×

มูลนิธิ Thomson Reuters แฉเรือนจำในไทยบังคับนักโทษทำอวนจับปลาให้บริษัทเอกชน ขัดขืนเจอขู่ทุบตี เลื่อนวันปล่อยตัว

โดย THE STANDARD TEAM
24.12.2021
  • LOADING...
มูลนิธิ Thomson Reuters

มูลนิธิ Thomson Reuters เผยแพร่รายงานข่าวสืบสวน เปิดโปงกรณีอื้อฉาวในเรือนจำของไทย ที่บังคับให้นักโทษผลิตอวนสำหรับจับปลาให้บริษัทเอกชน โดยใครที่ขัดขืนจะถูกขู่ลงโทษ เช่น ทุบตี หรือเลื่อนวันปล่อยตัว

 

รายงานข่าวดังกล่าวอ้างอิงข้อมูลจากเอกสารที่ได้รับมาภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร พบว่า เรือนจำทั่วประเทศมีการใช้ผู้ต้องขังในการทำงานเพื่อตอบสนองต่อสัญญามูลค่าสูงที่ทำกับบริษัทผู้ผลิตสินค้าของเอกชน ซึ่งหนึ่งในนั้นรวมถึงการส่งออกอวนไปยังสหรัฐฯ 

 

ขณะที่อดีตนักโทษหลายคนที่ผู้สื่อข่าวของมูลนิธิ Thomson Reuters ติดต่อสัมภาษณ์ เปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำจะข่มขู่ลงโทษ เช่น ทุบตีด้วยกระบอง ถอนสิทธิ์ในการอาบน้ำ หรือเลื่อนวันปล่อยตัว หากพวกเขาไม่สามารถผลิตอวนให้ได้ตามเป้าหมาย คือ 5 ปากต่อ 1 สัปดาห์ ซึ่งงานนี้เป็นงานบังคับ แต่มีการจ่ายค่าแรงที่ต่ำกว่าเศษเสี้ยวของค่าแรงขั้นต่ำ ซึ่งนักโทษบางคนอาจไม่ได้ค่าแรงแม้แต่บาทเดียว

 

“พวกเจ้าหน้าที่จะบอกว่า ถ้าเราไม่ทำอวนให้ได้ 5 ปาก ใน 1 สัปดาห์ เราจะถูกลงโทษ” หนึ่งในอดีตนักโทษที่เรือนจำกลางจังหวัดสุรินทร์เปิดเผยในการให้สัมภาษณ์ผ่านโทรศัพท์

 

อดีตนักโทษอีกคน ชื่อเล่นว่า ‘ต๊ะ’ ที่ได้รับการปล่อยตัวเมื่อปีที่แล้วหลังได้รับโทษจำคุก 2 ปี ให้สัมภาษณ์ว่าเขาเคยถูกลงโทษจากการทำอวนไม่เสร็จทันเวลา ด้วยการบังคับให้นอนกลางแดดและกลิ้งตัวคลุกดิน

 

“ช่วงบ่าย 2 โมงของวันหนึ่ง ผมไม่สามารถทำอวนได้เสร็จทันตามเวลา จึงถูกบังคับให้นอนกลางแดดและกลิ้งตัวคลุกดิน” ต๊ะกล่าว พร้อมเปิดเผยว่าเขาได้เงินค่าแรง 3 บาท จากการทำอวน 1 ปาก 

 

นอกจากนี้ยังมีอดีตนักโทษ 2 คน ที่ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำกลางจังหวัดยะลาในช่วงปีนี้ เปิดเผยว่านักโทษหลายร้อยคนต้องทำงานผลิตอวนวันละประมาณ 6 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์ถึงวันศุกร์ ซึ่งทั้งสองไม่เคยถูกลงโทษ แต่บอกว่าเคยเห็นนักโทษคนอื่นที่ถูกลงโทษ

 

“ฉันเห็นเพื่อนๆ ถูกลงโทษทุกวัน ฉันได้ยินมาว่าเจ้าหน้าที่เรือนจำไม่ควรทำร้ายผู้ต้องขัง แต่ในความเป็นจริงเรือนจำไม่ได้รับการตรวจสอบ” หนึ่งในนักโทษที่ไม่เปิดเผยตัวกล่าว พร้อมชี้ว่านักโทษหลายคนจะถูกตีที่หลังด้วยไม้เบสบอลและถูกย้ายไปขังเดี่ยว

 

“ไม่มีการอนุญาตให้เยี่ยม เพราะพวกเขา (เจ้าหน้าที่) กลัวว่านักโทษจะบอกญาติของพวกเขา”

 

ทั้งนี้ นักโทษส่วนใหญ่ที่มูลนิธิ Thomson Reuters สัมภาษณ์ เปิดเผยว่า ได้ค่าแรงจากการทำอวนประมาณเดือนละ 30 บาท และมีบางคนบอกว่าไม่ได้รับค่าแรงเลยแม้แต่บาทเดียว 

 

นอกจากนี้ รายงานยังระบุว่า มีหลายบริษัทและบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการจ้างนักโทษให้ผลิตอวนในเรือนจำทั่วประเทศกว่า 2 ใน 3 โดยบางส่วนยังส่งออกไปยังสหรัฐฯ ด้วย 

 

ซึ่งมูลนิธิ Thomson Reuters ได้ส่งคำร้องตาม พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร ไปยัง 142 เรือนจำทั่วประเทศ และพบว่ามีเรือนจำอย่างน้อย 54 แห่ง ยอมเปิดเผยสัญญาผลิตอวนจับปลาที่ทำกับบริษัทและบุคคลต่างๆ ขณะที่อีก 30 เรือนจำ ตอบรับและเปิดเผยสัญญาในด้านอื่นๆ ส่วนที่เหลือนั้นไม่ตอบกลับหรือไม่มีการใช้แรงงานในเรือนจำ

 

อย่างไรก็ตาม เรือนจำส่วนใหญ่ที่เปิดเผยสัญญา มีการปกปิดชื่อบริษัทและบุคคล โดยอ้างคำสั่งจากกรมราชทัณฑ์ ซึ่งมูลนิธิ Thomson Reuters ได้รับชื่อที่ถูกปกปิดบางรายชื่อหลังจากที่ยื่นคำร้องไปหลายครั้ง 

 

โดยหนึ่งในบริษัทที่ทำสัญญาจ้างผลิตอวนกับเรือนจำ คือ บริษัทขอนแก่นแหอวน ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอวนที่ใหญ่ที่สุดของไทย รายงานจาก Maia Research ระบุว่า ปีที่แล้วบริษัทได้ส่งออกอวนจำนวน 2,364 ตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 12 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 402 ล้านบาท) ไปยังสหรัฐฯ

 

ซึ่งมูลนิธิ Thomson Reuters เปิดเผยว่า ได้เห็นจดหมายฉบับหนึ่งจากทางบริษัทขอนแก่นแหอวน ที่ขอให้เรือนจำอย่างน้อย 1 แห่ง ไม่เปิดเผยสัญญาตามคำร้องภายใต้ พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสาร โดยทางมูลนิธิ Thomson Reuters พยายามติดต่อไปยังบริษัท แต่ได้รับการปฏิเสธที่จะแสดงความเห็น

 

ขณะที่ข้อมูลจากการสัมภาษณ์อดีตนักโทษทั้งหมดระบุว่า ทำงานผลิตอวนในเรือนจำ แต่มีอดีตนักโทษ 3 คนที่อ้างว่ารู้จักผู้ต้องขังที่เรือนจำกลางจังหวัดขอนแก่น ได้เข้าไปทำงานในโรงงานที่เป็นของบริษัทขอนแก่นแหอวน และมีอดีตนักโทษ 2 คนบอกว่า พวกเขาได้ผลิตอวนให้บริษัทขอนแก่นแหอวน โดยจำชื่อบริษัทได้จากใบเสร็จที่ส่งไปยังเรือนจำ นอกจากนี้ยังมีระบุชื่อไว้บนกระดาษภายในบรรจุภัณฑ์ที่มาพร้อมกับอวนด้วย

 

รายงานยังชี้ว่า ปัจจุบันไทยเป็นประเทศที่มีประชากรนักโทษในเรือนจำมากที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีจำนวนกว่า 282,000 คน ใน 143 เรือนจำ ซึ่งส่วนใหญ่ได้รับโทษในคดียาเสพติด

 

โดยรายงานจากสหพันธ์เพื่อสิทธิมนุษยชนสากล (International Federation for Human Rights: FIDH) ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานนี้ ระบุว่าเรือนจำหลายแห่งในไทยมีปัญหาความแออัดของนักโทษอย่างมาก และไม่เป็นไปตามมาตรฐานสากล

 

ขณะที่โครงการทำงานในเรือนจำ ซึ่งตามเอกสารของกรมราชทัณฑ์ชี้ว่าจุดมุ่งหมายคือเพื่อให้การฝึกอบรมให้ผู้ต้องขังมีงานที่มีรายได้หลังได้รับการปล่อยตัว แต่กลุ่มสิทธิมนุษยชนต่างๆ รวมถึง FIDH อ้างว่าโครงการเหล่านี้กลายเป็นโครงการเพื่อแสวงหาประโยชน์ โดยมีการจ่ายค่าแรงที่ต่ำ สภาพการทำงานที่เลวร้าย และใช้การลงโทษเมื่อทำงานไม่ได้ตามเป้าหมาย ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นงานทำมือ ตั้งแต่พับถุงกระดาษไปจนถึงการผลิตเสื้อผ้า

 

สำหรับงานผลิตอวนจับปลานั้น อดีตนักโทษหลายคนบอกว่าเป็นงานที่ยากเป็นพิเศษ และทำให้พวกเขามีแผลพุพองและแผลจากการถูกบาดโดยเส้นใยที่มีความคม ซึ่งนักโทษส่วนใหญ่ต้องทำงานนี้ ยกเว้นว่ามีเส้นสายกับเจ้าหน้าที่เรือนจำ หรือจ่ายเงินสินบนหรือให้เงินแก่นักโทษคนอื่นเพื่อจ้างให้ทำงานแทน

 

ด้าน ประวิทย์ ร้อยแก้ว อัยการและรองอธิบดีกรมการค้ามนุษย์ ชี้ว่าการบังคับทำงานดังกล่าวอาจเป็นการละเมิดกฎหมายต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย หากงานดังกล่าวเป็นไปเพื่อประโยชน์ของบริษัทเอกชน และจำเป็นต้องมีการสอบสวนเพิ่มเติม

 

“นักโทษเหล่านี้ไม่ได้ทำงานโดยสมัครใจ และไม่สามารถปฏิเสธงานได้ เนื่องจากถูกขู่ว่าจะถูกลงโทษ เช่น ถูกทำร้ายร่างกาย” เขากล่าว

 

ทางด้านกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ แสดงความกังวลต่อข้อกล่าวหาเรื่องการที่เรือนจำในไทยใช้ผู้ต้องขังผลิตอวนจับปลาเพื่อบริษัทเอกชน โดยชี้ว่า พ.ร.บ.ภาษีของสหรัฐฯ ห้ามการนำเข้าสินค้าที่ผลิตโดยเรือนจำหรือบังคับใช้แรงงาน

 

“เรานำข้อมูลทุกประเภทมาพิจารณาในการปรับปรุงรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กหรือแรงงานที่ถูกบังคับ ซึ่งรวมถึงข้อมูลที่รวบรวมผ่านการวิจัย รายงานการสอบสวน หรือโดยวิธีการอื่นๆ” แถลงการณ์จากกระทรวงแรงงานสหรัฐฯ ระบุ โดยอ้างอิงรายการสินค้าที่เชื่อว่าผลิตจากการใช้แรงงานดังกล่าว ซึ่งมีการเผยแพร่ทุกๆ 2 ปี

 

คำชี้แจงจากกรมราชทัณฑ์

ด้าน ธวัชชัย ชัยวัฒน์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ และโฆษกกรมราชทัณฑ์ กล่าวชี้แจงถึงกรณีข่าวการบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายผู้ต้องขังเพื่อให้ทำงาน โดยยืนยันว่า การฝึกวิชาชีพ และการให้ผู้ต้องขังได้มีโอกาสทำงานเพื่อเพิ่มทักษะในวิชาชีพเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาพฤตินิสัย โดยมีความมุ่งหวัง ให้ผู้ต้องขังมีความรู้และทักษะ เพื่อนำไปประกอบอาชีพที่สุจริตภายหลังพ้นโทษ

 

ซึ่งกรณีที่ข่าวกล่าวถึงเฉพาะงานบางประเภท อาจจะไม่สะท้อนภาพรวมเท่าใดนักโดยในความเป็นจริงแล้ว ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด ผู้ต้องขังได้รับโอกาสในการทำงานที่หลากหลาย อาทิ

  • การฝึกเป็นผู้ให้บริการข้อมูลผ่านโทรศัพท์ (คอลเซ็นเตอร์) ได้รับเงินรางวัลปันผล จำนวน 4,262 บาท/คน/เดือน
  • การฝึกวิชาชีพทำเบเกอรี่ ที่ได้รับเงินรางวัลปันผล จำนวน 13,882 บาท/คน/เดือนการฝึกอาชีพคาร์แคร์ได้รับปันผล 1,462 บาท/คน/เดือน
  • การฝึกวิชาชีพคัดแยกผลไม้อบแห้ง ได้รับปันผล 3,420 บาท/คน/เดือน

 

ทั้งนี้ ขึ้นกับความรู้พื้นฐานของผู้ต้องขัง ขีดความสามารถ ความพร้อมด้านร่างกาย และจิตใจของผู้ต้องขัง รวมถึงความต้องการ ของตลาดแรงงานด้วย

 

ขณะที่ ธวัชชัย ชี้ว่าประโยชน์ที่ผู้ต้องขังได้รับ นอกเหนือจากความรู้ ทักษะ และประสบการณ์โดยตรงแล้ว ยังช่วยฝึกในเรื่องของทักษะชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเวลา การวางแผน และการใช้สมาธิ ซึ่งถือเป็นประโยชน์โดยอ้อมด้วย

 

ในส่วนของการปันผลนั้น การฝึกวิชาชีพหรือการฝึกทักษะการทำงานแล้วมีรายได้เกิดขึ้น กรมราชทัณฑ์จะมีการจ่ายค่าตอบแทนในลักษณะเงินปันผล ซึ่งเป็นไปตามระเบียบข้อบังคับว่าด้วยการจ่ายเงินผลพลอยได้จากการดำเนินงานฝึกวิชาชีพผู้ต้องขังเป็นรางวัล ที่กำหนดไว้อยู่แล้ว โดยการฝึกวิชาชีพผลิตอวนก็ได้ดำเนินการภายใต้นโยบายและระเบียบข้อบังคับที่เกี่ยวข้องดังกล่าว

 

นอกจากนี้ ธวัชชัย เน้นย้ำว่า การบังคับขู่เข็ญหรือทำร้ายผู้ต้องขังเพื่อให้ทำงาน ไม่ใช่แนวทางของกรมราชทัณฑ์ และเป็นการกระทำที่มิอาจรับได้ 

 

ซึ่งการที่ผู้ต้องขังทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติ โดยคำนึงถึงประเด็นสิทธิมนุษยชน ถือเป็นนโยบายเน้นหนักของกรมราชทัณฑ์และกระทรวงยุติธรรมตลอดมา โดยมีมาตรฐาน การปฏิบัติงานและกลไกในการตรวจสอบหลายระดับ เพื่อให้เกิดความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และมีความเป็นธรรมสำหรับผู้ต้องขังทุกคน 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X