×

‘หมอบุญ’ ธนบุรี เฮลท์แคร์ เผยธุรกิจ รพ. ปีนี้ถึงปีหน้าไม่พูดถึงกำไร ชี้จะเปิดเมืองต้องตรวจโรคให้ทั่วถึง

28.04.2020
  • LOADING...

วันนี้ (28 เมษายน) นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวว่า ช่วงการระบาดโควิด-19 กระทบภาพรวมธุรกิจโรงพยาบาล โดยผู้ที่จะมาโรงพยาบาลก็กลัวและไม่ได้มา ในส่วนของ THG เช่น โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง ซึ่งมีฐานลูกค้าต่างชาติ 90% จึงได้รับผลกระทบและต้องหันไปทำด้านอื่นๆ เพื่อชดเชยรายได้ ขณะที่โรงพยาบาลธนบุรีในพื้นที่อื่น ยอดผู้ป่วยไม่ลดลงมากนัก เช่น โรงพยาบาลธนบุรี 1 ยอดผู้ป่วยมากขึ้นส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ป่วยที่มาจากโรงพยาบาลรัฐเพิ่มขึ้น 

 

“ช่วงโควิด-19 ไม่มีกิจการไหนไม่เสียหาย แต่ไม่ขาดทุนก็เก่งแล้ว ส่วนของโรงพยาบาล คนที่จะมาก็ไม่มาเพราะกลัวโรค ส่วนของโรงพยาบาลธนบุรี สาขาบำรุงเมือง ที่มีลูกค้าต่างชาติ 90% ก็กระทบ เราก็ต้องหาอันอื่นทำแทน แต่โรงพยาบาลจุดอื่นๆ ผู้ป่วยยังมากขึ้น เพราะมีผู้ป่วยบางส่วนที่โรงพยาบาลรัฐเลื่อนคิวรักษา แต่บางโรครอไม่ได้ ผู้ป่วยเลยมาที่โรงพยาบาลเอกชน ผู้ป่วยเลยมากขึ้น โรงพยาบาลเอกชนโอเคอยู่” 

 

ทั้งนี้ THG มีการกระจายความเสี่ยงในการทำธุรกิจ Preventive (ส่วนป้องกันก่อนเกิดโรค) Wellness มากขึ้น ขณะเดียวกันต้องรอนโยบายการเปิดประเทศให้ต่างชาติบางกลุ่มสามารถเข้าประเทศไทยได้ เช่น ผู้ป่วยจากต่างประเทศที่รอรับการรักษาตัวจะสามารถเดินทางเข้ามารับการรักษาในไทยได้อย่างไร 

 

“THG ยังสามารถจ่ายเงินเดือน ไม่มีการปลดพนักงาน และสามารถจ่ายดอกเบี้ยต่างๆ ได้ในปีนี้ถึงปีหน้า (2564) เราขอแค่นี้ กำไรไม่ต้องพูดถึงเลย” 

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์โควิด-19 เมื่อการปิดเมืองยังเป็นต้นทุนสูง แต่การเปิดเมืองไม่ให้เกิด ‘การระบาดระลอกที่ 2’ หัวใจสำคัญอยู่ที่การทดสอบหรือตรวจเชื้อโควิด-19 ต้องตรวจให้ได้มากที่สุด ซึ่งปัจจุบันเป็นจุดด้อยของไทย เพราะสามารถตรวจเชื้อที่ 1,500 คนต่อ 1 ล้านคน (คิดเป็น 0.15%) ขณะที่เกาหลีใต้อยู่ที่ 16,000 คนต่อ 1 ล้านคน (คิดเป็น 1.6%) ส่วนบรูไนที่สามารถตรวจเชื้อโควิด-19 ได้สูงสุดในโลกอยู่ที่ 26,000 คนต่อ 1 ล้านคน (คิดเป็น 2.6%)

 

ถ้าเปิดเมืองจะมี 2 ปัญหาคือ การตรวจเชื้อให้ได้มากที่สุดเพื่อให้รู้ว่าใครที่ยังมีเชื้ออยู่ และการตรวจแอนติบอดียังไม่แน่นอน หากหายแล้วอาจกลับมาเป็นอีกครั้งได้หรือไม่ ช่วง 2 เดือนข้างหน้าเป็นช่วงสำคัญมาก และต้องควบคุมให้อยู่ เพราะหากเข้าสู่ช่วงฤดูฝนและฤดูหนาว อาจทำให้เชื้อแข็งแรงขึ้น ดังนั้นต้องเปิดเมืองอย่างเป็นขั้นตอน 

 

เบื้องต้นมองว่าโมเดลการควบคุมโรคในต่างประเทศที่น่าสนใจ ได้แก่ 

ไต้หวัน – หลังการระบาดไข้หวัดนก ฯลฯ มีการเพิ่มระบบการสร้างหน้ากาก N95 เครื่องมือแพทย์ และอื่นๆ เพื่อรองรับหากเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดอีก

เกาหลีใต้ – มีระบบการเก็บข้อมูลที่ชัดเจน ทำให้เห็นการติดเชื้อ และควบคุมได้ง่ายขึ้น

เวียดนาม – มีการวางแผนดี สร้างความมั่นคงผ่านการวางนโยบายเรื่องยา และไอที

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X