เกิดเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ที่วัดโจคัง ศาสนสถานมรดกโลกในเมืองลาซา เขตปกครองตนเองทิเบต ขณะที่สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานว่า สิ่งปลูกสร้างของวัดได้รับความเสียหายเพียงบางส่วนเท่านั้น และไม่มีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บจากเพลิงไหม้ครั้งนี้ อย่างไรก็ดี นักวิเคราะห์ต่างชาติคาดว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับวัดโจคังอาจรุนแรงกว่าที่สื่อจีนรายงาน
วัดโจคังสร้างขึ้นในศตวรรษที่ 7 เป็นพุทธสถานศักดิ์สิทธิ์ของทิเบตที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมโดยองค์การยูเนสโก นอกจากนี้วัดดังกล่าวยังเป็นหนึ่งในสถานที่ยึดเหนี่ยวทางจิตใจ และเป็นสัญลักษณ์ทางการเมืองของชาวทิเบตด้วย
องค์การยูเนสโกเคยออกรายงานเตือนในปี 2016 ว่า วัดโจคังมีความเสี่ยงเกิดอัคคีภัยสูง และควรวางมาตรการป้องกันไว้แต่เนิ่นๆ ถึงแม้ว่าวัดแห่งนี้จะได้รับการอนุรักษ์ไว้อย่างดีก็ตาม
สื่อทางการจีนรายงานว่า ไฟเริ่มลุกไหม้ตัววิหารวัดเมื่อเวลา 18.40 น. วานนี้ตามเวลาท้องถิ่น แต่หน่วยดับเพลิงสามารถควบคุมเพลิงจนสงบได้อย่างรวดเร็ว พร้อมกับยืนยันว่าโบราณวัตถุทรงคุณค่าของวัดไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด
ขณะเกิดเพลิงไหม้มีผู้บันทึกภาพวิดีโอในเหตุการณ์และเผยแพร่ลงสื่อโซเชียลมีเดีย ซึ่งเผยให้เห็นว่า มีเปลวไฟลุกท่วมหลังคาวิหารอย่างรุนแรง และมีควันดำลอยขึ้นเหนือท้องฟ้า ขณะที่สื่อต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่จีนพยายามปิดกั้นไม่ให้ภาพเหตุการณ์ไฟไหม้ไปปรากฏในสื่อสังคมออนไลน์จีน เพราะหวั่นเกรงว่าจะเป็นชนวนให้เกิดความไม่สงบขึ้น เนื่องจากเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาจะมีความอ่อนไหวทางการเมืองในประเทศจีน
โรเบิร์ต บาร์เนตต์ ผู้เชี่ยวชาญด้านทิเบตในกรุงลอนดอน ให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างประเทศว่า การที่รัฐบาลปักกิ่งควบคุมข่าวสารเกี่ยวกับไฟไหม้ครั้งนี้อย่างเข้มงวด บ่งชี้ว่ามีชาวทิเบตจำนวนมากกำลังวิตกว่า สถานที่ที่เปรียบดั่ง ‘หัวใจของชาวพุทธทิเบต’ แห่งนี้ อาจได้รับความเสียหายอย่างรุนแรง
บาร์เนตต์กล่าวเสริมว่า สื่อทางการจีนไม่รายงานเรื่องนี้ แม้เวลาจะล่วงเลยไปเกือบ 4 ชั่วโมงนับจากที่ไฟเริ่มลุกไหม้ก็ตาม ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลว่าอาจมีบางสิ่งที่เลวร้ายเกิดขึ้นกับวัด หรืออาจรุนแรงกว่าที่สื่อจีนรายงานมาก
ขณะที่ เซริง วูเซอร์ นักเขียนและนักเคลื่อนไหวชาวทิเบต ให้สัมภาษณ์กับ The New York Times ว่า “ดิฉันขอสวดภาวนาให้โบราณสถานแห่งนี้ไม่ได้รับความเสียหายรุนแรง เพราะวัดโจคังเป็นหนึ่งในสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวทิเบตให้ความเคารพมากที่สุด”
อ้างอิง: