×

‘ศุภชัย’ แนะ 5 ฐานสร้างการศึกษาไทยให้ก้าวทันโลก ต้องโปร่งใส เสมอภาค เข้าถึงเทคโนโลยี

โดย THE STANDARD TEAM
14.11.2024
  • LOADING...
ศุภชัย

วานนี้ (13 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ภายใต้หัวข้อ How to Reshape Thailand’s Education for the Future ปฏิรูปการศึกษาไทยอย่างไรให้ก้าวทันโลก โดย ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้กล่าวถึงแนวทางการศึกษาของไทยที่จะตอบโจทย์ในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมไทยว่าควรมีหน้าตาเป็นแบบใด และประเทศไทยต้องทำอย่างไร

 

ศุภชัยกล่าวว่า จากมาตรวัดระดับความสามารถบุคลากรทางการศึกษาของ ‘IMD World Talent Ranking 2024’ ปรากฏให้เห็นว่าปัจจุบันประเทศไทยอยู่ที่ลำดับ 47 จากทั้งหมด 67 ประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นลำดับที่ต่ำและยังมีแนวโน้มที่จะตกลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งข้อมูลสนับสนุนด้านผลลัพธ์ทางการศึกษาจากธนาคารโลก (World Bank) เมื่อเทียบระหว่าง 4 ประเทศ คือ สิงคโปร์ ฟินแลนด์ เวียดนาม และไทย

 

ประเทศสิงคโปร์ถือว่าอยู่อันดับสูงที่สุดในโลก ส่วนฟินแลนด์เป็นประเทศตัวอย่างด้านการศึกษา ขณะที่ประเทศไทยขณะนี้คะแนนต่ำกว่าประเทศเวียดนามทั้งที่ในความเป็นจริงทุกคนรู้ว่าทรัพยากรที่มีค่าที่สุดของทุกประเทศคือมนุษย์

 

ชาร์ลส์ ดาร์วิน นักธรรมชาติวิทยา เคยกล่าวไว้ว่า “ผู้ที่อยู่รอดไม่ใช่ผู้ที่แข็งแรงที่สุดหรือฉลาดที่สุด แต่คือผู้ที่ปรับตัวต่อความเปลี่ยนแปลงได้ดีที่สุด” หากเราพิจารณาวิวัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมทั้ง 5 ยุค ประกอบด้วย

 

  • ยุค 1.0 ความต้องการเข้าถึงอาหารและการเกษตรกรรม (ปี 1780-1880)
  • ยุค 2.0 ความต้องการเข้าถึงสินค้าจากระบบอุตสาหกรรมและการผลิต (ปี 1881-1970)
  • ยุค 3.0 ความต้องการที่จะเข้าถึงเงินทุน ตลาดขับเคลื่อนด้วยระบบทุนนิยม (ปี 1971 – ปัจจุบัน)
  • ยุค 4.0 ความต้องการที่จะเข้าถึงข้อมูล ทั้งคลาวด์ แอปพลิเคชัน และนวัตกรรมดิจิทัล (ปัจจุบัน)
  • ยุค 5.0 ความต้องการที่จะเข้าถึง SI Society จะทำอย่างไรเพื่อให้เทคโนโลยีใหม่อย่าง AI กับคนสามารถเดินไปด้วยกันอย่างยั่งยืน (อนาคต)

 

ศุภชัยกล่าวต่อว่า ที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากตั้งแต่ยุคเศรษฐกิจ 1.0 ไป 2.0 และต่อเนื่องจนถึง 4.0 ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 80 ปีเท่านั้น เท่ากับว่าทุก 20 ปีจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยยุค 4.0 ถือเป็นจุดตัดของปัญญา เพราะมนุษย์ได้สร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ขึ้นให้มีปัญญาเทียบเท่ากับมนุษย์

 

การที่เราจะก้าวไปยุค 5.0 ที่คนและเทคโนโลยีเสมอกัน สิ่งนี้คือภาวะความท้าทายระดับโลก เพราะเป็นการพัฒนาที่มีเงื่อนไขสำคัญเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะเรื่องความยั่งยืนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change)

 

คำถามคือ “ประเทศไทยเราจะปรับตัวอย่างไรให้เท่าทันโลก โดยให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความสงบอย่างต่อเนื่อง?” ฉะนั้นคำถามนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ทำให้เราต้องมาพูดถึงระบบที่สร้างวัฒนธรรมให้กับประเทศ ซึ่งก็คือเรื่องการศึกษา ส่วนคำถามที่จะตามมาคือ “การศึกษาที่มีความเสมอภาคจะต้องยืนอยู่บนพื้นฐานอะไรบ้าง?”

 

ศุภชัยกล่าวถึงกระบวนการปฏิรูปการศึกษา (SI Transformation Model) เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมไทย โดยแบ่งเป็น 5 ฐาน ดังนี้

 

Transparency

การศึกษาที่มีคุณภาพ เด็กทั้งประเทศควรจะต้องได้เข้าเรียนในโรงเรียนที่มีคุณภาพเพื่อพัฒนาศักยภาพ จุดเริ่มต้นเรื่องดังกล่าวคือต้องสร้างระบบการศึกษาที่โปร่งใส ตัวอย่างเช่นประเทศฟินแลนด์ที่ศักยภาพทางการศึกษามีความเท่าเทียมกันทั้งประเทศ ซึ่งตรงข้ามกับประเทศไทยที่โรงเรียนในเมืองใหญ่หรือโรงเรียนนานาชาติมีศักยภาพทิ้งห่างจากโรงเรียนที่อยู่ห่างไกล

 

Market Mechanism

การที่เด็กทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงแหล่งทุนทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีความเสมอภาค เช่น พ่อแม่ในเมืองไม่ค่อยมีเวลาให้ลูกแต่มีกำลังส่งลูกไปโรงเรียนที่ดี กลับกัน เด็กที่อยู่นอกเมืองพ่อแม่มีเวลาแต่ไม่มีกำลังทรัพย์ เป็นโจทย์ที่เราจะต้องช่วยกันพิจารณาว่าทำอย่างไรให้มีเงินเข้าไปถึงโรงเรียนและถึงระบบการศึกษาอย่างเหมาะสม

 

Leadership and Talents

การสนับสนุนให้เด็กตั้งคำถามและค้นหาคำตอบ ลงมือทำสิ่งที่ตัวเองถนัดอย่างแท้จริง ไม่ได้มุ่งเน้นที่การเรียนตามตำราแต่ให้ใช้ตัวผู้เรียนเป็นที่ตั้ง เราต้องยอมรับว่าเด็กทุกคนไม่ได้มีความสนใจที่เหมือนกัน ครูจะต้องดึงสิ่งที่เขาสนใจออกมา แต่ต้องทำงานควบคู่ไปกับพ่อแม่ และโรงเรียนต้องสร้างพื้นที่ให้เด็กสามารถร่วมกันวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นต่างๆ ด้วยเหตุและผล และอีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญคือสร้างระบบเรียนรู้ตลอดชีวิต ‘Lifelong Learning’

 

Child Centric and Empowerment

สิ่งที่จะทำให้ระบบการศึกษาทำให้เด็กเป็นศูนย์กลางได้จำเป็นต้องมองกลับมาที่ตัวครูและครูใหญ่ที่จะต้องมีการปรับเปลี่ยน เราต้องช่วยกันหาทางที่จะทำอย่างไรให้อาชีพครู ซึ่งเป็นบุคลากรที่สำคัญอย่างมากในระบบการศึกษา มีรายได้เสมือนวิศวกรหรือเทียบเท่าหมอ เพราะครูคือคนที่จะมาสอดส่องดูแลความปลอดภัยมั่นคงทางชีวิต ทำให้โรงเรียนเปรียบเสมือนบ้านหลังที่สอง

 

ส่วนครูใหญ่หรือผู้อำนวยการในโรงเรียนของประเทศไทยส่วนมากจะอยู่ในวัยใกล้เกษียณ มีอายุมากกว่า 50 ปี ซึ่งจากข้อมูลของต่างประเทศ ครูใหญ่ที่จะสร้างการเปลี่ยนแปลงในโรงเรียนและปรับตัวตามโลกได้ทันควรจะอายุประมาณ 28-32 ปีเท่านั้น คนช่วงอายุนี้คือคนที่จะมองอนาคตไปอีก 10 ปีข้างหน้าได้อย่างชัดเจน

 

Technology

การเข้าถึงเทคโนโลยีในที่นี้คือ AI จัดเป็นเรื่องใหญ่อันดับต้นๆ ที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ในวันนี้เราโชคดีที่ไม่ต้องไปลงทุนสร้างพิพิธภัณฑ์เป็น 1,000 แห่ง ไม่ต้องสร้างห้องสมุดใหญ่โตในโรงเรียนเพื่อให้เกิดการเรียนรู้

 

แต่สิ่งที่เราต้องทำให้มีในทุกโรงเรียนอย่างเท่าเทียมกันคือ ‘คอมพิวเตอร์สีขาว’ หรือคอมพิวเตอร์ที่มีระบบ AI มาคัดกรองสิ่งที่ไม่ดีให้กับเด็ก ถ้าเด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์สีขาวอย่างเสมอภาค พวกเขาจะเข้าถึงแหล่งความรู้ได้อย่างมากมาย ความอยากรู้และความต้องการค้นคว้าอย่างไม่สิ้นสุดจะเกิดขึ้นตามมา

 

ศุภชัยกล่าวต่อว่า กระบวนการปฏิรูปการศึกษาทั้ง 5 ฐานที่กล่าวมานี้ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วเพียงข้ามคืน แต่สิ่งที่ทำได้ทันทีคือถ้าการกำหนดตัวชี้วัดใหม่ เพื่อให้เกิดพฤติกรรมใหม่ เช่น จากนี้เป้าหมายโรงเรียนอาจไม่ใช่การที่จะทำให้เด็กทุกคนได้เกรด 4 ในทุกวิชา แต่เป้าหมายใหม่คือต้องทำให้เด็กทุกคนมีปัญญาในการที่จะปรับตัว ในการที่จะรู้ว่าพวกเขามีปัญญาไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดคุณค่ากับตนเองและผู้อื่น และอีกโรงเรียนที่ใหญ่ที่สุดของสังคมที่มองข้ามไม่ได้คือสื่อ เราควรช่วยกันสร้างสื่อที่ดีในช่วงการพัฒนาการของเด็ก โดยส่วนตัวเชื่อว่า ‘สื่อสามารถสร้างปัญญาให้กับสังคม’

 

ศุภชัยระบุว่า หากไทยสามารถปฏิรูปการศึกษาได้อย่างถูกต้อง ถูกทาง เราจะสามารถกำหนดตัวชี้วัดการแข่งขันของไทย สร้างความน่าเชื่อถือ สร้างความร่วมมือระดับประเทศ และมีกำลังมากพอในการพัฒนาเศรษฐกิจ ดิจิทัล เทคโนโลยี ในการตอบสนองความต้องการของตลาดอย่างยั่งยืน รวมถึงการทำให้ไทยมีบทบาทเป็นศูนย์กลางทางการศึกษาและเทคฮับในระดับภูมิภาคและในระดับโลก

 

โดยข้อเสนอแนะเพื่อขับเคลื่อนการศึกษาปี 2030 มี 10 ข้อ ดังนี้

 

  1. มีระบบบริหารจัดการโรงเรียนที่โปร่งใส (Transparency)
  2. วิชาวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์เป็นวิชาบังคับในหลักสูตร ตั้งแต่ประถมศึกษาปีที่ 1
  3. เด็กทุกคนควรมีคอมพิวเตอร์สะอาด ใช้งานได้ครบถ้วน
  4. ทุกโรงเรียนควรเปลี่ยนเป็น Learning Center
  5. ตัวชี้วัดของบุคลากรทางการศึกษา ปรับเปลี่ยนเป็นผลสัมฤทธิ์ด้านศักยภาพและคุณธรรมของเด็ก
  6. Incentive Content ในช่วง Primetime เพื่อสะท้อนคุณค่าและวัฒนธรรม
  7. เด็ก 3 ล้านคนต้องเป็นผู้มีทักษะดิจิทัล
  8. 20,000 Start-up ภายในปี 2027 (1 ล้านผู้ประกอบการและนวัตกร)
  9. วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ ไม่ใช่แค่เรื่องการคำนวณ แต่เป็นเรื่องการค้นคว้า วิจัย และพัฒนา
  10. ผลักดันมหาวิทยาลัยด้านวิทยาศาสตร์และนวัตกรรม
  11. สร้างความร่วมมือระหว่างโรงเรียนและมหาวิทยาลัย ด้านบุคลากร ICT Talent เพื่อให้ทุกโรงเรียนมีบุคลากรด้าน ICT
  12. บุคลากร ผลตอบแทนของผู้ที่เรียนจบมาเป็นครูสูงเทียบได้กับหมอและวิศวกร
  13. ผู้อำนวยการและครูใหญ่ 30,000 คน เป็นบุคลากรที่สำคัญที่สุดด้านการศึกษา ต้องมีคุณสมบัติเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และเป็นเสมือนพ่อแม่คนที่สองของเด็ก
  14. การสร้างโรงเรียนให้เป็น Smart School เพื่อความปลอดภัยของเด็กและการใช้ AI ในการช่วยพัฒนาศักยภาพของเด็ก

 

“เศรษฐกิจไทยถูกขับเคลื่อนด้วยแรงงาน คนคือสิ่งสำคัญ ดังนั้นการศึกษาจึงเป็นความรับผิดชอบของเราทุกคน ไม่ว่าจะภาครัฐ เอกชน ถ้าวันนี้เราไปทำบุญตักบาตรได้ แล้วทำไมเราไม่ช่วยกันทำการศึกษาให้ดีด้วย” ศุภชัยกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X