×

TikTok Revolution 2022 วงการเพลงไทยในแพลตฟอร์มวิดีโอสั้น

28.12.2022
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

4 MIN READ
  • ในปี 2022 เราได้เห็นพัฒนาการและความนิยมที่พุ่งสูงของวงการเพลงไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ T-Pop ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยสูงขึ้นมากๆ 
  • เพลงไทยถูกหยิบไปประกอบคอนเทนต์มากมายใน TikTok ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ Video Editing, Video Template, Point of View (POV), ลิปซิงก์ รวมถึงชาเลนจ์ต่างๆ
  • อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงหลายๆ เพลงกลายเป็นกระแสไปทั่ว TikTok ก็คือ การเร่งความเร็วของเพลงเป็นสองเท่า หรือที่เราเรียกว่าแผ่นเสียงเวอร์ชัน Speed Up
  • แคมเปญ Dance Challenge ทำให้เพลงเกือบทุกเพลงจำเป็นต้องมีท่าเต้น แม้ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงของศิลปินที่ไม่เคยต้องเต้นมาก่อน หรือเป็นเพลงจังหวะกลางที่ไม่จำเป็นต้องมีท่าก็ได้  

หากย้อนกลับไปเมื่อหลายปีก่อน เราคงไม่สามารถจินตนาการได้เลยว่า โซเชียลมีเดียอย่าง TikTok จะขึ้นมาเป็นแพลตฟอร์มทรงอิทธิพลต่ออุตสาหกรรมเพลงโลก รวมถึงวงการเพลงไทยแบบทุกวันนี้ได้

 

ในปี 2022 เราได้เห็นพัฒนาการและความนิยมที่พุ่งสูงของวงการเพลงไทยอย่างเห็นได้ชัด โดยเฉพาะ T-Pop ที่ได้รับความนิยมในหมู่คนไทยสูงขึ้นมากๆ โดยในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา คนไทยค้นหาคำว่า T-Pop บน Google มากขึ้นจากปีก่อนถึง 4 เท่าตัว มีการจัดคอนเสิร์ตจากศิลปินไทยมากกว่า 100 งานแสดง นอกจากนี้ยังมีการปล่อยอัลบั้มของศิลปินกว่า 40 อัลบั้ม และมียอดฟังเพลงไทยใน Spotify ที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนอย่างเห็นได้ชัด 

 

แน่นอนว่าส่วนสำคัญที่ทำให้กระแสเพลงไทยกลับมาเป็นที่นิยมอีกครั้ง ก็คือการเติบโตขึ้นโซเชียลมีเดียอย่าง TikTok ที่มีจุดเด่นเรื่องรูปแบบคอนเทนต์ที่เข้าถึงง่าย ทำให้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญของค่ายเพลงและศิลปินไทยในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลง

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

สาเหตุหลักๆ ก็เพราะคอนเทนต์ใน TikTok เป็นมิตรกับการใส่เพลงท่อนสั้นๆ เข้าไป และยังมีฟีเจอร์ ‘แผ่นเสียง’ ที่ออกแบบมาให้ผู้ใช้สามารถดึงเอาเพลงหรือเสียงของคนอื่นๆ ไปใส่ในคอนเทนต์ของตัวเองได้ ส่งผลให้เพลงหลายๆ เพลงถูกส่งต่อและกระจายไปได้อย่างรวดเร็ว 

 

นอกจากนี้ยังมีการวิจัยยืนยันว่า TikTok สามารถจูงใจผู้ฟังให้ไปใช้บริการในแพลตฟอร์มอื่นๆ ต่อไปได้ อย่างใน Spotify ในประเทศไทยเองก็มีเพลงฮิตจาก TikTok ติดชาร์ตอยู่กว่า 30 เพลง เช่นเดียวกับ JOOX ที่กว่าครึ่งของชาร์ตเพลงยอดนิยมก็เป็นเพลงที่มีกระแสตอบรับในรูปแบบเดียวกัน (ข้อมูลวันที่ 17 ธันวาคม 2022) ซึ่งแปลว่าแม้เพลงที่ฮิตใน TikTok จะไม่ได้ถูกโพสต์โดยศิลปินหรือค่าย แต่ก็ยังให้ผลประโยชน์กับพวกเขาได้ในแพลตฟอร์มอื่นๆ อยู่ดี

 

อิทธิพลและความนิยมของ TikTok ในหลายปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ปีนี้วงการเพลงไทยมีการปรับตัวและเปลี่ยนแปลงไปในหลายๆ มิติ โดยเฉพาะในแง่การโปรโมตที่กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของค่ายและศิลปินมากขึ้น

 

 

คอนเทนต์เพลงไทยจากฝีมือผู้ใช้ TikTok

เพลงไทยถูกหยิบไปประกอบคอนเทนต์มากมายใน TikTok ไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบของ Video Editing, Video Template, Point of View (POV), ลิปซิงก์ รวมถึงชาเลนจ์ต่างๆ ซึ่งไอเดียการทำคอนเทนต์เหล่านี้ก็มาจากทั้งค่ายเพลง ศิลปิน หรือผู้ใช้ทั่วไป ที่เรียกว่า ‘ครีเอเตอร์’ ตัวแปรหลักที่ทำให้เพลงหลายเพลงเป็นกระแสขึ้นมา

 

เทรนด์ส่วนใหญ่ใน TikTok มักจะเกิดมาจากไอเดียของครีเอเตอร์เป็นหลัก แล้วส่งต่อหรือผลิตซ้ำเรื่อยๆ จนเกิดกระแส อย่างเพลง ทรงอย่างแบด (Bad Boy) – Paper Planes เพลงขวัญใจเด็กอนุบาลก็ได้รับความนิยมจากวิดีโอประเภทลิปซิงก์บนแพลตฟอร์ม หรือเพลง รักนะเว้ย – Milli Feat. NAMEMT เองก็มีคอนเทนต์แมสๆ ในแนวนี้จน Milli (มิลลิ-ดนุภา คณาธีรกุล) และ NAMEMT (เนม-สุรัช เพียรเลขา) เจ้าของเพลงถึงกับต้องมาเล่นตามเลยทีเดียว

 

ส่วนคอนเทนต์แบบ Video Template ก็ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน โดยครีเอเตอร์จะไปสร้าง Video Template ไว้ในโปรแกรมพาร์ตเนอร์ที่ชื่อ CapCut แล้วให้แฟนคลับหรือผู้ใช้คนอื่นๆ หยิบคลิปของตัวเองไปใส่ใน Template เพื่อแชร์ต่อกันไป โดยเพลงที่ได้รับความนิยมมาจากคอนเทนต์ประเภทนี้ก็เช่น เพลง คนไม่คุย – Proxie ที่มียอดการใช้ Template ไปกว่า 1 ล้านครั้ง หรือเพลงอื่นๆ อย่าง 17 – Dept และ ลาก่อน – Yourmood ก็มีกระแสมาจากคอนเทนต์ในรูปแบบนี้เช่นเดียวกัน

 

 

อีกหนึ่งสิ่งที่สร้างสีสันได้ไม่น้อยเลยก็คือ คอนเทนต์ Point of View (POV) หรือการหยิบเพลงไปประกอบเหตุการณ์สมมติบางอย่าง เช่นเพลง ไม่ได้ก็ไม่เอา (Whatever) – PiXXiE Feat. Zom Marie, นักวิทยาศาสตร์ – D Gerrard ที่ผู้ใช้ชอบหยิบไปประกอบคลิปวิดีโอตอนอ่านหนังสือสอบ

 

นอกจากนี้ใน TikTok ยังมีคอนเทนต์สุดสร้างสรรค์อื่นๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น คอนเทนต์เครื่องสำอางในเพลง หน้าจริง จากวง Alarm9, คอนเทนต์ยื่นหูฟังให้เพื่อนเพื่อสารภาพรักในเพลง เพื่อนกันวันสุดท้าย ของ พั้นช์ วรกาญจน์ หรือการวาดรูปปลาคาร์ปที่แขนในเพลง No Date ของ GUNNER และ BIGSLP

 

จะเห็นได้ว่าไม่ใช่แค่เพลงใหม่ล่าสุดเท่านั้นที่ได้พื้นที่ได้ในแพลตฟอร์มนี้ แต่เพลงเก่าๆ ที่อาจจะไม่ได้อยู่ในความสนใจของผู้คนแล้วก็ถูกหยิบมาทำคอนเทนต์จนกลับมาเป็นกระแสได้เช่นกัน ทำให้ TikTok กลายเป็นอีกแหล่งขุมทรัพย์ของวงการเลยก็ว่าได้

 

Speed Up เร่งเพลง เร่งกระแส

อีกหนึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้เพลงหลายๆ เพลงกลายเป็นกระแสไปทั่ว TikTok ก็คือ การเร่งความเร็วของเพลงเป็นสองเท่า หรือที่เราเรียกว่าแผ่นเสียงเวอร์ชัน Speed Up ที่นอกจากจะทำให้เพลงเร็วขึ้นแล้ว ยังบีบเสียงของนักร้องให้แหลมเหมือนเสียงตัวละครชิปมังก์ใน Alvin and the Chipmunks (2007) อีกด้วย

 

 

แม้ว่าเสียงที่ได้ออกมาจะหนีเสียงต้นฉบับไปมาก แต่ในหลายๆ ครั้งแผ่นเสียงเวอร์ชัน Speed Up ก็ทำงานได้ดีกว่าเพลงออริจินัลหลายเท่า โดยเฉพาะเพลงจังหวะกลางหรือเพลงช้าอย่าง เพลงนี้ชื่อว่าเธอ – Barcode ที่มียอดใช้แผ่นเสียงออริจินัลอยู่ที่ 8,000 ครั้ง แต่มียอดใช้เวอร์ชัน Speed Up อยู่ที่ประมาณ 2 แสนครั้งเลยทีเดียว หรือเพลง ลมแล้ง (Summertime) – YEW Feat. LANDOKMAI ที่ถูกปล่อยมาเมื่อปี 2020 ก็โด่งดังขึ้นมาจากแผ่นเสียง Speed Up เช่นกัน โดยยอดการใช้เวอร์ชัน Speed Up ของเพลงนี้อยู่ที่กว่า 5 หมื่นครั้งเลยทีเดียว 

 

มันดีในแง่ว่า ไอเดียของเราหรือเมสเสจที่ทิ้วแต่ง มันได้รับการส่งต่อออกไป คือชอบที่ไอเดียของเรา คนอื่นเขาสามารถอะแดปต์แล้วส่งต่อไปได้ (เจต, YEW)

 

ท่ามกลางความแมสของแผ่นเสียงแบบนี้ แน่นอนว่าก็มีนักดนตรีหรือผู้ฟังหลายๆ คนไม่ค่อยถูกอกถูกใจกับสิ่งนี้เท่าไร เพราะมันปรับเปลี่ยนและเปลี่ยนแปลงผลงานเดิมไปมาก และกว่าจะแจ้งให้ TikTok ระงับได้ก็ต้องใช้เวลา แต่ข้อดีก็คือการที่สามารถส่งต่อเพลงนั้นๆ ไปได้ไกลเลยทีเดียว

 

