คำว่า ‘คุก’ เป็นคำที่ไม่ค่อยน่าอภิรมย์เท่าไรนักสำหรับคนในสังคมทั่วไป แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้การตบเท้าเข้าสู่เรือนจำของคนไทยในยุคนี้น้อยลง เพราะช่วงที่ผ่านมากลับมีจำนวนเพิ่มขึ้นไม่เว้นในแต่ละวันอย่างน่าตกใจ
ไม่นานมานี้จากการเก็บข้อมูลของเว็บไซต์ Prisonstudies.org ที่เป็นสื่อในการเผยผลสำรวจสภาพเรือนจำในแต่ละประเทศ ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยมีจำนวนผู้ต้องขังมากที่สุดเป็นอันดับ 6 ของโลก และสูงเป็นอันดับ 3 ของภูมิภาคเอเชีย
จากประเด็นปัญหาต่างๆ ทำให้กรมราชทัณฑ์ต้องลุกขึ้นมาทำบางอย่าง เพื่อแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง เรือนจำหลายแห่งจึงได้มีการหยิบยก ‘หลักการปฏิบัติของข้อตกลงกรุงเทพ 154 ข้อ’ ไปประยุกต์ใช้ในเรือนจำแต่ละแห่ง เพื่อให้เกิดภาพลักษณ์เชิงบวกกับสังคมภายนอก และเหนือสิ่งอื่นใดคือประโยชน์ต่อผู้ต้องขัง เพราะเมื่อก้าวขาออกจากเรือนจำไปแล้ว จะต้องทำให้พวกเขากล้าที่จะทำสิ่งดีๆ รวมถึงนำเอาสิ่งที่ได้ฝึกฝนจากเรือนจำติดตัวไปประกอบอาชีพได้ และไม่ต้องเลือกเดินบนเส้นทางที่อาจจะนำพาชีวิตไปสู่เรือนจำอีกครั้ง
เรือนจำกลางระยอง (แดนหญิง) เรือนจำต้นแบบของกรมราชทัณฑ์
เรือนจำกลางระยองมีพื้นที่ภายในแดนหญิงรวมทั้งหมด 13,600 ตารางเมตร มีอำนาจควบคุมตั้งแต่ผู้ต้องโทษกักขังหญิงจนถึงจำคุกตลอดชีวิต แดนหญิงของเรือนจำแห่งนี้จัดอยู่ในประเภทเรือนจำที่มีแดนหญิงขนาดใหญ่ ซึ่งเรือนจำแห่งนี้มีการผสมผสานการดูแลผู้ต้องขังที่มีพฤติการณ์ (พฤติกรรมร้ายแรง) และผู้ต้องขังในคดีทั่วไป
ทางสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ พาคณะสื่อมวลชนศึกษาดูงาน ซึ่งเริ่มจากเรือนจำกลางระยอง (แดนหญิง) ไปจนถึงเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ซึ่งเป็นหนึ่งในเรือนจำนำร่องที่รับหลักการปฏิบัติของข้อตกลงกรุงเทพ 154 ข้อ เข้าไปใช้ในการพัฒนาปรับปรุงคุณภาพชีวิตของนักโทษหญิงภายในเรือนจำ
เพียงก้าวแรกที่ย่างกรายเข้ามาสู่เรือนจำแดนหญิงแห่งนี้ บรรยากาศเต็มไปด้วยความเงียบและสงบ ภาพที่เคยจินตนาการไว้ไม่ตรงกับความเป็นจริง โดยผู้ต้องขังใหม่ของเรือนจำแห่งนี้จะต้องเข้าร่วมการปฐมนิเทศ เพื่อรับรู้สภาพความเป็นอยู่และหน้าที่ทั้งหมดที่จะต้องทำเมื่อเข้ามาอยู่ รวมถึงการขัดเกลาจิตใจด้วยการเข้าสู่ห้อง ‘Happy Center’ หรือห้องเรียน ที่ทำหน้าที่ปรับสภาพจิตใจของผู้ต้องขัง เพื่อบ่มเพาะแรงบันดาลใจและสร้างแสงสว่างให้ชีวิต โดยจะมีเจ้าหน้าที่พยาบาลด้านจิตวิทยา รวมถึงพระอาจารย์ที่จะคอยแวะเวียนสัปดาห์ละครั้ง เพื่อร่วมพูดคุยและให้กำลังใจเชิงบวกกับผู้ต้องขังแห่งนี้
อีกมุมหนึ่งที่ไม่คาดคิดว่าจะได้เห็นนั่นคือ การตั้งศูนย์ดูแลแม่และเด็กที่อยู่ในใจกลางเรือนจำ และมีทั้งเด็กชายและเด็กหญิงอยู่กับแม่ที่ศูนย์แห่งนี้จำนวน 17 คน ซึ่งเด็กที่ติดมากับมารดาผู้เป็นผู้ต้องขังจะสามารถอยู่ในศูนย์ดังกล่าวได้เป็นเวลา 3 ปี ตาม พรบ. ราชทัณฑ์ ก่อนจะต้องส่งไปอยู่กับญาติเมื่อครบกำหนด
พัฒนาพฤตินิสัยด้วยการสร้างอาชีพ
