หนังสือพิมพ์ Global Times รายงานวันนี้ (25 กุมภาพันธ์) ว่ามหาวิทยาลัยเทียนจิน ของจีน ประสบความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีนชนิดรับประทาน (Oral Vaccine) เพื่อต่อต้านเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19)
โดย หวงจินไห่ ศาสตราจาร์ยประจำมหาวิทยาลัย และผู้นำในโครงการพัฒนาวัคซีนดังกล่าว ได้ทดสอบวัคซีนจำนวน 4 โดสกับตนเอง และไม่พบว่ามีผลข้างเคียงใดๆ ซึ่งตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยเทียนจิน กำลังมองหาหุ้นส่วนเพื่อร่วมผลักดันในขั้นตอนการทดลองทางคลินิก และการใช้งานวัคซีนดังกล่าวเป็นวงกว้าง
แถลงการณ์จากมหาวิทยาลัยเทียนจิน ระบุว่าวัคซีนชนิดรับประทานที่ถูกพัฒนาขึ้นนี้ จะใช้ยีสต์แซคคาโรไมซีส เซเรวิซิอี (Saccharomyces Cerevisiae) เกรดอาหาร ซึ่งเป็นยีสต์สำหรับการหมักและทำขนมปัง เป็นตัวนำเข้าสู่ร่างกาย โดยวัคซีนนี้จะพุ่งเป้าไปที่โปรตีนลักษณะเหมือนหนามที่ห่อหุ้มไวรัสโคโรนา เพื่อทำให้เกิดการสร้างภูมิต้านทาน สำหรับต่อสู้กับไวรัสโคโรนา
ทีมวิจัยของศาสตราจารย์หวงยังได้ผลิตตัวอย่างวัคซีนออกมาทั้งในรูปแบบแคปซูล นมอัดเม็ด และแบบเม็ด ขณะที่วัคซีนดังกล่าวจะกระตุ้นภูมิคุ้มกันในเยื่อบุผิวหนังเพื่อป้องกันการติดเชื้อ และยังสามารถใช้บำบัดรักษาผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย
“วัคซีนมีความปลอดภัยในระดับสูงมาก อีกทั้งยังใช้งานง่าย และสามารถผลิตในปริมาณมากได้อย่างรวดเร็ว” หวงกล่าว
ขั้นตอนหลังจากนี้ ทีมวิจัยของศาสตราจาร์ยหวงจะมองหาบริษัทที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเพื่อทำงานร่วมกันในกระบวนการประเมิน และเร่งทำการทดลองทางคลินิกก่อนจะขยายการใช้งานวัคซีนออกไปในวงกว้าง
ภาพ: Global Times
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: