เสียงโห่ดังขึ้นมาในสนามโอลด์แทรฟฟอร์ดช่วงนาทีที่ 63 หลังจากที่ ราสมุส ฮอยลุนด์ กองหน้าตัวเป้า ถูกเปลี่ยนตัวออกเพื่อให้ อองโตนี มาร์กซิยาล ลงสนามมาประจำการแทน
ว่ากันว่าเสียงโห่นี้น่าจะเป็นครั้งแรกที่แฟนแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ส่งสัญญาณถึง เอริก เทน ฮาก ให้รู้ตัวว่าพวกเขาเริ่มสงสัยและตั้งคำถามกับฝีไม้ลายมือในการทำงานของผู้จัดการทีมจอมเฮี้ยบชาวดัตช์
ความสงสัยนั้นไม่ใช่เรื่องแปลก ในเมื่อเห็นกับตาว่าแมนฯ ยูไนเต็ด พ่ายแพ้ต่อไบรท์ตันในทุกกระบวนท่า ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแท็กติกการเล่น ทีมเวิร์ก และสิ่งสำคัญเหนืออื่นใดคือ เรื่องของความมุ่งมั่นตั้งใจ
ทั้งๆ ที่ทีมเยือนจากแดนใต้นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตัวผู้เล่นจากเกมที่เอาชนะนิวคาสเซิล ยูไนเต็ด ได้ถึงครึ่งทีม และใช้ 11 ผู้เล่นตัวจริงที่จ่ายค่าตัวรวมกันเพียงแค่ 17 ล้านปอนด์เท่านั้น ซึ่งรวมถึงนักฟุตบอลที่ถูกทีมอื่นมองว่า ‘หมดอายุ’ ไปแล้วอย่าง อดัม ลัลลานา และ แดนนี เวลเบ็ค ซึ่งเล่นได้อย่างยอดเยี่ยมทั้งคู่
ขณะที่แมนฯ ยูไนเต็ด ตลอด 13 เดือน 3 รอบตลาดการซื้อ-ขายผู้เล่น เทน ฮาก ใช้เงินไปแล้วถึง 373 ล้านปอนด์ แต่การลงทุนที่ได้ชัดเจนว่ายังไม่คุ้มค่า
ในภาพรวม สถานการณ์ของแมนฯ ยูไนเต็ด ยิ่งเลวร้ายหนัก เพราะเปิดฤดูกาลพรีเมียร์ลีกมา 5 นัด พวกเขาพ่ายแพ้ไปถึง 3 นัด
และคืนนี้จะลงประเดิมสนามในเกมยูฟ่าแชมเปียนส์ลีกด้วยการไปเยือนบาเยิร์น มิวนิก
ถ้าจะมีเกมสักนัดที่กุนซือชาวดัตช์ต้องโชว์ฝีมือ ก็ควรจะเป็นเกมนี้!
ความจริงหากมองย้อนกลับไปจากผลงานในฤดูกาลที่แล้ว ซึ่งแมนฯ ยูไนเต็ด ทำผลงานได้ดีด้วยการจบฤดูกาลเป็นทีมอันดับ 3 ของพรีเมียร์ลีก ได้สิทธิ์กลับมาเล่นแชมเปียนส์ลีกอีกครั้ง
ที่สำคัญคือ สามารถคว้าถ้วยแชมป์ได้ด้วยในรายการคาราบาวคัพ หรือลีกคัพ ซึ่งถือเป็นโทรฟี่ใบแรกของสโมสรในรอบ 6 ปีนับจากการคว้าแชมป์ยูฟ่ายูโรปาลีกได้ในปี 2016
ผลงานเหล่านี้ไม่แปลกที่ความคาดหวังในทีมและในตัวของเทน ฮาก จะสูงขึ้น
ยิ่งในช่วงปิดฤดูกาลที่ผ่านมา ทีมมีการเสริมทัพเกือบครบทุกจุดที่เขาต้องการ ไม่ว่าจะเป็น ผู้รักษาประตูคนใหม่อย่าง อังเดร โอนานา (42 ล้านปอนด์), ตัวสารพัดประโยชน์อย่าง เมสัน เมาท์ (60 ล้านปอนด์), กองกลางตัวรับที่อาจจะมาช้าสักหน่อยและยังไม่ฟิตพอจะลงสนามอย่าง โซฟียาน อัมราบัต (ยืมตัวพร้อมออปชันในการซื้อขาด), เซร์กิโอ เรกิลอน แบ็กซ้ายทางออกฉุกเฉินหลัง ลุค ชอว์ ได้รับบาดเจ็บหนัก, จอนนี อีแวนส์ ที่ได้กลับมาโอลด์แทรฟฟอร์ดอีกครั้งแบบไม่มีใครอยากเชื่อ
และกองหน้าตัวเป้าในแบบ Target Man แท้ๆ อย่าง ราสมุส ฮอยลุนด์ (70 ล้านปอนด์)
แมนฯ ยูไนเต็ด ควรจะสยายปีกปีศาจและอาละวาดใส่ทุกทีมได้แล้ว
เริ่มต้นเหมือนฝันร้าย
แต่สิ่งที่เกิดขึ้นกลับเป็นการที่ทีมเริ่มต้นได้ไม่สวยงาม 5 นัดแรกในพรีเมียร์ลีกพ่ายแพ้ไปแล้วถึง 3 นัด ซึ่งเป็นแผลลึกที่เจ็บที่สุด เพราะแทบจะเป็นการ ‘ตบหน้า’ แล้วพูดกับตัวเองในกระจกว่า “เลิกคิดถึงแชมป์พรีเมียร์ลีกได้แล้ว”
ถึง 3 นัดที่แพ้นั้นจะเป็นการพ่ายแพ้ต่อทีมที่แกร่ง ไม่ว่าจะเป็นท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งกลับมาเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ได้อย่างสวยงามภายใต้ อังเก คอสเตโปกลู ผู้จัดการทีมคนใหม่ชาวออสเตรเลีย, อาร์เซนอล รองแชมป์เก่าที่มีจุดพลิกผันตอนท้ายเกม เมื่อประตูของ อเลฮานโดร การ์นาโช ถูกตัดสินว่าล้ำหน้า และกันเนอร์สมาได้ 2 ประตูแซงชนะในช่วงทดเวลาบาดเจ็บ
จนถึงเกมกับไบรท์ตันที่พ่ายแพ้หมดรูปในทุกกระบวนท่า
แต่ใน 2 นัดที่ชนะนั้นก็มีเครื่องหมายคำถามเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นเกมกับวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอเรอร์ส ซึ่งมีการตั้งคำถามว่า อังเดร โอนานา ทำฟาวล์ และควรเสียจุดโทษหรือไม่ในช่วงท้ายเกม รวมถึงการชนะน็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ที่มีจุดโทษและใบแดงที่น่าเห็นใจทีมเจ้าป่า
ปัญหาที่หนักกว่าเดิม
ภายในทีมแมนฯ ยูไนเต็ด เองก็มีปัญหาพอสมควรในฤดูกาลนี้
หลังจากที่ตัดหาง คริสเตียโน โรนัลโด รวมถึง ดาบิด เด เคอา ไปจากทีม รวมถึงไม่มีผู้เล่นที่ถูกมองว่าเป็น ‘หนอน’ ภายในทีมอย่าง พอล ป็อกบา และ เจสซี ลินการ์ด แต่สถานการณ์ภายในทีมช่วงนี้กลับเยินยิ่งกว่าเดิม
ทุกอย่างเริ่มจากเรื่องของ เมสัน กรีนวูด ปีกสตาร์ดาวรุ่ง ที่แม้จะหลุดพ้นจากการเป็นผู้ต้องหาคดีร้ายแรง ที่เคยถูกแฟนสาวแจ้งความในคดีข่มขืน ทำร้ายร่างกาย และกักขังหน่วงเหนี่ยว ซึ่งเรื่องทางกฎหมายจบไปตั้งแต่ต้นปี แต่สโมสรยื้อเรื่องเพื่อหวังจะหาทางให้กองหน้าพรสวรรค์กลับมาสู่ทีมให้ได้อีกครั้ง
เทน ฮาก เองไม่ติดขัดที่จะให้กรีนวูดกลับมา แต่ปรากฏว่า เมื่อมีกระแสข่าวว่าจะกลับมาจริง ก็เกิดกระแสสังคมตีกลับ มีการต่อต้านอย่างรุนแรงทั้งจากภายนอกสโมสรและภายในสโมสรเอง ทำให้สโมสรต้องเปลี่ยนท่าทีในนาทีสุดท้าย
จากที่จะได้กลับมาก็ต้องถูกอัปเปหิไปอยู่กับเกตาเฟในสเปนแทนด้วยสัญญายืมตัว โดยที่สโมสรยังช่วยเหลือด้วยการจ่ายเงินค่าเหนื่อยให้เหมือนเดิม
กระแสต่อต้านนี้ทำให้บรรยากาศในทีมแย่ลง และยิ่งแย่หนักเมื่อไม่กี่วันต่อมาเกิดเรื่องของ แอนโทนี ปีกที่ถูกดึงตัวมาแทนกรีนวูดในฤดูกาลที่แล้วด้วยค่าตัวร่วม 100 ล้านปอนด์ และเป็นศิษย์รักของเทน ฮาก ด้วย ตกเป็นผู้ต้องหาคดีทำร้ายร่างกายอดีตแฟนสาวเหมือนกันในบ้านเกิดที่บราซิล
เรื่องไปถึงขั้นที่แอนโทนีต้องขอพักงานไม่มีกำหนด เพื่อเคลียร์ตัวเองให้บริสุทธิ์ก่อน
ก่อนที่เทน ฮาก จะมีปัญหากับ เจดอน ซานโช อดีตปีกสตาร์ดาวเด่นทีมชาติอังกฤษ ที่พอตำหนิเรื่องผลงาน ก็ถูกตอบโต้กลับทันที และนำไปสู่การแสดงความเฮี้ยบด้วยการสั่งตัดจากทีมทันที ยกเว้นแต่จะยอมขอโทษอย่างเป็นทางการ ซึ่งปีกจอมเลื้อยปฏิเสธ
นั่นยังไม่รวมถึงเรื่องที่ไม่สามารถจัดการการย้ายทีมของ แฮร์รี แม็กไกวร์ และ สกอตต์ แม็คโทมิเนย์ สองนักเตะที่เดิมคิดว่าไม่อยู่ในแผนการทำทีมแล้ว
แกรี เนวิลล์ อดีตตำนานแบ็กขวา กล่าวในรายการทาง Sky Sports ว่า ภายในทีมน่าจะมี ‘ตัวปัญหา’ ที่ทำให้บรรยากาศทุกอย่างกลับมาเสียไปหมดอีกครั้ง
โดยที่เรายังไม่ได้พูดถึง ‘ปัญหาพื้นฐาน’ ที่เจอกันได้ทุกทีม อย่างเช่น เรื่องอาการบาดเจ็บผู้เล่น ซึ่งเวลานี้แมนฯ ยูไนเต็ด ขาดผู้เล่นเป็นจำนวนมากถึง 9 ราย ซึ่งรวมถึง ราฟาเอล วาราน, เมสัน เมาท์, ลุค ชอว์, โซฟียาน อัมราบัต และล่าสุดคือ แอรอน วาน บิสซากา แบ็กขวาที่กล้ามเนื้อฉีก ต้องพักการเล่นอีก 2 เดือน
และการเล่นแบบ ‘เอาแต่ใจ’ ของ มาร์คัส แรชฟอร์ด ที่กลับมาเป็นประเด็นอีกครั้ง ทั้งๆ ที่เป็นฮีโร่ในฤดูกาลที่แล้วก็ตาม
จะขายหรือไม่ขาย วุ่นวายกว่าที่คิด
อีกปัจจัยที่ไม่พูดถึงไม่ได้คือ อิทธิพลของเจ้าของสโมสรอย่างตระกูลเกลเซอร์ที่ยังตามหลอกหลอนทุกคน
ย้อนกลับไปในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา แฟนแมนฯ ยูไนเต็ด ได้รับข่าวที่เหมือนจะเป็นข่าวดี เมื่อมีการประกาศว่าตระกูลเกลเซอร์ต้องการขายหุ้นสโมสรออกไปหลังจากครอบครองมายาวนานตั้งแต่ปี 2005 โดยได้ว่าจ้าง Raine Group ซึ่งเคยดูแลการขายหุ้นทีมเชลซี ให้จัดการหาผู้ที่สนใจจะซื้อทีมมาให้ได้
แต่เวลาผ่านมาเกือบ 1 ปี กระบวนการซื้อ-ขายก็ยังคงค้างคา โดยที่แม้จะมีผู้ยื่นข้อเสนอ 2 ราย คือ เซอร์จิม แรตคลิฟฟ์ เจ้าของบริษัทธุรกิจพลังงาน INEOS ซึ่งเป็นแฟนแมนฯ ยูไนเต็ด ตัวยง ที่มาในรูปแบบของกลุ่มนักลงทุน กับข้อเสนอจากกาตาร์ที่ต้องการจะได้สโมสรที่มีศักยภาพและแบรนดิ้งอันดับหนึ่งของโลกมาครอบครอง แต่ตระกูลเกลเซอร์พยายามเตะถ่วงในการเจรจา
เพราะพวกเขาเชื่อว่ามีโอกาสจะทำเงินได้จากการขายสโมสรมากกว่า 6 พันล้านปอนด์ที่เป็นข้อเสนอบนโต๊ะเจรจาเวลานี้
เรื่องการเปลี่ยนเจ้าของที่ค้างคาถูกมองว่าเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างบรรยากาศที่แย่ภายในทีม จากความหวังของทุกคน กลับกลายเป็นความหดหู่ที่ไม่สามารถสลัดพ้นจากเจ้าของสโมสรที่ถูกมองว่าแย่ที่สุดในประวัติศาสตร์ได้
จริงอยู่ที่แมนฯ ยูไนเต็ด ยังมีงบประมาณสำหรับการเสริมทีมมากมาย แต่สโมสรฟุตบอลที่ดีควรจะดีตั้งแต่ ‘หัวยันหาง’ ซึ่งการที่มีเกลเซอร์เป็นผู้นำ หมายถึงการกลัดกระดุมที่ผิดตั้งแต่เม็ดแรก
วัฒนธรรมองค์กร แนวทางการบริหาร วิสัยทัศน์ และอื่นๆ เป็นผลที่ตามมา และแน่นอนว่ามันส่งผลกระทบถึงทีมอย่างมาก
ผู้นำต้องทำวิกฤตให้เป็นโอกาส
แต่ถึงจะมีปัญหามากมายแค่ไหน สิ่งที่เทน ฮาก ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือ ในฐานะผู้นำเขาจำเป็นต้องใช้ช่วงเวลาวิกฤตนี้ในการแสดงฝีมือของตัวเองออกมา
ไม่ว่าจะอย่างไรก็ตาม ต้องพาทีมกลับมาให้ได้!
เพราะปัญหาภายในของทีมเองก็เป็นความรับผิดชอบของเขาในฐานะผู้นำ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Man Manangement การบริหารจัดการผู้เล่นภายในทีม ซึ่งแม้มีความพยายามจะเฮี้ยบขีดเส้นเอาไว้ชัดเจนในเรื่องของระเบียบวินัย
แต่น่าสนใจที่ทำไมทีมจึงกลับมาดูขาดสปิริตอีกครั้ง?
ไม่นับเรื่องของแท็กติกการเล่นที่ตอนนี้มีคำถามว่า ตกลงแล้ว ‘ลายเซ็น’ ในการเล่นของเทน ฮาก คือฟุตบอลแบบไหน? และเขาคิดจะใช้เวลาสักเท่าไรในการเปลี่ยนแปลง?
ประเด็นนี้จะเห็นความแตกต่างได้ชัดเมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงใน 1 ปีที่ โรแบร์โต เด แซร์บี ทำกับไบรท์ตัน หรือในเวลา 2-3 เดือนที่อังเก คอสเปโตกลูพาสเปอร์ส กลับมาเป็นทีมที่ดูดีอีกครั้ง ทั้งสองทีมนี้มีระบบการเล่นที่เป็นเอกลักษณ์ชัดเจน ยกระดับทีมด้วยผู้เล่นของเดิมที่มีอยู่
อย่างไรก็ดี ใน 5 นัดที่ย่ำแย่ที่ผ่านมา ก็พอมองเห็นประกายแสงของความหวังอยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็นในเกมกับอาร์เซนอลที่สู้กับรองแชมป์เก่าได้อย่างสนุกถึงขั้นเกือบชนะ
รวมถึง 15-20 นาทีแรกกับไบรท์ตันที่ระบบการเล่น 4-4-2 แบบไดมอนด์ ที่วางหมากไว้ เพื่อกดไม่ให้คู่แข่งเซ็ตเกมต่อบอลจากแดนหลังได้ ถือว่าน่าสนใจมากแม้จะโดนเด แซร์บี ตลบหลังด้วยการปรับหมากนิดเดียว แต่ได้ผลดีอย่างเหลือเชื่อก็ตาม
และความหวังที่ผู้คนรอคอยอย่างฮอยลุนด์ ที่แสดงให้เห็นถึงศักยภาพแฝงเร้นที่มีในตัวให้เห็นในการลงสนาม 2 เกมแรก จนทำให้น่าจับตามองว่า เมื่อฟิตพร้อมจะลงสนามเต็มเกมจะทำได้ดีแค่ไหน
ทุกอย่างอยู่ในมือของเทน ฮาก ที่จะเรียกสปิริตของทีมกลับมาให้ได้เลยตั้งแต่เกมคืนนี้กับบาเยิร์น มิวนิก เป็นต้นไป
หมดเวลาน้ำผึ้งพระจันทร์สำหรับเขาแล้ว
จากนี้คือบทพิสูจน์ฝีมือล้วนๆ ว่าจะเป็น ‘คนที่ใช่’ ที่จะพาแมนฯ ยูไนเต็ด กลับมายิ่งใหญ่ได้อีกครั้ง
หรือจะไม่ต่างอะไรจากกุนซือฝีมือดีคนอื่นๆ ที่เอาชื่อมาทิ้งที่นี่
อ้างอิง:
- https://www.thetimes.co.uk/article/manchester-united-fans-should-save-anger-for-glazers-not-erik-ten-hag-zp5xl5h92
- https://www.thetimes.co.uk/article/erik-ten-hag-has-spent-373m-but-are-manchester-united-better-for-it-zfzt279jw
- https://www.theguardian.com/football/2023/sep/19/fc-hollywood-make-kane-the-star-in-perfect-script-for-manchester-united