กลุ่มธุรกิจการแพทย์เป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างหนัก ทั้งในเรื่องการรับมือกับจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มมากขึ้นจากโรคอุบัติใหม่ ซึ่งไม่สอดคล้องกับจำนวนบุคลากรที่มี และในเรื่องการดำเนินธุรกิจที่ต้องรับมือกับการถูกดิสรัปต์ด้วยเทคโนโลยีเหมือนธุรกิจอื่นๆ โดยผลประกอบการกลุ่มการแพทย์ของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.) เมื่อปี 2563 ที่ผ่านมา สะท้อนภาพผลกระทบได้เป็นอย่างดี
นพ.ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ รองประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป หรือ THG กล่าวว่า ธุรกิจการแพทย์จากนี้ไปจะมีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก โดยในระยะ 20 ปีจากนี้ (2564-2684) จะเห็นรูปแบบธุรกิจการแพทย์ใหม่ๆ อีกมากมาย ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีใครให้ภาพอนาคตได้ชัดเจนนัก แต่ทั้งอุตสาหกรรมล้วนมองว่าเป็นจุดเปลี่ยน (Turning Point) ที่สำคัญ
โดยเฉพาะจุดเปลี่ยนด้านมูลค่าตลาดที่จะใหญ่ขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งมีคาดการณ์ว่า การใช้จ่ายทางการแพทย์จะเพิ่มขึ้นเป็น 15% ต่อ GDP ในปี 2575 หรืออยู่ที่ราว 1.7 ล้านล้านบาท จากปี 2560 ที่อยู่ราว 7% ของ GDP
ปัจจัยที่ทำให้ต้องเปลี่ยนแปลงมาจากเรื่องความก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทำให้ไลฟ์สไตล์ผู้คนเปลี่ยนไป โดยจะเข้าถึงความสะดวกสบายได้มากขึ้น ในต้นทุนที่เข้าถึงได้, โครงสร้างเชิงประชากรที่เปลี่ยนไปสู่สังคมสูงวัย รวมถึงโควิด-19 เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะยังไม่พร้อมก็ตาม
“ในการปรับตัวและการเปลี่ยนแปลงของ THG เราทำมาก่อนหน้านี้แล้วจากการเห็นแนวโน้มสังคมสูงวัย โดยการเปิดศูนย์ที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย เป็นต้น และเมื่อมีโควิดมากระทบ เราก็มีปรับการทำธุรกิจเพราะผู้ใช้บริการส่วนใหญ่ที่เป็นชาวต่างชาติหายไป เราก็ปรับพื้นที่มาให้บริการในประเทศ”
นอกจากการปรับเปลี่ยนโรงพยาบาลและศูนย์การแพทย์เดิมที่มีอยู่แล้ว THG ยังปรับตัวเพื่อรองรับเทรนด์อนาคตด้วยเช่นกัน โดยเฉพาะเทรนด์ Digital Everywhere โดยปัจจุบันมีการเจรจาเพื่อหาทางต่อยอดธุรกิจสู่แพลตฟอร์มดิจิทัล
ขณะเดียวกันยังได้เจรจากับพันธมิตรที่เป็นผู้ประกอบการด้านพลังงานขนาดใหญ่ของประเทศ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้แก่ธุรกิจการแพทย์ โดยคาดว่าจะได้เห็นความชัดเจนในการร่วมมือกับพันธมิตรด้านพลังงานภายในปีนี้
นอกจากนี้ยังไม่ทิ้งโอกาสในการควบรวมหรือเข้าซื้อกิจการธุรกิจโรงพยาบาลขนาดเล็กที่กำลังประสบปัญหาด้านการเงินหรือการดำเนินงาน
ปี 2564 THG จัดสรรงบลงทุนไว้ราว 1.13 พันล้านบาท สำหรับการลงทุนในโครงการเดิม เช่น สร้างอาคารรับผู้ป่วยใหม่ สำหรับโรงพยาบาลธนบุรี 1 และโรงพยาบาลธนบุรี 2 ปรับปรุงอาคารโครงการโรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง และโครงการจิณณ์ เวลบีอิ้งฯ เป็นต้น ส่วนโครงการใหม่ที่เคยศึกษา ยังไม่มีการหยิบมาพิจารณา
ในส่วนของภาพรวม ผลประกอบการปี 2564 THG วางเป้าหมายรายได้รวมเพิ่มขึ้น ประมาณ 7-10% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมกว่า 7.3 พันล้านบาท โดยเป็นการเติบโตจากฐานรายได้ที่ต่ำในปี 2563 และเติบโตตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่ดีขึ้น โดยแผนธุรกิจในปีนี้จะมุ่งเน้นขยายการให้บริการรักษาพยาบาลและดูแลสุขภาพแก่คนในทุกช่วงอายุ วางแผนงานให้เหมาะกับกลยุทธ์การเติบโตของแต่ละธุรกิจ
สำหรับความคืบหน้าเรื่องวัคซีนป้องกันโควิด-19 THG ได้จัดซื้อและนำเข้าวัคซีนของ Sinovac จากประเทศจีนจำนวน 1.5 แสนโดส โดยดำเนินการผ่านองค์การเภสัชกรรม คาดว่าจะได้ช่วงปลายเดือนพฤษภาคมนี้ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายที่จะให้บริการฉีดแก่กลุ่มลูกค้าของโรงพยาบาลที่สนใจ ส่วนเรื่องราคานั้นยังไม่มีการกำหนด แต่ที่ผ่านมามีผู้สนใจจำนวนมาก โดยเฉพาะบริษัทขนาดใหญ่
“หากเปิดโอกาสให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีนได้เอง จะช่วยให้กระจายวัคซีนได้รวดเร็วยิ่งขึ้น เข้าถึงคนหมู่มาก ช่วยให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ได้เร็ว ลดความเสี่ยงของการระบาด และช่วยสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน อีกทั้งยังมีกลุ่มคนบางส่วน โดยเฉพาะในภาคบริการที่มีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ที่แม้ไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงหลัก แต่ต้องพบปะผู้คนจำนวนมาก ก็ต้องการเข้าถึงวัคซีนอย่างรวดเร็วเช่นกัน”
นพ.ธนาธิป กล่าวเพิ่มว่า THG ได้ร่วมมือกับศูนย์วิจัยจุฬาเพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการปลูกกัญชงกัญชาในพื้นที่จังหวัดสระบุรี เนื่องจากมองว่า ภาคการผลิตหรือการปลูกกัญชงกัญชานั้นเป็นคอขวด รองมาคือกระบวนการกลั่น ขณะที่ธุรกิจปลายน้ำนั้นมีค่อนข้างมากและหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าหรือช่องทางบริการ THG จึงเข้าร่วมวิจัยและพัฒนาเพื่อช่วยทุเลาปัญหาด้านปริมาณ
อย่างไรก็ตาม THG ยังไม่เปิดเผยรายละเอียดเกี่ยวกับสินค้าปลายน้ำที่ THG จะเข้าไปมีส่วนร่วมในตลาดกัญชงกัญชา
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล