×

สธ. เปิดไทม์ไลน์เซ็นสัญญา-ส่งมอบวัคซีน AstraZeneca แจงเป็นการทำสัญญาล่วงหน้า ไม่ได้แปลว่าจะได้ 100% ระบุจำนวนผลิตและวันส่งมอบไม่ได้ ต้องเจรจารายเดือน

โดย THE STANDARD TEAM
18.07.2021
  • LOADING...
ส่งมอบ AstraZeneca

วันนี้ (18 กรกฎาคม) ที่กระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค พร้อมด้วย นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์กรณีการทำสัญญากับบริษัท AstraZeneca โดยเปิดเผยไทม์ไลน์การจัดซื้อว่า 

 

– การจัดหาวัคซีน AstraZeneca เริ่มจากช่วงเดือนมกราคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ป่วยโควิดรายแรก

 

– วันที่ 25 มีนาคม 2563 ประเทศไทยออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน และมีผลบังคับใช้วันที่ 26 มีนาคม 2563 หลังพบการระบาดมากขึ้น

 

– วันที่ 22 เมษายน 2563 คณะกรรมการวัคซีนแห่งชาติเห็นชอบแผนการเข้าถึงวัคซีนโควิดของประชากรไทย

 

– วันที่ 24 สิงหาคม 2563 กระทรวงสาธารณสุขลงนามสนับสนุนการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากบริษัท AstraZeneca มาให้ผู้ผลิตในไทย ทำให้มีแหล่งผลิตในประเทศไทย

 

– วันที่ 23 กันยายน 2563 คณะกรรมการขับเคลื่อนการจัดหาวัคซีนฯ เห็นชอบแผนจัดหาวัคซีนเบื้องต้น

 

– วันที่ 9 ตุลาคม 2563 รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขลงนามเอกสาร และวันที่ 12 ตุลาคม 2563 ออกประกาศจัดหาวัคซีนในกรณีเหตุฉุกเฉิน โดยให้กรมควบคุมโรค สถาบันวัคซีนแห่งชาติ จัดหาด้วยการจองล่วงหน้า โดยขณะนั้นยังไม่มีวัคซีนที่ผ่านการวิจัย ซึ่งอาจผลิตสำเร็จหรือไม่ก็ได้

 

– วันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ครม. เห็นชอบโครงการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้ากับ AstraZeneca 26 ล้านโดส

 

– วันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 ลงนามในสัญญา 3 ฝ่าย โดย AstraZeneca ประเทศไทย สถาบันวัคซีนแห่งชาติ และกรมควบคุมโรค เพื่อจองซื้อวัคซีน

 

– วันที่ 5 มกราคม 2564 ครม. รับทราบมติที่ ศบค. ให้สั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

 

– วันที่ 20 มกราคม 2564 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีน AstraZeneca ให้ใช้ได้ในภาวะฉุกเฉิน

 

– วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2564 ครม. เห็นชอบแก้ไขสัญญาจองซื้อวัคซีนจาก 26 ล้านโดส เพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมเป็น 61 ล้านโดส

 

– วันที่ 2 มีนาคม 2564 ครม. รับทราบและอนุมัติกรอบวงเงินงบประมาณเพิ่มสำหรับ 35 ล้านโดส

 

– วันที่ 25 มีนาคม 2564 กรมควบคุมโรคส่งสัญญาที่ลงนามแก้ไขให้บริษัท AstraZeneca

 

– วันที่ 4 พฤษภาคม 2564 ได้รับสัญญาตอบกลับจาก AstraZeneca ประเทศไทยและประเทศอังกฤษ หรือใช้เวลา 2 เดือน จึงได้รับการตอบกลับ

 

– วันที่ 1 มิถุนายน 2564 ครม. เห็นชอบกรอบการดำเนินงาน 61 ล้านโดส ตั้งแต่เดือนมิถุนายน-ธันวาคม 2564

 

นพ.โอภาส ชี้แจงต่อว่า ในการส่งมอบวัคซีน AstraZeneca นั้น ตามกำหนดการจะเริ่มในเดือนมิถุนายน 2564 แต่เนื่องจากประเทศไทยมีการระบาด จึงมีการส่งมาให้ก่อน 2 ล็อต ได้แก่

– วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2564 จำนวน 117,300 โดส 

– วันที่ 28 พฤษภาคม 2564 จำนวน 242,100 โดส 

– รวม 359,400 โดส

 

สำหรับเดือนมิถุนายน 2564 ส่งมา 5,130,000 โดส ได้แก่

– วันที่ 4 มิถุนายน 2564 จำนวน 1,787,100 โดส

– วันที่ 16 มิถุนายน 2564 จำนวน 610,000 โดส

– วันที่ 18 มิถุนายน 2564 จำนวน 970,000 โดส

– วันที่ 23 มิถุนายน 2564 จำนวน 593,300 โดส

– วันที่ 25 มิถุนายน 2564 จำนวน 323,600 โดส

– วันที่ 30 มิถุนายน 2564 จำนวน 846,000 โดส

– เมื่อรวมกับวัคซีนที่ส่งมาก่อนหน้านี้เป็น 5,489,400 โดส 

 

เดือนกรกฎาคม 2564 ส่งมาจำนวน 2,704,100 โดส ได้แก่

– วันที่ 3 กรกฎาคม 2564 จำนวน 590,000 โดส

– วันที่ 9 กรกฎาคม 2564 จำนวน 555,400 โดส

– วันที่ 12 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,053,000 โดส

– วันที่ 16 กรกฎาคม 2564 จำนวน 505,700 โดส 

 

รวมทั้งหมด 12 ล็อต จำนวน 8,193,500 โดส จะเห็นว่าเมื่อผลิตและตรวจรับรองรุ่นการผลิตเสร็จก็ทยอยส่งมอบ เป็นไปตามที่กระทรวงสาธารณสุขได้แจ้งว่าจะส่งเป็นรายสัปดาห์

 

สำหรับจดหมายของบริษัท AstraZeneca ที่ส่งถึง อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพื่อขอบคุณที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นฐานการผลิตวัคซีน AstraZeneca ในภูมิภาคอาเซียน รวมถึงประเทศอื่นนอกอาเซียนคือ มัลดีฟส์และไต้หวัน รวม 8 ประเทศ มีการระบุถึงข้อตกลงเจรจาจะส่งมอบวัคซีนที่ผลิตในประเทศไทยเริ่มในเดือนมิถุนายน 2564 แต่มีการส่งล่วงหน้ามาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2564 และพูดถึงเรื่องจำนวนวัคซีนที่สั่งจอง ประเทศไทยมีการจองมากที่สุด 61 ล้านโดส คิดเป็น 1 ใน 3 ของจำนวนวัคซีนที่มีการจองในอาเซียน บริษัทยืนยันการจัดส่งวัคซีนให้ประเทศไทย 1 ใน 3 ของวัคซีนที่ผลิตได้ และจะพยายามส่งให้ครบถ้วนตามสัญญา

 

“ช่วงทำสัญญาจองและลงนามสัญญา 3 ฝ่าย ยังไม่ได้มีการผลิตวัคซีนจริง เป็นการทำสัญญาจองล่วงหน้า จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะบอกว่าแต่ละเดือนจะผลิตได้เท่าไร ส่งให้เท่าไรและเมื่อไร จึงต้องมีการเจรจาแจ้งล่วงหน้าเป็นรายเดือน ซึ่งวันที่ 24 เมษายน 2564 กรมควบคุมโรคทำหนังสือแจ้ง AstraZeneca ว่าต้องการวัคซีนจำนวน 6 ล้านโดส ในเดือนมิถุนายน 2564 เดือนกรกฎาคม-พฤศจิกายน 2564 เดือนละ 10 ล้านโดส และเดือนธันวาคม 2564 จำนวน 5 ล้านโดส รวม 61 ล้านโดส แต่การส่งมอบวัคซีนขึ้นอยู่กับกำลังการผลิตว่าได้มากน้อยเท่าไรและส่งให้เราได้เท่าไร ดังนั้นจำนวนที่แจ้งไปไม่ได้แปลว่าจะได้ 100% ต้องเป็นการเจรจาทั้งสองฝ่ายในแต่ละเดือน และตอนทำสัญญาไม่มีการระบุจำนวนวัคซีนที่จะส่งออกต่างประเทศ เพียงแต่ระบุว่า ขอให้ประเทศไทยสนับสนุนและไม่ขัดขวางการส่งออกไปต่างประเทศ” นพ.โอภาส กล่าว

 

นพ.โอภาส กล่าวอีกว่า ส่วนกรณีที่จดหมายมีการระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขต้องการวัคซีนเดือนละ 3 ล้านโดสนั้น เป็นการอ้างอิงถึงการประชุมไม่เป็นทางการเมื่อวันที่ 7 กันยายน 2563 ซึ่งเป็นเพียงการแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน โดยมีการสอบถามความสามารถในการฉีดวัคซีนของประเทศไทย ซึ่งข้อมูลที่มีคือเคยฉีดเดือนละ 3 ล้านโดส กรมควบคุมโรคยังไม่เคยบอกอย่างเป็นทางการว่าจะฉีดได้แค่ 3 ล้านโดส ต่อมามีตัวเลขประมาณการและแจ้ง AstraZeneca ว่าขีดความสามารถฉีดได้ถึง 10 ล้านโดสถ้ามีวัคซีนเพียงพอ เพราะฉะนั้นข้อมูลที่บอกว่า AstraZeneca จะส่งให้ไทยเท่าไร มี 2 ส่วน คือ ความต้องการของประเทศไทย และกำลังการผลิต จะต้องเอา 2 ส่วนมาเชื่อมต่อกันจึงจะเป็นการส่งวัคซีนจริง ซึ่งขณะนี้ก็มีการส่งมาให้เราเรื่อยๆ บางสัปดาห์ก็ส่งให้ 2 ครั้ง

 

นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า ส่วนประเด็นว่าจะจัดส่งวัคซีนจนถึงเดือนพฤษภาคม 2565 นั้น ขณะนี้การผลิตของ AstraZeneca ในประเทศไทย พยายามจะผลิตให้ได้ประสิทธิภาพมากขึ้น ซึ่ง AstraZeneca ไม่ได้แจ้งจำนวนการผลิตมา จากการคำนวณอยู่ที่ประมาณ 15 ล้านโดสต่อเดือน เพราะฉะนั้นถ้าคิด 1 ใน 3 คือจำนวน 5 ล้านโดสต่อเดือนเป็นอย่างต่ำ และการผลิตวัคซีนขึ้นกับหลายปัจจัย รวมทั้งชีววัตถุตั้งต้น จึงยากที่บริษัทจะรับปากได้ 100% แต่จำนวนวัคซีนในสัญญากับความต้องการของไทยคือ 61 ล้านโดส ภายในเดือนธันวาคม 2564 โดยจะต้องมีการเจรจาเป็นรายเดือน ซึ่ง AstraZeneca ไม่เคยออกมาระบุว่าจะส่งมอบถึงพฤษภาคม 2564 เป็นแค่จำนวนประมาณการ จึงต้องมีการเจรจากันต่อไป

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising