×

จังหวะเข้าลงทุนหุ้นสหรัฐฯ ที่ดีที่สุด ครั้งสุดท้ายในปี 2024

14.09.2024
  • LOADING...

สุภาษิตจีนกล่าวไว้ว่า “เวลาปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุดคือเมื่อ 20 ปีที่แล้ว เวลาปลูกต้นไม้ที่ดีรองลงมาคือปัจจุบัน” แต่งานของนักกลยุทธ์การลงทุนไม่ได้ง่ายเหมือนสุภาษิตดังกล่าว เพื่อบรรลุเป้าหมายการลงทุนของลูกค้า นอกจากการสะสมความรู้ลึกซึ้งในข้อมูลสินทรัพย์และผลิตภัณฑ์การลงทุนแล้ว เราต้องแสวงหาโอกาสทำกำไรในการลงทุนด้วยกลวิธีที่มีโอกาสสร้างผลตอบแทนสูงทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งการจับจังหวะตลาดเป็นงานที่ท้าทายกว่ามาก แต่ถ้าหากทำได้ดีก็จะสามารถสร้างผลตอบแทนส่วนเพิ่ม (Alpha) ได้ 

 

โดยนับตั้งแต่ต้นปี 2024 เราเห็นความผันผวนในตลาดหุ้นทั่วโลกที่เกิดจากเหตุการณ์สำคัญ ทั้งความขัดแย้งในตะวันออกกลางระหว่างอิหร่านและอิสราเอลในเดือนเมษายน และการปิดสถานะ Yen Carry Trade ของนักลงทุนในเดือนสิงหาคม หลังการกลับทิศของนโยบายการเงินของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) จากนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายสู่การใช้นโยบายการเงินแบบเข้มงวด ความผันผวนและการปรับฐานของตลาดหุ้นที่เกิดจากเหตุการณ์ข้างต้น ตามมาด้วยการฟื้นตัวของตลาดหุ้นหลังเกิดเหตุการณ์ไม่นาน การปรับฐานรุนแรงในช่วงสั้นๆ จึงเป็นโอกาสที่ดีในการเข้าลงทุนของนักลงทุน ซึ่งไม่ใช่เกิดขึ้นแค่ปีนี้เท่านั้น 

 

เมื่อพิจารณาสถิติย้อนหลังจาก Bank of America (อ้างอิง: Fortune “Stocks usually take 6 months to recover from the type of selloff that just hit markets, BofA says” as of August 13, 2024) ในช่วง 34 ปีที่ผ่านมา เมื่อดัชนี MSCI All-Country World ซึ่งเป็นดัชนีชี้วัดตลาดหุ้นโลก ปรับตัวลงรุนแรง -6 ถึง -7% ในระยะเวลา 3 วัน มักจะตามด้วยการฟื้นตัวสูงถึง +17.68% โดยเฉลี่ยในช่วง 1 ปีหลังจากการปรับฐานรุนแรง ขณะที่ดัชนี S&P 500 จะมีการย่อตัวมากกว่า -5% โดยเฉลี่ย 3 ครั้งต่อปี สะท้อนว่าการย่อตัวลงของตลาดเป็นเรื่องปกติ และการเข้าลงทุนในช่วงที่ตลาดมีความผันผวนและปรับฐานมักจะให้ผลตอบแทนที่ดีเสมอในระยะเวลา 1 ปีขึ้นไป 

 

ในปัจจุบัน เรามองว่าความผันผวนที่เกิดขึ้นจะส่งผลให้ตลาดหุ้นโลกย่อตัวในระยะสั้นเท่านั้น และไม่ได้เป็นการปรับฐานรุนแรงในแบบที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ แม้นักลงทุนต่างกังวลว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะเข้าสู่ภาวะถดถอยรุนแรง (Recession) หลังตัวเลขการจ้างงานนอกภาคการเกษตร (Nonfarm Payrolls) ของสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2024 เพิ่มขึ้น 1.42 แสนตำแหน่ง ต่ำกว่าตลาดคาดการณ์ที่ 1.64 แสนตำแหน่ง ถึงแม้ว่าจะเพิ่มขึ้นจากเดือนกรกฎาคม 2024 ที่การจ้างงานนอกภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น 89,000 ตำแหน่ง ทั้งนี้ ตัวเลขดังกล่าวในเดือนกรกฎาคม 2024 ถูกปรับประมาณการลดลงจากระดับ 1.14 แสนตำแหน่ง และเป็นการปรับประมาณการลดลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ตัวเลขตลาดแรงงานสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่กำลังอยู่ในทิศทางชะลอตัวลงกดดันตลาดหุ้นให้ปรับตัวลง 

 

อย่างไรก็ตาม หากพิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอื่นๆ ประกอบ เรายังคงมีมุมมองว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจไม่ได้น่ากังวลอย่างที่นักลงทุนคาดการณ์ โดยในสัปดาห์แรกของเดือนกันยายน 2024 เราเห็นการย่อตัวของตลาดหุ้นสหรัฐฯ นำโดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีและกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ โดยดัชนี S&P 500 ปรับตัวลง -4.25% และดัชนี NASDAQ ปรับตัวลง -5.89% ขณะที่ดัชนีวัดความผันผวน (VIX Index) เพิ่มขึ้น +33% ซึ่งเรามองว่าเป็นจังหวะเข้าลงทุนครั้งสำคัญ และอาจเป็นจังหวะเข้าลงทุนที่ดีที่สุดครั้งสุดท้ายในปี 2024 ดั่งสุภาษิตจีนที่ว่า เวลาปลูกต้นไม้ที่ดีที่สุดรองลงมาจาก 20 ปีก่อนคือเวลาปัจจุบัน ด้วยเหตุผลดังต่อไปนี้

 

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่สนับสนุนความคิดของเราคือ เศรษฐกิจสหรัฐฯ จะชะลอตัวลงในลักษณะ Soft Landing และไม่เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในลักษณะ Hard Landing หรือ Recession เนื่องจากหากพิจารณาตัวเลขตลาดแรงงาน เราเห็นว่าอัตราการว่างงานในสหรัฐฯ ในเดือนสิงหาคม 2024 อยู่ที่ระดับ 4.2% ลดลงจากเดือนกรกฎาคม 2024 ที่ 4.3% และยังมีการขยายตัวของการจ้างงานทั้งในการสำรวจสถานประกอบการ (Establishment Survey) และการสำรวจในภาคครัวเรือน (Household Survey) ขณะที่อัตราการเติบโตของค่าจ้าง (Wage Growth) อยู่ที่ระดับ 3.8% ซึ่งยังคงสูงกว่าช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิดที่ระดับ 3% นอกจากนี้ พิจารณาตัวเลขเศรษฐกิจอื่นประกอบด้วย จะเห็นได้ว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่ง จากข้อมูลจำนวนธุรกรรมรายวันของบัตรเดบิตในสหรัฐฯ ล่าสุด สะท้อนการใช้จ่ายของผู้บริโภคที่ยังคงเร่งตัวขึ้นตั้งแต่ต้นเดือนสิงหาคม 2024 ขณะที่ค่าเฉลี่ยการเติบโตของยอดขายจากสาขาเดิม (Same Store Sales Growth: SSSG) รายสัปดาห์ของร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ กว่า 9,000 แห่ง ในวันที่ 19 กันยายน 2024 เติบโตที่ระดับ 6.5% เทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการขยายตัวติดต่อกันนับตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2023 และการเติบโตยังคงเร่งตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ จากข้อมูลล่าสุดของมาตรวัดที่ใช้ติดตามตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) หรือ Atlanta Fed’s GDPNow ในวันที่ 9 กันยายน 2024 คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ขยายตัว 2.5% ในไตรมาส 3/24 ซึ่งเพิ่มขึ้นจากการคาดการณ์การขยายตัว 2.1% ในวันที่ 4 กันยายน 2024 ถึงแม้ว่าตัวเลขคาดการณ์จะต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2/24 ที่ขยายตัว 3% แต่เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตในลักษณะ Soft Landing และไม่ได้หดตัวในลักษณะ Hard Landing หรือ Recession ด้วยเศรษฐกิจที่ยังขยายตัว เป็นปัจจัยสนับสนุนการเติบโตของผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นำไปสู่การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้น เราจึงมองว่าความกังวลในประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะกดดันให้ตลาดหุ้นปรับตัวลดลงในระยะสั้น เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าลงทุนหุ้นสหรัฐฯ

 

อีกปัจจัยหนึ่งที่สนับสนุนมุมมองว่าในปัจจุบันอาจเป็นจังหวะเข้าลงทุนที่ดีที่สุดครั้งสุดท้ายในปี 2024 ในตลาดหุ้นสหรัฐฯ คือ การเริ่มต้นปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) จากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง และตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ลดความร้อนแรงลง นักลงทุนในตลาดส่วนใหญ่คาดการณ์ว่า Fed จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกที่ 0.25% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (FOMC) เดือนกันยายน 2024 ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าการลดอัตราดอกเบี้ยช่วยลดความตึงตัวทางการเงินในแต่ละหน่วยเศรษฐกิจ และลดแรงกดดันต่อต้นทุนทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงเกิดการประเมินมูลค่าหุ้นใหม่ (Stock Revaluation) เป็นปัจจัยสนับสนุนการปรับตัวขึ้นของตลาดในระยะถัดไป โดยจากการสำรวจข้อมูลตลาดหุ้นสหรัฐฯ นับตั้งแต่ปี 1954-2023 ของ Fidelity (อ้างอิง: Fidelity Investments “5 investing ideas for rate cuts” as of August 21, 2024) พบว่า ไม่ว่าจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยหรือไม่ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายส่งผลดีต่อตลาดหุ้น โดยในกรณีไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (No Recession) ผลตอบแทนของตลาดหุ้นสหรัฐฯ สะท้อนผ่านดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้น +12.6% โดยเฉลี่ยในระยะ 12 เดือน หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ Fed ขณะที่ในกรณีเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ดัชนี S&P 500 ปรับตัวขึ้นเช่นกัน โดย +13.9% โดยเฉลี่ยในระยะ 12 เดือน หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ Fed

 

 

ถึงแม้ว่าการปรับลดอัตราดอกเบี้ยส่งผลดีต่อตลาดหุ้นในระยะ 1 ปีข้างหน้า ทั้งในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยและไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย แต่สาเหตุที่เราให้ความสำคัญกับปัจจัยทิศทางเศรษฐกิจสหรัฐฯ มากที่สุด เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจจะเป็นตัวกำหนดสัดส่วนการกระจายการลงทุนในแต่ละสินทรัพย์ (Asset Allocation) โดยแต่ละประเภทสินทรัพย์ให้ผลตอบแทนที่แตกต่างกันในทั้ง 2 กรณี เห็นได้จากรายงานของ J.P. Morgan Asset Management (อ้างอิง: J.P. Morgan Asset Management “How should investors be positioned ahead of Fed rate cuts?” as of August 28, 2024) ที่สำรวจข้อมูลตั้งแต่ปี 1984 ถึงปัจจุบัน พบว่าในระยะ 12 เดือน หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ Fed ในกรณีไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย สินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนโดยเฉลี่ยสูงที่สุดคือ หุ้นกลุ่มเติบโตในสหรัฐฯ (U.S. Growth Equities) โดยให้ผลตอบแทนโดดเด่นที่ +20.4% โดยเฉลี่ย ขณะที่ในกรณีเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย หุ้นกลุ่มเติบโตในสหรัฐฯ ได้รับผลกระทบที่ค่อนข้างต่ำ โดยมีผลตอบแทนติดลบเพียง -0.3% โดยเฉลี่ยในช่วง 12 เดือน หลังการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกของ Fed

 

Screenshot

 

ดังนั้น จากเหตุผลข้างต้นทั้ง 2 ประการ เราจึงแนะนำให้นักลงทุนใช้โอกาสที่ตลาดถูกกดดันโดยความกังวลในประเด็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย รวมถึงความผันผวนที่เกิดขึ้นจากประเด็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เข้าลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ก่อนที่ Fed จะปรับลดดอกเบี้ย โดยเราชื่นชอบกองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นเติบโตขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่บริษัทจดทะเบียนมีความแข็งแกร่งทั้งในแง่ของการเติบโตและสถานะทางการเงิน ซึ่งทนทานต่อดอกเบี้ยที่อยู่ในระดับสูง ถึงแม้ว่าจะมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย โดยเฉพาะบริษัทที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี AI ที่ยังคงเติบโตสูง ในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้รับประโยชน์โดยตรง อย่างกลุ่มเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งได้ประโยชน์จากรายจ่ายลงทุน (CAPEX) ของบริษัทขนาดใหญ่ด้าน AI ในกลุ่มเทคโนโลยีขนาดใหญ่ที่เรียกว่ากลุ่ม Hyperscaler (ประกอบด้วยบริษัท Microsoft, Meta Platforms, Alphabet และ Amazon.com) ยังคงเติบโต โดยเพิ่มขึ้น +58% เทียบกับปีที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 3/24 เร่งตัวขึ้นจาก +30% เทียบกับปีที่ผ่านมา ในไตรมาสที่ 2/24 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในไตรมาสถัดๆ ไป 

ทั้งนี้ เรายังคงจับตาผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายนนี้ โดยจากผลสำรวจล่าสุดของ The New York Times คามาลา แฮร์ริส มีคะแนนนำ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ 49% ต่อ 47% อย่างไรก็ตาม ในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียง หรือในช่วงเดือนตุลาคมถึงวันที่ 4 พฤศจิกายน 2024 การหาเสียงและการเปิดเผยรายละเอียดของนโยบายสำคัญอาจทำให้คะแนนนิยมหรือผลสำรวจเปลี่ยนไป โดยในมุมมองของเรา หากทรัมป์ได้รับเลือกให้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยบวกต่อตลาดหุ้นสหรัฐฯ จากการใช้นโยบายลดอัตราภาษีนิติบุคคล ซึ่งส่งผลดีต่อกำไรบริษัทจดทะเบียน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising