×

ถอดบทเรียนจาก 2516 ถึง 2561 คลี่ม่านเกมล่าสัตว์ทุ่งใหญ่ เกมชีวิตอภิสิทธิ์ชน?

14.02.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • จากเหตุการณเฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนเมษายน 2516 ที่ลุกลามจนกลายเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ หนึ่งในบุคคลที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์การอนุรักษ์ป่าคือ ลุงก้อ ที่ทำหน้าที่พานักศึกษาและนักข่าวไปซุ่มดู จึงมีผู้รู้เห็นเหตุการณ์เหล่านั้น เมื่อเหตุปิดกลายเป็นเหตุเปิด จนกลายเป็นการเรียกร้องครั้งใหญ่ในหน้าประวัติศาสตร์
  • สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช เผยว่าเสือดำตัวนี้ไม่ใช่เสือดำตัวสุดท้าย แต่มันควรจะเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่ถูกล่า
  • ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ชี้ว่าการดำเนินคดีกับเปรมชัยไม่ใช่เรื่องใหญ่เท่ากับการสร้างคนแบบหัวหน้าวิเชียรเพื่อมาทำหน้าที่ดูแลป่า
  • ศศิน เฉลิมลาภ กล่าวว่า เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันจากปี 2516 มาถึงปี 2561 ชัดเจนว่าไม่มีใครปฏิเสธงานอนุรักษ์ และสังคมก็ชัดเจนว่าไม่มีใครรับได้กับเหตุการณ์แบบนี้

หลังเกิดกรณีการจับกุม นายเปรมชัย กรรณสูต ประธานบริหารและกรรมการ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ พร้อมพวกรวม 4 คน ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านทิศตะวันตก จากการตรวจสอบบริเวณเต็นท์พัก พบซากสัตว์ป่าคุ้มครองคือไก่ฟ้าหลังเทา ซากเนื้อเก้ง และอาวุธพร้อมกระสุนอีกหลายรายการ เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

 

แม้ว่าความสนใจจะพุ่งเป้าไปที่การดำเนินคดีต่อนายเปรมชัย แต่หลายคนเปรียบเปรยเหตุการณ์นี้ว่ากำลังซ้ำรอยประวัติศาสตร์ในอดีตอีกครั้งหรือไม่ เพราะหากย้อนไปเมื่อปี 2516 คณะนายทหารและตำรวจที่มีอิทธิพลในเวลานั้นก็เคยเข้ามาล่าสัตว์ที่ทุ่งใหญ่จนนำไปสู่การเรียกร้องทางการเมือง ลุกลามเป็นเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516

 

 

ผ่านมาแล้วกว่า 45 ปี เรื่องนี้สอนหรือให้บทเรียนเราอย่างไร THE STANDARD ขอพาไปเรียนรู้เรื่องนี้จากวงเสวนาที่จัดโดย ชมรมนักข่าวสิ่งแวดล้อม, สมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ในวันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

ลุงก้อ ถือว่าเป็นบุคคลที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนเมษายน ถัดมาอีก 6 เดือนก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เหตุของคุณเปรมชัยห่างจากจุดเดิมเมื่อปี 2516 ประมาณ 30 กิโลเมตร

 

จากปี 2516 ถึง 2561 รำลึกเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อ 45 ปีก่อน

หากย้อนดูประวัติศาสตร์เหตุการณ์นายพลล่าสัตว์ที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรเมื่อปี 2516 พบว่าเมื่อคดีสิ้นสุด มีคนติดคุกเพียงคนเดียวคือพรานร่วมคณะที่ชื่อแกละ ซึ่งพรานแกละรับสารภาพและรับโทษเพียงคนเดียว ส่วนจำเลยอีก 9 คนยกฟ้อง เนื่องจากหลักฐานไม่เพียงพอ

 

รติยา จันทรเทียร ตัวแทนนักอนุรักษ์อาวุโส ในฐานะอดีตเลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร อธิบายถึงเหตุการณ์ดังกล่าวว่า หลังสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2 ในประเทศไทย การล่าสัตว์ถือว่าเฟื่องฟูอย่างมาก ต่อมาในปี 2502 นายแพทย์บุญส่ง เลขะกุล นักอนุรักษ์ที่มีชื่อเสียงและมีบทบาทในเวลานั้นได้เข้าพบกับจอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ นายกรัฐมนตรี เพื่อยื่นข้อเสนอให้รัฐบาลมีนโยบายและออกกฎหมายคุ้มครองทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่า

 

ซึ่งจอมพล สฤษดิ์ และคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบตามข้อเสนอ จึงได้ออกกฎหมายหลายฉบับ เช่น พระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2503 (ปรับปรุงแก้ไข พ.ศ. 2535) และพระราชบัญญัติอุทยานแห่งชาติ พ.ศ. 2504 หลังจากนั้นจึงได้มีการประกาศให้ป่าขนาดใหญ่หลายแห่งเป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เช่น ป่าเขาใหญ่ ประกาศให้เป็นอุทยานแห่งชาติแห่งแรกในปี 2505, ป่าสลักพระ จังหวัดกาญจนบุรี ประกาศให้เป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าแห่งแรกในปี 2508 และป่าอีกหลายแห่งให้เป็นอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าตามกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว

 

นับว่าคุณหมอบุญส่งเป็นผู้มีคุณูปการทำให้มีการป้องกันการล่าสัตว์ ก่อนที่กฎหมายคุ้มครองสัตว์ป่ามาเปลี่ยนเอาอีกครั้งเมื่อปี 2535

 

ปี 2516 เกิดเหตุการณ์ที่ทุ่งใหญ่ ซึ่งเวลานั้นเป็นเพียงพื้นที่เตรียมประกาศเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมาได้รับการรับรองเมื่อปี 2517 มีเจ้าหน้าที่ดูแลอยู่บ้าง มีการแอบเข้าไปซุ่มดูคนที่เข้ามาล่าสัตว์ โดยลูกจ้างรายวันที่เป็นผู้พิทักษ์ป่าชื่อ ลุงก้อ ถือว่าเป็นบุคคลที่พลิกหน้าประวัติศาสตร์จากเหตุการณ์เฮลิคอปเตอร์ตกเมื่อเดือนเมษายน ถัดมาอีก 6 เดือนก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เหตุของคุณเปรมชัยห่างจากจุดเดิมเมื่อปี 2516 ประมาณ 30 กิโลเมตร

 

ลุงก้อพานักศึกษาและนักข่าวไปซุ่มดู จึงมีผู้รู้เห็นเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์เหล่านั้น เมื่อเหตุปิดกลายเป็นเหตุเปิด ทำให้รู้กันทั่วถึง เป็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ที่รายงานเป็นเหตุการณ์ใหญ่ เนื่องจากมีการใช้ยุทธภัณฑ์ของทางราชการเข้ามาล่าสัตว์ และผู้นำประเทศขณะนั้นมีการให้สัมภาษณ์โดยอ้างว่าเป็นการไปราชการเพื่อดูแลความปลอดภัยให้ผู้นำเมียนมา

 

เพราะฉะนั้นหากให้พูดถึงเหตุการณ์ที่ผ่านมา 45 ปีแล้ว อยากจะขออย่าให้มีการอนุญาตให้เช่าพื้นที่ที่เป็นป่า เพราะเมื่อมีการอนุญาตให้เช่าก็จะมีการลุกลามกลายเป็นจุดอ่อนที่จะเกิดเรื่องอื่นตามมาต่อไป จึงขอฝากไว้ให้ช่วยกันดูแล ขออย่าให้มีเป็นอันขาด ขอฝากประเทศไทยไว้กับทุกท่านด้วย

เสือดำตัวนี้ไม่ใช่เสือดำตัวสุดท้าย แต่มันควรจะเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่ถูกล่า

 

ในนามข้าราชการไทย: ความคืบหน้าคดีล่าสัตว์ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าฯ

สมโภชน์ มณีรัตน์ โฆษกกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ยอมรับว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องที่สร้างความตกใจกับสังคมมาก เรื่องการทำคดีจับผู้ต้องหาในป่า มีการยิงปะทะ ลูกน้องบาดเจ็บล้มตายก็มีมาตลอด ส่วนเรื่องนี้เป็นการจับผู้ต้องหาได้โดยไม่มีการต่อสู้ แต่ผู้ถูกจับคือผู้มีชื่อเสียงในสังคม คำถามคือระหว่างเสือดำกับผู้มีชื่อเสียง เราโฟกัสอะไร

 

“ประเด็นที่ควรเดินไปปกติมันไม่ปกติ แต่ก็ดีคือเราได้ทำหลายเรื่องให้ดีขึ้น เรื่องการอนุญาตก็คงไม่มีการอนุญาตให้เข้าไปกระทำความผิดอยู่แล้ว”

 

สมโภชน์กล่าวต่อว่า สิ่งที่เป็นความบกพร่องเราก็ยอมรับ แต่ก็ต้องดูว่าเจตนาเป็นอย่างไร กระบวนการตอนนี้ก็มีการตั้งคณะกรรมการลงไปดูว่าจะต้องปรับปรุงแก้ไขอย่างไร ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องรับผิดชอบในเวลานี้

 

ส่วนประเด็นการสอบสวนกลายเป็นตอนนี้สังคมไม่พูดเรื่องผู้ต้องหา พูดแต่เรื่องเจ้าหน้าที่ที่เป็นผู้จับกุม คนจับกลายเป็นคนที่ถูกตั้งคำถาม ซึ่งเรื่องเหล่านี้ เอาเข้าจริงคือเป็นการทำงานไปตามปกติ

 

“บทเรียนเหล่านี้ทำให้เราต้องตระหนักมากขึ้นในการทำงาน ต้องดูว่าพื้นที่สำคัญจะให้ความสำคัญกับมันอย่างไร และเสือดำตัวนี้ไม่ใช่เสือดำตัวสุดท้าย แต่มันควรจะเป็นเสือดำตัวสุดท้ายที่ถูกล่า เราไม่ได้หยุดนิ่ง หยุดอยู่กับที่กับการทำหน้าที่ตรงนี้ เราจะทำอย่างไรที่จะวางเป้าหมายการทำงานในอนาคตให้ชัดเจน”

 

ส่วนเรื่องสวัสดิการของเจ้าหน้าที่ เรื่องนี้ทำมาหลายปี พยายามซื้ออาวุธเข้ามาเพิ่มเติม พยายามเพิ่มสวัสดิการมากขึ้น ทุกวันนี้เปลี่ยนไปเยอะ แต่ยังไม่มากพอ มีคำถามว่าทุกวันนี้ทำไมเจ้าหน้าที่เหล่านี้จึงต้องยอมทำงานในที่ลำบาก มีความเสี่ยง และอย่าคิดว่าเขาไม่มีที่ไป เขาทำเพราะรักที่จะทำ วันนี้ผู้บริหารก็เห็นตรงนี้ การทำให้เขารักษ์ป่าเป็นนโยบายที่จำเป็น สิ่งสำคัญคืออย่าทำให้ความรักของเขาหมดไป

 

สมโภชน์ยืนยันว่าไม่อยากให้กังวลเรื่องคดี กระแสสังคมแบบนี้ หน่วยงานของรัฐคงทำงานเต็มที่ “เรายังไม่หยุดหาหลักฐานพยานเพิ่มเติมแน่ แต่เราก็มีเป้า ไม่ใช่ทำไปเรื่อยๆ ทั้งหมดถูกตั้งคณะทำงานขึ้นมาหาข้อเท็จจริงทุกจุด ทุกประเด็น”

