หุ้น IPO ของ บมจ.เงินติดล้อ (TIDLOR) เตรียมเข้าทำการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยวันนี้ (10 พฤษภาคม) เป็นวันแรก หลังจากที่บริษัทได้เสนอขายต่อนักลงทุนทั่วไปในช่วงปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา
เอนกพงศ์ พุทธาภิบาล ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เอเซียพลัส มองว่า จุดเด่นของหุ้น TIDLOR เทียบกับคู่แข่งในอุตสาหกรรมอย่าง MTC และ SAWAD คือการที่บริษัทมียอดปล่อยสินเชื่อต่อสาขาที่ค่อนข้างสูง จากข้อมูล ณ สิ้นปี 2563 TIDLOR มียอดปล่อยสินเชื่อ 5.1 หมื่นล้านบาท จากสาขาทั้งหมด 1,076 สาขา คิดเป็นยอดสินเชื่อ 48 ล้านบาทต่อสาขา
ส่วน MTC และ SAWAD มียอดสินเชื่อรวมกว่า 7 หมื่นล้านบาท และ 4 หมื่นล้านบาท ตามลำดับ ขณะจำนวนสาขาของทั้งสองบริษัทมีมากกว่า 5 พันสาขา ทำให้ยอดสินเชื่อต่อสาขาอยู่ที่ 15 ล้านบาทต่อสาขา และ 8 ล้านบาทต่อสาขา ตามลำดับ
สาเหตุที่ยอดสินเชื่อต่อสาขาของ TIDLOR สูงกว่า เพราะบริษัทเน้นการปล่อยสินเชื่อให้กับรถใหญ่เป็นหลัก ประกอบกับการที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 50% ช่วยส่งลูกค้าบางส่วนให้ด้วย นอกจากนี้ TIDLOR ยังมีรายได้จากประกันภัยค่อนข้างสูง คิดเป็น 8% ของรายได้รวม ขณะที่การเติบโต 2 ปีที่ผ่านมา ทำได้ถึงปีละ 30%
“การเข้าจดทะเบียนของ TIDLOR น่าจะทำให้การแข่งขันในอุตสาหกรรมเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจาก TIDLOR จะมีฐานทุนที่ใหญ่ขึ้นช่วยเพิ่มความสามารถในการกู้ จากเดิมที่บริษัทมี D/E 3.5 เท่า จะลดลงมาเหลือ 2.1 เท่า”
หลังจากนี้ TIDLOR จะมีความพร้อมในการกู้เงินและปล่อยสินเชื่อได้มากขึ้น ส่วนหนึ่งหนุนจากแผนการขยายสาขาอีก 500 แห่งในช่วง 3 ปีข้างหน้า ซึ่งจะช่วยครอบคลุมพื้นที่ที่ไม่เคยมีสาขาอยู่เดิม
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องติดตามคือการแข่งขันในส่วนของอัตราดอกเบี้ยของอุตสาหกรรม ล่าสุดจะเห็นว่า SAWAD ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงหลังจากร่วมทุนกับธนาคารออมสิน เพื่อปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าชั้นดี ด้วยดอกเบี้ยไม่เกิน 18% สำหรับการจำนำทะเบียนรถยนต์และรถจักรยานยนต์ และยังมีโปรโมชันสำหรับเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน ด้วยดอกเบี้ย 15% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดที่ 19-20%
ขณะที่ MTC ได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาเช่นกัน มาอยู่ที่ 19% เฉพาะส่วนของจำนำทะเบียนรถยนต์ ทำให้เราคาดว่า TIDLOR น่าจะปรับลดดอกเบี้ยลงเช่นกัน แต่อาจจะไม่ต่ำเท่ากับสองบริษัทข้างต้น นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันจากบริษัทอื่นๆ อีกด้วย เช่น SAK ที่เข้ามาจดทะเบียนก่อนหน้านี้
“เชื่อว่าความสามารถในการทำกำไรของหุ้นกลุ่มนี้อาจจะถูกกระทบบ้าง แต่ไม่เยอะมาก เพราะจะถูกชดเชยด้วยการขยายตัวของสินเชื่อในปีนี้ รวมถึงการขยายสาขาเพิ่มเติมของแต่ละบริษัท”
ทั้งนี้คาดว่าการเติบโตของยอดสินเชื่อและกำไรในช่วง 3 ปีข้างหน้าน่าจะเห็นในระดับ 15-20% ต่อปี แต่สำหรับ TIDLOR ในระยะสั้นอาจจะโตได้สูงกว่าในระดับ 25% เนื่องจากฐานกำไรที่ต่ำกว่าอีกสองบริษัท คือ MTC และ SAWAD
ด้าน ชาลี กือเย็น นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.เคจีไอ เปิดเผยว่า การเข้ามาของหุ้น TIDLOR จะทำให้หุ้นกลุ่มนี้มีขนาดใหญ่ขึ้นไปอีก และทำให้นักลงทุนมีทางเลือกในการลงทุนมากขึ้น
“ตอนนี้ต้องยอมรับว่าหุ้นกลุ่มสินเชื่อรายย่อยซื้อขายกันที่ P/E สูงมาก โดยเฉพาะหุ้นขนาดเล็ก ซึ่งการเข้ามาของ TIDLOR จะช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ลงทุน รวมถึงเพิ่มกลุ่มนักลงทุนให้หลากหลายมากขึ้น เช่น นักลงทุนสถาบัน โดยส่วนตัวมองว่านักลงทุนบางส่วนอาจจะสลับการลงทุนจากหุ้นเล็กที่มี P/E สูง ไปยังหุ้นใหญ่ที่ P/E ต่ำกว่า และความเสี่ยงต่ำกว่า”
ส่วนการแข่งขันทางธุรกิจ ในระยะสั้นอาจไม่ได้เปลี่ยนไปมากนัก แต่ระยะยาวน่าจะเห็นการปรับตัวของแต่ละบริษัทมากขึ้น ซึ่งปัจจุบันก็เริ่มเห็นการปรับระดับอัตราดอกเบี้ยมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน
“ปัจจุบันธุรกิจนี้เป็นการแข่งขันของผู้ประกอบการรายใหญ่มากกว่า ทำให้บริษัทขนาดเล็กอยู่ยากขึ้น และอาจจะเห็นการควบรวมกิจการมากขึ้น ขณะที่อัตราดอกเบี้ยก็คงจะไม่กลับไปสูงเหมือนในอดีต ก็แต่คงจะไม่ได้ลดต่ำไปมากกว่านี้”
สำหรับการเติบโตของอุตสาหกรรมของหุ้นกลุ่มนี้ เชื่อว่าจะเห็นในระดับ 15% ต่อปี ในส่วนของผู้ประกอบการรายย่อยเชื่อว่าจะเป็นการเติบโตจากการซื้อกิจการมากขึ้น เพราะการจะหวังให้ยอดปล่อยสินเชื่อขยับขึ้นไปมากกว่านี้อาจจะยากแล้ว เพราะปัจจุบันระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับค่อนข้างสูง นอกจากนี้การเติบโตของแต่ละบริษัทอาจจะมาจากการลดต้นทุนในด้านต่างๆ
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า