ด้วยความที่แผ่นเสียงแบบ Speed Up ส่วนใหญ่ในแพลตฟอร์มตอนนี้ไม่ใช่แผ่นเสียงที่ค่ายเพลงและศิลปินเป็นคนปล่อยออกมา ทำให้ตัวเลขเอ็นเกจเมนต์เพลงออฟฟิเชียลไม่สูงเท่าที่ควร เพื่อแก้ปัญหาเอ็นเกจเมนต์ที่หล่นหาย ศิลปินบางคนจึงเริ่มปล่อยแผ่นเสียงเวอร์ชัน Speed Up ออกมาด้วยตัวเอง อย่าง ต้าห์อู๋-พิทยา แซ่ฉั่ว ที่ปล่อยเวอร์ชัน Speed Up ของเพลง ไม่ตอบเลยน้า (What’s the Matter?) – LAZ1 ออกมา ซึ่งปัจจุบันก็มียอดผู้ใช้แผ่นเสียงนี้กว่า 3 แสนครั้งแล้ว หรือวง Bamm และ PiXXiE เองก็ปล่อยเวอร์ชัน Speed Up แบบออฟฟิเชียลออกมาให้แฟนๆ ได้เล่นกัน ทำให้แผ่นเสียงแบบนี้กลายเป็นวิธีการโปรโมตเพลงอีกหนึ่งรูปแบบที่ได้ประสิทธิภาพดีไม่น้อย

 

Dance Challenge แทบทุกเพลงต้องมีท่าเต้น

จะเห็นได้ว่าในปีที่ผ่านมาศิลปินหลายๆ คนลงมาโปรโมตเพลงของตัวเองผ่านแพลตฟอร์มนี้กันเยอะขึ้น ไม่ว่าจะเป็น Gene Lab ที่ปล่อยคอนเทนต์ Video Template ของเพลง น้อง – Three Man Down Feat. URBOYTJ ออกมา หรือค่าย LIT Entertainment เองก็มีคอนเทนต์หลากหลายในแพลตฟอร์มนี้เช่นกัน แต่คอนเทนต์ที่ขาดไม่ได้และกลายเป็นท่าประจำของเพลงไทยไปแล้วก็คือ Dance Challenge คอนเทนต์ที่ชวนแฟนๆ และผู้ใช้ TikTok มาเต้นไปด้วยกัน 

 

แคมเปญ Dance Challenge ทำให้เพลงเกือบทุกเพลงจำเป็นต้องมีท่าเต้น แม้ว่าเพลงนั้นจะเป็นเพลงของศิลปินที่ไม่เคยต้องเต้นมาก่อน หรือเป็นเพลงจังหวะกลางที่ไม่จำเป็นต้องมีท่าก็ได้ โดยค่ายจะออกแบบท่าขึ้นมาใหม่เพื่อให้เหมาะกับ TikTok โดยเฉพาะ หรือถ้าเป็นเพลงของวงไอดอลกรุ๊ปก็อาจจะมีการตัดทอนท่าจากเพลงเต็มมาให้เต้นเป็นชาเลนจ์กัน

 

 

แม้ว่าการตัดทอนหรือคิดท่าเต้นขึ้นมาใหม่จะไปเพิ่มเนื้องานให้กับทีมโปรโมตเพลง แต่ก็ถือว่าคุ้มค่าเพราะการทำชาเลนจ์แบบนี้ประสบความสำเร็จมากๆ โดยเฉพาะในกลุ่มเพลงป๊อป อาทิ เพลงยอดฮิตอย่าง ทักครับ – Lipta ที่มียอดคนเข้าชมแฮชแท็ก #ทักครับchallenge สูงถึง 192.5 ล้านครั้ง, เพลง I’ll Do It How You Like It – PP Krit เองก็มียอดเข้าชม #PPKritDoItChallenge สูงถึง 25.5 ล้านครั้ง หรือ เฮอร์ไมโอน้อง – อูน TheChanisara ที่มียอดใช้งานเพลง Dance Version กว่า 1 ล้านครั้ง

 

ซึ่งรูปแบบของ Dance Challenge ก็มีทั้งท่าที่ค่ายหรือศิลปินเป็นคนออกแบบเอง และท่าที่แฟนคลับหรือผู้ใช้ TikTok คนอื่นๆ คิดขึ้นมา อย่างเช่นท่าเต้นของเพลง เปิดเพลงไหน เปิดเมื่อไหร่ ก็ยังสวยงาม – Tattoo Colour, ใครเพื่อนแก – Bamm และ รักแท้ – NuNew เป็นต้น

 

 

เพลงไม่ได้เปลี่ยน แต่วิธีนำเสนอเปลี่ยน

อย่างที่รู้กันว่า TikTok เป็นคอนเทนต์ในรูปแบบวิดีโอสั้นที่มีความยาวเพียง 30 วินาที – 1 นาทีเท่านั้น ทำให้ผู้ใช้ไม่สามารถฟังเพลงครบตั้งแต่ต้นจนจบได้ การเลือกท่อนเพลงที่ติดหูที่สุด หรือมีความโดนใจที่สุดมาใช้จึงกลายเป็นตัวเลือกหลักในแพลตฟอร์มนี้ 

 

จะเห็นได้ว่าเพลงที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็วบน TikTok มักจะเป็นเพลงจังหวะสนุก เนื้อร้องติดหู และมีลูกเล่นจากคำแสลงที่ได้รับความนิยม อย่างเพลง เฮอร์ไมโอน้อง – อูน TheChanisara, ฉลามมันชอบงับคุณ – Bonnadol Feat. IIVY B หรือ เกินปุยมุ้ย – เอ้ย จิรัช เป็นต้น

 

ประเด็นนี้ก็ทำให้คอเพลงหลายๆ คนกังวลว่า กระแสของ TikTok จะมาเปลี่ยนวงการเพลงให้ผลิตแต่ ‘เพลงแมส’ หรือเพลงตามกระแสนิยมออกมาโดยไม่ได้คำนึงถึงสุนทรียภาพในด้านอื่นๆ 

 

อย่างไรก็ตามเราไม่สามารถสรุปได้ทีเดียว ว่าเพลงที่ทำงานกับผู้คนและได้รับความนิยมใน TikTok จะต้องติดหูหรือจำง่ายเท่านั้น เพราะยังมีเพลงอีกหลายเพลงไม่ว่าจะเป็น โต๊ะริม – นนท์ ธนนท์, ซูลูปาก้า ตาปาเฮ้ – themoonwillalwaysbewithme, แค่มีเธอไปเดินเตะคลื่นทะเลด้วยกัน – No One Else, Mr. Everything – Billkin ฯลฯ ที่ได้รับความนิยมไม่ต่างกัน

 

นั่นก็แปลว่าการที่เพลงหนึ่งเพลงจะทำงานกับผู้คนได้ดี ไม่จำเป็นต้องติดหูหรือจดจำง่ายเสมอไป แต่น่าจะขึ้นอยู่กับวิธีการนำเสนอที่น่าสนใจ และเข้ากับรูปแบบของเพลงนั้นๆ มากกว่า ซึ่งสิ่งนี้กลายเป็นโจทย์ใหญ่ของค่ายหรือทีมโปรโมตเพลงที่ต้องไปทำการบ้านเรื่องคอนเทนต์มากขึ้น

 

 

ความน่าสนใจของ TikTok ไม่ได้หยุดอยู่แค่การเป็นคอนเทนต์เบาสมองเอาไว้เสพยามว่างเท่านั้น แต่มันเป็นพื้นที่แห่งโอกาสของวงการเพลงไทย ทำให้เพลงในทุกสไตล์ ทุกรูปแบบ และทุกปี สามารถเฉิดฉายขึ้นมาได้ผ่านแพลตฟอร์มนี้ จะยังสามารถส่งต่อกระแสไปในโลกความจริง ที่ทำให้ศิลปินหลายๆ คนได้กลับมาขึ้นเวทีอีกครั้งและอีกครั้งด้วย

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X