ส.อ.ท. แถลงยอดผลิต-ยอดขายรถยนต์ เดือนสิงหาคม 2567 ลดลง 20% รับพิษเศรษฐกิจซบ หนี้ครัวเรือนพุ่งสูง อีกทั้งแบงก์และไฟแนนซ์เข้มการปล่อยสินเชื่อ แต่ไฮบริด-EV ยังโตได้ ด้าน ส.อ.ท. เชื่อว่าปลายปีนี้ตลาดฟื้นตัว
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยจำนวนการผลิต ยอดขายภายในประเทศ และการส่งออกรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคม 2567 ว่า ภาพรวมยอดผลิตและยอดขายทั้งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมาเป็นไปตามสภาพตลาดที่หดตัวต่อเนื่อง ปัจจัยสำคัญมาจากหนี้ครัวเรือนที่ยังคงเพิ่มสูงขึ้น 29.5% แม้สภาพเศรษฐกิจมีแนวโน้มเติบโตขึ้น 3% และสถาบันการเงินที่มีความเข้มงวด ซึ่งที่ผ่านมากลุ่มรถกระบะถูกปฏิเสธจากสถาบันการเงินมากถึง 50%
ทั้งนี้ คาดว่าช่วงไตรมาส 4 ปีนี้มีแนวโน้มที่ดีขึ้น เนื่องจากได้นายกรัฐมนตรีใหม่และงบประมาณแผ่นดินประจำปี พ.ศ. 2568 อนุมัติเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท และส่วนอื่นๆ เริ่มกระจายถึงประชาชนมากขึ้น รวมไปถึงการลงทุนจากต่างประเทศเริ่มมีมากขึ้น ถือเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นสภาพตลาดรถยนต์ในประเทศโดยรวม
สำหรับเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา มียอดผลิตรถยนต์รวม 119,680 คัน ลดลงจากปีก่อน 20.56% แบ่งเป็น
รถยนต์นั่ง 46,765 คัน และแบ่งตามขุมพลัง คือ
- รถยนต์ ICE 31,909 คัน ลดลงจากปีก่อน 15.26%
- รถยนต์ Hybrid (HEV) 14,052 คัน เพิ่มขึ้น 8.18%
- รถยนต์ไฟฟ้า BEV 352 คัน เพิ่มขึ้น 17,500% เนื่องจากเป็นปีแรกที่เริ่มผลิตในประเทศตามเงื่อนไขโครงการสนับสนุนจากรัฐบาล
- รถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) 4,013 คัน ลดลง 42.04%
- รถกระบะ 1 ตัน 71,973 คัน ลดลง 24.67%
ส่วนรถจักรยานยนต์ยอดผลิต-ประกอบในประเทศ (CKD) 27,820 คัน เพิ่มขึ้น 77.65% ส่วนการผลิตแบบสำเร็จรูป (CBU) 144,244 คัน ลดลงจากปีก่อน 15.78%
ขณะที่ยอดขายรถยนต์เดือนสิงหาคม 2567 มีจำนวนรวม 45,190 คัน ลดลงจากปีก่อน 24.98% แบ่งเป็น
- รถยนต์ ICE 11,748 คัน ลดลงจากปีก่อน 39.31%
- รถยนต์ไฟฟ้า (BEV) 7,302 คัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 20.44%
- รถยนต์ Plug-in Hybrid (PHEV) 93 คัน ลดลงจากปีก่อน 29.01%
- รถยนต์ Hybrid 8,611 คัน เพิ่มขึ้น 35.46%
- รถกระบะ 1 ตัน 12,303 คัน ลดลง 37.10%
- รถ PPV 2,667 คัน ลดลง 47.30%
ส่วนรถจักรยานยนต์มียอดขาย 131,736 คัน ลดลงจากปีก่อน 17.73%
ขณะที่ยอดขายสะสมตั้งแต่เดือนมกราคมถึงสิงหาคม 2567 รถยนต์มียอดสะสม 399,611 คัน ลดลงจากปีก่อน 23.85% ส่วนรถจักรยานยนต์ 1,163,827 คัน ลดลงจากปีก่อน 10.81% ส่วนยอดการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปส่งออกแล้ว 86,066 คัน ลดลงจากปีก่อน 1.70% รวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนสิงหาคม 2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 82,901.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 0.71%
จากยอดขายและยอดผลิตในประเทศไทย เมื่อลงรายละเอียดพบว่า กลุ่มรถยนต์ BEV มีอัตราการเติบโตที่ทรงตัว แม้ว่าในเดือนมกราคมที่ผ่านมาจะมียอดจดทะเบียนสูงถึง 13,000 คัน ด้วยการขยายเวลาการจดทะเบียนสำหรับรถยนต์ไฟฟ้าที่เข้าร่วมโครงการ EV 3.0 เป็นแรงส่งและกระตุ้นตลาดรถยนต์ในประเทศ แต่เงื่อนไขสำคัญคือการผลิตชดเชยที่ผู้ผลิตหลายรายมีความกังวล
สุรพงษ์กล่าวถึงตลาดรถยนต์ BEV เพิ่มเติมว่า การผลิตชดเชยสำหรับบริษัทรถยนต์ที่เข้าร่วมโครงการ EV 3.0 และ 3.5 มีความพยายามเจรจากับภาครัฐเพื่อยืดเวลาการผลิตชดเชยคืน เนื่องจากสภาพตลาดที่หดตัว ทั้งนี้ผู้ผลิตรถยนต์ยังคงให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและส่งออกจำหน่ายทั้งรถพวงมาลัยซ้าย-รถพวงมาลัยขวาอีกด้วย