“โตแล้วยังอ่านการ์ตูนอีกเหรอ?”
สำหรับนักอ่านที่ชอบพาตัวเองเข้าไปอยู่ในโลกจินตนาการของหนังสือ และเบื่อกับคำถามทำนองนี้เต็มทน ลองยื่นหนังสือ Theories of Manga เล่มนี้ให้แทนคำตอบ
กฤติกร วงศ์สว่างพานิช คือนักเขียนและนักวิชาการผู้ศึกษาเกี่ยวกับปรัชญาการเมืองมาอย่างมายาวนาน และอีกด้านหนึ่งก็เป็น ‘นักอ่าน’ ที่หลงใหลในศาสตร์ของการ์ตูนญี่ปุ่น หรือมังงะมาตั้งแต่เด็กๆ
ใน Theories of Manga คือหนังสือรวมเล่มบทความในชื่อเดียวกันที่กฤติกรเขียนให้กับเว็บไซต์ The Momentum ในคอนเซปต์นำหนังสือการ์ตูนชื่อดังหลายๆ เรื่องมาผสมผสานระหว่างลายเส้นที่สวยงาม เนื้อเรื่องสนุกสนาน ตัวละครคาแรกเตอร์จัด และจับมาขยายความเชื่อมโยงกับหลักปรัชญาการเมือง
เริ่มต้นด้วยการ์ตูนขวัญใจมหาชนอย่าง One Piece ที่มองเผินๆ ดูเหมือนจะเน้นไปที่การผจญภัยของกลุ่มโจรสลัดหมวกฟาง เพื่อตามหามหาสมบัติวันพีซ ที่กฤติกรนำมาสะท้อนให้เห็นภาพสร้างของระบบ ‘ทุนนิยมเสรี’ การแข่งขันเพื่อความสำเร็จที่อยู่ในโลกแห่งความจริงได้อย่างน่าสนใจ
รวมถึงมังงะเฮนไต หรือการ์ตูนโป๊ 18+ ที่มีเนื้อหาลามกและฉากวาบหวิวเป็นจุดขาย ก็ยังเป็น ‘สื่อ’ ประเภทหนึ่งที่ไม่ได้แค่ทำหน้าที่สร้างความบันเทิง แต่ยังตั้งคำถามถึงเรื่องการ ‘ปกปิด’ เนื้อหาทางเพศที่รู้กันดีว่าอยู่จริง แต่ก็มักจะถูกปิดกั้นด้วยเส้นบางๆ (หรือโมเสกหนา) ที่ยังหาคำตอบชัดเจนไม่ได้ว่าเป็นไปเพื่ออะไร
นอกจากการตั้งคำถาม ตีความรายละเอียดจากการ์ตูนในมุมมองสนุกๆ Theories of Manga ยังเป็นเหมือนหนังสือบันทึกประวัติศาสตร์ ที่กฤติกรพาเราย้อนไปทำความรู้จักกับนิยามของคำว่ามังงะ ไปจนถึงจุดเริ่มต้นของหลักปรัชญาและทฤษฏีต่างๆ ที่อธิบายถึงสภาพสังคมและระบบที่ควบคุมความเป็นไปของมนุษย์ในแต่ละยุคสมัยโดยมีผ้าคลุมลาย ‘มังงะ’ ห่อเอาไว้
ข้อดีของ Theories of Manga คือการเข้าถึงคนอ่านได้ทุกกลุ่ม ถ้าเป็นคนที่อ่านการ์ตูนเรื่องนั้นๆ อยู่แล้ว จะได้เห็นรายละเอียดที่ถูกซ่อนอยู่ในเสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย คำพูดไม่กี่ประโยค หรือพฤติกรรมบางอย่าง ในมุมที่หลายคนอาจจะไม่เคยนึกถึงมาก่อน เป็นการขยายมุมมองให้สามารถกลับไปอ่านการ์ตูนเรื่องนั้นๆ ได้อย่างสนุกและลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น
ถ้าเป็นคนที่ไม่ชอบ ไม่เคยอ่าน หรือมองว่ามังงะเป็นสิ่งไร้สาระมาก่อน เราก็ยิ่งอยากแนะนำให้ลองอ่านหนังสือเรื่องนี้มากขึ้นไปอีก เพราะมุมมองทางปรัชญาการเมืองหนักๆ ที่กฤติกรสามารถเชื่อมโยงเข้าโลกของการ์ตูนได้อย่างสนุกสนาน มีแง่คิด
ก็ยิ่งช่วยยืนยันว่ามังงะคือ ‘สื่อ’ ทรงพลังที่ไม่ได้มอบแค่ความสนุก แต่ยังสะท้อนให้ภาพสังคม และเชื่อมโยงได้กับทุกๆ ศาสตร์บนโลกใบนี้
ภาพประกอบโดย salmonbooks.net/book/theories-of-manga
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า