×

Blockchain และความโปร่งใส: การผสานเทคโนโลยีและความเป็นธรรมทางสังคม [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
26.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

9 Mins. Read
  • Blockchain เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูลแบบหนึ่งที่ถูกกระจายอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง ไม่จำเป็นต้องมีตัวกลาง ข้อมูลไม่มีทางหาย มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ Blockchain จึงนำไปใช้งานในสาขาต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ ไม่ใช่แค่เรื่องการเงิน
  • Blockchain สามารถใช้งานได้ในหลายด้าน ทั้งในด้านการทำงานสาธารณะโดยภาครัฐ งานของเอกชน และการร่วมมือของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสและความยุติธรรม
  • ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มองว่าในการนำเทคโนโลยีไปใช้เป็นเครื่องมือขับเคลื่อนและตรวจสอบความโปร่งใสในภาครัฐอาจเกิดได้เร็วขึ้นหากภาคการเมืองสนใจนำไปจับทำต่อ เช่น พรรคการเมืองอาจนำไปพิจารณาจัดทำเป็นนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของภาคประชาชนในเรื่องการใช้งบประมาณบริหารแผ่นดินที่มีประสิทธิภาพและโปร่งใส

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เกิดขึ้นเพื่อใช้จัดการค้าขายในตลาดสกุลเงินดิจิทัลที่รู้จักกันในนามบิตคอยน์ (Bitcoin) แต่เมื่อสังคมเริ่มรู้จักเทคโนโลยีชนิดนี้มากขึ้นก็พบว่ามันสามารถนำไปใช้งานในด้านอื่นๆ ที่มากกว่าแค่เรื่องทางการเงินได้ ตั้งแต่การพัฒนาการจัดการข้อมูลไปจนถึงการสร้างความยุติธรรมและเป็นธรรมทางสังคมทั้งในภาครัฐและเอกชน

 

 

เพื่อสำรวจว่าเทคโนโลยี Blockchain สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาการแก้ปัญหาด้านความยุติธรรมที่แก้ไม่ตกได้อย่างไร สถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) ร่วมกับ ChangeFusion และภาคีเครือข่าย จัดงานระดมความคิดเห็น Roundtable on Technology for Justice Series ภายใต้หัวข้อ ‘เทคโนโลยี Blockchain เพื่อความโปร่งใสและความรับผิดชอบ’ ขึ้นในวันที่ 24 ตุลาคม 2561 เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ อันจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ขับเคลื่อนโดยประชาชน

 

Blockchain เครือข่ายเก็บข้อมูลที่โปร่งใส ตรวจสอบได้

ต่างจากที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ Blockchain เป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเก็บข้อมูลแบบหนึ่ง โดยมีลักษณะสำคัญคือ

 

1. ข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ข้อมูลต่างๆ ที่อยู่ในระบบ Blockchain จะถูกกระจายอยู่ในเครือข่ายคอมพิวเตอร์จำนวนมาก ซึ่งจะลงทะเบียนข้อมูลใดๆ ที่เพิ่มเข้ามาและเปลี่ยนแปลงพร้อมๆ กันทุกเครื่อง โดยไม่มีความจำเป็นต้องมีองค์กรตัวกลาง

 

2. ข้อมูลไม่มีทางหายไป เมื่อข้อมูลถูกใส่เข้าไปในระบบ Blockchain แล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ เว้นเสียแต่ว่าจะได้รับการยอมรับจากผู้ตรวจสอบคนอื่นๆ ในระบบ ซึ่งจะต้องเกิดผ่านฉันทามติ ประเด็นนี้ยังส่งผลให้การแฮกข้อมูลแทบจะเป็นไปไม่ได้ นอกเสียจากจะทำการเปลี่ยนแปลงข้อมูลจากคอมพิวเตอร์ทุกเครื่องในเครือข่ายพร้อมกัน หรือเกิดการฮั้วกันภายในเครือข่ายผู้ตรวจสอบนั้นเอง

 

3. ข้อมูลมีความเป็นส่วนตัวและเป็นสาธารณะในเวลาเดียวกัน นั่นเพราะข้อมูลที่ใช้จะถูกเปลี่ยนแปลงเป็นรหัส (Encryption) จนเป็นข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตน หรือ Anonymized Data ที่รัฐสามารถนำข้อมูลมาใช้ในภาพรวมได้เพื่อประโยชน์แห่งสาธารณะ แต่จะไม่สามารถระบุตัวตนของเจ้าของข้อมูลได้ นอกเสียจากจะได้รับความยินยอมเท่านั้น

 

ลักษณะของข้อมูลดังกล่าวทำให้ Blockchain มีความโปร่งใส น่าเชื่อถือ และตรวจสอบได้ จึงทำให้เราสามารถจินตนาการการนำ Blockchain ไปใช้งานในสาขาต่างๆ ได้อย่างไม่รู้จบ

 

 

Blockchain กับบทบาทการแก้ปัญหาของประเทศ

Blockchain สามารถใช้งานได้ในหลายด้าน ทั้งในด้านการทำงานสาธารณะโดยภาครัฐ ซึ่งเกี่ยวข้องกับหน้าที่ในการให้บริการสาธารณะ รวมไปถึงการจัดเก็บ บริหาร และใช้ข้อมูลของประชาชน ทั้งยังสามารถนำมาใช้ในงานของเอกชนและการร่วมมือของภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้องกับความโปร่งใสและความยุติธรรม

 

ในด้านงานยุติธรรมที่เป็นหน้าที่รัฐโดยตรง รัฐสามารถนำมาใช้ในข้อมูลต่างๆ ได้ เช่น ข้อมูลในกระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงหรือซ่อนเร้นอำพรางหลักฐานเป็นไปได้ยากและมีความโปร่งใส นอกจากนี้ข้อมูลยังสามารถใช้เพื่อสืบสาวต้นตอว่าใครเปลี่ยนแปลงข้อมูลและที่มาที่ไปของเงินในกรณีที่การสืบสวนในคดีต้องเกี่ยวข้องกับการตรวจสอบเงินในบัญชี

 

 

ในช่วงเปิดการเสวนา ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ความโปร่งใสนำมาซึ่งแสงสว่าง และแสงสว่างก็คือตำรวจที่ดีที่สุด Blockchian เองก็เป็นเหมือนไฟฉายช่วยส่องสว่างให้เห็นและสามารถตรวจสอบได้ เรื่องนี้ดูเหมือนง่าย แต่จริงๆ ยากที่สุด ไม่มีใครอยากถูกแสงสว่างส่อง แต่เราต้องไม่ท้อ ต้องช่วยกันต่อไป พลังที่สำคัญคือการมีส่วนร่วมของประชาชนโดยนำเทคโนโลยีมาเป็นเครื่องมือช่วยติดตามและตรวจสอบ สร้างความโปร่งใสให้คนเข้าถึงความยุติธรรมได้โดยไม่ต้องรอภาครัฐเพียงอย่างเดียว”

 

 

เพื่อสร้างระบบบริการประชาชนที่มีประสิทธิภาพ รัฐสามารถใช้ Blockchain เพื่อลดการใช้เอกสารยืนยันตัวตนและเอกสารการเงินกับรัฐ โดย พณชิต กิตติปัญญางาม นายกสมาคม Thailand Tech Startup ได้อธิบายว่าปัจจุบัน Blockchain ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงในการส่งข้อมูลตรงที่เดิมเราใช้ระบบ Internet of Information คือแค่เพียงส่งข้อมูลให้แก่กันผ่านอีเมลหรือโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้มีการเชื่อมต่อระหว่างต้นทางกับปลายทางอย่างแท้จริง เช่น กรณีส่งหลักฐานการซื้อประกันและกองทุน LTF เพื่อลดหย่อนภาษีนั้น รัฐไม่รู้ว่าข้อมูลที่ส่งมาเป็นข้อมูลจริงหรือไม่ ต้องขอให้ประชาชนส่งเอกสารยืนยันมากมาย พร้อมมีลายเซ็นรับรองผ่านอีเมลกลับมาให้  

 

ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยี Blockchain จะเปลี่ยนโลกไปสู่ระบบ Internet of Value ซึ่งเปลี่ยนการส่งข้อมูลไปเป็นการส่ง ‘สิทธิ’ ในการดำเนินการบางอย่างไปพร้อมๆ กันด้วย เช่น สิทธิในการดำเนินธุรกรรม เพราะข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากกว่าคนที่อนุญาตมานั้นคือเจ้าของสิทธินั้นจริงๆ และยังลดตัวกลางที่ไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ไม่ต้องกังวลว่าเจ้าหน้าที่รัฐคนไหนจะเข้ามาแก้ไขข้อมูลของคุณได้

 

Blockchain สามารถนำมาใช้ในการติดตามและตามรอยสินค้า (Tracking and Tracing) ตลอดจนห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของที่มาและกระบวนการในการผลิตสินค้า ซึ่งมีการใช้ในหลายๆ อุตสาหกรรมตั้งแต่การลงทะเบียนเพื่อแสดงที่มาของสินค้าออร์แกนิก ไปจนถึงการแก้ปัญหาสิทธิมนุษยชนในกระบวนการผลิต เช่น กรณีการแก้ปัญหา Blood Diamond ที่ต้องการจดทะเบียนว่าเพชรนั้นมีที่มาถูกต้อง ไม่มีการปลอมแปลงหรือผ่านกระบวนการผลิตที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ซึ่งข้อมูลนี้จะทำให้ผู้ค้าและผู้ซื้อสามารถตัดสินใจเลือกซื้อเพชรจากแหล่งที่ถูกต้องได้

 

ในประเทศไทยเริ่มมีการมองโอกาสใช้การติดตามห่วงโซ่อุปทานเช่นนี้ในอุตสาหกรรมประมง ทั้งนี้เพื่อตรวจสอบว่าปลาที่จับมานั้นมาจากบริเวณที่ถูกต้องหรือไม่จนกระทั่งถึงมือผู้บริโภค ซึ่งมีแนวทางตัวอย่างจากกรณีศึกษาในอุตสาหกรรมประเภทนี้ในประเทศอินโดนีเซียที่เริ่มการลงทะเบียนปลาตั้งแต่บนเรือ และละเอียดไปถึงการลงทะเบียนชิ้นส่วนของปลาทูน่า

 

 

ในด้านการเงิน ปริญญ์ พาณิชภักดิ์ กรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และกรรมการทรงคุณวุฒิสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) กล่าวว่า Blockchain สามารถนำมาใช้เพื่อให้ประโยชน์กับคนตัวเล็กตัวน้อยได้ เพราะมันเปิดโอกาสให้มี Peer-to-Peer Matching ที่จับคู่การให้เงินกู้ระหว่างคนที่มีเงินเหลือและคนที่ต้องการเงินในการลงทุน แต่มีขนาดเล็กจนไม่สามารถขอกู้เงินจากธนาคารหรือจดทะเบียนกับตลาดหลักทรัพย์ได้ อย่างไรก็ตาม การใช้ Blockchain ยังไม่สามารถนำมาทดแทนการค้าในตลาดหุ้นได้ เพราะยังติดข้อจำกัดเรื่องความรวดเร็วในข้อมูลที่ต้องผ่านการยืนยันจากคนจำนวนมากจนทำให้ล่าช้า นอกจากนี้ยังสามารถใช้ Blockchain เพื่อเก็บข้อมูลที่ดินและหาราคากลางในการจัดซื้อจัดจ้างได้ด้วย

 

 

ในการขับเคลื่อนขององค์กรทางสังคมและภาคประชาสังคมก็มีการใช้เทคโนโลยี Blockchain เช่นกัน ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ก่อตั้ง Hands Social Enterprise ชี้ให้เห็นกรอบความคิดว่า Blockchain สามารถพัฒนาการมีส่วนร่วมจากภาพประชาสังคมเพื่อแก้ไขปัญหาสาธารณะในสามมิติด้วยกันคือ

 

1. Understand People Blockchain จะช่วยให้รัฐเข้าใจประชาชนที่มีความหลากหลายทั้งอายุและความคิดมากยิ่งขึ้น

 

2. Empower Professionals จะช่วยให้ผู้ที่ทำงานเพื่อสังคมในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันสามารถร่วมมือกันอย่างเข้มแข็งขึ้นผ่านการแชร์ทรัพยากรข้อมูล

 

3. Build Platform รัฐสามารถใช้ Blockchain เพื่อสร้างแพลตฟอร์มที่รับข้อมูลจากประชาชน อย่างไรก็ตาม สิ่งที่จะดึงดูดให้ประชาชนมีส่วนร่วมคือรัฐต้องจริงจังในการนำความคิดเห็นเหล่านั้นไปปรับใช้ให้เห็นผลจริงด้วย  

 

สุนิตย์ เชรษฐา ผู้อำนวยการสถาบัน Change Fusion กล่าวว่า Blockchain มีส่วนช่วยสำคัญในการต่อยอดข้อมูลของโครงการพัฒนาทางสังคม ปัญหาที่พบในตอนนี้คือเรามีโครงการเพื่อการพัฒนาจำนวนมาก ทั้งที่ดำเนินงานโดยองค์กรด้านกิจการเพื่อสังคม โครงการด้านความรับผิดชอบต่อสังคมหรือ CSR ของบริษัท และโครงการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) แต่กลับไม่มีการส่งต่อข้อมูลผลกระทบทางสังคม (Social Impact) ของโครงการข้ามองค์กรเลยว่าได้ว่ามีการพัฒนาอะไรไปบ้าง ได้ผลหรือไม่ และมีอะไรที่สามารถนำไปต่อยอดได้บ้าง โดยปกติองค์กรกิจการเพื่อสังคมจะต้องทำรายงานเพื่อแจ้งให้กับแหล่งทุนทราบอยู่แล้ว แต่หากไม่ได้มีการนำข้อมูลนั้นทำเป็นรายงานเพื่อเผยแพร่บนเว็บไซต์ ข้อมูลนั้นก็จะถูกเก็บไว้ในเครื่องคอมพิวเตอร์ของแต่ละองค์กรโดยไม่ได้ถูกนำไปใช้ประโยชน์

 

Blockchain จะมาช่วยในส่วนของการสร้างข้อตกลงทางข้อมูลเพื่อเป็นมาตรฐานกลางร่วมกัน เป็นการเชื่อมต่อข้อมูลของแต่ละโครงการ เมื่อองค์กรใดไปทำโครงการเพื่อสังคมก็สามารถทำการบันทึกผลลงในระบบฐานข้อมูล ข้อมูลจะถูกตรวจสอบความถูกต้อง แล้วจะสามารถเปิดให้เข้าถึงได้โดยสาธารณะต่อไป ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการพัฒนาทั้งในระดับท้องถิ่นและระหว่างประเทศ เช่น กรณีความร่วมมือทางสิ่งแวดล้อม เป็นต้น ซึ่งหน่วยงานต่างชาติสามารถเข้าถึงข้อมูลนี้ได้โดยไม่ต้องผ่านรัฐไทย และหากองค์กรบางแห่งนั้นปิดตัวลงไปก็ไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลเหล่านั้นจะหายไป

 

ในทางกลับกัน Blockchain ก็ยังใช้พัฒนาเป็นฐานข้อมูลขององค์กรเพื่อสังคม (Track Record) ได้เช่นกัน นั่นคือจะมีการบันทึกว่าองค์กรที่ได้รับเงินไปนั้นมีความน่าเชื่อถือและจะนำเงินไปใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะจริงหรือไม่

 

สุนิตย์กล่าวว่า “ความกลัวอย่างหนึ่งที่ทำให้คนไม่กล้าสนับสนุนองค์กรเพื่อสังคมก็คือไม่รู้ว่าองค์กรที่ให้เงินไปมีความน่าเชื่อถือและให้ข้อมูลที่เป็นความจริงทั้งหมดหรือไม่ และงานพัฒนาที่จะไปทำนั้นจะได้ผลจริงหรือไม่ หรืออาจกลัวว่าให้ไปแล้วสุดท้ายกลับกลายเป็นข่าวฉาว (Scandal) ขึ้นมาอีก”

 

ดังนั้นการสร้าง Track Record ขององค์กรจึงเป็นการสร้างความมั่นใจให้กับองค์กรผู้ให้ทุนสนับสนุนและผู้บริจาคอีกทางหนึ่ง

 

ให้รางวัลกับคนเปิดเผยข้อมูล แรงจูงใจที่รัฐควรสร้างให้กับประชาชน

การหันมาใช้เทคโนโลยี Blockchain อาจจะยังไม่สำคัญเท่ากับการที่รัฐต้องเริ่มให้ความสำคัญกับจัดเก็บและการเปิดเผยข้อมูลเพื่อสร้าง ‘พื้นที่สว่าง’ ที่จะใช้ในการพัฒนาในมิติต่างๆ ต่อไปได้

 

ในประเด็นนี้ พณชิตกล่าวว่ารัฐควรเข้าใจว่า Data is the new oil. นั่นคือข้อมูลเป็นน้ำมันที่จะใช้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจในอนาคต แต่ต้องเป็นข้อมูลที่ใหญ่และสะอาด รัฐต้องเริ่มมองว่าการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางข้อมูลนั้นเป็นการลงทุนระยะยาวอย่างหนึ่ง แต่ถ้าเราไม่กล้าลงทุนในตอนนี้จะทำให้ในอนาคตไทยจะต้องไปซื้อเทคโนโลยีนี้จากที่อื่นแทน และยังลดต้นทุนในการเก็บข้อมูลของรัฐอีกจำนวนมาก

 

นอกจากนี้แล้วรัฐยังต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างแรงจูงใจให้ประชาชนเปิดเผยข้อมูล โดยเฉพาะข้อมูลเงินได้ผ่าน 2 วิธีคือทำให้ง่ายและเป็นธรรม

 

ในประการแรก รัฐต้องออกแบบระบบให้การแจกแจงข้อมูลทางบัญชีทำได้ง่าย ไม่ซับซ้อน เพื่อลดต้นทุนในการแจกแจงภาษีของประชาชนและธุรกิจรูปแบบใหม่ที่ย้ายมาเป็นออนไลน์ ประกอบกับการใช้เทคโนโลยีเพื่อให้การสื่อสารเรื่องภาษีเข้าใจง่าย มีประสิทธิผล ก็จะช่วยจูงใจให้คนหันมาใช้ระบบออนไลน์มากขึ้น

 

ประการที่สอง รัฐต้องสร้างความไว้วางใจเรื่องความเป็นธรรมในการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งขณะนี้ยังมีคนที่เข้าใจผิดอยู่เยอะว่าหากเอาข้อมูลรายได้ขึ้นระบบออนไลน์แล้วจะถูกตรวจสอบและตามเก็บภาษี หลายคนจึงเลือกที่จะไม่ทำระบบออนไลน์ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วการมีข้อมูลที่ครบถ้วนจะทำให้เราสามารถใช้สิทธิภาษีเต็มที่ได้และทำให้ไม่ต้องเสียภาษีมากนัก

 

ซ้ำร้ายสิ่งที่รัฐทำต่อมาคือการไล่เบี้ยกับคนที่รัฐมีข้อมูลแทนด้วยการอ้างว่าไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายกับกลุ่มคนที่ไม่มีข้อมูลได้ การทำเช่นนี้ก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับคนที่เลือกเปิดเผยข้อมูล และเป็นการลดแรงจูงใจของคนที่ส่งข้อมูลทางบัญชีออนไลน์เสียอีก

 

ดังนั้นรัฐควรเปลี่ยนวิธีคิดไปเป็นการให้รางวัลแก่คนที่เปิดเผยข้อมูลมากกว่า นั่นคือใครที่ลงข้อมูลออนไลน์ รัฐจะไม่เข้าไปยุ่ง และให้เงินตอบแทนมากขึ้นหรือเร็วขึ้น เพราะถือว่าคนเหล่านี้ช่วยลดต้นทุนของรัฐในการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

 

การเจรจาและสังคมศาสตร์ ก้าวแรกสู่เทคโนโลยี Blockchain

แม้หลายคนจะมอง Blockchain ว่าเป็นเรื่องทางเทคนิคอย่างมาก แต่การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญจากวงการและอุตสาหกรรมต่างๆ ว่ามีกระบวนการทำงานบริหาร (Flow of Business) ในแต่ละสาขาอย่างไร กลับเป็นจุดเริ่มต้นที่มีความสำคัญยิ่งกว่าเรื่องการเขียนโปรแกรม

 

พณชิตกล่าวย้ำว่า “เรื่อง Blockchain มันมีเรื่องคุยกันมากกว่าเรื่องเทคโนโลยีคือเรื่องปรัชญา Blockchain เพราะปรัชญาในการเข้าถึง Blockchain มันพูดถึงสิทธิ พูดถึงมนุษย์ และปฏิสัมพันธ์ (Interaction) ระหว่างมนุษย์ จึงต้องมีความคิดเชิงสังคมศาสตร์เข้ามา เพราะซอฟต์แวร์เขียนไม่ยาก เข้าใจโค้ดและตรรกะมันก็ทำได้ แต่การออกแบบให้ระบบข้อมูลใน Blockchain ใช้งานได้จริงและทำให้ผู้ใช้รู้สึกคุ้มค่าที่จะใช้มัน เรายังคิดถึงเรื่องนี้น้อยเกินไปในสังคม”

 

เขายังกล่าวต่อไปว่าการใช้ Blockchain จำเป็นต้องมี Rule of Code เป็นตรรกะของชุมชนนั้นๆ ที่จะตกลงกันว่าจะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร ในลักษณะเดียวกับที่สังคมก็มี Rule of Law หรือหลักนิติธรรมเพื่อการอยู่ร่วมกันด้วย

 

เช่น สมมติว่าเมื่อมีการใช้ Blockchain จริงในอนาคตแล้วมีความจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงข้อมูลในระบบ เราต้องตกลงกันว่าจะต้องได้รับรองจากคนในวงกี่คน ต้องเป็นฉันทามติจากทั้งหมดหรือไม่ ถ้าได้รับการรับรองจากคนเพียง 20 คนแล้วเพียงพอหรือไม่ หรือว่ามีสัดส่วน 50% หรือ 70% จากคนทั้งหมดในวง ข้อตกลงแบบไหนคือหลักการที่ดี เราอาจพัฒนาเทคโนโลยีให้เก็บข้อมูลให้ละเอียดขึ้นได้ แต่มันไม่สามารถทดแทนการตกลงเงื่อนไขข้อตกลงในการแก้ปัญหาเหล่านี้ร่วมกันได้ เพราะสิ่งเหล่านี้ต้องการหลักคิดในทางสังคมศาสตร์

 

ดังนั้นทั้งเรื่อง Rule of Code และ Rule of Law จึงเป็นเรื่องที่มาพร้อมกัน และคนในสังคมต้องคุยกัน อาจจะมีงานวิจัยทางวิชาการที่มากขึ้นก่อนที่จะกระโดดลงไปใช้ระบบนี้ แต่ถ้าเราไม่ลองกระโดดลงไปก่อนใช้มัน ก็ไม่มีทางรู้ว่า Rule of Code ไหนที่มีปัญหาอะไร พอไปทำจริงคุณจะเห็นปัญหาที่มันอยู่ในบางส่วน แล้วจึงเริ่มกลับมาพูดคุยกันอีกครั้ง

 

ความหวังใหม่ในการแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรม

งานนี้เป็นส่วนหนึ่งของ Project j : jX Justice Experiment ของ TIJ เพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างผู้เชี่ยวชาญ พื้นที่แห่งการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในการเข้ามาแก้ปัญหาเรื่องความยุติธรรมผ่านเทคโนโลยีใหม่ๆ ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.กิตติพงษ์ กิตยารักษ์ ผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (TIJ) มองว่าที่ผ่านมาการแก้ปัญหาทางความยุติธรรมมีความล้มเหลวเนื่องจากเหตุผลหลายประการ เช่น การหวังให้รัฐเป็นผู้เริ่มการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของคน และการไม่ได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี  

 

TIJ จึงต้องการสร้างความเปลี่ยนแปลงในทั้ง 3 ประการด้วยการสร้างความร่วมมือในภาคเอกชนและประชาสังคม และเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงที่ภาคประชาสังคมโดยที่ไม่ต้องรอรัฐให้เป็นผู้เริ่ม พร้อมทั้งเปิดเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเพื่อให้คนเข้าถึงประเด็นเรื่องความยุติธรรมได้ในวงกว้างมากขึ้น นำเสนอการแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดแบบ Design Thinking และและเปิดพื้นที่ให้มีการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ ในวงการยุติธรรมและความเป็นธรรมทางสังคม

 

อย่างไรก็ตาม เขาไม่ได้มองว่าการเปลี่ยนแปลงที่เริ่มจากประชาสังคมเป็นกลยุทธ์ที่ละเลยรัฐและระบบการเมือง ในทางกลับกัน เขามองว่าการพัฒนาระบบการเมืองและพรรคการเมืองเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันนโยบายการเปิดเผยข้อมูลเป็นสาธารณะแบบ Open Data ในอนาคต และหวังว่าจะมีพรรคการเมืองรับความคิดเห็นที่ถูกเสนอในงานเสวนาโต๊ะกลมครั้งนี้ไปสร้างเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อไป

 

กิตติพงษ์ยังย้ำในตอนท้ายว่าการเข้าร่วมงานในครั้งนี้ทำให้มองเห็นความหวัง “เราต้องไม่กลัวความล้มเหลว แต่ต้องกล้าที่จะมองและทดลองและแก้ปัญหาเดิมด้วยวิธีการแบบใหม่”

 

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising