อิสราเอลจะรับผิดชอบด้านความมั่นคงทั้งหมด (ในกาซา) อย่างไม่มีระยะเวลาจำกัด… เพราะเราได้เห็นแล้วว่าเกิดอะไรขึ้นเมื่อเราไม่ได้เข้ามารับผิดชอบด้านความมั่นคงนี้
เบนจามิน เนทันยาฮู นายกรัฐมนตรีอิสราเอล
7 พฤศจิกายน 2023
ในวาระครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์การโจมตีอิสราเอลโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมานั้น สถานการณ์ความรุนแรงจากปฏิบัติการทางทหาร โดยเฉพาะการโจมตีทางอากาศของอิสราเอลต่อเป้าหมายในกาซา ได้นำไปสู่ความสูญเสียของประชาชนชาวปาเลสไตน์เป็นจำนวนมาก ดังจะเห็นได้ว่าตัวเลขของผู้เสียชีวิตชาวปาเลสไตน์ในวันครบรอบ 1 เดือนสูงถึง 10,328 คน ในจำนวนนี้เป็นเด็ก 4,237 คน และมีผู้เจ็บรวมทั้งสิ้น 25,965 คน (ตัวเลขจากคำแถลงของกระทรวงสาธารณสุขในกาซา) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับความสูญเสียที่เกิดในสงครามยูเครนจะเห็นถึงความรุนแรงที่เกิดขึ้นมากกว่าจากกรณีในกาซา กล่าวคือมีพลเรือนเสียชีวิตในสงครามยูเครนราว 22,000 คน (ตัวเลขสหประชาชาติอ้างอิงจาก The Guardian ณ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2023)
อีกทั้งพื้นที่ของกาซายังประสบปัญหาความขาดแคลนสิ่งที่เป็นพื้นฐานของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นน้ำ อาหาร หรือไฟฟ้า และจากรายงานทางการแพทย์พบว่า คนในพื้นที่กำลังเผชิญกับปัญหาร่างกายขาดน้ำ (Dehydration) และขาดสารอาหาร (Malnutrition) โดยเฉพาะที่เกิดกับเด็กๆ และสิ่งที่เกิดกลายเป็น ‘วิกฤตทางด้านมนุษยธรรม’ ของโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ภาพที่เห็นจากการโจมตีทางทหารทำให้เกิดคำถามอย่างมีนัยสำคัญว่า หากปฏิบัติการทางทหารไปถึงจุดสิ้นสุดแล้ว อิสราเอลจะดำเนินการอย่างไรกับพื้นที่ของกาซา แน่นอนว่าคำถามนี้เป็นประเด็นที่ถูกถามมาก่อนวาระครบรอบ 1 เดือนของเหตุการณ์ ‘10/7’ แล้ว (เรียกเป็นเชิงสัญลักษณ์ตัวเลขในแบบสหรัฐอเมริกา เช่นเดียวกับเหตุการณ์การโจมตีเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ที่เรียกว่า ‘9/11’)
แต่ในวาระนี้เอง นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ได้แถลงอย่างชัดเจนว่า อิสราเอลจะกลับเข้าไป “รับผิดชอบความมั่นคงทั้งหมดในกาซา” และเป็นการดำเนินการแบบ ‘ตลอดไป’ (ดูคำแปลถ้อยแถลงของนายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูในข้างต้น – คำแปลเป็นของผู้เขียน) การกล่าวเช่นนี้ไม่อาจคิดเป็นอื่นไปได้ นอกจากเป็นการส่งสัญญาณว่า อิสราเอลจะกลับเข้าไปยึดครองกาซาอีกครั้งและจะเป็นการอยู่ตลอดไปด้วย (Israel will for an indefinite period… have the overall security responsibility (in Gaza)…)
การมีถ้อยแถลงเช่นนี้ทำให้ต้องคิดย้อนกลับไปถึง ‘การลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์’ (Palestinian Uprising) ในกาซา หรือ ‘อินติฟาดา’ (Intifada) ซึ่งได้เกิดขึ้นมาแล้ว 2 ครั้ง คือ ในปี 1988 และ 2002 และต่อมาในปี 2005 อิสราเอลได้ตัดสินใจถอนตัวออกจากการยึดครองฉนวนกาซา ซึ่งอิสราเอลได้เข้ามาควบคุมพื้นที่นี้นับตั้งแต่ได้รับชัยชนะใน ‘สงคราม 6 วัน’ (The Six-Day War) ในปี 1967 กล่าวอีกนัยหนึ่งได้ว่า อิสราเอลเคยยึดครองกาซามาแล้วนานถึง 38 ปี ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าระยะเวลาเช่นนี้ไม่น้อยเลย แต่ในที่สุดอิสราเอลก็ได้ถอยออกไปดังที่กล่าวมาแล้ว
ถ้าอิสราเอลตัดสินใจหวนคืนสู่การยึดครองฉนวนกาซาอีกครั้งภายหลังจากปฏิบัติการทางทหารหลังเหตุการณ์ 10/7 แล้ว ก็คาดเดาได้เลยว่าอิสราเอลจะต้องเผชิญกับการลุกขึ้นสู้ของชาวปาเลสไตน์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ดังนั้นบทความนี้จะนำเสนอประเด็นเรื่อง ‘การลุกขึ้นสู้’ (Uprising) ในฐานะของการเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ เนื่องจากเห็นได้ชัดเจนว่าการลุกขึ้นสู้เป็นเครื่องมือทางการเมืองชุดสำคัญที่ชาวปาเลสไตน์ใช้ต่อสู้กับการยึดครองของอิสราเอลมาโดยตลอด และบางทีเราอาจกล่าวเปรียบเทียบได้ว่า เหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 เป็นเสมือนกับ ‘การลุกขึ้นสู้ครั้งที่ 3’ ของชาวปาเลสไตน์นั่นเอง
สงครามอาหรับ-อิสราเอล
หากมองจากประวัติศาสตร์แล้ว จะเห็นได้ว่าสงครามระหว่างอาหรับกับอิสราเอล (The Arab-Israeli War) ครั้งแรกเกิดในวันที่ประกาศการก่อตั้ง ‘รัฐอิสราเอล’ ในเดือนพฤษภาคม ปี 1948 ด้วยการเปิดการโจมตีของสันนิบาตอาหรับ (The Arab League) สงครามจบลงในเดือนมกราคม ปี 1949 ด้วยการลงนามหยุดยิงระหว่างอียิปต์กับอิสราเอล และตามมาด้วยการลงนามหยุดยิงของชาติอาหรับอื่นๆ
โดยผลของสงครามคงต้องถือว่าสันนิบาตอาหรับแพ้ เพราะรัฐอิสราเอลสามารถอยู่รอดได้ แต่ผลที่เกิดขึ้นอย่างมีนัยสำคัญสำหรับชาวปาเลสไตน์คือ ประเทศของพวกเขาหายไปทันที และตามมาด้วยผู้อพยพชาวปาเลสไตน์ที่มีจำนวนมากกว่า 750,000 คน และยังส่งผลอย่างสำคัญให้เกิด ‘การปฏิวัติอาหรับ’ (The Arab Revolution) ที่ล้มระบอบการปกครองเก่าของอียิปต์ และพานายทหารผ่านศึกอย่าง นายพลกามาล อับเดล นัสเซอร์ ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำ และเป็นต้นทางของระบอบการปกครองของทหารในอียิปต์
สำหรับชาวปาเลสไตน์แล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นเป็น ‘หายนะ’ ทั้งทางการเมืองและสังคม โดยในทางการเมืองนั้นประเทศที่เป็นถิ่นฐานเดิมของพวกเขาหายไป พร้อมกับการถือกำเนิดขึ้นของประเทศอิสราเอล และการอยู่ในสถานะของการ ‘ไร้รัฐ’ ได้กลายเป็นปัญหาการเมืองที่สำคัญในภูมิภาคและในโลก ส่วนในทางสังคมนั้นชาวปาเลสไตน์กลายเป็น ‘คนไร้รัฐ’ ไปโดยปริยาย และประเด็นเช่นนี้ทำให้เกิด ‘ขบวนการเมือง’ ของชาวปาเลสไตน์ หรือที่รู้จักในชื่อของ ‘ขบวนการเพื่อการปลดปล่อยปาเลสไตน์’ (The Movement for the Liberation of Palestine หรือ PLO) ที่ก่อตั้งในปี 1965 และนับจากช่วงเวลาดังกล่าวปัญหาปาเลสไตน์ค่อยๆ ถูกยกระดับขึ้นเป็นประเด็นหนึ่งในการเมืองโลก
ต่อมาในเดือนกรกฎาคม ปี 1956 สงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 2 เกิดขึ้นจากปัญหา ‘วิกฤตการณ์คลองสุเอซ’ (The Suez Crisis) โดยกองทัพอิสราเอลซึ่งได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษและฝรั่งเศสตัดสินใจส่งกำลังทหารเข้ายึดฉนวนกาซาและคาบสมุทรไซนาย เพราะอังกฤษและฝรั่งเศสไม่พอใจกับนโยบายของรัฐบาลอียิปต์ในการยึด ‘บริษัทคลองสุเอซ’ ที่มีอังกฤษและฝรั่งเศสเป็นผู้ถือหุ้น
การสู้รบดำเนินไปเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์ 2 วัน ตั้งแต่วันที่ 29 ตุลาคม – 7 พฤศจิกายน 1956 และอิสราเอลเป็นฝ่ายที่ได้รับชัยชนะ
หลังจากสงครามอาหรับ-อิสราเอลเกิดขึ้นถึงสองครั้งแล้ว สถานการณ์ในภูมิภาคมีความหวาดระแวงกันมากขึ้นระหว่างทั้งสองฝ่าย และความหวาดระแวงเช่นนี้ทำให้การแจ้งเตือนอียิปต์จากทางสหภาพโซเวียตในปี 1967 เกิดข้อมูลที่ผิดพลาดขึ้นว่า อิสราเอลเตรียมจะเปิดการโจมตีซีเรีย ผู้นำอียิปต์จึงตัดสินใจเคลื่อนกำลังยานเกราะเข้าไปในคาบสมุทรไซนาย ซึ่งอิสราเอลมองว่าการเคลื่อนกำลังพลเช่นนี้เป็นการละเมิดคำสัญญาในปี 1957 และอิสราเอลตัดสินใจตอบโต้ด้วยการใช้กำลังทางอากาศเปิดการโจมตีขนาดใหญ่ และการใช้ ‘นภานุภาพ’ (Air Power) ที่ประสบความสำเร็จอย่างมาก เพราะทำลายเครื่องบินรบของกองทัพอากาศอียิปต์เกือบหมดทั้งกองทัพ และกองทัพอิสราเอลยังประสบความสำเร็จในการรบทางบกโดยการใช้กำลังทางอากาศสนับสนุนด้วย
การรบดำเนินจากวันที่ 5 มิถุนายน และสิ้นสุดในวันที่ 10 มิถุนายน 1967 รวมระยะเวลาการรบทั้งสิ้น 6 วัน จึงเรียกการรบในครั้งนี้ว่า ‘สงคราม 6 วัน’ หรือสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 3 ซึ่งผลจากสงครามทำให้อิสราเอลประสบชัยชนะ และสามารถครอบครองดินแดนในส่วนของฉนวนกาซาและที่ราบสูงโกลัน การครอบครองดินแดนอันเป็นผลจากสงครามเช่นนี้เป็นต้นทางที่สำคัญประการหนึ่งของปัญหา
การรบใหญ่ระหว่างรัฐอาหรับกับอิสราเอลเกิดขึ้นอีกครั้งในเดือนตุลาคม ปี 1973 หรือที่เรียกกันว่า ‘สงครามยมคิปปูร์’ (The Yom Kippur War) ถือเป็นสงครามอาหรับ-อิสราเอลครั้งที่ 4 โดยในช่วงต้นของสงครามนั้นกองทัพผสมอียิปต์-ซีเรียประสบความสำเร็จในการรุกอย่างรวดเร็ว แต่ในที่สุดกองทัพอิสราเอลด้วยการสนับสนุนทางทหารจากสหรัฐอเมริกา จึงสามารถยันการรุกของฝ่ายอาหรับได้ และถือเป็นความสำเร็จครั้งสำคัญอีกประการหนึ่งของกองทัพอิสราเอล ที่แม้จะดูเหมือนเพลี่ยงพล้ำในช่วงต้นสงคราม แต่กลับสามารถยันการรุกและเปิดการรุกกลับทางทหารได้อย่างมีประสิทธิภาพ
การรบเกิดขึ้นระหว่างวันที่ 6-25 ตุลาคม 1973 และมีพื้นที่การรบหลักอยู่ในบริเวณทะเลทรายไซนายและที่ราบสูงโกลัน ชัยชนะของอิสราเอลทำให้ดูเหมือนโลกอาหรับเป็นฝ่ายที่ ‘เสียหน้า’ อย่างมาก เพราะแพ้สงครามใหญ่ถึงสองครั้ง แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ทำให้ผู้นำอิสราเอลยอมรับความจริงในทางการเมืองว่า กองทัพอิสราเอลอาจจะไม่ชนะเสมอไปในอนาคต หรือชัยชนะทางทหารที่เกิดขึ้นอย่างเดียวอาจจะไม่ใช่ปัจจัยที่หยุดยั้งการเกิดสงครามในอนาคตได้จริง
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าใน ‘สงครามตามแบบ’ ทั้ง 4 ครั้ง อิสราเอลประสบความสำเร็จทางทหารอย่างมาก และทำให้อิสราเอลบรรลุวัตถุประสงค์ตามที่ต้องการในหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้าไปครอบครองดินแดนของชาวปาเลสไตน์แต่ดั้งเดิม ทั้งฉนวนกาซาและพื้นที่ทางฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน
ความสำเร็จในสงครามของอิสราเอลทำให้เกิดคำถามว่า ถ้าชาวปาเลสไตน์ในพื้นที่ยึดครอง เช่น ในกาซา ตัดสินใจที่จะต่อสู้กับอิสราเอลแล้ว พวกเขาจะต่อสู้อย่างไร เพราะสงครามใหญ่ทั้ง 4 ครั้ง ฝ่ายโลกอาหรับเป็นฝ่ายแพ้ทั้งหมด… การต่อสู้ด้วยสงครามแบบเดิมอาจไม่ใช่คำตอบสำหรับชัยชนะอย่างแน่นอน!
อินติฟาดาของชาวปาเลสไตน์
ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ผลจากชัยชนะในสงครามทำให้อิสราเอลยึดครองพื้นที่ทั้งฉนวนกาซาและพื้นที่ด้านตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดน ภาวะเช่นนี้ทำให้เกิดการขยาย ‘นิคมชาวยิว’ และกลายเป็นความขัดแย้งที่สำคัญระหว่าง ‘ชาวนิคม’ ซึ่งมักจะเป็นพวกฝ่ายขวาในการเมืองอิสราเอล กับชาวปาเลสไตน์ที่เป็นเจ้าของพื้นที่ และทิศทางเช่นนี้ยังสอดรับกับชัยชนะของพรรคปีกขวาจัดของอิสราเอลในปี 1977 อันส่งผลให้เกิดความตึงเครียดในพื้นที่มากขึ้น ประกอบกับการปรากฏตัวของคนรุ่นใหม่ที่เป็นชาวปาเลสไตน์และเป็นนักกิจกรรมทางการเมืองด้วย แต่ก็ไม่ตอบรับกับทิศทางเดิมที่นำโดยผู้นำ PLO
จนกระทั่งเกิดปัญหาอุบัติเหตุรถบรรทุกชนกันในเดือนธันวาคม ปี 1987 และมีผู้เสียชีวิตที่เป็นชาวปาเลสไตน์ 4 คน ปัญหานี้ถูกมองว่าเป็นการแก้แค้นที่เกิดจากเหตุการณ์ชาวยิวถูกแทงเสียชีวิตในกาซาไม่กี่วันก่อนหน้านั้น ผลที่ตามมาคือการก่อจลาจลในเดือนมกราคม ปี 1988 ด้วยการขว้างปาก้อนหินและระเบิดเพลิงใส่ทหารอิสราเอล และยกระดับขึ้นด้วยการใช้อาวุธและระเบิดมือ ความรุนแรงที่เพิ่มมากขึ้นเช่นนี้ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการตอบโต้การใช้กำลังของเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารอิสราเอลในการใช้อาวุธกระทำกับชาวปาเลสไตน์
ผลจากการลุกขึ้นสู้ครั้งใหญ่ หรือเกิด ‘อินติฟาดาครั้งที่ 1’ อันทำให้ชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตจำนวนมาก ประเมินว่าน่าจะราวเกือบ 2,000 คน (ตัวเลขการประเมินจากองค์กรสิทธิมนุษยชนของอิสราเอล) แต่ก็ใช่ว่าอิสราเอลจะสามารถปราบปรามการลุกขึ้นสู้เช่นนี้ได้ และผลในทางกลับกันคืออิสราเอลได้รับความเสียหายทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จนทำให้รัฐบาลใหม่ของอิสราเอลต้องหันมาเปิดการเจรจาสันติภาพกับ PLO โดยมีรัฐบาลนอร์เวย์เป็นผู้อำนวยความสะดวก และเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘ข้อตกลงออสโล’ (The Oslo Accords) ที่ดำเนินการในช่วงระหว่างปี 1993-1995
ถ้ามองในทางการเมืองแล้ว อินติฟาดาครั้งแรกเป็นความสำเร็จของชาวปาเลสไตน์ เพราะทำให้รัฐบาลอิสราเอลยอมรับสิทธิของชาวปาเลสไตน์ และยินยอมที่จะจัดตั้ง ‘คณะผู้บริหารปาเลสไตน์’ (The Palestinian Authority หรือ PA ที่มีนัยหมายถึงรัฐบาลของชาวปาเลสไตน์) อีกทั้งอิสราเอลยังยอมที่จะถอนตัวออกจากทั้งกาซาและฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนอีกด้วย
สิ่งที่สำคัญที่สุดจากความตกลงในครั้งนี้คือ การเตรียมการที่จะให้เกิดการอยู่ร่วมกันอย่างสันติระหว่างรัฐอิสราเอลและรัฐปาเลสไตน์ หรือแนวคิดที่เรียกว่า ‘The Two-State Solution’ (หรืออาจเรียกว่าเป็น ‘ข้อยุติปัญหาแบบสองรัฐ’ ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสันติ)
ดังนั้นไม่แปลกเลยว่า หลังจากการมาของข้อตกลงออสโลและแนวคิดแบบสองรัฐนี้แล้ว หลายคนมีความฝันถึง ‘สันติภาพในตะวันออกกลาง’ ที่มีนัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างรัฐอิสราเอลกับรัฐปาเลสไตน์ และในความฝันชุดนี้จึงมีทั้งการเจรจาและความรุนแรงเกิดคู่ขนานกันไป พร้อมกับการมาขององค์กรการเมืองใหม่คือ ‘ฮามาส’ (Hamas) และเข้ามาทดแทนบทบาทที่อ่อนลงของ PLO
ในที่สุดความรุนแรงหวนกลับคืนอีกครั้ง… การก่อเหตุระเบิดฆ่าตัวตายในเดือนมีนาคม ปี 2002 ที่ทำให้ชาวยิวเสียชีวิตถึง 30 คน ถือเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘อินติฟาดาครั้งที่ 2’ และเหตุการณ์นี้มีความรุนแรงมากขึ้น ซึ่งประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตมากถึง 4,300 คน และยังมีการสังหารตัวบุคคลที่เป็นผู้ปฏิบัติการทางทหารและผู้นำทางการเมืองชาวปาเลสไตน์มากกว่า 200 คน และเหตุการณ์ความรุนแรงดำเนินสืบต่อเนื่อง จนลดระดับลงสุดในปี 2005
ผลในทางการเมืองจากการลุกขึ้นสู้ครั้งที่ 2 ทำให้ ‘รัฐบาลปาเลสไตน์’ (PA) ไม่ได้รับความศรัทธาจากประชาชน อีกทั้งเป็นที่รับรู้กันถึงการคอร์รัปชันในรัฐบาลดังกล่าว จึงส่งผลให้คะแนนเสียงเทไปให้กับกลุ่มฮามาส และทำให้ฮามาสชนะการเลือกตั้งในปี 2006 พร้อมกับจัดตั้งรัฐบาลในกาซาในปี 2007 แม้จะไม่สามารถตั้งรัฐบาลในฝั่งตะวันตกของแม่น้ำจอร์แดนได้ก็ตาม
เหตุการณ์อินติฟาดาทั้งสองครั้งชี้ให้เห็นว่าอิสราเอลไม่ได้เป็นฝ่ายชนะ และฝ่ายปาเลสไตน์ต่างหากที่ได้รับผลตอบแทนทางยุทธศาสตร์จากการนี้ โดยเฉพาะผลตอบแทนทางการเมืองที่เกิดกับกลุ่มฮามาสด้วย และหากพิจารณาอีกมุมจะเห็นได้ว่า อินติฟาดาที่เป็นเสมือนดัง ‘สงครามนอกแบบในเมือง’ นั้นให้ผลตอบแทนทางการเมืองแก่ชาวปาเลสไตน์มากกว่าการทำ ‘สงครามตามแบบ’ ของบรรดารัฐอาหรับ และทำให้ปัญหาของชาวปาเลสไตน์ถูกยกขึ้นมาบนเวทีโลกมากขึ้น อีกทั้งยังเห็นเพิ่มอีกด้วยว่า การสิ้นสุดของการลุกขึ้นสู้ครั้งที่ 2 ที่จบลงในปี 2005 นั้นเป็นปีที่กองทัพอิสราเอลได้ถอนตัวออกจากการยึดครองกาซาด้วย
อินติฟาดาครั้งที่ 3
แต่หลังจากการถอนกำลังของอิสราเอลออกจากกาซาในปี 2005 แล้ว สถานการณ์ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสดูจะไม่เป็นไปในทิศทางบวกมากนัก โดยเฉพาะความขัดแย้งที่ขยายตัวเป็นสงคราม หรือที่เรียกกันว่า ‘สงครามกาซา 2014’ (The 2014 Gaza War, 8 July – 26 August 2014) และเป็นสงครามที่มีความรุนแรงอีกแบบ แม้จะไม่ใช่การรบใหญ่แบบในปี 1967 หรือ 1973 ก็ตาม
ในสงครามกาซาครั้งนี้ กลุ่มฮามาส กลุ่มปาเลสไตน์จิฮัด (PIJ) และกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ยิงจรวดและปืนครกใส่เป้าหมายในอิสราเอลเป็นจำนวนมากถึง 4,564 ลูก และถูกทำลายกลางอากาศด้วยระบบป้องกันทางอากาศของอิสราเอล (หรือระบบ Iron Dome) เป็นจำนวนถึง 735 ลูก แต่การยิงของกลุ่มเหล่านี้จากกาซาขาดความแม่นยำอย่างมาก และอาวุธบางส่วนตกใส่บ้านเรือนของชาวปาเลสไตน์เอง ขณะเดียวกันอิสราเอลทำลายเป้าหมาย 5,263 แห่งในกาซา และในจำนวนนี้เป็นอุโมงค์ 34 จุด พร้อมทั้งอาวุธอีกส่วนถูกทำลาย และมีชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตมากกว่า 2,000 คน และบาดเจ็บประมาณ 10,000 กว่าคน แม้การรบจะยุติลงด้วยการที่ทั้งสองบรรลุข้อตกลงในการหยุดยิงได้ในวันที่ 26 สิงหาคม 2014 แต่สิ่งที่เกิดขึ้นในครั้งนี้ก็บ่งบอกถึงความเปราะบางของปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาสและปาเลสไตน์ได้
ภาวะของการยุติความรุนแรงเช่นนี้อาจจะตอบไม่ได้ว่าใครเป็นผู้ชนะในสงคราม หากแต่การหยุดยิงดังกล่าวเป็นเสมือนกับการ ‘พักรบชั่วคราว’ เพราะคาดเดาได้ว่าความรุนแรงอาจหวนกลับคืนได้ไม่ยาก เนื่องจากปัญหาพื้นฐานจากความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ไม่ได้รับการแก้ไข และยังคงมีปัญหาเกิดตามมาเป็นระยะ เสมือนรอเวลาที่ปัญหาจะปะทุเป็นความรุนแรงขนาดใหญ่อีกในอนาคต
แล้วในวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ความรุนแรงก็หวนกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับฮามาส-ปาเลสไตน์อีกครั้งอย่างไม่คาดคิด กลุ่มฮามาสได้เปิดปฏิบัติการทางทหารชุดใหญ่อย่างที่ไม่เคยเห็นมาก่อน (The Operation Al-Aqua Flood) มีการโจมตีทางอากาศด้วยการยิงจรวดมากกว่า 5,000 ลูกใส่เป้าหมายในอิสราเอล ตามด้วยการโจมตีทางบกในการบุก ‘นิคมชาวยิว’ ประมาณว่ากลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธที่เข้าร่วมใช้กำลังปฏิบัติการราว 3,000 คนทำให้ชาวอิสราเอลถูกกราดยิงอย่างไม่จำแนก และเสียชีวิตประมาณ 1,400 คน ซึ่งมีชาวยิวและคนสัญชาติอื่นๆ จาก 44 ประเทศถูกจับเป็นตัวประกันมากกว่า 200 คน
อิสราเอล ‘ประกาศสงคราม’ กับฮามาสในวันถัดมา และตามมาด้วยการโจมตีทางอากาศอย่างหนัก ส่งผลให้ชาวปาเลสไตน์ในกาซาในช่วง 30 วันแรกของสงครามต้องเสียชีวิตไปแล้วมากกว่า 10,000 คน และสถานการณ์สงครามยังคงดำเนินต่อไป พร้อมกับผลกระทบทางด้านมนุษยธรรมอย่างหนักมาก อันอาจส่งผลให้ความเห็นใจที่สังคมระหว่างประเทศมีต่อเหตุการณ์การโจมตีอิสราเอลนั้นลดลงจากภาพที่ปรากฏผ่านสื่อต่างๆ และมีความเห็นใจต่อชาวปาเลสไตน์มากขึ้น
ฉะนั้นผลสืบเนื่องจากสงครามในปี 2023 ทำให้เราอาจกล่าวได้ว่า ‘สงครามกาซา’ และปัญหาของชาวปาเลสไตน์ในครั้งนี้ จะเป็นปัจจัยสำคัญของการเมืองโลกในปี 2024 อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาความช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม รวมถึงการบูรณะฟื้นฟูกาซา และทั้งหมดนี้ปัญหาที่สำคัญที่สุดในทางการเมืองคือ สงครามจะสิ้นสุดลงแบบใด… อิสราเอลจะกลับมายึดครองกาซาอีกหรือไม่… ถ้ายึดครองแล้วจะส่งผลอย่างไรต่อความสัมพันธ์ระหว่างอิสราเอลกับรัฐอาหรับและการเมืองของภูมิภาคตะวันออกกลางในอนาคต
แต่หากเรามองในบริบทสำหรับการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์แล้ว เหตุการณ์การโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมที่ผ่านมา อาจถือเป็นดั่ง ‘อินติฟาดาครั้งที่ 3’ ก็คงไม่ผิดนัก อันเป็นการลุกขึ้นสู้ที่มีนัยสำคัญทั้งกับการเมืองในตะวันออกกลางเองและในโลกด้วยอย่างหนีไม่พ้น!