×

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ ไทยได้ประโยชน์จาก MOU 44 ย้ำไม่มีการเสียดินแดน

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2024
  • LOADING...
สุรเกียรติ์ เสถียรไทย

ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานคณะมนตรีเพื่อสันติภาพและความปรองดองแห่งเอเชีย กล่าวบนเวทีเสวนาหัวข้อ Geopolitical Shifts and Thailand’s Implications บทบาทไทยในเกมอำนาจโลก ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024 วันนี้ (14 พฤศจิกายน) โดยกล่าวถึงประเด็นพื้นที่อ้างสิทธิในไหล่ทวีปทับซ้อนกัน (Overlapping Claims Area: OCA) กับกัมพูชา และกรณี MOU 44 หรือบันทึกความเข้าใจที่กำหนดกรอบการเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเล

 

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า ประเด็นที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องพื้นที่ทับซ้อน แต่เป็นเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ทับซ้อนกัน ซึ่งสาเหตุของการทับซ้อนนั้น เนื่องจากกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยทะเลให้ประกาศเขตเศรษฐกิจออกไปได้ 200 ไมล์ทะเล แต่อ่าวไทยมีความกว้างไม่ถึง 200 ไมล์ทะเล เพราะฉะนั้นเมื่อไทยประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเล จึงเกิดการอ้างสิทธิทับซ้อนกับกัมพูชาที่ประกาศพื้นที่เขตเศรษฐกิจ 200 ไมล์ทะเลเช่นกัน 

 

ขณะที่เขายืนยันว่ากรณีของ OCA ไม่เกี่ยวข้องกับเกาะกูด เนื่องจากสนธิสัญญาสยาม-ฝรั่งเศส ค.ศ. 1907 ระบุชัดเจนว่าเกาะกูดเป็นของไทย เช่นเดียวกับกรณี MOU 44 ที่กำลังเป็นประเด็นวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย ก็ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเรื่องเกาะกูดเช่นกัน แต่ MOU 44 ที่มีเนื้อหาทั้งหมด 1 หน้าครึ่ง เป็นเรื่องการตกลงตั้งคณะกรรมการเจรจาเรื่องสิทธิเรียกร้องที่ทับซ้อนกัน

 

ทั้งนี้ ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ให้เห็นว่า MOU 44 มีข้อดีอย่างน้อย 3 ข้อ ได้แก่

 

  1. เป็นครั้งแรกที่ตั้งคณะกรรมการเจรจา ไม่มีการเสียดินแดน เพราะยังไม่มีการเจรจา
  2. เป็นการบอกว่าจะเจรจาผลประโยชน์อย่างเดียวไม่ได้ ต้องเจรจาไปพร้อมกับเรื่องเส้นเขตแดนทางทะเลที่ทับซ้อนกันอยู่ เป็น Indivisible Package ที่แบ่งแยกไม่ได้ 
  3. MOU จะไม่กระทบต่อการอ้างสิทธิเหนือพื้นที่ OCA ทั้งของไทยและกัมพูชา หากการเจรจาล้มเหลวก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอ้างสิทธิใดๆ 

 

ส่วนคำถามว่าการยกเลิก MOU 44 ทำได้หรือไม่ ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า ยกเลิกได้ แต่มีคำถามเพิ่มเติมคือจะได้ความตกลงที่ดีกว่านี้หรือไม่ จะได้ความตกลงที่กัมพูชายอมให้ต้องเจรจาเส้นเขตแดนทางทะเลไปพร้อมๆ กับเรื่องการแบ่งผลประโยชน์ในการขุดเจาะปิโตรเลียม

 

“เราได้ MOU นี้มาเมื่อปี 2544 ไม่ใช่ว่าได้มาง่ายๆ นะครับ เราใช้อำนาจต่อรองมากพอสมควรที่จะได้ MOU อันนี้มา และเราพูดกันว่าอยากจะเลิกอันนี้ ไม่เคยได้ยินกัมพูชาออกมาพูดว่าจะคัดค้านเลย เขาจะดีใจมากถ้าเรายกเลิก เพราะว่าเป็นความตกลงที่เราค่อนข้างจะได้ประโยชน์”

 

ด้าน ศาสตราจารย์กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข จากคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิ มหาวิทยาลัยนเรศวร ซึ่งร่วมเวทีเสวนา ให้ความเห็นต่อประเด็น OCA และ MOU 44 ว่ากำลังถูกบิดเบือนให้เป็นปัญหา โดยมองว่าประเด็นที่เกิดขึ้นต่อเนื่องจากกรณีเขาพระวิหารมาสู่เส้นเขตแดนทางทะเล พร้อมย้ำสิ่งสำคัญคือการทำความเข้าใจและหาข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising