×

Thierry Mugler ศึกษาตำนานตัวจริงแห่งวงการแฟชั่นที่กลับมาขับเคลื่อนวัฒนธรรมอีกครั้ง

โดย OPOLOP POPPY
21.03.2019
  • LOADING...
Thierry Mugler

HIGHLIGHTS

8 Mins. Read
  • ความรักในศาสตร์แห่งการรังสรรค์อาภรณ์ของ เธียร์รี มูแกลร์ เกิดจากการที่เจ้าตัวชื่นชมศิลปะการแสดงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับบัลเลต์และโอเปรา ส่งผลให้หนูน้อย เธียร์รี มูลแกลร์ ในวัยไม่ถึงสิบขวบ ตัดสินใจเข้าศึกษาคลาสสิกแดนซ์
  • เขาเริ่มสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาเป็นคอลเล็กชันแรกโดยใช้ชื่อว่า ‘Cafe de Paris’ ซึ่งเข้าตา เมลกา เตรอองตัน บรรณาธิการผู้ทรงอิทธิพลจากนิตยสาร Elle ที่คอยเฟ้นหานักออกแบบหน้าใหม่ผู้เปี่ยมด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์ และสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นจนประสบความสำเร็จ
  • เธียร์รี มูแกลร์ กลายเป็นดีไซเนอร์แบรนด์ที่ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุค 80-90 เช่นเดียวกับดีไซเนอร์แบรนด์ในช่วงเวลานั้น อาทิ โคลด มอนทานา, ฌอง ปอล โกลติเยร์, อาซ์เซอดีน อาลาญา และ จานนี เวอร์ซาเช่
  • ผลงานการออกแบบสุดท้ายของ เธียร์รี มูแกลร์ สำหรับแบรนด์ของเขาเองคือ คอลเล็กชันเสื้อสำเร็จรูปคอลเล็กชัน Fall/Winter ประจำปี 2001 (ก่อนจะถอนตัวจากแบรนด์ของตัวเองในอีก 2 ปีถัดมา)
  • ชื่อของ เธียร์รี มูแกลร์ ก็ถูกพูดถึงอีกครั้ง เมื่อปี 2002 เธียร์รี มูแกลร์ ได้ร่วมงานกับคณะละครสัตว์ชื่อดัง Cirque du Soleil ในฐานะคอสตูมดีไซเนอร์ รับเป็นที่ปรึกษาด้านองค์ประกอบศิลป์สำหรับทัวร์คอนเสิร์ตของ บียอนเซ่ ในปี 2009

 

Thierry Mugler

เธียร์รี มูแกลร์ ปี 1999

 

 

ปลายปีที่ผ่านมา ผมนำเสนอบทความที่ว่าด้วยเรื่องราวของแพสชันและความประทับใจที่มีต่อกูตูริเยร์รุ่นใหญ่ ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้นำของกระแสแฟชั่นยุค 80 นามว่า ฌอง ปอล โกลติเยร์ ดังนั้นในวันนี้ผมจะขอนำเสนอเรื่องราวต่อเนื่องเรื่องของการค้นพบแพสชันและ ‘จุดพอใจในชีวิต’ ของนักออกแบบรุ่นใหญ่อีกราย ที่แม้วางมือจากการทำเสื้อสำเร็จรูปและอาภรณ์ชั้นสูงไปนานเกือบ 20 ปี แต่ชื่อของเขายังคงถูกพูดถึงอยู่ตลอดเวลา

 

โดยเฉพาะในปีนี้ เพราะผลงานการออกแบบคอสตูมหรูหราอลังการสำหรับโชว์ต่างๆ ที่เจ้าตัวถนัดและโปรดปราน การที่มีนักออกแบบคลื่นลูกใหม่นำผลงานเก่าที่เคยประทับใจมาใช้เป็นภาพจำตั้งต้นในการออกแบบผลงาน เพื่อให้สาวๆ ในทศวรรษที่ 2010s ได้สวมใส่กัน การที่มีนักร้อง นักแสดงระดับแถวหน้าของวงการฮอลลีวูด เซเลบริตี้ระดับเอลิสต์ที่มียอดติดตามบนโลกโซเชียลมีเดียหลายล้านคน ต่างควานหาชิ้นวินเทจผลงานการออกแบบของเขามาสวมใส่ไปเฉิดฉายบนพรมแดงจนกลายเป็นกระแส และล่าสุดกับนิทรรศการใหญ่ของเจ้าตัวที่เพิ่งเปิดให้ชมกันที่ Musee des Beaux-Arts de Montreal ประเทศแคนาดา ก่อนจะหมุนเวียนไปยังเมืองต่างๆ โดยเป็นการรวบรวมชิ้นไอคอนิกที่เชื่อว่า คนแฟชั่นทั้งรุ่นเก่าและใหม่เห็นแล้วก็คงประทับใจไปตามๆ กัน ซึ่งบุคคลที่ผมกล่าวเกริ่นนำด้วยการเยินยอที่ว่านั้นคือเจ้าของฉายา ‘ราชาแห่ง The Show’ ที่ชื่อว่า เธียร์รี มูแกลร์

 

จุดเริ่มต้นในอาชีพแฟชั่นดีไซเนอร์ของนักออกแบบวัย 70 ปีผู้นี้ มีความคล้ายคลึงกับดีไซเนอร์ที่ประสบความสำเร็จอีกหลายคน นั่นคือการมีแพสชัน หรือความหลงใหลในโลกศิลปะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ซึ่งความรักในศาสตร์แห่งการรังสรรค์อาภรณ์ของ เธียร์รี มูแกลร์ เกิดขึ้นจากการที่เจ้าตัวชื่นชมศิลปะการแสดงทุกรูปแบบ โดยเฉพาะกับบัลเลต์และโอเปรา ส่งผลให้หนูน้อย เธียร์รี มูแกลร์ ในวัยไม่ถึงสิบขวบ ตัดสินใจเข้าศึกษาคลาสสิกแดนซ์ และด้วยความมุ่งมั่นและตั้งใจ ทำให้ในที่สุดก็ไต่ระดับไปสู่การได้ร่วมงานกับคณะบัลเลต์ The Opera National Du Rhin ตามที่คาดหวังไว้ได้เป็นผลสำเร็จ แต่ไม่เพียงแค่ศาสตร์ของการแสดงเพียงเท่านั้น เธียร์รียังมีความสนใจในด้านการออกแบบตกแต่งภายใน จึงเข้ารับการศึกษาด้านศิลปะเฉพาะทางที่ Strasbourg School of Decorative Arts ในบ้านเกิด

 

หลังสำเร็จการศึกษาและชีวิตยังเต็มไปด้วยแรงศรัทธาในโลกของศิลปะ ทำให้ในวัย 20 ปี เธียร์รีตัดสินใจมุ่งสู่กรุงปารีส เพื่อสั่งสมประสบการณ์ด้านการออกแบบ จากจุดเริ่มต้นที่ทำงานเป็นช่างภาพและตกแต่งหน้าร้านให้กับบูติกเสื้อผ้าที่ไม่ใหญ่มากนัก เพียงไม่กี่ปีต่อมา ก็ผันตัวสู่การเป็นนักออกแบบอิสระ รับออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้บูติกในเมืองหลวงของแฟชั่นโลก ทั้งกรุงปารีส มิลาน และลอนดอน

 

Thierry Mugler

เธียร์รี มูแกลร์ ในวัยหนุ่ม ขณะเริ่มงานเป็นมือปืนรับจ้างออกแบบเสื้อผ้าสำเร็จรูปให้บูติกหลายแห่ง

 

Thierry Mugler

ร้านในปารีส

 

ในปี 1973 ขณะที่ เธียร์รี มูแกลร์ มีอายุ 25 ปี นอกจากกำลังสั่งสมประสบการณ์ด้านการออกแบบเสื้อผ้าให้กับบูติกดังในเมืองต่างๆ แล้ว เขายังเริ่มสร้างผลงานของตัวเองขึ้นมาเป็นคอลเล็กชันแรก โดยใช้ชื่อว่า ‘Cafe de Paris’ แม้เป็นคอลเล็กชันเล็กๆ แต่ด้วยความสลับซับซ้อนทางด้านเทคนิคที่นำมาใช้ และแรงบันดาลใจที่มาจากเรื่องราวอันงดงามของศิลปะและกรุงปารีส ทำให้ผลงานเข้าตา เมลกา เตรอองตัน บรรณาธิการผู้ทรงอิทธิพลจากนิตยสาร Elle ที่คอยเฟ้นหานักออกแบบหน้าใหม่ ผู้เปี่ยมด้วยพลังแห่งการสร้างสรรค์และสนับสนุนพวกเขาเหล่านั้นจนประสบความสำเร็จ (เธอคือผู้ที่สนับสนุนสุดยอดนักออกแบบแห่งยุค 80 เช่น ฌอง ปอล โกลติเยร์ และ อาซ์เซอดีน อาลาญา)

 

ในปี 1976 เมลกายังชักชวนให้เธียร์รีแสดงผลงานในกรุงโตเกียว ที่จัดขึ้นโดย Shiseido เพื่อแสดงศักยภาพของนักออกแบบฝรั่งเศส ให้เป็นที่ประจักษ์ไปทั่วโลก และด้วยเพราะเสียงตอบรับที่ดีทั้งในบ้านเกิดและอีกหลายประเทศ ทำให้ท้ายที่สุด เธียร์รีตัดสินใจเปิดร้านแรกของตัวเองในปี 1978 ที่ย่าน Place des Victoires พร้อมทั้งเปิดตัวคอลเล็กชันสำหรับคุณสุภาพบุรุษ ภายใต้แนวคิดผู้ชายยุคใหม่ที่ก้าวข้ามกรอบการแต่งกายแบบเดิมๆ สอดคล้องกับแนวคิดการออกแบบเสื้อผ้าสำหรับผู้หญิงด้วยแนวคิด ‘กายวิภาคและความคลาสสิก’

 

Thierry Mugler

ผลงานของ เธียร์รี มูแกลร์ บนปกนิตยสาร Elle ประเทศฝรั่งเศส ฉบับเดือนกันยายน ปี 1979 และสิงหาคม ปี 1981

 

 

เธียร์รี มูแกลร์ กลายเป็นดีไซเนอร์แบรนด์ที่ได้รับความนิยมถึงขีดสุดในยุค 80-90 เช่นเดียวกับดีไซเนอร์แบรนด์ในช่วงเวลานั้น อาทิ โคลด มอนทานา, ฌอง ปอล โกลติเยร์, อาซ์เซอดีน อาลาญา และ จานนี เวอร์ซาเช่ ด้วยเอกลักษณ์ของผลงานที่เน้นความงดงามจากสัดส่วนโค้งเว้าของสรีระ ทำให้นางแบบและนายแบบมีรูปร่างสะโอดสะอง ไหล่ตั้ง เอวคอดกิ่ว สะโพกผาย ดุจรูปทรงของนาฬิกาทราย การใช้เส้นสายที่ได้แรงบันดาลใจมาจากงานสถาปัตยกรรม การนำวัสดุสังเคราะห์และโลหะมารังสรรค์ชิ้นงานที่ได้แรงบันดาลใจมาจากภาพยนตร์แนวไซไฟและนิยายแฟนตาซี บวกด้วยสไตลิงสุดฟู่ฟ่า ทั้งเครื่องประดับที่มี ‘ดวงดาว’ เป็นเอลิเมนต์หลัก ซึ่งถือเป็นซิกเนเจอร์ของแบรนด์ เมกอัพใบหน้า-ทรงผมที่ดูไม่ต่างจากนางโชว์และนางเอกของละครบอร์ดเวย์ รวมทั้งรูปแบบของการจัดโชว์ที่สร้างความตื่นตาตื่นใจด้วยรูปแบบของเวที แสง สี และเอฟเฟกต์ที่นำมาใช้ แบรนด์ Thierry Mugler จึงเป็นที่ถูกพูดถึงและประสบความสำเร็จ จนส่งผลให้สมาพันธ์ห้องเสื้อชั้นสูงแห่งฝรั่งเศส (Chambre Syndicale de la Haute Couture) ทาบทามให้เขาจัดแสดงผลงานคอลเล็กชันชั้นสูงคอลเล็กชันแรกขึ้นในปี 1992 และในปีเดียวกันนี้เองที่เธียร์รีได้ท้าทายศักยภาพของตัวเอง ด้วยการรับหน้าที่ออกแบบคอสตูมและกำกับมิวสิกวิดีโอเพลง Too Funky ของ จอร์จ ไมเคิล ซึ่งกลายเป็นหนึ่งในมิวสิกวิดีโอสุดเก๋แห่งยุค 90s

 

Thierry Mugler

โอต์กูตูร์ Winter ปี 1992 ผลงานเปิดตัวคอลเล็กชันชั้นสูงของแบรนด์ Thierry Mugler

 

Thierry Mugler

ฌอง ปอล โกลติเยร์ (ซ้าย) มาให้กำลังใจ เธียร์รี มูแกลร์ ที่โชว์เดบิวต์โอต์กูตูร์ในปี 1992

 

แต่เมื่อแฟชั่นเป็นเรื่องของกระแสและการแข่งขันทางธุรกิจ ดีไซเนอร์ที่มีชีวิตอยู่เพื่อโลกพาณิชย์ศิลป์จะก้าวเดินต่อไปได้ด้วยผลกำไร กระแสมินิมัลจากแบรนด์ฝั่งสหรัฐอเมริกาเริ่มปกคลุมไปทั่วโลกในช่วงกลางยุค 90s ทำให้แบรนด์ที่เน้นผลงานแบบแม็กซิมัมเริ่มไม่ได้รับความนิยมเหมือนในทศวรรษก่อนหน้า อีกทั้งในช่วงปลายยุค 90s ยังเป็นเวลาที่กระแสของแบรนด์หรูหราเก่าแก่กลับมาพร้อมอำนาจการโฆษณาด้วยเม็ดเงินมหาศาลจากสองบริษัทสินค้าลักชัวรีชั้นนำอาทิ LVMH และ Gucci Group และยังมีเรื่องของพิษเศรษฐกิจโลกที่ทำให้แบรนด์น้อยใหญ่ต่างพากันรัดเข็มขัด โดยลดสเกลโปรดักชันโชว์ และเริ่มลดการนำเสนอผลงานดรามาติก จนอาจดูเหมือนขาดความเป็นตัวตนไปในสายตาของแฟนคลับ ทำให้ดีไซเนอร์แบรนด์ที่เคยได้รับความนิยมถึงขีดสุด เริ่มเผชิญกับขาลงทางธุรกิจและไม่เป็นกระแสอย่างที่แล้วมา

 

ซึ่งแบรนด์ที่ว่านั้นรวมถึง Thierry Mugler ที่ตัวเธียร์รีพยายามแก้ปัญหาในส่วนนี้ด้วยการยอมรับและปรับตัวให้เข้ากับรูปแบบแฟชั่นในช่วงเวลาปัจจุบัน ด้วยการลดทอนรายละเอียดที่ดูวุ่นวายและสไตลิงเกินจริงเช่นที่เคยเป็นมา อีกทั้งยังเปิดตัวไลน์ลำลองที่ใส่ง่ายขึ้นในชื่อว่า MTM Mugler Trademark แต่ดูเหมือนว่าจะไม่ทันการ เพราะท้ายที่สุด Thierry Mugler ก็ต้องหานายทุนมาช่วยพยุงแบรนด์เอาไว้ โดยได้ Clarins Group เข้ามาช่วยสานต่อแบรนด์ Thierry Mugler จากยุคมิลเลนเนียลจนถึงปัจจุบัน

 

Thierry Mugler

โชว์ฉลอง 20 ปี ของ Thierry Mugler ในปี 1995

เต็มไปด้วยชิ้นงานระดับมาสเตอร์พีซที่กลายเป็นแรงบันดาลใจให้นักออกแบบยุคหลัง

 

Thierry Mugler

คอลเล็กชันโอต์กูตูร์ Winter ปี 1997 ของ Thierry Mugler อีกหนึ่งคอลเล็กชันเลื่องชื่อที่ถูกกล่าวถึงอยู่เสมอ

 

ผลงานการออกแบบสุดท้ายของ เธียร์รี มูแกลร์ สำหรับแบรนด์ของเขาเองคือ คอลเล็กชันเสื้อสำเร็จรูปฤดูกาล Fall/Winter ประจำปี 2001 (ก่อนจะถอนตัวจากแบรนด์ของตัวเองในอีก 2 ปีถัดมา) ซึ่งแฟนคลับและสื่อใหญ่ต่างเห็นพ้องต้องกันว่าเป็นการปิดฉากที่ไม่งดงามนัก ด้วยรูปแบบผลงานที่นอกจากจะดูไม่ร่วมสมัยเป็นไปตามความนิยมในช่วงเวลาปัจจุบันแล้ว ยังดูครึ่งๆ กลางๆ ระหว่างการพยายามทำงานโชว์เพื่อทิ้งท้าย แต่ก็เกรงใจนายทุน เพราะกลัวขายไม่ได้ จึงนำชิ้นสร้างชื่อมาตัดทอนรายละเอียดให้ดูเป็นชิ้นขาย แต่ก็ยังนำไปใส่ได้ยากในชีวิตประจำวัน

 

ซึ่งเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจพอคาดเดาได้ว่าเกิดจากอาการถอดใจและเศร้าใจที่จะต้องโบกมือลาอาชีพที่รัก แต่นักออกแบบผู้มากความสามารถและมีความสุขกับการเสพผลงานศิลปะอย่าง เธียร์รี มูแกลร์ ไม่ได้ฝังใจกับเรื่องราวในอดีตนานมากนัก เพราะชีวิตของเขาก้าวเดินต่อไปได้ด้วยการสร้างสรรค์ชิ้นงานศิลปะที่ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงการขายเสื้อผ้าสำเร็จรูปและอาภรณ์ชั้นสูง ทำให้หลังจากวางกรรไกรได้ไม่นาน ชื่อของ เธียร์รี มูแกลร์ ก็เป็นที่พูดถึงอีกครั้ง

 

ในปี 2002 เธียร์รี มูแกลร์ ได้ร่วมงานกับคณะละครสัตว์ชื่อดัง Cirque du Soleil ในฐานะคอสตูมดีไซเนอร์ รับเป็นที่ปรึกษาด้านองค์ประกอบศิลป์สำหรับทัวร์คอนเสิร์ตของ บียอนเซ่ ในปี 2009 และยังกำกับภาพยนตร์โฆษณาน้ำหอมตัวใหม่ของแบรนด์ Thierry Mugler ที่ชื่อว่า Womanity ในปี 2010 เป็นต้น

 

Thierry Mugler

คอลเล็กชันชั้นสูง Summer ปี 1999 ของ Thierry Mugler เริ่มปรับทิศทางจากแนวแม็กซิมัม ที่เน้นชิ้นงานดรามาติกสู่อาภรณ์ที่สวมใส่ได้จริง

 

Thierry Mugler

คอลเล็กชันเสื้อสำเร็จรูปฤดูกาล Fall/Winter 2001 ผลงานสุดท้ายของ Thierry Mugler

 

แม้กระทั่งในปัจจุบันที่คนเสพแฟชั่นยุคใหม่อาจไม่มีประสบการณ์ร่วมในช่วงเวลาที่แบรนด์ Thierry Mugler รุ่งเรืองถึงขีดสุด แต่ผมเชื่อว่า ยังคงได้ยินชื่อ ‘มูแกลร์’ อย่างต่อเนื่อง ทั้งจากน้ำหอมที่ออกใหม่มาเป็นระยะๆ โดยเฉพาะกับกลิ่นแรกอย่าง Angel กับดีไซน์ขวดรูปดาวอันเป็นสัญลักษณ์ของแบรนด์ที่ปล่อยออกมาตั้งแต่ปี 1992 และยังคงได้รับความนิยมจนถึงปัจจุบัน รวมทั้งแบรนด์ Thierry Mugler ภายใต้การดูแลของ Clarins Group ซึ่งพยายามสานต่อมรดกตกทอดที่เธียร์รีทิ้งไว้ ด้วยการหานักออกแบบหน้าใหม่มาร่วมสานตำนานของแบรนด์

 

โดยจุดเปลี่ยนสำคัญนั้นเริ่มขึ้นในปี 2010 เมื่อทางกลุ่มคลาแรงส์ต้องการปรับภาพลักษณ์จากเดิมที่เป็นแบรนด์ดรามาติก สู่แบรนด์แฟชั่นที่ดูร่วมสมัย สวมใส่ได้ในชีวิตจริง แต่ไม่ทิ้งรายละเอียดเป็นซิกเนเจอร์สำคัญๆ มีการตัดชื่อต้นเพื่อให้เหลือไว้เพียง ‘Mugler’ ที่สั้น กระชับ จำได้ง่าย พร้อมทั้งดึงตัว นิโคลา ฟอร์มิเชตติ หนึ่งในสุดยอดสไตลิสต์มาเป็นครีเอทีฟไดเรกเตอร์ ทำงานร่วมกับ โรเมน เครเมอร์ เฮดดีไซเนอร์สินค้าสำหรับสุภาพบุรุษ และ เซบาสเตียน เปนเย่ เฮดดีไซเนอร์สินค้าสำหรับสุภาพสตรี รวมทั้งยังได้ร่วมงานกับศิลปินดังของยุคทั้งจากฝั่งสหรัฐอเมริกาอย่าง เลดี้ กาก้า และฝั่งเกาหลีอย่าง จีดรากอน ที่ทำเพลงพิเศษให้สำหรับโชว์ของ Mugler โดยเฉพาะ

 

Thierry Mugler

Mugler ยุคใหม่ในทศวรรษที่ 2010s ภายใต้วิสัยทัศน์ของ นิโคลา ฟอร์มิเชตติ

 

Thierry Mugler

เลดี้ กาก้า ร่วมเดินแบบคอลเล็กชัน Fall/Winter 2011 ของแบรนด์ Mugler

 

ดังนั้นเมื่อสัปดาห์แฟชั่นฤดูกาลล่าสุดของเมืองใหญ่ อย่างกรุงมิลานและปารีสจบลง สิ่งที่ทำให้ผมดีใจที่สุดคงหนีไม่พ้นการกลับมาของกระแสแฟชั่นจากช่วงทศวรรษที่ 80s หนึ่งในยุคทองของโลกแฟชั่น ที่ช่วงเวลานั้นเหล่าคนสร้างสรรค์ที่เป็นมากกว่านักออกแบบเสื้อผ้า ต่างแสดงศักยภาพที่มีในตัวได้อย่างเต็มที่ โดยไม่มีเรื่องของธุรกิจมาบีบรัดมากเท่าทุกวันนี้

 

อาภรณ์อันงดงามเปรียบดั่งศิลปะที่สวมใส่ได้ ยั่วยวนชวนให้แฟนคลับยอมจ่าย เพื่อได้เสพงานพาณิชย์ศิลป์ของศิลปินที่ตนชื่นชอบ ดีไซเนอร์ชั้นนำกล้าที่จะฉีกกฎการออกแบบและทำสิ่งใหม่ๆ อันเป็นการท้าทายสายตาคนแฟชั่นทั่วโลก เช่น การต่อยอดกระแส Power Dressing จากทศวรรษก่อนหน้า ได้มาซึ่งซิลูเอตไหล่ตั้ง เอวคอด ทั้งดูแข็งแกร่งและเซ็กซี่ การจับลายชนลายแบบที่ไม่จำเป็นต้องไปในทิศทางเดียวกัน ก่อนคอมพลีตลุคด้วยการกระหน่ำแฟชั่นจิวเวลรีให้เต็มเข้าไว้

 

ความ ‘แม็กซิมัม’ เช่นนี้ ทำให้หนุ่มสาวต่างพากันกล้าลองผิดถูก สวมใส่อะไรที่ชอบและมีความสุข กลายเป็นกระแส ‘Bad Taste’ อันมีเสน่ห์ และกลับมาดูเก๋ เท่ ในทศวรรษนี้ ยุคซึ่งการแต่งกายที่ว่าสุดเหวี่ยงยังดู ‘มินิมัล’ มากๆ เมื่อเทียบกับที่คนชื่นชอบแฟชั่นแต่งกันในยุค 80 และยิ่งดูธรรมดามากๆ เมื่อนำไปเทียบกับสิ่งที่แบรนด์แฟชั่นชื่อดังหลายแบรนด์เคยสร้างไว้ นั่นจึงไม่แปลกอะไร หากผลงานของเหล่ากูตูริเยร์รุ่นใหญ่จะกลับมามีอิทธิพลครอบงำทางความคิดของนักออกแบบยุคหลัง ดังที่ผลงานของ เธียร์รี มูแกลร์ ถูกนำมาใช้เป็นแรงบันดาลใจตราบจนปัจจุบัน

 

Thierry Mugler

Thierry Mugler

นิทรรศการของ Thierry Mugler : COUTURISSIME

ที่ Musee des Beaux-Arts de Montreal

 

*ผลงานวินเทจของ เธียร์รี มูแกลร์ กลับมาสร้างกระแสอีกครั้งในปี 2019

 

Thierry Mugler

คาร์ดิ บี สวมชุดของ Thierry Mugler ในปี 1995 ไปร่วมงาน Grammy Awards ปีนี้

 

คิม คาร์ดาเชียน สวมชุดราตรีคอลเล็กชัน Summer ปี 1998 ของ Thierry Mugler ไปร่วมงาน The Hollywood Beauty Awards 2019

 

ผลงานบางส่วนของนักออกแบบยุคหลังที่ทำให้นึกถึงผลงานของ เธียร์รี มูแกลร์ ในอดีต

 

กางเกงลาเทกซ์ของ Thierry Mugler ปี 1995 และ Givenchy Haute Couture Spring 2019

 

ลายกราฟิกของ Thierry Mugler, 1990 และ Balmain คอลเล็กชัน Summer ประจำปี 2019

 

Thierry Mugler

รองเท้า Thierry Mugler คอลเล็กชัน Winter ปี 1989 และ Prada คอลเล็กชัน Summer ปี 2012

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories