×

TikTok ไทยอวดยอดผู้ใช้โต 100% ดันยอดวิว ‘วิบวับ’ 94 ล้านครั้ง เตรียมสร้างรายได้โฆษณา

24.02.2020
  • LOADING...

ความนิยมของแพลตฟอร์มวิดีโอตอนสั้นและพฤติกรรมผู้ใช้งานในปัจจุบันมีส่วนไม่น้อยที่ช่วยส่งให้ ‘TikTok’ กลายเป็นแพลตฟอร์มยอดฮิต ซึ่งผลที่ตามมาไม่ได้แค่ทำให้เกิดไวรัล เทรนด์ การทำชาเลนจ์ และช่วยให้เพลงต่างๆ เป็นที่นิยมได้เร็วขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีส่วนปูทางให้อินฟลูเอนเซอร์จำนวนมากได้เป็นที่รู้จักอีกด้วย

 

เป็นที่ทราบกันดีว่าตลาดผู้ใช้งานที่ใหญ่ที่สุดของ TikTok ในปัจจุบันคือสหรัฐอเมริกา อย่างไรก็ดี ‘ประเทศไทย’ ก็เป็นอีกหนึ่งในตลาดที่มีศักยภาพเป็นอย่างมาก เนื่องจากปี 2019 พวกเขามีจำนวนยอดผู้ใช้งานเติบโตมากขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปี 2018 แถมยังติด 1 ใน 3 ประเทศที่มีอัตราการเติบโตสูงสุดในอาเซียนอีกด้วย

 

ข้อมูลที่น่าสนใจคือผู้ใช้ส่วนใหญ่ในปัจจุบัน 48% อยู่ในกลุ่มอายุ 18-24 ปี รองลงมาคือ 13-17 ปีที่ 36% และ 25-34 ปีที่ 14% สรุปรวมง่ายๆ ว่าคนใช้ TikTok ส่วนใหญ่ในไทยกว่า 80% เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่อยู่ในช่วงวัยเรียนไปจนถึง First Jobber ใช้เวลาเฉลี่ยบนแพลตฟอร์มวันละประมาณ 35 นาที

 

เมื่อแบ่งตามเพศจะพบว่าผู้ใช้ส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง 75% และผู้ชายอีก 25% ซึ่ง TikTok นิยามไว้ว่ากลุ่มผู้ใช้งานของพวกเขาเป็นกลุ่มที่ชื่นชอบการใช้เทคโนโลยี มีความคิดสร้างสรรค์ และแอ็กทีฟในเชิงการผลิตคอนเทนต์ ทั้งยังเป็น New Market ที่แบรนด์ต้องการเจาะตลาด เพราะมีความสามารถในการจับจ่ายใช้สอย

 

กรณีตัวอย่างที่น่าสนใจที่เกิดขึ้นในประเทศไทยคือเพลง Wip Wup (วิบวับ) โดยศิลปิน ป๊อก Mindset ซึ่งเป็นหนึ่งในเพลงที่ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากบนแพลตฟอร์ม TikTok เพราะมียอดการนำไปใช้ในวิดีโอสูงถึง 5.91 แสนครั้ง และมียอดวิวรวมสูงถึงประมาณ 94.3 ล้านครั้ง สูงที่สุดในบรรดาเพลงไทยทั้งหมด

 

โดยกลยุทธ์ในการพัฒนาแพลตฟอร์ม TikTok ให้ยั่งยืนในปีนี้จะเน้นไปที่ 3 แกนหลัก ประกอบด้วย

 

1.สร้างคอนเทนต์ให้มีความหลากหลาย (Content Diversification) เพื่อตอบโจทย์ผู้ใช้งานในหลากหลายช่วงวัย ซึ่งมีความสนใจที่แตกต่างกัน

 

2.สร้างรายได้ผ่านการขายโฆษณา (Monetization) เดินหน้าสร้างรายได้ด้วยเครื่องมือและฟีเจอร์ต่างๆ บนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้แบรนด์และกลุ่มดิจิทัลมาร์เก็ตติ้งในไทยสร้าง Awareness และเป็นที่รู้จักได้อย่างรวดเร็ว โดยเปิดให้เริ่มโฆษณาได้ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 

3.สร้างความปลอดภัยบนแพลตฟอร์ม (Brand Safe) เน้นการพัฒนาความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้เกิดการใช้งานที่เหมาะสม ทั้งการใช้แมชชีนเลิร์นนิงคัดกรองให้แสดงเฉพาะคอนเทนต์ที่มีเนื้อหาเหมาะสม หรือการใส่ฟีเจอร์ให้ผู้ปกครองควบคุมการใช้งานของบุตรหลานในเวลาที่เหมาะสม

 

สำหรับประเด็นการคัดกรองเนื้อหาให้มีความเหมาะสมกับแพลตฟอร์ม หลังจากที่คอนเทนต์วิดีโอ ‘โรตีสด’ เคยสร้างความเชื่อที่ผิดๆ ให้กับผู้ใช้งานจำนวนมากนั้น ลักศมี จง ผู้จัดการฝ่ายผลิตคอนเทนต์และแคมเปญ TikTok ประเทศไทย ให้ข้อมูลไว้ว่าทีมงาน TikTok ไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ ซึ่งทีม Crisis Management ได้ดำเนินการจำกัดการเข้าถึงเนื้อหาที่ไม่เหมาะสมทันที และแก้เกมด้วยการประสานอินฟลูเอนเซอร์ให้ทำคอนเทนต์ให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องบนแพลตฟอร์มแทน

 

นอกจากนี้ยังมีความพยายามในการทำแคมเปญคอนเทนต์ต่างๆ ในเชิงการให้ประโยชน์และข้อมูลความรู้กับผู้ใช้งานมากขึ้น เพื่อดึงผู้ใช้งานหน้าใหม่ให้เข้ามาอยู่บนแพลตฟอร์ม TikTok นานกว่าเดิม จนส่งผลให้กลุ่มผู้ใช้งานส่วนใหญ่ในปัจจุบัน (กุมภาพันธ์ 2563) เป็นกลุ่มที่อายุมากกว่า 18 ปี ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านี้เป็นกลุ่มที่มีอายุน้อยกว่า

 

ส่วนโมเดลการช่วยให้อินฟลูเอนเซอร์เริ่มสร้างรายได้จากการทำคอนเทนต์บนแพลตฟอร์ม (ที่ไม่ใช่โฆษณา) ศุภวัฒน์ พีรานนท์ หัวหน้าฝ่ายเพลงของ TikTok ประเทศไทย ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าแนวทางหลักของ TikTok ในปัจจุบันจะเน้นไปที่การช่วยให้ผู้ใช้งานหรืออินฟลูเอนเซอร์เป็นที่รู้จักในวงกว้างเป็นหลัก และช่วยให้หารายได้ในขั้นตอนหลังจากนั้นผ่านการทำงานร่วมกับแบรนด์ต่างๆ เป็นต้น

 

นั่นหมายความว่าพวกเขายังไม่มีแนวคิดจะให้ผู้ใช้งานมาสร้างรายได้บนแพลตฟอร์มผ่านการทำคอนเทนต์ อย่างไรก็ดี ในอนาคต TikTok อาจจะมีฟีเจอร์หรือการใช้งานที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นศุภวัฒน์จึงไม่ได้ปิดกั้นการช่วยให้ผู้ใช้งานหรืออินฟลูเอนเซอร์เข้ามาทำคอนเทนต์และสร้างรายได้เหมือนโมเดลของแพลตฟอร์มอื่นๆ ในอนาคต โดยชี้ว่าขึ้นอยู่กับความพร้อมของหลายๆ อย่าง

 

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X