×

Tiger Global ลดสัดส่วนหุ้นจีนจนกว่าสีจิ้นผิงจะเปลี่ยนโทนนโยบาย หันมองหุ้น ‘อินเดีย-อาเซียน’ แทน ด้านกองทุนไทยยันเดินหน้าลงทุน

07.11.2022
  • LOADING...
Tiger Global

Tiger Global Management หนึ่งในนักลงทุนที่ลงทุนมาอย่างยาวนานในจีน ตัดสินใจชะลอการลงทุนในจีน ส่งผลให้สัดส่วนของหุ้นจีนในพอร์ตลงทุนลดลงจากราว 15-17% มาอยู่ที่ราว 5-6%

 

การปรับพอร์ตในครั้งนี้สะท้อนมุมมองของบริษัทที่กังวลว่าความเสี่ยงต่างๆ จะยังคงมีอยู่ต่อไปภายหลังการรับตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 3 ของสีจิ้นผิง ทั้งประเด็นความขัดแย้งระหว่างประเทศ รวมทั้งนโยบาย Zero-COVID ของจีน ที่อาจนำไปสู่การล็อกดาวน์และกักตัวอีกครั้ง ถึงแม้ว่าหลังจากนี้เราอาจจะได้เห็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีนออกมาก็ตามที


ข่าวที่เกี่ยวข้อง:


Tiger Global มีชื่อเสียงในฐานะนักลงทุนกลุ่มแรกๆ ที่เข้าไปลงทุนในจีน โดยเฉพาะในบรรดาหุ้นเทคโนโลยีของจีนตั้งแต่ปี 2002 แต่ 2-3 ปีที่ผ่านมา ตลาดหุ้นจีนเป็นหนึ่งในตลาดที่ดิ่งลงอย่างต่อเนื่อง หลังจากทางการจีนเข้ามาคุมเข้มในหลายด้าน ทั้งในส่วนของหุ้นเทคฯ และการล็อกดาวน์เมืองสำคัญ

 

ดัชนี Hang Seng ของฮ่องกง ดิ่งลง 44% นับจากสิ้นปี 2020 ในขณะที่ดัชนี S&P 500 ลดลงไม่ถึง 1%

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้ Tiger Global ภายใต้การนำของ Chase Coleman ไม่พยายามที่จะเข้าซื้อหุ้นจีน แม้ว่ามูลค่าหุ้นจะลดลงมาอยู่ในระดับที่ถูกแล้ว และจะใช้กลยุทธ์ Wait and See ไปจนกว่าจะมีแถลงการณ์ครั้งใหม่จากทางการจีน ขณะเดียวกันกองทุนได้หันมาโฟกัสในส่วนของอินเดียและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แทน

 

อย่างไรก็ตาม กองทุนยังคงถือหุ้นจีนบางส่วนอยู่ เช่น Meituan และ JD.com แม้ว่าจะมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ลดลง

 

‘กองทุนไทย’ มองหุ้นจีนลงแรงเป็นโอกาสลงทุน

พีรพงศ์ จิระเสวีจินดา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) บัวหลวง ให้สัมภาษณ์กับ THE STANDARD WEALTH ว่า ปัจจุบัน บลจ.บัวหลวง มีการจัดสรรเงินลงทุนของกองทุนที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีนเป็นน้ำหนักปกติ ไม่ได้มีการลดสัดส่วนการลงทุนแต่อย่างใด

 

โดยปัจจุบันมีกองทุนรวมทุกกองที่มีการลงทุนในตลาดหุ้นจีนจำนวน 3 ประเภทกองทุน ได้แก่ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF), กองทุนรวมเพื่อการออม (SSF) และกองทุนรวมทั่วไปที่ลงทุนตลาดหุ้นจีน ปัจจุบันมีเม็ดเงินที่เข้ามาลงทุนรวมกันอยู่ที่ประมาณ 7,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนเงินลงทุนประมาณ 80% ของกองทุนจีนทั้งหมดได้ว่าจ้างผู้จัดการกองทุนจากภายนอก (Outsource) คือ Allianz Global Investors (AGI) โดยมีสำนักงานในฮ่องกงเป็นผู้บริหารกองทุนให้กับบริษัท

 

อย่างไรก็ดี ผลตอบแทนจากการลงทุนกองทุน บลจ.บัวหลวงในตลาดหุ้นจีนในช่วงปีนี้ยอมรับว่าปรับตัวลดลงจากปีก่อนเช่นเดียวกับภาพรวม บลจ. ส่วนใหญ่ เป็นตามภาวะตลาดหุ้นโลกที่เป็นขาลง (Bear Market) แต่บริษัทยังสามารถบริหารจัดการผลตอบแทนการลงทุนของกองทุนให้ปรับตัวลดลงในอัตราที่น้อยกว่าเมื่อเปรียบกับผลตอบแทนรวมของตลาดหุ้นจีนที่ปรับตัวลง เนื่องจากแผนการกระจายความเสี่ยงการลงทุนที่ดีของสินทรัพย์ที่เลือกลงทุน อีกทั้งจากข้อมูลในปีนี้ยังพบว่าลูกค้าของ บลจ.บัวหลวง ยังมียอดซื้อสุทธิหน่วยลงทุนของกองทุนรวมหุ้นจีนเป็นเม็ดเงินที่เพิ่มขึ้นเมื่อเปรียบกับปี 2021

 

เนื่องจากลูกค้ามีความเข้าใจต่อสภาวะเศรษฐกิจของจีน รวมถึงเห็นโอกาสจากราคาหุ้นของหลายบริษัทของจีนที่มีปัจจัยพื้นฐานที่ดี ซึ่งราคาปรับตัวลดลงมาอยู่ในระดับมูลค่าหุ้นที่ราคาถูกเมื่อเปรียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท โดยบริษัทบางแห่งมีอัตราราคาปิดกำไรต่อหุ้น (P/E Ratio) ลดลงอยู่ที่ระดับ 6-7 เท่า ดังนั้นจึงเป็นโอกาสที่จะได้ซื้อหุ้นที่ราคาถูกซึ่งเป็นบริษัทที่มีโอกาสทำกำไร รวมทั้งสร้างผลตอบแทนการลงทุนที่จะเติบโตได้ดีในอนาคตระยะยาวด้วย

 

“จากข้อมูลที่ฮ่องกงเพิ่งจัดงาน Global Financial Leaders’ Investment Summit 2022 งานจัดขึ้น 3 วัน ช่วงตั้งวันที่ 1-3 พฤศจิกายนที่ผ่านมา จากการติดตามข้อมูลทราบว่า JPMorgan รวมถึงกองทุนขนาดใหญ่ระดับโลกที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีนระยะยาว ไม่ได้มีการถอนเงินหรือลดเงินลงทุนออกจากตลาดหุ้นจีนกับฮ่องกง แล้วขณะนี้ยังรอโอกาสการลงทุนในตลาดจีนเพิ่มมากขึ้นด้วย หลังราคาหุ้นลดลงไปมาก ส่วนลูกค้าของ บลจ.บัวหลวงเอง ปีนี้ก็ซื้อสุทธิหน่วยลงทุนหุ้นจีนเติบโตเพิ่มขึ้นด้วย เพราะเห็นโอกาสลงทุนเหมือนกัน”

 

ขณะที่แผนการออกกองทุนใหม่ๆ รวมถึงจัดสัดส่วนให้น้ำหนักในการลงทุนของกองทุนของ บลจ.บัวหลวง ในปี 2023 ยังคงเน้นให้ความสำคัญในตลาดหุ้นเอเชีย รวมทั้งตลาดหุ้นจีนและอาเซียนต่อไป เพราะถือเป็นกลุ่มตลาดที่ยังให้ผลตอบแทนที่ดีในระยะยาวจากปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่ดี โดย GDP ยังสามารถขยายตัวต่อเนื่อง

 

อีกทั้งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่เศรษฐกิจจะยังไม่เกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession) เหมือนในสหรัฐฯ ที่เกิด Recession ในเชิงเทคนิคมาแล้ว อีกทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงที่เกิด Recession ได้อีกในอนาคต จากผลกระทบจากการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) รวมถึงเศรษฐยุโรปก็มีความเสี่ยงจะเกิดภาวะเศรษฐกิจถดถอยตามมาด้วยเช่นกัน

 

เนื่องจากมีมุมมองเชิงบวกต่อเศรษฐกิจของจีนในระยะยาวโดยยังมีปัจจัยพื้นฐานแข็งแกร่งจากการที่รัฐบาลจีนได้ปรับเปลี่ยนมาใช้นโยบายการบริหารประเทศ โดยเน้นการสร้างให้เศรษฐกิจเติบโตแบบมีคุณภาพสูง (High Quality) ส่งผลให้เศรษฐกิจ รวมถึงบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ยังมีโอกาสเติบโตที่ดีในอนาคต โดยจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจของจีนระยะ 5 ปี ฉบับที่ 14 ที่ประกาศในปี 2021 ที่จะยกระดับสถานะเพิ่มจำนวนกลุ่มประชากรชนชั้่นกลางจากปัจจุบันที่มีจำนวน 400 ล้านคน เป็น 800 ล้านคน

 

ทั้งนี้ กลายเป็นกลุ่มประชากรหลักของประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกที่สร้างกำลังซื้อกับการบริโภคในประเทศของจีนให้เติบโตขึ้นแบบมหาศาล ทั้งในภาคของอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงสินค้าและบริการต่างๆ ส่งผลดีต่อธุรกิจของบริษัทจดทะเบียนด้วย

 

นอกจากนี้จีนยังได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา Asian Games 2022 ที่เมืองหางโจว โดยคาดว่าจะเลื่อนเป็นจัดในปี 2023 แทน เพื่อเป็นการควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกส่วนหนึ่งต่อเศรษฐกิจจีนในปีหน้า เพราะจะเป็นการกลับมาเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบเต็มรูปแบบ โดยประเมินว่าแม้ GDP ของจีนในอนาคตจะไม่ได้ขยายตัวในอัตราที่สูงเหมือนอดีตในระดับ 5-6% ด้วยนโยบายที่เน้นการเติบโตแบบ High Quality

 

สำหรับในปี 2022 คาดว่า GDP จีนจะขยายตัวได้ที่ 2.5-3% และในปี 2023 จะขยายตัวได้ต่อเนื่องในระดับ 3.5-4% ดังนั้นถือเป็นอัตราการเติบโตที่น่าสนใจของกองทุนทั่วโลกที่จะเข้าไปลงทุนต่อเนื่อง อีกทั้งหลังจากเริ่มมีกระแสข่าวว่ารัฐบาลจีนกำลังหารือถึงมาตรการในการเปิดประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าจะเริ่มทยอยเปิดประเทศได้ในไตรมาส 1/2023 นี้ ส่งผลบวกต่อตลาดหุ้นฮ่องกงในสัปดาห์ก่อน ซึ่งขานรับข่าวบวกนี้โดยฟื้นตัวขึ้นแรงราว 2-3%

 

อย่างไรก็ดี แม้ว่าในอีกฝั่งมุมมองนักลงทุนจะมีความกังวลต่อกรณีที่สีจิ้นผิงจะได้รับตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีของจีนต่อเป็นสมัยที่ 3 ซึ่งส่งผลให้กุมอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ รวมถึงนักลงทุนกังวลที่รัฐบาลจีนภายใต้การนำของสีจิ้นผิง ที่ออกมาย้ำถึงแนวทางการบริหารด้านเศรษฐกิจด้วยนโยบายสร้างความเจริญรุ่งเรืองและมั่งคั่งแบบทั่วไปในสังคม (Common Prosperity) ที่ต้องการปกป้องและสนับสนุนธุรกิจ SMEs ทำให้มีความกังวลว่าจะมีผลกระทบต่อบริษัทขนาดใหญ่

 

รวมทั้งจะเน้นการดำเนินการจัดเก็บภาษีจากภาคธุรกิจเอกชนอย่างถูกต้อง เพื่อนำมาใช้เป็นเงินทุนในการพัฒนาประเทศ และยังต้องการให้บริษัทเอกชนขนาดใหญ่ของจีนที่มีกำไรจากการดำเนินธุรกิจอย่างมหาศาล แบ่งกำไรบางส่วนออกมาเพื่อช่วยในด้านสาธารณะประโยชน์อีกด้วย

 

ดังนั้นจึงมีความกังวลว่ารัฐบาลจีนจะเข้ามาแทรกแซงในการดำเนินธุรกิจของบริษัท จนกระทบต่อกำไรในอนาคตให้ลดลง รวมถึงกระทบเศรษฐกิจโดยรวมให้ชะลอตัว เช่น นโยบายการสั่งปิดสถาบันกวดวิชาในจีน เพื่อต้องการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม, การจำกัดระยะเวลาการเล่นเกมของเด็กในจีนที่มีผลกระทบต่อธุรกิจเกมขนาดใหญ่ของจีน ทั้งนี้มองว่าประเด็นความกังวลดังกล่าวข้างต้นได้ส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นจีนและราคาหุ้นจีนได้ปรับตัวลดลงตอบรับประเด็นความกังวลนี้ไปแล้ว

 

ด้านผู้บริหาร บลจ.กสิกรไทย ก็มีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นจีนเช่นกัน โดย สุรเดช เกียรติธนากร กรรมการผู้จัดการ บลจ.กสิกรไทย เปิดเผยกับ THE STANDARD WEALTH ว่า สำหรับกองทุนของ บลจ.กสิกรไทย ที่ลงทุนในตลาดหุ้นจีน ในระยะยาวยังให้ความสำคัญในตลาดหุ้นจีน ด้วยมุมมองว่ายังมีความน่าสนใจลงทุนในระยะยาวเพราะถือเป็นตลาดที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่

 

รวมถึงมีจำนวนประชากรมากกว่า 1,000 ล้านคน โดยในระยะยาวประเมินว่า GDP มีโอกาสเติบโตได้ต่อเนื่อง อีกทั้งเป็นประเทศที่จะไม่เกิด Recession ดังนั้นมองว่าตลาดหุ้นจีนจึงน่าสนใจในการลงทุนมากกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับตลาดอื่นๆ โดยเฉพาะตลาดหุ้นสหรัฐฯ กับยุโรป ที่เศรษฐกิจกำลังมีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับ Recession ในอนาคต

 

ทั้งนี้ แม้ในระยะสั้นเศรษฐกิจจีนจะถูกกระทบบ้างจากนโยบาย Zero-COVID ทำให้มีการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด ซึ่งอาจทำให้ GDP ของจีนเกิดการย่อตัวบ้างในระยะสั้นในปี 2022 รวมถึงบรรยากาศภาพรวมการลงทุนในปีนี้ยังมีหลายปัจจัยมากดดัน จากทั้งทิศทางแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงดอกเบี้ยโลกที่เป็นขาขึ้น และมีประเด็นลบอื่นๆ ที่มากระทบด้วย

 

ดังนั้นการลงทุนในตลาดหุ้นจีนในช่วงนี้จึงเป็นจังหวะในการทยอยซื้อสะสมได้ เนื่องจากราคาหุ้นจีนถือว่ามีราคาน่าสนใจ หลังจากราคาหุ้นบริษัทหลายๆ แห่งปรับลดลงมาจนมีมูลค่าค่อนข้างถูกเมื่อเทียบกับปัจจัยพื้นฐานของบริษัท 

 

ส่วนภาพรวมนโยบายการลงทุนของกองทุนของ บลจ.กสิกรไทย ปัจจุบันไม่ได้มีนโยบายการลงทุนแบบเชิงรุก (Aggressive) แต่จะเน้นการบริหารจัดการความเสี่ยงกระจายพอร์ตการลงทุน

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising