The Zone of Interest ผลงานกำกับของ Jonathan Glazer เป็นหนังเรื่องที่ ‘นับไม่ถ้วน’ ที่นำเสนอเนื้อหาเกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่ที่ทั้งน่าทึ่งและเหลือเชื่อก็คือ มันกลับเป็นหนังที่ ‘Original’ มากๆ หรืออีกนัยหนึ่ง มันสดใหม่ เป็นตัวเอง ไม่มีใครเหมือน ไม่เหมือนใครทั้งในแง่เนื้อหาและกลวิธีการนำเสนอ ข้อสำคัญคือ ทั้งสองส่วนนี้ยังหลอมรวมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันอย่างชนิดแบ่งแยกจากกันไม่ได้
หมายความว่า ด้วยเนื้อหาแบบนี้ ถ้าหากไม่ได้นำเสนอ ‘แบบนี้’ ก็น่าสงสัยว่าคนดูจะสัมผัสได้ถึงความเมินเฉยและเยียบเย็นอย่างที่คนทำหนังเจตนาจะสื่อสารได้หรือไม่ อย่างไร กลับกัน ลำพังการนำเสนอแบบนี้ อันได้แก่ การเว้นระยะห่างแบบหลายช่วงแขนระหว่างคนดูกับตัวละคร ก็คงจะใช้การไม่ได้กับ ‘เนื้อหาอะไรก็ได้’ และในแง่หนึ่ง วิธีการดังกล่าวก็เชื้อชวนคนดูมุ่งศึกษาตัวละครในมิติมานุษยวิทยา ทั้งในความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ด้วยกัน มนุษย์กับสภาพแวดล้อม และเหนือสิ่งอื่นใด มนุษย์กับระบบที่ครอบงำหรือปิดกั้นสัมปชัญญะและสามัญสำนึก
กระนั้นก็ตาม สมมติเราจะมองข้ามเนื้อหาในส่วนที่พูดถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวไปสักพัก เส้นเรื่องจริงๆ ของ The Zone of Interest ก็นับว่าผอมบาง และปมขัดแย้งก็ไม่ได้โดดเด่นหรือจะเรียกว่าจืดชืดก็ได้ อันได้แก่ เรื่องครอบครัวที่ประกอบไปด้วยพ่อ แม่ และลูกๆ 5 คนที่อาศัยอยู่ในบ้านเดี่ยวสองชั้นหลายห้องนอนซึ่งองค์กรที่ตัวสามีสังกัดอยู่เป็นฝ่ายจัดหาให้ และพื้นที่ข้างๆ ของบ้านเป็นสวนดอกไม้นานาชนิด รวมไปถึงแปลงพืชผักสวนครัวที่ได้รับการดูแลประคบประหงมอย่างเอาใจใส่ ตรงกลางเป็นสระน้ำเล็กๆ พร้อมสไลเดอร์ และเห็นได้ชัดว่าฝ่ายภรรยาปิดบังความภูมิอกภูมิใจในผลงานชิ้นโบแดงของเธอได้มิดชิด อีกทั้งความใฝ่ฝันสูงสุดของเธอก็คือ การได้ลงหลักปักฐาน ณ บ้านหลังนี้ และใช้ชีวิตหลังหน้าที่การงานของสามีสิ้นสุดลงในฐานะชาวไร่ชาวสวนอย่างมีความสุขตลอดไป
ขณะที่ฝ่ายสามีก็เป็นคนอุทิศทุ่มเทให้กับหน้าที่การงานแบบหามรุ่งหามค่ำ และภารกิจที่ได้รับมอบหมายก็ยิ่งบีบรัดมากขึ้นจนแทบไม่มีเวลาให้กับครอบครัว ฉากเล็กๆ ช่วงท้ายเรื่องบอกให้รู้ว่า เขาไม่ได้เป็นมดงานที่ขยันขันแข็งเพียงหนึ่งเดียวในสนามแข่งขันที่น่าจะดุเดือดเข้มข้นขององค์กร และบางทีนั่นทำให้เขาต้องพยายามให้หนักมากขึ้น เพื่อความก้าวหน้าในอาชีพการงาน และสานฝันของภรรยาที่จะได้ใช้ชีวิต ณ ‘สวนเอเดนขนาดย่อม’ ของเธอไปแสนนาน
ข้อน่าสังเกตบางประการเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างสามีภรรยาคู่นี้ก็คือ ทั้งสองนอนกันคนละเตียง และในขณะที่คนดูไม่ได้รู้สึกถึงความระหองระแหง แต่ก็น่าสงสัยว่าชีวิตเซ็กซ์ของคนทั้งสองคงจะไม่ค่อย ‘แอ็กทีฟ’ แล้ว และหนังให้เห็นว่าฝ่ายชายมีวิธีการปลดเปลื้องความใคร่กับคนที่อยู่ใต้อาณัติ ซึ่งว่าไปแล้วมันก็ไม่ได้กระทบความสัมพันธ์หรือส่งผลในเชิงดราม่าแต่อย่างใด
ถึงที่สุดแล้วปมขัดแย้งหลักของเรื่องจึงเหลือเพียงแค่เหตุการณ์ที่สามีถูกเบื้องบนสั่งย้ายจากหน่วยงานที่เขาเป็นผู้ร่วมก่อตั้งมาตั้งแต่ต้น ซึ่งในแง่หนึ่งมันก็คือ การประเคนความสำเร็จที่อุตส่าห์ปลุกปั้นด้วยความเหนื่อยยากให้กับคนที่มาใหม่นั่นเอง และเป็นสิ่งที่เจ้าตัวไม่เห็นด้วย ความซับซ้อนเพิ่มขึ้นเมื่อฝ่ายภรรยาบอกว่าเธอไม่ยอมย้าย และกดดันสามีให้วิ่งเต้นให้เธอและลูกๆ ยังคงได้อาศัย ณ บ้านพักขององค์กรแห่งนี้ต่อไป ซึ่งถ้าหากไม่เป็นการเปิดเผยเนื้อหามากนัก เรื่องยุ่งยากนี้คลี่คลายในหนทางที่ตัวละครสมปรารถนา
แต่ก็นั่นแหละ พล็อตที่แสนธรรมดาและดูเหมือนไม่มีพิษมีภัยก็กลับเขย่าขวัญสั่นประสาทคนดูอย่างสุดขีดคลั่ง เมื่อถูกนำไปผนึกเข้ากับฉากหลัง อันได้แก่ ค่ายแห่งความตายที่เมืองเอาช์วิทซ์ ซึ่งเป็นสถานที่ฆ่าคนยิวมากกว่าหนึ่งล้านคน
พูดง่ายๆ บ้านเดี่ยวสองชั้นหลายห้องนอนที่เอ่ยถึงข้างต้นตั้งอยู่อีกฟากหนึ่งของกำแพงค่ายกักกันชาวยิว และคนดูรับรู้ความสยดสยองของการฆ่าแกงผ่านเสียงกรีดร้องสลับกับกระสุนปืนที่ลอยตามลมมาให้ได้ยินเป็นระยะ และผ่านกลุ่มควันดำที่พวยพุ่งจากปล่องไฟของเตาเผาศพที่ดูเหมือนทำงานทั้งวันทั้งคืน
ขณะที่ตัวละครที่เป็นสามีที่ได้อ้างข้างต้น อันได้แก่ Rudolf Höss (Christian Friedel) ผู้บังคับการค่ายที่แสนโหดเหี้ยมและมีตัวตนอยู่จริง ตลกร้ายที่หัวเราะไม่ออกก็คือ ความเป็นคน ‘Workaholic’ หรือโหมงานหนักของ Rudolf ซึ่งน่าจะเป็นคุณสมบัติที่น่าชื่นชมยกย่อง กลับหมายถึงการอุทิศทุ่มเททั้งแรงกายแรงใจให้กับการสังหารหมู่เหล่านักโทษในค่ายกักกันให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ ขณะที่ภรรยาที่ชื่อ Hedwig (Sandra Hüller) ก็เป็นตัวละครที่น่าขยะแขยงและสะอิดสะเอียนพอกัน ทั้งพฤติกรรมเพิกเฉยและทำเป็นไม่รู้ไม่เห็นต่อเรื่องสยดสยอง ณ อีกฟากหนึ่งของกำแพงบ้าน หรือจะว่าไปแล้วเธอก็เสวยสุขอยู่บนกองซากศพของคนยิวนั่นเอง ทว่าในทางตรงข้าม เจ้าตัวกลับโวยวายและตีโพยตีพายราวกับจะเป็นจะตายเมื่อรู้ว่าเธอและลูกๆ อาจจะต้องระเห็จไปจากคฤหาสน์เปี่ยมสุขแห่งนี้
ขณะที่ฉากเงียบๆ ที่เธอลองสวมใส่เสื้อขนสัตว์ ซึ่งแรงงานในค่ายกักกันนำมามอบให้ ทำนองว่ามันพอดีตัวหรือว่าต้องส่งแก้ บ่งบอกถึงความเหี้ยมเกรียมและเลือดเย็นของตัวละครโดยไม่ต้องพึ่งพาบทพูดแต่อย่างใด (เพราะเรารู้โดยอ้อมว่าเจ้าของเสื้อตัวจริงคงจะกลายเป็นเถ้าธุลีในกระแสลมไปเรียบร้อยแล้ว) ส่วนฉากที่ Hedwig แสดงออกอย่างปลาบปลื้มกับฉายาที่สามีตั้งให้ว่าเธอคือ ‘ราชินีแห่งเอาช์วิทซ์’ ก็กลายเป็นความขันขื่นที่บาดลึกในความรู้สึกคนดูอย่างสาหัสสากรรจ์
และอย่างที่เกริ่นตอนแรก วิธีการบอกเล่าของ Jonathan Glazer ทำให้หนังเรื่อง The Zone of Interest กลายเป็น ‘เขตแดนที่น่าสนใจและชวนให้ครุ่นคิด’ ตรงตัวตามชื่อหนังขึ้นมาจริงๆ พูดง่ายๆ ว่านี่ไม่ใช่หนังที่เล่าเรื่องตามแบบแผนที่คุ้นเคยผ่านการใช้ภาพไกล-ภาพใกล้ แอ็กชัน-รีแอ็กชัน หรือการลำดับภาพที่ต่อเนื่อง ลื่นไหล ด้วยจุดประสงค์เพื่อโน้มน้าวชักจูงผู้ชม
แต่วิธีที่ Jonathan Glazer ใช้คือ การนำกล้องราวสิบตัวซ่อนไว้ ณ จุดต่างๆ ภายในและภายนอกตัวบ้านในลักษณะเดียวกับรายการโทรทัศน์แนวเรียลิตี้ (เขาเรียกว่ามันคือ Big Brother ของบ้านนาซี) และปล่อยให้นักแสดงสวมบทบาทของตัวเองในแต่ละซีนอย่างต่อเนื่อง ก็เปลี่ยนสถานะของคนดูจากกองเชียร์หรือกองแช่ง กลายเป็นผู้สังเกตการณ์วงนอก และวิธีการของ Jonathan Glazer ที่เฝ้ามองโน่นนี่แบบไม่ชวนคนดูถลำลึกไปผูกพันหรือเกี่ยวข้อง ก็เปิดโอกาสให้พวกเราได้สำรวจ ศึกษา และจับจ้อง ตัวละครอย่างครุ่นคิดพินิจนึกมากขึ้น
2-3 อย่างที่สรุปได้ก็คือ Rudolf เป็นคนแห้งแล้ง เย็นชา และตลอดทั้งเรื่องเราแทบจะไม่เคยเห็นเขาแสดงความรู้สึกใดๆ ยกเว้นฉากที่เขาร่ำลาม้าตัวโปรดที่เขาผูกพัน แต่ก็นั่นแหละ ความไร้อารมณ์ของทั้งตัวละครและวิธีการที่หนังใช้บอกเล่ากลับให้ผลลัพธ์ที่ตรงกันข้าม
ฉากที่ Rudolf นั่งฟังนักธุรกิจสองคนที่มานำเสนอระบบเตาเผาแบบใหม่ ซึ่งนอกจากจะสามารถ ‘โหลด’ สิ่งที่ต้องการเผาได้คราวละมากๆ ยังคลายความร้อนได้รวดเร็ว แถมยังทำงานแบบสับเปลี่ยนกับอีกเตาที่ตั้งอยู่อีกฟาก อันส่งผลให้เผาได้เรื่อยๆ แบบไม่ต้องหยุดพัก เป็นช่วงเวลาที่เหมือนกับจะน่าเบื่อ เพราะบรรยากาศการพูดคุยดูเป็นงานเป็นการ แต่ข้อเท็จจริงก็คือ มันกลับเป็นฉากที่หนักหน่วงและรุนแรงในทางความรู้สึกมากๆ เพราะทั้งคนดูและตัวละครรู้แก่ใจดีว่า นี่ไม่ใช่เรื่องขั้นตอนการทำงานของระบบเครื่องจักรที่ถูกออกแบบมาเป็นพิเศษนี้ ทว่ามันคือชั่วโมงที่หม่นมืดที่สุดของมนุษยชาติ
ว่าไปแล้ว ถ้อยคำของ Hannah Arendt นักปรัชญาชาวเยอรมันเชื้อสายยิว เรื่อง Banality of Evil หรือ ความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้าย สามารถใช้อธิบายสถานการณ์ข้างต้น รวมไปถึงปรากฏการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวยิวได้อย่างดิบดี เพราะในขณะที่คนระดับปฏิบัติการอ้างได้ว่าพวกเขาเพียงแค่รับคำสั่งจากเบื้องบน และถ้าหากจะต้องรับผิดชอบ น้ำหนักความผิดบาปก็น่าจะบางเบา แต่ก็นั่นแหละ ฮิตเลอร์และพวกฆ่าคน 6 ล้านคนด้วยสองมือสองเท้าของตัวเองไม่ได้ถ้าหากระดับล่างๆ ไม่ตอบสนองนโยบายและความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้าย (อย่างเช่น เซลส์แมนขายเตาเผาศพสองคนนั้น) เป็นเครื่องมืออันวิเศษที่ทำให้ฝันเปียกของฮิตเลอร์เป็นจริง
แต่ข้อน่าสงสัยก็คือ เราใช้วลี Banality of Evil อธิบายตัวละครอย่าง Rudolf (หรือรวม Hedwig ด้วย) ได้มากน้อยแค่ไหน เพียงใด เพราะจนแล้วจนรอดเขาและภรรยาก็ไม่ได้อยู่ในภาวะจำนนหรือจำยอมเสียทีเดียว และมีช่วงเวลาที่เราได้เห็น Free Will หรือ ‘การเลือก’ ของตัวละคร อันได้แก่ ฉากที่ Rudolf พาลูกๆ ไปเล่นน้ำในลำคลองสายเล็กๆ ข้างค่ายกักกัน ก่อนจะพบว่ามันปนเปื้อนด้วยเถ้าธุลีจากเตาเผาศพ และนั่นคือตอนท่ีเขารีบพาลูกกลับบ้านอย่างเร่งด่วนและจัดการให้ขัดเนื้อตัวเด็กๆ เพื่อกำจัด ‘เสนียดจัญไร’ ออกจากร่างกาย ความสกปรกทางกายภาพก็เรื่องหนึ่ง แต่นี่เป็นฉากที่ตอกย้ำทัศนคติของตัวละครทำนองว่า เขามองเห็นยิวเป็นเหมือนกับเชื้อโรค
หรืออีกฉากที่น่าจะสื่อความหมายคล้ายคลึงกัน ได้แก่ ตอนที่หนังให้เห็นว่า Rudolf ในชุด ‘สีขาว’ ชำระล้างอวัยวะเพศของตัวเองอย่างระมัดระวังหลังจากมีเซ็กซ์กับหญิงชาวยิว (?) ประมวลจากการ ‘เลือก’ เนื้อหาปลีกย่อยนี้มาบอกเล่า ก็ชวนให้อดสงสัยไม่ได้ว่า นี่อาจไม่ได้เป็นแค่การรักษาความสะอาดในทางเนื้อหนังเพียงอย่างเดียว แต่เกี่ยวโยงกับการพยายามรักษาความบริสุทธิ์ผุดผ่องของเชื้อชาติและเผ่าพันธุ์ตัวเองด้วยหรือไม่ แต่ไม่ว่าจะอย่างไร สิ่งที่สรุปได้แน่ๆ ก็คือ Rudolf ไม่ได้เป็นเพียงแค่ฟันเฟืองของระบบ แต่เขามีจุดยืนและมีอุดมการณ์ทางความคิดเป็นของตัวเอง
ไหนๆ ก็ไหนๆ ความท้าทายในแง่ของ Form หรือรูปแบบการนำเสนอของ Jonathan Glazer ยังไปไกลเกินกว่าวิธีการแบบเรียลิตี้ทีวี ลักษณะเด่นอีกอย่างก็คือ แท็กติกแบบหนังทดลอง ทั้งการแทรกฉากที่ดูผิวเผินแล้วแทบไม่ปะติดปะต่อกับสิ่งที่หนังบอกเล่า อีกทั้งแปลกตาในแง่ของภาพ (เช่น ฉาก Night Vision ของเด็กสาวที่ลักลอบนำผลไม้ไปวางไว้ตามทางเพื่อให้นักโทษเก็บกิน) หรือบางครั้งก็เป็นช็อตที่ทำงานกับ ‘ผัสสะ’ ของคนดูโดยตรง (ภาพโคสสอัพดอกไม้ที่จู่ๆ ก็เปลี่ยนเป็นสีแดงแสบตา) หรือเสียงดนตรีของ Mica Levi ที่คุกคามโสตประสาทคนดูอย่างไม่บันยะบันยัง ทั้งหมดทั้งมวลนำพาให้ต้องย้อนกลับไปยืนยันความเห็นข้างต้นว่า มันสร้างรสชาติแปลกใหม่ให้กับเรื่องที่ถูกผลิตซ้ำได้อย่างน่าทึ่ง
เหนือสิ่งอื่นใด กลวิธีดังกล่าวเหมือนกับกระทุ้งคนดูให้ต้องย้อนกลับมาทบทวนตัวเองว่า พวกเราเป็นส่วนหนึ่งของความเฉยชาต่อระบบอันชั่วร้ายหรือไม่ อย่างไร เราได้ยินเสียงกรีดร้องของคนที่ถูกกดขี่ เหยียบย่ำ จากอีกฟากหนึ่งของกำแพง หรือเสียงของคนที่ถูกคุมขัง เพราะถูกยัดเยียดข้อหาที่คับแคบและไม่เป็นธรรมหรือไม่ อย่างไร
ลองเทียบบัญญัติไตรยางศ์ดูแล้ว สิ่งที่บอกเล่าในหนังเรื่อง The Zone of Interest ก็ไปไกลแสนไกลเกินกว่าเรื่องของนาซี ยิว และค่ายกักกัน
The Zone of Interest (2023)
กำกับ: Jonathan Glazer
นำแสดง: Christian Friedel, Sandra Hüller