นอกเหนือจากการอบรมณ์ด้านจิตใจให้ผู้ต้องขังแล้ว ยังมีการฝึกวิชาชีพให้กับผู้ต้องขังหญิงที่ใกล้พ้นโทษในระยะเวลา 3-6 เดือน โดยมีโปรแกรมการฝึกอาชีพที่หลากหลายให้กับผู้ต้องขังหญิง อาทิ นวดแผนไทย, เสริมสวย, ซักรีด-ซ่อมเสื้อผ้า, ทำเบเกอรี, อาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงงานฝีมือต่างๆ
ไฮไลต์ที่น่าสนใจของโปรแกรมการสร้างอาชีพคือ ‘ร้านกาแฟภายในแดนหญิง’ ของเรือนจำกลางระยอง ซึ่งมีความแตกต่างจากร้านกาแฟหรือร้านอาหารของเรือนจำอื่นๆ ทั่วไป โดยร้านกาแฟแห่งนี้เปิดให้บริการอยู่ภายในแดนหญิงที่มีการดูแลบริหารโดยผู้ต้องขังหญิงกันเอง และมีกลุ่มลูกค้าเป็นผู้ต้องขังหญิงและเจ้าหน้าที่ เป็นการส่งเสริมให้ผู้ต้องขังหญิงได้ฝึกทักษะการชงกาแฟและงานบริการ นอกจากนี้บรรยากาศภายในร้านยังดูอบอุ่นและผ่อนคลาย ไม่ต่างจากร้านกาแฟอื่นๆ ทั่วไป
ส่วนสนนราคาของเครื่องดื่มและขนมในร้านกาแฟแห่งนี้ก็ไม่ต่างจากที่อื่นๆ เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเสริมสร้างรายได้ให้กับผู้ต้องขัง เพื่อนำมาใช้จ่ายภายในเรือนจำ หรือสามารถเก็บเงินเพื่อเป็นทุนตั้งตัวเมื่อออกจากเรือนจำไปแล้วก็ได้
กิตติพงษ์ ละชั่ว ผู้อำนวยการส่วนควบคุมเรือนจำกลางระยอง เผยว่า การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงที่ยึดจากหลักการปฏิบัติของข้อตกลงกรุงเทพ 154 ข้อ นับว่าเป็นการปฏิบัติในรูปแบบของสากล ไม่ว่าจะเป็นสิทธิมนุษยชนที่จะต้องดูแลผู้ต้องขังเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกๆ ด้าน อย่างเช่น อาหารที่รับประทาน, การฝึกวิชาชีพในด้านต่างๆ, การเรียนหนังสือในทุกระดับชั้น, การได้เข้าร่วมกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการชำระจิตใจโดยใช้ศาสนาบำบัด ที่นอกจากจะนำมาใช้กับผู้ต้องขังหญิงแล้ว ยังมีการนำมาใช้กับผู้ต้องขังชายภายในเรือนจำกลางระยองอีกด้วย
เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว บททดสอบสุดท้ายของนักโทษ กับพื้นที่ไร้ประตู
หลังจากที่เห็นความเป็นอยู่ของผู้ต้องขังหญิงไปแล้ว จุดหมายต่อไปที่ทางกรมราชทัณฑ์และ TIJ พาดูงานนั่นคือ เรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ซึ่งสถานกักขังแห่งนี้มีพื้นที่ทั้งหมด 1,661 ไร่ 3 งาน 24.42 ตารางวา ทางเรือนจำได้มีการนำแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตให้กับผู้ต้องขังชาย เพื่อเตรียมความพร้อมก่อนปล่อยตัว และเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงของกรมราชทัณฑ์ ซึ่งความน่าสนใจคือ ที่พื้นที่กิจกรรมที่ไม่มีการกั้นรั้วเหมือนอย่างเรือนจำทั่วไป
สำหรับเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว ยังเป็นอีกหนึ่งที่ที่มีโปรแกรมฝึกอาชีพให้กับผู้ต้องขังชายที่ใกล้พ้นโทษในเวลา 3-6 เดือน ซึ่งแฝงอยู่ใน 4 ฐานหลักที่ทำรายได้เข้าเรือนจำคือ
- การปศุสัตว์และประมงน้ำจืด
- เกษตรอินทรีย์
- ผักปลอดสารพิษ
- ศาสตร์พระราชาเกษตรทฤษฎีใหม่
โดยจะมีแม่ค้ามารับสินค้าถึงเรือนจำ มีการจำหน่ายให้กับงานจังหวัดเคลื่อนที่ งานประชารัฐ รวมถึงส่งเข้าแดนหญิงเรือนจำกลางระยอง และรายได้หลักอีกด้านที่สำคัญมากของทางเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วคือ ‘การกรีดยาง’ โดยทางเรือนจำได้นำองค์ความรู้เกี่ยวกับการกรีดยางและขั้นตอนกรรมวิธีต่างๆ มาถ่ายทอดให้ผู้ต้องขังได้เรียนรู้ และสามารถนำความรู้เหล่านี้ใช้หารายได้หลังจากการพ้นโทษ โดยทางเรือนจำจะสอนตั้งแต่ความรู้ด้านการกรีดยาง ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายของการทำแผ่นยางก่อนที่จะนำไปขายให้กับโรงงาน
นอกจากนี้ทางกรมราชทัณฑ์เรือนจำเขาไม้แก้วยังได้ร่วมมือกับสุภัทราแลนด์และองค์กรบริเวณรอบเรือนจำ เพื่อให้โอกาสผู้ต้องขังได้เรียนรู้และฝึกทำงานในสถานที่จริง โดยในปัจจุบันมีผู้ต้องขังจากเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้วจำนวน 22 ราย ได้รับโอกาสไปทำงานภายในสวนสุภัทราแลนด์ในเวลาทำงานปกติ และได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในส่วนงานต่างๆ ตั้งแต่การสวมบทเป็นไกด์นำชมสถานที่ในสวนผลไม้ ไปจนถึงการทำสวนในฐานะพนักงานคนหนึ่ง
จากการที่ได้มีโอกาสพูดคุยกับหนึ่งในผู้ต้องขังที่เข้ามาอยู่ในเรือนจำเขาไม้แก้วแห่งนี้ เจ้าตัวได้เผยกับเราว่า ตอนนี้เหลือเวลาต้องโทษประมาณ 6 เดือน และเมื่อได้ออกไป จะกลับไปขับรถส่งของอย่างที่เคยทำ เพียงแต่จะเพิ่มอาชีพเสริมอย่างการทำฟาร์มในรูปแบบเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นหนึ่งในวิชาชีพที่เขาได้มาจากเรือนจำชั่วคราวเขาไม้แก้ว
ทิศทางของข้อกำหนดกับการขยายสู่ต่างประเทศ
ดร.นัทธี จิตสว่าง ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ และอดีตอธิบดีกรมราชทัณฑ์ เล่าว่า
“ปีนี้เป็นปีที่ 4 แล้วที่ได้ร่วมกับกรมราชทัณฑ์ โดยปีแรกเราเริ่มทำจากภาคกลางเป็นต้นมา โดยเปิดให้เรือนจำต่างๆ สมัครเข้ามา ซึ่งเจ้าหน้าที่ของเราก็จะเข้าไปส่งเสริมช่วยพัฒนา และฝึกอบรม เพื่อให้มีการดำเนินการด้านต่างๆ ตามหลักการปฏิบัติของข้อตกลงกรุงเทพ 154 ข้อ ซึ่งปัจจุบันมีเรือนจำที่ดำเนินการไปแล้วทั้งสิ้น 12 แห่ง ซึ่งผ่านเกณฑ์ทั้งหมดแล้ว ส่วนที่เรือนจำกลางระยองนี้นับว่าเป็นเรือนจำต้นแบบในส่วนของกรมราชทัณฑ์
“4 ปีที่ผ่านมา มีความแตกต่างทั้งก่อนและหลังอย่างเห็นได้ชัด หลังจากมีการดำเนินการในเรือนจำต้นแบบ และส่งเสริมหลักการปฏิบัติของข้อตกลงกรุงเทพฯ ทำให้การปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงมีความแตกต่างจากเมื่อก่อนเยอะมาก ทำให้ผู้ต้องขังมีการพัฒนาและพร้อมที่จะกลับสู่สังคม เพื่อเปลี่ยนเรือนจำจากที่คุมขังเป็นโรงเรียนฝึกวิชาชีพเพื่อผู้ต้องขังอย่างแท้จริง” ที่ปรึกษาพิเศษ TIJ กล่าว
ถึงแม้ว่าจากการที่ได้เยี่ยมเยียนเรือนจำทั้ง 2 แห่งนี้ ทำให้เห็นว่าการนำหลักการข้อตกลงกรุงเทพฯ มาใช้กับเรือนจำ ได้สร้างความเป็นอยู่ของนักโทษในเรือนจำให้ดีขึ้นตามมาตรฐานเป็นอย่างมาก สังเกตได้จากสีหน้าและบรรยากาศภายในเรือนจำที่ได้เข้าไปเห็นเป็นคำตอบที่บอกกับเราอย่างนั้นจริงๆ
แต่อย่างไรก็ตาม สิ่งที่พวกเขาพึงได้รับจากในเรือนจำ นอกจากเรื่องของวิชาชีพแล้ว นั่นคือโอกาสจากบุคคลภายนอกที่พร้อมจะให้พวกเขาได้มีที่ยืนในสังคม และมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ที่ควรได้รับการเคารพเช่นเดียวกับคนทั่วๆ ไป
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล