×

ไม่เป็นไรนะมุง, ความเป็นมิตรกับคนมุงของกองถ่าย Three Billboards Outside Ebbing, Missouri

19.03.2018
  • LOADING...

กองถ่ายหนังเรื่อง Three Billboards Outside Ebbing, Missouri ถ่ายทำที่เมืองเล็กๆ บนภูเขาที่ชื่อ ซิลวา ในนอร์ทแคโรไลนา กองถ่ายนี้อนุญาตให้ชาวบ้านและประชาชนบริเวณที่ถ่ายทำหนังมายืนมุงดูการถ่ายทำได้แต่ต้องไม่เสียงดัง โดยเปิดรับประมาณ 100 คน และทุกครั้งที่มีเบรกการถ่ายทำ นักแสดงมักจะเข้าไปหาชาวมุงเพื่อถ่ายภาพและแจกลายเซ็นให้ หรือบางครั้งบางวัน วูดดี ฮาร์เรลสัน หนึ่งในนักแสดงของหนังจะไปนั่งเล่นกีตาร์ที่ร้านขายเครื่องดนตรีข้างๆ ตึกที่เซตเป็นสถานีตำรวจในหนังขณะที่พักเบรกกอง

 

 

การดีลกับเจ้าของพื้นที่บริเวณที่เราไปถ่ายทำหนังนั้นเป็นศิลปะขั้นสูง การออกกองหนึ่งครั้งแม้ว่าเราจะถ่ายทำกันแค่ในบริเวณเล็กๆ บริเวณหนึ่ง แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเราชาวหนังทุกคนจะอยู่ในบริเวณนั้นแต่เพียงอย่างเดียว เพราะสมมติว่าถ่ายหนังกันในบ้าน แต่พวกรถปั่นไฟก็จะต้องตั้งอยู่ในซอยแถวๆ นั้น รอบๆ บ้านจะต้องถูกติดตั้งไฟสำหรับถ่ายหนัง ไหนจะจุดพักกองถ่ายที่ลามไปบ้านข้างๆ ไหนจะจุดกินข้าวที่ดักอยู่ปากซอย รวมถึงรถห้องน้ำและที่จอดรถสำหรับทีมงาน ฯลฯ ดังนั้นจะไม่มีกองถ่ายเล็กๆ กองไหน เป็นกองถ่ายเล็กๆ จริงๆ (นอกจากกองถ่ายนักศึกษาที่นั่งอูเบอร์กันมา 3 คน แล้วถ่ายหนังในบ้านหลังหนึ่งแบบไม่จัดไฟอะไรเลย)  ดังนั้น นับจากจุดถ่ายทำถัดออกไปอีกประมาณ 500 เมตร จะถือว่าเป็นบริเวณถ่ายหนังทั้งหมด

 

นอกจากจะปกปิดการถ่ายทำไม่ได้แล้ว บางครั้งการถ่ายทำก็ยังก่อกวนวิถีชีวิตชาวบ้านบริเวณนั้น ไหนจะห้ามเขาทำเสียงดังต่างๆ ไหนจะขอให้เอารถยนต์ส่วนตัวออกไปจอดที่อื่นก่อน และอีกมากมายหลายประการที่จะทำให้เขาเกลียดเราได้ หนำซ้ำแล้ว ไม่ให้เขาส่งเสียง ให้เขาขยับรถ แถมจะยังไม่ให้เขาเข้ามายุ่มย่ามในกองถ่ายอีก ทั้งๆ ที่นี่คือโอกาสเดียวที่เขาจะได้ใกล้ชิดกับดารานักแสดงคนโปรด (คิดดูว่า ณเดชน์ ซันนี่ หรือญาญ่า นั่งเล่นอยู่หน้าปากซอยบ้าน หรือชั้นล่างของตึกที่ทำงาน แต่ดันเข้าไปเจอไม่ได้ มันน่าเจ็บใจแค่ไหน)

 

 

ดังนั้นการที่ทีมงานต้องใช้ศิลปะในการดีลกับพี่ๆ น้องๆ ลุงๆ ป้าๆ รอบกองถ่ายนั้น ถือเป็นงานเจรจาระดับชาติ หากนักแสดงในกองถ่ายนั้นเป็นบุคคลที่มีแฟนคลับมากมายนั่นจะยิ่งทำให้ยากเข้าไปอีก (บางครั้งเราก็ไม่รู้เหมือนกันว่าแฟนคลับนับ 100 คนนั้นรู้ได้ยังไงว่าวันนี้นักแสดงหรือนักร้องของพวกเขาจะมาถ่ายหนังกันที่นี่ทั้งๆ ที่ปิดเป็นความลับสุดขีดแล้ว) การที่ต้องกีดกันพวกเขาออกไปจากบริเวณถ่ายทำนั้น บางทีก็เหมือนกีดกันคนรักไม่ให้พบกัน ห่างกันเพียงเอื้อมมือแต่มันคือแสนไกลมากๆ แต่ถ้าไม่กันออก บางครั้งก็จะถ่ายทำหนังไม่ได้ หรือนักแสดงไม่มีสมาธิ  

 

จริงๆ แล้วในหลายๆ ครั้ง แฟนคลับวัยรุ่นก็ค่อนข้างเข้าใจเรื่องพวกนี้ บางกลุ่มมาขอมุงแต่ไม่ขอรบกวน แต่หากเป็นเคส “ขอป้าถ่ายกับเขารูปหนึ่งได้ไหม” และที่ยากกว่าคือ “ขอหลานถ่ายกับคุณพระเอกเขารูปหนึ่งได้ไหม แป๊บเดียว หลานชอบมาก” พวกนี้จะยากมาก เพราะเป็นเด็กและคนชรา ซึ่งเราต้องพิจารณาดีๆ เพราะหลายๆ ครั้งการอนุญาตเพียงครั้งเดียว ก็เท่ากับอนุญาตอีก 100 คน ส่วนถ้าไม่อนุญาตก็ดูเป็นคนใจร้ายอีก ขอถ่ายนิดเดียว 1 รูปก็ไม่ได้ นี่พวกนายเป็น BNK เหรอ ทำไมถึงถ่ายรูปด้วยไม่ได้ สถานที่ก็มารบกวน สั่งไม่ให้ส่งเสียงก็ทำตามแล้ว ทำไมขอแค่นี้ก็ไม่ได้ นิดๆ หน่อยๆ คนไทยด้วยกัน (ว่าไปนั่น)

 

 

เรื่องนี้ไม่มีใครผิดถูกแต่อย่างใด มันอยู่ที่ศิลปะแห่งการจัดการ บางครั้งคนจัดการกองถ่ายก็สามารถประสานทุกความต้องการได้หมด การถ่ายทำไม่โดนรบกวน พี่ๆ ที่มายืนดูก็ดูได้ ถ่ายรูปก็ได้ด้วยในบางครั้ง (แต่ขอพี่ๆ อย่าเพิ่งโพสต์ลงเฟซบุ๊กนะคะ) ยิ่งบางกองถ่ายต้องไปถ่ายทำที่ต่างจังหวัด หมู่บ้านเล็กๆ เมืองเล็กๆ การหลีกเลี่ยงป้าๆ น้าๆ ที่อยากจะมาเจอพระเอกหนุ่มไม่สามารถทำได้เลย เป็นไฟต์บังคับ เข้าเมืองตาหลิ่วแล้วต้องหลิ่วตาตามเล็กน้อย ถ้าโกหกเดี๋ยวเขาก็โกรธและอาจประท้วง แต่วันนั้นดันต้องถ่ายฉากเครียดที่ต้องการความเงียบ บางครั้งก็ต้องมีการจัดการหลอกล่อป้าๆ น้าๆ เล็กน้อย เช่น บอกว่าเดี๋ยวพระเอกของป้าจะมาที่นี่สิบโมง แต่เราก็แอบไปถ่ายฉากนั้นที่อื่นก่อน ก่อนจะมาหาป้าๆ อีกที เพราะการโกหกป้าว่าไม่มีพระเอกคนนี้มา อาจจะก่อผลเสีย เพราะเมืองเล็ก ข่าวสารส่งถึงกันง่าย โกหกแล้วโดนจับได้แน่นอน ดังนั้นจัดเวลาให้ป้าๆ ได้เจออย่างถูกต้อง อาจเป็นผลดีกว่า

 

ถ้าไม่สามารถกีดกันชาวมุงได้ ก็จะมากันที่ปราการสุดท้ายคือ การขอความร่วมมืออย่าเพิ่งโพสต์ออนไลน์ เพราะหนังที่ถ่ายทำบางครั้งก็ยังไม่ควรมีภาพใดๆ หลุดออกไปก่อนหนังจะฉาย บางครั้งก็เป็นฉากจบ บางครั้งก็เป็นฉากสำคัญ ซึ่งถ้าเป็นสมัยก่อนคงไม่มีปัญหา เพราะแต่ละคนไม่มีกล้องถ่ายรูป แต่ยุคนี้คือต่อให้จะห้ามจะยั้งแค่ไหน บางทีเราก็มองไม่เห็นกล้องมือถือที่แอบถ่ายกระหน่ำไปเรียบร้อยแล้ว ว่าง่ายๆ คือ บางทีไม่เอารูปคู่ แค่ได้รูปเขาก็ยังดี ไปอวดเพื่อนได้แล้ว อันนี้ก็แล้วแต่โชคชะตา บางครั้งเราก็เจอคนแอบถ่าย แต่ก็มีวินัยพอที่จะโพสต์หลังจากหนังฉายแล้ว บางครั้งโชคไม่ค่อยดี ก็โดนลงโซเชียลเลยทันที

 

ด้วยการที่เป็นงานที่ต้องเล่นกับพื้นที่จริง ดังนั้นการหาทางประสานสัมพันธ์ระหว่างกองถ่ายสมมติกับโลกแห่งความเป็นจริงนั้น จึงเป็นเรื่องที่สำคัญ บางครั้งการกีดกันอาจทำให้ถ่ายได้ช้าลง แต่การปล่อยให้ข้างนอกไหลเข้ามาเยอะไปก็อาจทำให้เสียหาย กองถ่ายของ Three Billboards น่าจะเล็งเห็นแล้วว่า เมืองเล็กขนาดนี้ เอาชาวเมืองเป็นพวกเดียวกันไปเลยจะง่ายกว่า (ฮา) ให้เขาดูเลย ดูจนเบื่อ แจกลายเซ็นด้วยอ่ะ พอได้ทุกอย่างแล้ว เดี๋ยวเขาก็เลิกมาดูเอง ก็จะได้ถ่ายง่ายขึ้น

 

อันนี้ก็คิดแบบ Tactic Strategy เกิน บางทีพี่ๆ เขาอาจจะรู้สึกว่าเป็นมิตรกันจริงๆ ก็ได้

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X