 

และย้ำอีกครั้งว่าเรื่องนี้เป็นบทเรียนสำหรับกรมอุทยานฯ ที่จะเอาไปทำงานในหลายๆ เรื่อง ณ วันนี้ผืนป่าตะวันตกไม่ยิ่งหย่อนกว่าใครในโลก เพราะกลายเป็นโมเดลที่ให้คนหลายชาติในเอเชียเข้ามาดู เป็นสิ่งที่ทำให้เห็นว่ากระแสเหล่านี้ยังไม่หมดไป

สังคมจะรับได้หรือไม่ได้กับผลลัพธ์คดีว่าถึงที่สุดจะออกมาอย่างไร ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าป่าทุกวัน เสี่ยงทุกวัน เขาจะเสียกำลังใจ เสียความรู้สึก เขาจะทำงานได้ไหม ประเด็นนี้สำคัญที่สุด

 

ศักดิ์ศรีเราเท่ากัน: เสือดำ เก้ง ไก่ฟ้า สัตว์ป่านานาชนิด

เอ็ดวิน วีค เลขาธิการมูลนิธิเพื่อนสัตว์ป่า อธิบายให้ฟังว่าเสือดาวและเสือดำถือว่าเป็นสัตว์สปีชีส์เดียวกัน ในไทยนั้นเป็นเสือดาวอินโดไชนีส เสือดำที่เราพูดถึงโดยเฉลี่ยประมาณ 11% ของเสือดาวจะเป็นเสือดำ เสือดำจะอยู่ในป่าดิบที่อุดมสมบูรณ์ มีประมาณ 940 ตัว ไม่เกิน 2,600 ตัวในสัตว์สปีชีส์นี้

 

เสือดำมีอยู่ในเวียดนาม ลาว ไทย กัมพูชา เมียนมา มาเลเซีย สำหรับ ไทยกับเมียนมาถือว่ายังมีอยู่เยอะ ที่บอกว่าจะเป็นเสือดำตัวสุดท้ายนั้น ปัจจุบันมีอยู่ 11% อาจจะมีอยู่ 200-300 ตัว

 

ส่วนมากปัญหาใหญ่ในปัจจุบันคือการล่าเพื่อการค้า เพราะเป็นสัตว์ที่หายาก เปรียบเทียบกับ 60 ปีที่ผ่านมา เสือดาวยังมีมากกว่าเสือโคร่งในธรรมชาติ

 

ส่วนการบังคับใช้กฎหมายมีปัญหา คนบางคนทำผิด ทุกคนรู้ ตำรวจมีหลักฐานพยานเพียงพอ แต่บางครั้งในกระบวนการยุติธรรม ผู้ใหญ่ส่วนมากจะรอด คนไม่มีสตางค์ก็ติดคุก

 

“คำถามที่มากไปกว่า ‘สังคมจะรับได้หรือไม่ได้กับผลลัพธ์คดีว่าถึงที่สุดจะออกมาอย่างไร’ ที่น่าเป็นห่วงกว่าคือเจ้าหน้าที่ที่ต้องเข้าป่าทุกวัน เสี่ยงทุกวัน เขาจะเสียกำลังใจ เสียความรู้สึก เขาจะทำงานได้ไหม ประเด็นนี้สำคัญที่สุด”

 

ส่วนการล่าเป็นกีฬา เช่น แอฟริกามีการเพาะพันธ์ุสัตว์เป็นธุรกิจ อนุญาตให้มีการล่า แม้ว่าจะผิดบาป แต่ในประเทศเขาเป็นเรื่องถูกกฎหมาย แต่ในไทย แน่นอนว่าผิดกฎหมายและผิดปกติ

เราอยากเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ อยากให้เห็นว่าเยาวชนเกือบทุกสถาบันให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อยู่ รู้ว่าทุกคนเหนื่อยและสละหลายอย่างเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสมบัติของประเทศ เราพร้อมที่จะเป็นกำลังใจ

 

ด้วยศรัทธาบนเส้นทางนักอนุรักษ์

ธนยศ ศรีสิไลรัตน์ ตัวแทนเครือข่ายนักศึกษาชมรมอนุรักษ์แห่งประเทศไทย กล่าวว่าที่เครือข่ายออกมาเคลื่อนไหวออกแถลงการณ์นั้น เพราะมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรเป็นศูนย์กลางเชื่อมโยงเครือข่ายเหล่านี้ไว้ด้วยกัน

 

นักศึกษามองว่าเรื่องราวเหล่านี้เกิดขึ้นซ้ำๆ มาตลอด และยุคนี้โซเชียลมีเดียเข้ามามีบทบาท สามารถผลักดันเรื่องราวให้เข้าถึงกลุ่มคนรุ่นใหม่ได้มาก ประเด็นต่างๆ ของสังคมที่คลาดเคลื่อนก็มีการหาข้อมูลเพื่อนำเสนอให้ถูกต้อง และมองว่าเหตุการณ์นี้ไม่ควรเกิดขึ้นอีกทั้งในรุ่นของเราและในอนาคต และไม่ต้องการให้เรื่องนี้เงียบหายไปตามกระแส จึงพยายามจัดกิจกรรมต่อเนื่อง

 

ธนยศบอกว่า “เราอยากเป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ อยากให้เห็นว่าเยาวชนเกือบทุกสถาบันให้กำลังใจเจ้าหน้าที่อยู่ รู้ว่าทุกคนเหนื่อยและสละหลายอย่างเพื่อรักษาสิ่งเหล่านี้ให้เป็นสมบัติของประเทศ เราพร้อมที่จะเป็นกำลังใจ

 

“เมื่อวานประชุมกันที่จุฬาลงกรณ์ ช่องทางแรกคือใช้โซเชียลในการรณรงค์ ช่องทางต่อมาคือทำหนังสือยื่นไปตามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลักดันคดีให้เป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมอย่างถึงที่สุด

 

“เราวางเป้าไว้ว่า 7 วันอยากให้มีความคืบหน้า เราก็เริ่มเคลื่อนไหวผ่านทางโซเชียลมีเดีย เป็นแรงผลักดันอีกแรงหนึ่งที่ให้เจ้าหน้าที่ทำงานบรรลุเป้าหมายให้เร็วกว่านี้”

เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันจากปี 2516 มาถึงปี 2561 ชัดเจนว่าไม่มีใครปฏิเสธงานอนุรักษ์ และสังคมก็ชัดเจนว่าไม่มีใครรับได้กับเหตุการณ์แบบนี้

 

ผืนป่าตะวันตกวันนี้และวันหน้า: อุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า และมรดกโลก

ศศิน เฉลิมลาภ ประธานมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า เสือดำคือตัวชี้วัดว่าป่าตะวันตกมีความอุดมสมบูรณ์ การที่เข้าไปเพียงหนึ่งวันแล้วยิงได้ก็สันนิษฐานได้ว่าน่าจะมีอีกหลายตัวในบริเวณนั้น มันทำหน้าที่เป็นสัตว์ผู้ล่าในป่า ทำหน้าที่ในระบบนิเวศที่สมบูรณ์

 

สำหรับป่าที่มีความสำคัญแบบนี้ก็ชัดเจนว่ามีห้วยขาแข้ง ทุ่งใหญ่ป่าตะวันตก ประเด็นคือเราทำงานลาดตระเวนเชิงคุณภาพเพื่อนำมาถ่ายทอดความรู้ให้กับเจ้าหน้าที่ในอุทยานต่างๆ อย่างทีมของหัวหน้าวิเชียร กรมอุทยานฯ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียรมีโครงการให้ถ่ายทอดประสบการณ์การทำงานออกมา มีการดูแลและลาดตระเวนอย่างเข้มข้น

 

ส่วนกรณีของคุณเปรมชัย ต้องบอกว่าเป็นความ ‘กล้า ไม่อาย ไม่เกรงใจกฎหมาย’ ที่จะทำอะไรแบบนี้ พ.ร.บ. คุ้มครองสัตว์ป่าก็ทำหน้าที่ของมันและทำดีด้วย บังคับใช้ตามปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติคือมีคนกล้าทำแบบนี้

 

“คุณเปรมชัยเขาใช้หัวใจแบบไหน ไม่เกรงใจ ย่ามใจ คิดว่าตัวเองสามารถเคลียร์เรื่องแบบนี้ได้ในพื้นที่ตัวอย่างของการอนุรักษ์ มันเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากยิ่ง”

 

 

ศศินมองว่า เมื่อดูสถานการณ์ปัจจุบันจากปี 2516 มาถึงปี 2561 ชัดเจนว่าไม่มีใครปฏิเสธงานอนุรักษ์ และสังคมก็ชัดเจนว่าไม่มีใครรับได้กับเหตุการณ์แบบนี้ ผมมองว่าระบบปัจจุบันก็ดีมีมาตรฐานอยู่แล้ว ถ้าไปทำที่อื่น เจ้าหน้าที่ก็จับ ซึ่งมันเป็นเรื่องไม่ปกติสำหรับคนในยุคนี้ มากกว่าการแก้ไขโทษคือสังคมมองว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ เป็นเรื่องประหลาดที่คนกล้าทำผิดกฎหมายในยุคแบบนี้

 

“ส่วนท่าทีของรัฐผิดกัน ระหว่างปี 2516 กับ 2561 ตอนนั้นเป็นท่าทีปกปิด แต่วันนี้นายกฯ บอกว่าไม่ได้ช่วยเหลือหรือปกปิด ว่ากันไปตามกฎหมาย

 

“สัตว์ป่าเป็นตัวชี้วัดความอุดมสมบูรณ์ของป่า การบริหารจัดการดูแลต้องมีหน่วยพิทักษ์ป่าที่มากพอจะครอบคลุมพื้นที่ป่าที่ตัวเองดูแล”

 

ศศินบอกว่า ป่าตะวันตกเป็นความหวังของการจัดการที่ดีเพื่อเก็บรักษาพันธุกรรมของสัตว์ป่า ต้องทำการลาดตระเวนเชิงคุณภาพ มีการเดินสม่ำเสมอเพื่อสำรวจสัตว์ป่าชนิดต่างๆ มีการเก็บหลักฐานทางวิทยาศาสตร์ และจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าไม่เอาข้อมูลเหล่านั้นมาทำให้เกิดประโยชน์ ซึ่งที่ห้วยขาแข้งและทุ่งใหญ่ได้ทำมานานแล้ว

 

“สิ่งที่กรมอุทยานฯ และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ควรทำคือต้องทำแบบนี้กับผืนป่าทั่วประเทศ เอาบทเรียนตรงนี้ไปทำให้เกิดประโยชน์ต่อระบบ ทำอย่างไรให้เกิดวิเชียรโมเดล หัวหน้าเจเนอเรชันนี้มีสักกี่คน เราจะเพิ่มคนแบบวิเชียรอย่างไรในปัจจุบัน เรื่องใหญ่ไม่ใช่คุณเปรมชัย แต่เป็นเรื่องนี้มากกว่า คุณเปรมชัยมีทางออกอีกหลายช่องทาง

 

“สำหรับองค์กรอนุรักษ์และเครือข่าย เรื่องนี้เราก็คงไม่ลืมและจะทำหน้าที่ต่อไป กรมอุทยานฯ ต้องสู้ถึงฎีกาอีกหลายปี วันข้างหน้าคุณวิเชียรอาจจะเติบโตไปตามระบบราชการ เป็นเรื่องที่ต้องเดินไปข้างหน้า”

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X