×

อนาคต TikTok กับความสัมพันธ์ระหว่างคู่ค้าฝั่งตะวันตกที่ถูกแขวนอยู่บนเส้นด้าย

24.04.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงความเห็นผ่านร่างกฎหมายที่จะส่งผลให้ ByteDance จำเป็นต้องเลือกระหว่างการยอมขาย TikTok ออกจากการถือครอง หรือไม่เช่นนั้นจะต้องถูกยุติการให้บริการ
  • สาเหตุของการออกร่างกฎหมายครั้งนี้มาจากความกังวลของผู้กำกับดูแลสหรัฐฯ ต่อความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจนำข้อมูลผู้ใช้งานชาวอเมริกันไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น การผลักดันเนื้อหาบางประเภทที่สนับสนุนแนวคิดจีน หรืออาจทำข้อมูลรั่วไหล ซึ่งนำไปสู่การถูกสวมรอยโปรไฟล์
  • แม้ว่าร่างกฎหมายจะถูกอนุมัติในอนาคต แต่ความเป็นไปได้ที่ ByteDance จะขาย TikTok ออกมีน้อยมาก เนื่องจากบริษัทระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่มีเจตนาจะขายการถือครองแพลตฟอร์มออก และทางรัฐบาลจีนเองก็ยืนกรานว่า จะไม่ยอมให้อัลกอริทึมรวมทั้งข้อมูลอันมีค่าทั้งหมดตกไปอยู่ในภายใต้เงื้อมมือการปกครองของอเมริกาอย่างแน่นอน
  • ทันทีที่ร่างกฎหมายขู่แบน TikTok ถูกอนุมัติ ราคาหุ้นของ Meta และ Alphabet ก็พร้อมใจพากันดีดตัวสูงขึ้น
  • TikTok Lite ถูกกล่าวหาว่ากำลังสร้างเจเนอเรชันของคนที่ ‘เสพติดโซเชียลมีเดีย’ ที่อันตรายและเสพติดได้ง่ายไม่ต่างจากบุหรี่แบบรสชาติอ่อน

TikTok กำลังเจอกับศึกการกีดกันรอบด้าน ในการดำเนินธุรกิจกับคู่ค้าฝั่งตะวันตกทั้งในสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

 

Bloomberg รายงานว่า เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (20 เมษายน) สภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ลงความเห็นผ่านร่างกฎหมายที่จะส่งผลให้ ByteDance จำเป็นต้องเลือกระหว่างการยอมขาย TikTok ออกจากการถือครอง หรือไม่เช่นนั้นจะต้องถูกยุติการให้บริการ

 

แต่ไม่เพียงเท่านั้น เพราะล่าสุดในฝั่งของยุโรป คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ก็ได้ออกแถลงการณ์การตรวจสอบกลไกแอป TikTok Lite ที่ให้บริการกับผู้ใช้งานชาวสเปนและฝรั่งเศส ในประเด็นการละเมิดกฎ Digital Services Act (DSA) เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา

 

อะไรกำลังจะเกิดขึ้นต่อไปจากการผ่านร่างกฎหมายของสหรัฐฯ? ใครได้ใครเสียจากคำตัดสินครั้งนี้? และ TikTok Lite กำลังสร้างเจเนอเรชันของคนที่ ‘เสพติดโซเชียลมีเดีย’ ตามข้อกล่าวหาของคณะกรรมาธิการยุโรปหรือไม่?

 

ทั้งหมดนี้คือคำถามสำคัญที่ THE STANDARD WEALTH จะขอสรุปให้เข้าใจกัน

 

เกิดอะไรขึ้นกับ TikTok ในสหรัฐฯ และ ByteDance จะต้องขายทิ้งจริงหรือ

 

อนาคตของ TikTok ในสหรัฐอเมริกา กับสถานะแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียภายใต้การดำเนินงานของบริษัท ByteDance กำลังตกอยู่ในภาวะความเสี่ยงที่อาจกลายเป็นเพียงอดีต หลังจากรัฐบาลสหรัฐฯ ผ่านร่างกฎหมายเรียบร้อยแล้ว ซึ่งหลังจากนี้ร่างกฎหมายจะถูกส่งไปยังสภาคองเกรสพิจารณา และเมื่อผ่าน โจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จะลงนามให้เป็นกฎหมายที่มีผลอย่างเป็นทางการ โดย ByteDance จะมีเวลาหนึ่งปีในการถอนการถือครอง TikTok ออก หากกฎหมายถูกบังคับใช้

 

สำหรับสาเหตุการออกร่างกฎหมายครั้งนี้มีผลพวงมาจากความกังวลของผู้กำกับดูแลสหรัฐฯ ต่อความเป็นไปได้ที่รัฐบาลจีนอาจจะนำข้อมูลของผู้ใช้งานชาวอเมริกันไปใช้เพื่อประโยชน์ส่วนตน เช่น การกำหนดหรือผลักดันเนื้อหาบางประเภทที่สนับสนุนแนวคิดจีนให้กับคนอเมริกัน หรืออาจทำข้อมูลรั่วไหล ซึ่งนำไปสู่การถูกสวมรอยโปรไฟล์ได้ เนื่องจากบริษัทในจีนทั้งหมดอยู่ภายใต้ข้อบังคับที่ต้องแชร์ข้อมูลกับรัฐบาลเมื่อมีการร้องขอ แต่ TikTok ยังคงยืนกรานว่าบริษัทใช้เงินกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ เพื่อป้องกันความเสี่ยงความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยของข้อมูลไว้อยู่แล้ว

 

ความเคลื่อนไหวครั้งนี้ของสหรัฐฯ กับการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือขู่กีดกันการเข้าถึงของผู้บริโภคเพื่อใช้งานแพลตฟอร์มเทคโนโลยี ถือเป็นสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประเทศ จนทำให้ฝ่ายที่เห็นต่างอย่างแพลตฟอร์ม TikTok มองว่ามันคือการกระทำที่ละเมิดรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ ฉบับที่ 1 (First Amendment) ที่ถือว่าเสรีภาพทางความคิดเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน

 

“เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สภาผู้แทนราษฎรฉวยโอกาสหยิบยกประเด็นความขัดแย้งเรื่องสิทธิมนุษยชนในต่างประเทศที่กำลังเกิดขึ้น มาเป็นฉากบังหน้าในการผ่านร่างกฎหมาย ที่จะทำลายเสรีภาพการแสดงความคิดเห็นของคนอเมริกันกว่า 170 ล้านคน และธุรกิจ 7 ล้านรายผู้มีส่วนสร้างมูลค่าเศรษฐกิจให้กับอเมริกาถึง 24,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี” โฆษก TikTok กล่าวไว้เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา

 

อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างกฎหมายถูกอนุมัติ TikTok ก็พร้อมจะดำเนินการต่อสู้ในชั้นศาลต่อไป เพราะความเป็นไปได้ที่ ByteDance จะขาย TikTok ออกมีน้อยมาก เนื่องจากบริษัทระบุไว้ชัดเจนว่า ไม่มีเจตนาจะขายการถือครองแพลตฟอร์ม อีกทั้งการขายก็ต้องได้รับการอนุมัติจากรัฐบาลจีนเสียก่อน ซึ่งฝั่งรัฐบาลได้แสดงจุดยืนว่า พวกเขาจะไม่ยอมให้อัลกอริทึมที่บริษัทสัญชาติจีนพัฒนา รวมทั้งข้อมูลอันมีค่าทั้งหมด ตกไปอยู่ในภายใต้เงื้อมมือการปกครองของอเมริกาอย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ประเด็นที่ยิ่งทำให้สถานการณ์ซับซ้อนมากขึ้นคือ ทีท่าของอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ ที่ออกมาบอกว่า เขาไม่เห็นด้วยกับการขาย TikTok ครั้งนี้ ซึ่งเป็นคำพูดที่ตรงข้ามกับครั้งเมื่อตอนที่เขาดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี โดยการแสดงออกของทรัมป์ครั้งนี้อาจจะนำมาสู่จุดเปลี่ยนก่อนที่กระบวนการขายธุรกิจจะบรรลุผลใน 1 ปีหากเขาชนะการเลือกตั้งและกลับมาดำรงตำแหน่ง

 

TikTok จะอยู่รอดหรือไม่หากถูกแบนในสหรัฐฯ และใครได้ประโยชน์

 

แม้แนวโน้มการขาย TikTok ดูจะเป็นไปได้ยาก และจำนวนคนใช้แพลตฟอร์มก็มีอยู่เพียง 10% ของผู้ใช้งานทั่วโลก แต่ในกรณีที่มันเกิดขึ้นจริง สิ่งที่แพลตฟอร์มจะต้องรับมือคือ ความจริงที่ว่าตลาดการใช้งานโซเชียลมีเดียต่างๆ ของชาวอเมริกันถือได้ว่าเป็นตลาดที่สร้างมูลค่ามากที่สุดในโลก ทำให้บริษัทโฆษณาจำนวนมากพยายามที่จะจ่ายเงินเพื่อเข้าถึงผู้ใช้งานกลุ่มนี้ ซึ่งถ้า TikTok ถูกยุติการให้บริการในสหรัฐฯ นั่นเท่ากับว่ามันคือการยอมปล่อยให้โซเชียลมีเดียรายอื่นเข้ามาแย่งส่วนแบ่งของผู้ใช้งานเหล่านี้แทน และจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจของ TikTok ทั่วโลก เมื่อคนอเมริกันหันไปพึ่งแพลตฟอร์มอื่นแทน จนทำให้บริษัทโฆษณาต้องย้ายตามไปด้วย

 

ซ้ำแล้วการแบน TikTok จะทำให้แผนใหญ่ของแพลตฟอร์มที่เตรียมขยาย TikTok Shop ในสหรัฐฯ ต้องถูกพับเก็บไป ซึ่งการคาดการณ์ในธุรกิจส่วนนี้โดยแพลตฟอร์มมองว่ามีศักยภาพที่จะเติบโตได้กว่า 10 เท่าตัว

 

แล้วถ้า TikTok ถูกแบน อานิสงส์จะตกไปอยู่ในมือของใคร?

 

เคิร์ต แวกเนอร์ นักข่าวสายโซเชียลมีเดียของ Bloomberg วิเคราะห์เอาไว้ว่า คำตอบของผู้ที่จะได้รับผลประโยชน์มากที่สุดคือ Meta ผู้เป็นเจ้าของ Instagram ที่มีบริการคล้ายกันชื่อว่า Reels เนื่องจากนี่เป็นตัวเลือกอันถัดมาที่ชาวอเมริกันจะหันไปใช้งานแทน

 

ทั้งนี้ มีความเป็นไปได้ว่าโซเชียลมีเดียอื่น อย่างเช่น YouTube ที่ Alphabet เป็นเจ้าของ ก็จะได้ผลพวงเชิงบวกจากเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยพวกเขาสามารถกอบโกยเม็ดเงินโฆษณาได้เมื่อ TikTok ไม่สามารถให้บริการได้อีกต่อไป ซึ่งทันทีที่ร่างกฎหมายขู่แบน TikTok ถูกอนุมัติ ราคาหุ้นของ Meta และ Alphabet ก็พากันดีดตัวสูงขึ้น 

 

TikTok Lite กำลังสร้างเจเนอเรชันของคนที่เสพติดโซเชียลมีเดีย?

 

‘ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก’ วลีนี้อาจดูไม่เกินจริงสำหรับสิ่งที่ TikTok ต้องรับมือ เพราะเมื่อความวุ่นวายในข้อขัดแย้งกับสหรัฐฯ ยังดำเนินต่อ ความท้าทายใหม่ก็เข้ามาหา TikTok เพิ่มจากอีกซีกโลก เมื่อล่าสุด TechCrunch รายงานว่า คณะกรรมาธิการยุโรปเข้าตรวจสอบแพลตฟอร์มเป็นครั้งที่ 2 ในประเด็นที่ TikTok Lite ถูกกล่าวหาว่ากำลังสร้างเจเนอเรชันของคนที่ ‘เสพติดโซเชียลมีเดีย’ 

 

ถามว่า ทำไมคณะกรรมาธิการยุโรปถึงมองว่าบริการของ TikTok เป็นแบบนั้น?

 

ถ้าจะสรุปสั้นๆ TikTok Lite เป็นเวอร์ชันที่เพิ่งถูกปล่อยให้คนสามารถใช้งานได้ในสเปนและฝรั่งเศสเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา โดยมีกลไกที่สร้างแรงจูงใจให้ผู้ใช้งานทำ ‘Task and Rewards Program’ ผ่านการรับชม เชิญชวนเพื่อนให้เข้าใช้งาน หรือกดไลก์วิดีโอบนแพลตฟอร์ม เพื่อแลกกับแต้มสะสม ซึ่งแต้มสะสมนี้สามารถนำไปแปลงเป็นบัตรกำนัลบน Amazon หรือโทเคนดิจิทัลจาก TikTok สำหรับจ่ายเป็นรางวัลให้กับผู้สร้างคอนเทนต์

 

“การแสดงคลิปสั้นที่กระชับแต่ไม่มีที่สิ้นสุดดูแล้วอาจเต็มไปด้วยความสนุก แต่ในขณะเดียวกันมันก็มีผลเสียที่จะทำให้เยาวชนของเราเสี่ยงต่อการเสพติด เพิ่มความเครียด และทำให้สมาธิสั้น ซึ่งเราตั้งข้อสงสัยว่า TikTok Lite ที่ส่งเสริมให้คนเสพคอนเทนต์บนแพลตฟอร์มมากขึ้นมีแนวโน้มที่จะเป็นอันตรายและทำให้เสพติดได้ไม่ต่างจากบุหรี่แบบรสชาติอ่อน ตราบใดที่ TikTok ยังไม่มีข้อพิสูจน์ที่จะโต้แย้งคำกล่าวหานี้ ทางเรา (คณะกรรมาธิการยุโรป) ก็พร้อมที่จะยุติฟีเจอร์ของ TikTok Lite ทันที” เธียร์รี เบรตัน กรรมาธิการยุโรปฝ่ายตลาดภายในของสหภาพยุโรป ระบุในจดหมายแถลงการณ์

 

ด้วยเหตุผลนี้คณะกรรมาธิการยุโรปจึงมองว่า ฟีเจอร์ Task and Rewards Program อาจนำไปสู่ผลกระทบของผู้ใช้งาน โดยเฉพาะกลุ่มวัยรุ่น ให้ยิ่งเสพติดแพลตฟอร์มมากกว่าเดิม อีกทั้งทางแพลตฟอร์มเองก็ไม่ได้ส่งรายงานประเมินความเสี่ยงของฟีเจอร์ดังกล่าว จึงขัดต่อกฎ DSA และนำมาสู่การตรวจสอบ

 

อย่างไรก็ตาม ณ ขณะนี้ผู้ใช้งานยังสามารถใช้ฟีเจอร์ได้ตามปกติ ในขณะที่ทางการกำลังตรวจสอบว่าแพลตฟอร์มทำผิดกฎจริงหรือไม่ แต่เวลานั้นเหลือน้อยมากแล้วสำหรับ TikTok เพราะคณะกรรมาธิการยุโรปจะให้เวลาถึงวันนี้ (24 เมษายน) เพื่อนำหลักฐานมาโต้แย้ง โดยในขั้นแรก TikTok ได้ออกมาแสดงความผิดหวังกับคำตัดสินว่า “TikTok Lite ไม่ได้เปิดให้ผู้ใช้งานอายุต่ำกว่า 18 ปีเข้าถึงได้ และเราก็ตั้งข้อจำกัดกับเวลาที่ใช้ดูวิดีโอ” แต่เมื่อคำตัดสินออกมาเช่นนี้ แพลตฟอร์มก็ยืนยันว่าจะร่วมหารือแนวทางแก้ไขกับคณะกรรมาธิการต่อไป

 

โดยสรุป ดูเหมือนว่าความพยายามกีดกันโซเชียลมีเดียจากจีนจะค่อนข้างรุนแรงจากทีท่าของผู้คุมกฎในฝั่งตะวันตกทั้งสหรัฐฯ กับสหภาพยุโรป จากนี้คงต้องจับตาดูกันต่อว่า TikTok จะงัดไม้ไหนขึ้นมาเพื่อแก้เกมให้แพลตฟอร์มยังสามารถให้บริการกับผู้ใช้งานทั่วโลกได้และไม่สูญเสียอำนาจการแข่งขันไปให้กับเจ้าอื่น แต่ต้องยอมรับว่าความท้าทายทั้งหมดนี้ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะรับมือเลย

 

อ้างอิง: 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X