุรกิจร้านอาหาร (Food & Beverage and Services) ซึ่งสมาชิกในครอบครัวมีประสบการณ์ในการบริหารและการลงทุนในธุรกิจนี้มายาวนาน 

 

โดยการจะ Turnaround นั้น GIFT จะมุ่งสู่การเปลี่ยนแปลงธุรกิจของ GIFT จากการขับเคลื่อนธุรกิจใหม่ ได้แก่ ธุรกิจ Data Solutions และธุรกิจ Hospitality รวมถึงธุรกิจ Healthcare & Wellness ซึ่งเป็นธุรกิจที่ครอบครัวเชษฐโชติศักดิ์มีประสบการณ์ในการบริหารงานมาอย่างยาวนาน

 

ทั้งนี้ งบการเงินของ GIFT ในช่วง 2 ปีล่าสุดยังมีผลการขาดทุนสุทธิ โดยปี 2564 ขาดทุนจำนวน 31.13 ล้านบาท และปี 2565 ขาดทุนจำนวน 11.37 ล้านบาท

 

หากวิเคราะห์ข้อมูลโมเดลธุรกิจของ RS กับ GIFT น่าจะมีโอกาสมี Synergy กันได้สูง เพราะธุรกิจหลักของ GIFT คือการจำหน่ายและนำเข้าผลิตภัณฑ์เคมีชนิดต่างๆ จากทั่วโลก ซึ่งเคมีภัณฑ์เหล่านี้ใช้เป็นวัตถุดิบในกระบวนการผลิตสินค้าอุปโภคและบริโภค รวมผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพและความงาม และอื่นๆ อีกมากมาย ขณะที่ RS มีโมเดลเป็นธุรกิจ Entertainmerce เน้นธุรกิจทำสินค้าสุขภาพและความงาม รวมถึงธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม 

 

จึงเป็นที่น่าติดตามต่อไปว่าหลังจากที่ RS กับ GIFT มีซีอีโอเป็นคนเดียวกันคือเฮียฮ้อ จะมีความร่วมมือกันทางธุรกิจอย่างไรต่อบ้าง แต่ถ้านับเฉพาะมูลค่าหุ้นของ GIFT ถึงวันที่ 9 มีนาคม 2566 ผ่านมาเพียง 3 เดือนหุ้น GIFT ที่กลุ่มเฮียฮ้อถือมีมูลค่าเพิ่มเป็น 1,518.51 ล้านบาท คิดเป็นกำไรที่เพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่าจากมูลค่าเงินที่ใช้ลงทุนซื้อหุ้น GIFT

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X