×

ปีมังกรไฟไม่ใช่ปีมังกรทอง: ครึ่งเดือนแรกปีใหม่! สงครามเดินหน้าไม่มีวันหยุด

20.01.2024
  • LOADING...

ถ้าค่าใช้จ่ายสงครามวัดด้วยเพียงสถิติตัวเลขแล้ว เราทั้งหลายก็คงแสดงออกแบบยักไหล่รับทราบด้วยความไม่สนใจ แต่ในความเป็นจริง ค่าใช้จ่ายนี้ไม่ได้ถูกวัดด้วยเส้นกราฟ ค่าใช้จ่ายสงครามในเชิงคุณภาพที่วัดไม่ได้คือความรู้สึกเจ็บปวดที่เกิดขึ้นจากการเสียชีวิตของคนคนหนึ่ง และเพิ่มเป็นหลายเท่าทวีคูณด้วยเครือข่ายของคนคนนั้นในความสัมพันธ์ของเขากับครอบครัว และผลที่เกิดขึ้นในระยะยาวคือความรู้สึกหดหู่ตลอดชีวิต

John Keegan

นักประวัติศาสตร์สงครามชาวอังกฤษ

 

 

สำหรับสังคมไทยแล้ว วันเสาร์ที่ 13 มกราคม 2024 เป็นวันเด็ก ดังนั้นหลายครอบครัวจึงตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมพาลูกๆ ไปงานวันเด็ก เป็นวันเดียวในรอบปีที่เด็กๆ จะได้ชมและสัมผัสกับอาวุธยุทโธปกรณ์จริงจากเหล่าทัพต่างๆ ที่นำมาแสดง แต่ในอีกมุมหนึ่งของโลก เด็กๆ ในยูเครนหรือในกาซา ไม่ได้มาเดินชมอาวุธอย่างสนุกสนานเหมือนที่กรุงเทพฯ แต่พวกเขาตกเป็น ‘เหยื่อสงคราม’ ที่ต้องรับผลจากการโจมตีที่เกิดขึ้น พวกเขา ‘สัมผัสอาวุธ’ ด้วยความเป็นจริงของสงครามคือ ‘เจ็บจริง-ตายจริง’… ค่าใช้จ่ายสงครามต้องจ่ายด้วยราคาที่เป็น ‘ชีวิตมนุษย์’ เสมอ ดังเช่นที่ จอห์น คีแกน (John Keegan) กล่าวไว้ในข้างต้น (ข้อความจากหนังสือเรื่อง War and Our World, 1999)

 

อย่างไรก็ตาม สำหรับคนที่สนใจข่าวต่างประเทศแล้ว วันที่ 13 เป็นวันอีกวันหนึ่งที่นักสังเกตการณ์ระหว่างประเทศต้องติดตามข่าวอย่างใจจดใจจ่อ…วันนี้เป็นวันที่ 99 ของสงครามกาซา การโจมตีทางอากาศอย่างหนักของอิสราเอลยังคงดำเนินต่อไป ด้วยความเชื่อแบบสุดโต่งว่าปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลจะสามารถกวาดล้าง ‘นักรบกองโจร’ ของกลุ่มฮามาสให้สิ้นซากได้จริง ทั้งที่นักการทหารทุกคนตระหนักดีว่าการทำลายขบวนการติดอาวุธให้สิ้นสภาพไปนั้น และการใช้อำนาจทางทหารในแบบที่อิสราเอลทำ ไม่น่าจะเป็นคำตอบที่เป็นไปได้จริง มีแต่จะยิ่งทำให้เกิดผลในทางลบ และพาอิสราเอลเข้าไปติด ‘กับดัก’ สงครามก่อความไม่สงบ เช่นที่เห็นมาแล้วในหลายกรณี

 

ในอีกด้านหนึ่งของโลก วันที่ 13 เป็นวันที่ 689 ของสงครามยูเครน การโจมตีของรัสเซียยังเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง การรบที่เกิดในสงครามทั้งสองไม่มีแนวโน้มถึงการสิ้นสุดลงแต่อย่างใด แม้กองทัพรัสเซียจะประสบความสูญเสียอย่างหนักในสนามรบที่ยูเครน กองทัพรัสเซียในช่วงปัจจุบันต้องระดมพลใหม่ประมาณ 1,000 คน/วัน (หรืออาจจะมากกว่านั้นนิดหน่อย) ซึ่งก็คือภาพสะท้อนถึงความสูญเสียทางทหาร แต่การสูญเสียเช่นนี้ไม่ใช่ปัจจัยที่จะทำให้สงครามยุติได้แต่อย่างใด รัสเซียสามารถพึ่งพาความช่วยเหลือทางทหารจากเกาหลีเหนือและอิหร่าน ประกอบกับในปี 2023 กองทัพยูเครนไม่ประสบความสำเร็จในการเปิดการรุกกลับมากเท่าใดนัก ไม่เหมือนความสำเร็จในช่วงปลายปี 2022 สภาวะเช่นนี้ทำให้สงครามมีสภาวะของการ ‘ถูกตรึงอยู่กับที่’ ซึ่งก็เท่ากับการตอกย้ำว่าอนาคตของ ‘สันติภาพยูเครน’ ยังอยู่ห่างไกล และสงครามจะยังคงดำเนินต่อไปในปีที่ 3

 

มรดกสงครามและสงครามใหม่

 

การรบอย่างรุนแรงที่เกิดในยูเครนและในกาซาบ่งชี้ถึงสภาวะสงครามใหญ่ของโลกใน 2 สมรภูมิ อันเป็นมรดกสำคัญของสถานการณ์ความมั่นคงในปี 2023 ที่ส่งผ่านสู่ปี 2024 อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งมักจะทำให้เกิดคำถามตามมาเสมอว่าสงคราม 2 ชุดนี้จะคลี่คลายไปอย่างไรในปีใหม่นี้

 

ขณะเดียวกัน ในวันที่ 13 นี้ ปัญหาที่ทะเลแดงเริ่มทำท่าขยายตัว พร้อมกับการโจมตีทางอากาศครั้งที่ 2 ของสหรัฐฯ ต่อเป้าหมายของกลุ่มฮูตีในเยเมน การโจมตีดังกล่าวเกิดในช่วงเช้าของวันเสาร์นี้ด้วย สภาวะเช่นนี้เป็นสัญญาณเชิงลบว่าโอกาสที่ปัญหาเสถียรภาพของเส้นทางเดินเรือในทะเลแดง และปัญหาความรุนแรงที่เกิดในพื้นที่ดังกล่าว ย่อมจะทำให้ปัญหาสงครามในกาซามีความซับซ้อนมากขึ้นด้วย

 

ในวันที่ 13 เช่นเดียวกัน การเลือกตั้งทั่วไปเกิดขึ้นในไต้หวัน ซึ่งมีผลอย่างมากกับความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบ และอาจส่งผลโดยตรงต่อเสถียรภาพของการเมืองและความมั่นคงในเอเชียด้วย เพราะถ้าพรรคที่มีทิศทาง ‘สวนกระแสจีน’ ในแบบที่สนับสนุนประชาธิปไตยเสรีนิยม ให้คุณค่าในเรื่องของเสรีภาพ และยังดำรงความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงกับชาติฝ่ายตะวันตก เป็นฝ่ายชนะในการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ของไต้หวันแล้ว คาดเดาได้ทันทีเลยว่ารัฐบาลจีนย่อมไม่พอใจผลทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้ แต่ปัญหาคือจีนจะมีบทบาทในการเดิน ‘เกมไต้หวัน’ สู้กับรัฐบาลที่นิยมประชาธิปไตยบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้อย่างไร อีกทั้งจะสู้อย่างไรกับประชาชนไต้หวันที่นิยม ‘เสรีภาพ’ มากกว่าถวิลหา ‘อำนาจนิยมจีน’ ในแบบของปักกิ่ง

 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ที่ทวีความเข้มข้นมากขึ้นเหล่านี้เกิดในช่วงครึ่งแรกของเดือนมกราคมเท่านั้นเอง หรือว่าสัญญาณความตึงเครียดเหล่านี้กำลังชี้ให้เห็นว่าปี 2024 น่าจะไม่ใช่ปี ‘มังกรทอง’ อย่างแน่นอน แต่ทำท่าจะเป็นปี ‘มังกรไฟ’ ที่มังกรเริ่มพ่นไฟตั้งแต่ต้นปีทันที

 

สงครามคู่ขนาน

 

ปัญหาทะเลแดง

 

สถานการณ์การรบจากทะเลแดงถึงผลของการเลือกตั้งไต้หวันนั้นคาดได้เลยว่าจะมีผลกระทบกับการเมืองระหว่างประเทศในระดับโลกและในระดับภูมิภาคอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และถือเป็นสถานการณ์เริ่มต้นของปีใหม่ 2024 ที่ต้องติดตามอย่างเห็นได้ชัด

 

อย่างไรก็ตาม ในบริบทของปัญหาความมั่นคงในทะเลแดงนั้นคาดเดาได้ไม่ยากว่าหลังจากการถูกโจมตีแล้ว กลุ่มฮูตีจะเปิดการเคลื่อนไหวใหญ่ด้วยการชุมนุมต่อต้านอเมริกันด้วยการระดมมวลชนจำนวนมาก พร้อมกับตะโกนว่า ‘อเมริกาจงพินาศ อิสราเอลจงพินาศ’ (หรือในภาษาอังกฤษคือ ‘Death to America, Death to Israel’) ไม่ใช่อะไรที่เกินความคาดหมายแต่อย่างใด

 

เช่นเดียวกับที่เราคาดเดาได้ไม่ยากตั้งแต่ต้นว่าจากการเปิดการโจมตีเรือขนส่งพาณิชย์ในทะเลแดงของกลุ่มฮูตีนั้นเป็นดังการ ‘ยั่วให้โกรธ’ และจะเสมือนเป็นการบังคับให้สหรัฐฯ ต้องดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดต่อเป้าหมายทางบกของกลุ่มอย่างแน่นอน เพราะการตรวจจับและระบุพิกัดจุดยิงจรวด และจุดปล่อยโดรนโจมตีนั้น ไม่ใช่เรื่องยากที่จะติดตามแต่อย่างใด

 

ในที่สุดการโจมตีทางอากาศระลอกแรกของกองกำลังอังกฤษ-อเมริกัน ก็เกิดขึ้นในวันที่ 12 มกราคม ว่าที่จริงแล้วหลายฝ่ายก็คาดคะเนว่าจะเกิดเหตุการณ์เช่นนั้น เพราะการโจมตีเรือสินค้าพลเรือนในทะเลแดงเริ่มหนักขึ้น และไม่ใช่เพียงการโจมตีด้วยโดรนเท่านั้น หากแต่ยังยกระดับการโจมตีด้วย ‘ขีปนาวุธระยะใกล้’ ดังปรากฏในรายงานของวันศุกร์ช่วงบ่ายที่ผ่านมาว่า เรือสินค้าที่มีพิกัดห่างจากเอเดน 90 ไมล์ทะเลทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ ถูกโจมตีด้วยขีปนาวุธแบบนี้ จรวดตกห่างจากเรือในระยะเพียง 400-500 เมตรเท่านั้น แต่โชคดีที่เรือไม่เสียหาย และไม่มีผู้บาดเจ็บเสียชีวิตในกรณีนี้

 

แล้วการโจมตีทางอากาศระลอก 2 ก็เริ่มขึ้นอีกในเช้าวันเสาร์… รายงานสถานการณ์ในทะเลแดงของสื่อระหว่างประเทศดูจะทำให้เสาร์ที่ 13 เป็นวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ต้องคอยตามข่าว เพราะในด้านหนึ่งปัญหาความมั่นคงในทะเลแดงจะถูกผูกโยงเข้ากับปัญหาสงครามกาซาหรือไม่ และปัญหาทะเลแดงจะเป็นปัจจัยต่อการขยายบทบาทของอิหร่านในความขัดแย้งนี้เพียงใด ในอีกด้านหนึ่ง ปัญหานี้จะทำให้สงครามกลางเมืองในเยเมนที่สงบมา 9 ปีแล้ว จะถูกปลุกคืนชีพขึ้นมาใหม่อีกหรือไม่?

 

ปัญหาไต้หวัน

 

ในอีกฟากฝั่งของโลก เช้าของวันเสาร์ที่ 13 นี้ สื่อต่างประเทศทุกช่องเตรียมรายงานถึงการเลือกตั้งที่เกิดขึ้นในไต้หวัน การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้บ่ายวันเสาร์เป็นเวลาที่ต้องเริ่มติดตามเรื่องไต้หวัน แม้จะไม่มี ‘Exit Polls’ ให้เห็น เพราะกฎหมายไต้หวันไม่อนุญาตให้ทำ

 

ในบริบทของการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ของรัฐมหาอำนาจใหญ่ การเลือกตั้งไต้หวันครั้งนี้ไม่ใช่เรื่องของชาวไต้หวันเท่านั้นแล้ว หากแต่เป็นหนึ่งใน ‘การเลือกตั้งของการเมืองโลก’ ชุดแรกสำหรับปี 2024 ด้วย เนื่องจากผลการเลือกตั้งจะมีนัยสำคัญที่ไม่ใช่เพียงเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับจีนเท่านั้น หากยังจะส่งผลอย่างมากต่อปัญหาความมั่นคงในช่องแคบไต้หวันและการเมืองโลก เพราะ ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ (DPP) ซึ่งเป็นรัฐบาลมาแล้ว 2 สมัยนั้นเป็นพรรคที่รัฐบาลปักกิ่งตราหน้าว่าเป็น ‘พรรคกบฏแบ่งแยกดินแดน’ และผู้นำอย่างไล่ชิงเต๋อถูกปักกิ่งเรียกว่าเป็น ‘ตัวยุ่ง’ เพราะมีท่าทีในแบบ ‘ไม่ประนีประนอม’ ต่อการใช้อำนาจของจีน

 

ในช่วงบ่ายแก่ๆ ของวันเสาร์ที่ 13 รายงานของสื่อเริ่มส่งสัญญาณว่า ‘พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า’ นำด้วยคะแนนเสียงราวร้อยละ 40 และพอตกเย็นสื่อเริ่มรายงานถึงชัยชนะของพรรคนี้ และเป็นชัยชนะที่พรรคสามารถจัดตั้งรัฐบาลได้เป็นเทอมที่ 3 ต่อเนื่องอย่างไม่น่าเชื่อ ส่วน ‘พรรคก๊กมินตั๋ง’ (KMT) มาเป็นลำดับที่ 2 และ ‘พรรคประชาชนไต้หวัน’ (TPP) มาเป็นลำดับที่ 3 ซึ่งการเป็นรัฐบาลในรอบที่ 3 ของพรรครัฐบาลในครั้งนี้ย่อมทำให้ปักกิ่งจะยิ่งเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันมากขึ้นในอนาคต และผลการเลือกตั้งทำให้เกิดคำถามทันทีว่า ปัญหา ‘วิกฤตการณ์ช่องแคบไต้หวัน’ ดังที่เราเคยเห็นมาแล้วในตอนกลางปี 2022 เมื่อประธานรัฐสภาอเมริกัน ‘แนนซี เพโลซี’ (Nancy Pelosi) เดินทางไปไต้หวัน อันนำไปสู่วิกฤตใหญ่ด้วยการปิดล้อมทางทหารของจีน

 

ถ้าเช่นนั้นแล้วชัยชนะในการจัดตั้งรัฐบาลครั้งที่ 3 ของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าจะนำไปสู่วิกฤตเช่นนั้นอีกหรือไม่ คำถามนี้อาจจะตอบไม่ได้ทันที เพราะกว่ารัฐบาลใหม่จะสาบานตัวและรับมอบอำนาจจากรัฐบาลเดิมคงเป็นในช่วงเดือนพฤษภาคม กำหนดเวลาเช่นนี้จึงทำให้หลายฝ่ายรอดูการประกาศทิศทางนโยบาย โดยเฉพาะนโยบายต่อจีนและต่อสหรัฐฯ ในอนาคต แต่ก็คาดได้ไม่ยากว่าจีนไม่พึงพอใจต่อชัยชนะของปีกประชาธิปไตยในการเมืองไต้หวันอย่างแน่นอน

 

อย่างน้อยเราคงต้องยอมรับว่าชัยชนะของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าซึ่งเป็นพรรครัฐบาลของไต้หวันนั้น สะท้อนถึงชัยชนะของอารมณ์ความรู้สึกของชาวไต้หวันอย่างมาก ที่ไม่ตอบรับกับข้อเสนอในการ ‘รวมชาติ’ ตามที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิงเสนอ ชาวไต้หวันส่วนนี้เห็นถึงความสำคัญของประชาธิปไตย สิทธิเสรีภาพ หรือในอีกมุมหนึ่ง พวกเขาไม่ต้องการเดินไปสู่การเป็น ‘ฮ่องกงที่ 2’ ที่ตกอยู่ภายใต้การควบคุมของจีน ไม่ใช่ฮ่องกงตามคำสัญญาของจีนที่จะเป็น ‘หนึ่งประเทศ สองระบบ’ อีกทั้งการกระชับมาตรการด้านความมั่นคงในการควบคุมฮ่องกง ไม่ว่าจะเป็นการออกกฎหมายความมั่นคง การจับกุมนักเคลื่อนไหวฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกง อันนำไปสู่การลี้ภัยของนักเคลื่อนไหวเหล่านั้น ก็ยิ่งเป็นคำตอบในตัวเองว่า สำหรับจีนแล้ว มีทิศทางเดียวคือ ‘หนึ่งประเทศ หนึ่งระบบ’ ภายใต้อำนาจการควบคุมของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง และพรรคคอมมิวนิสต์จีน

 

กระแสประชาธิปไตยไต้หวัน

 

ปฏิบัติการควบคุมฮ่องกงด้วย ‘กฎเหล็ก’ ของจีนนั้น ไม่เป็นภาพที่ชวนให้ชาวไต้หวันมาอยู่ร่วมกับจีนแต่อย่างใด และยิ่งทำให้คนรุ่นใหม่ที่ให้ความสำคัญคุณค่าของประชาธิปไตยและเสรีภาพ กลับยิ่งมองจีนด้วยความรู้สึกด้านลบ ดังจะเห็นถึงการจับมือในการสร้างความสัมพันธ์ของกลุ่ม ‘พันธมิตรชานม’ (Milk Tea Alliance) ซึ่งประกอบด้วยคนรุ่นใหม่ใน 4 ส่วน คือ ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และเมียนมา นอกจากจะมีทิศทางในการต่อสู้กับ ‘กระแสชาตินิยมจีน’ ในโลกออนไลน์แล้ว พวกเขามีจุดยืนชัดเจนในการต่อต้านระบอบอำนาจนิยม และสนับสนุนประชาธิปไตย ต่อมากลุ่มได้ขยายการเชื่อมต่อไปยังคนรุ่นใหม่ในฟิลิปปินส์ อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เบลารุส และอิหร่าน (เดิมกลุ่มนี้เชื่อมต่อใน 3 ส่วนหลัก คือ ฮ่องกง ไต้หวัน ไทย และเอา ‘ชานม’ เป็นสัญลักษณ์ เพราะเป็นเครื่องดื่มที่พบเห็นได้ทั่วไปในชีวิตประจำวันของคนใน 3 สังคมนี้)

 

ดังนั้นจึงไม่แปลกที่จะเห็นภาพสะท้อนของการต่อสู้ในประเด็นนี้ ผ่านคำกล่าวของไล่ชิงเต๋อ ประธานาธิบดีคนใหม่ของใหม่ที่ว่า ผลการเลือกตั้งนี้คือ ‘ชัยชนะของประชาคมประชาธิปไตย’ ทั่วโลก และการลงเสียงของชาวไต้หวันประสบความสำเร็จในการขัดขวางการแทรกแซงจาก ‘ภายนอก’ (น่าจะหมายถึงการแทรกแซงของจีน)… แน่นอนว่า คำกล่าวเช่นนี้เป็นสิ่งที่เสียดแทงใจผู้นำจีนแผ่นดินใหญ่อย่างยิ่ง และเท่ากับสะท้อนว่าจีน ‘แพ้เลือกตั้ง’ ที่ไต้หวัน เนื่องจากพรรคที่จีนอยากให้ชนะนั้นแพ้ทั้ง 2 พรรค ซึ่งน่าสนใจว่ารัฐบาลปักกิ่งจะ ‘เดินเกม’ อย่างไรกับรัฐบาลใหม่ของไต้หวันที่ยิ่งนานวันยิ่งมีทิศทางนิยมประชาธิปไตยมากขึ้นอย่างชัดเจน

 

การเลือกตั้งที่ไต้หวันยังยืนยันถึงความแตกต่างที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ ในการเมืองไต้หวันยังคงมีการเลือกตั้งที่ให้สิทธิและเสรีภาพแก่ประชาชนในการเลือกผู้นำ แต่สิ่งนี้ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลยในจีน เนื่องจากประชาธิปไตยและเสรีภาพเป็น ‘ความแปลกแยก’ สำหรับผู้นำจีน ขณะเดียวกัน การเลือกตั้งในแบบของ ‘ประชาธิปไตยเสรีนิยม’ ในฮ่องกง ก็กลายเป็น ‘สินค้าต้องห้าม’ เพราะผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีนมองว่าอุดมการณ์การเมืองดังกล่าวเป็น ‘ผลผลิตตะวันตก’ ที่จีนจะต้องปรับให้เป็น ‘การเลือกตั้งแบบจีน’ กล่าวคือ คนมีเสรีภาพในการเลือกผู้นำ แต่ผู้นำที่นำมาเสนอนั้นพรรคเป็นคนเลือก หรือที่เรียกกันว่า ‘ประชาธิปไตยแบบพรรคคอมมิวนิสต์’ คือเลือกคนที่พรรคกำหนด โดยไม่จำเป็นต้องมีการแข่งขันทางการเมืองในแบบของ ‘ประชาธิปไตยตะวันตก’

 

ความต่างของอุดมการณ์และการให้คุณค่าทางการเมืองระหว่างจีนกับฝ่ายประชาธิปไตยในฮ่องกงเป็นสิ่งที่เห็นชัดเจนมาแล้ว และปัญหาดังกล่าวกลับมาตอกย้ำอีกครั้งด้วยการเลือกตั้งที่ไต้หวัน อีกทั้งนัยสำคัญของความต่างเช่นนี้ทำให้ปัญหาไต้หวันกลายเป็นปัญหาในการเมืองโลกไปโดยปริยาย ฉะนั้นการตอบโต้ด้วยมาตรการทางการเมืองชุดแรกหลังชัยชนะของพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้าคือ การให้ประเทศ ‘นาอูรู’ ในหมู่เกาะแปซิฟิกใต้ประกาศย้ายข้างทางการทูต ด้วยการมาอยู่กับจีน และประกาศ ‘นโยบายจีนเดียว’ อันเป็นถึงยุทธศาสตร์ของการ ‘โดดเดี่ยวทางการทูต’ ต่อไต้หวัน ด้วยการทำให้ประเทศต่างๆ ‘ทิ้งไทเป-ซบปักกิ่ง’ ในทางการทูต หรือโดยนัยคือหันมายอมรับจีนที่ปักกิ่งเท่านั้น 

 

เพียงครึ่งเดือนเท่านั้น!

 

ในวันอาทิตย์ที่ 14 มกราคม ซึ่งเป็นวาระครบรอบ ‘100 วัน’ ของสงครามกาซา ไม่น่าเชื่อเลยว่าการสู้รบในกาซาจะยาวนานมากกว่าที่หลายฝ่ายคาด ยิ่งระยะเวลาของสงครามทอดยาวออกไปเท่าใด ปฏิบัติการทางทหารของอิสราเอลก็ยิ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตของผู้คนในกาซามากขึ้นเท่านั้น และโอกาสของสันติภาพในกาซาดูจะยังเลือนรางอย่างมาก เท่าๆ กับอนาคตของบรรดาตัวประกันดูจะไม่สดใสเท่าใดนัก (รวมทั้งตัวประกันที่เป็นแรงงานชายไทยด้วย) ผู้นำอิสราเอลยังเชื่อมั่นว่าปฏิบัติการทางทหารจะเป็นเครื่องมือของการยุติสงคราม และสามารถทำลายนักรบกองโจรของกลุ่มฮามาสได้หมด

 

ขณะเดียวกัน สงครามกาซาที่ยืดยาวออกไปย่อมเป็นช่องทางให้เกิดการเชื่อมต่อกับปัญหาในทะเลแดงได้ง่ายขึ้น จนทำให้หลายฝ่ายเริ่มกังวลมากขึ้นกับสถานการณ์ที่กำลังพัฒนาไปในทิศทางที่ดูจะมีความเปราะบางมากขึ้น และคาดเดาได้ยากขึ้นด้วย เพราะการโจมตีเริ่มขยายวง ดังจะเห็นได้ว่าล่าสุดนั้นอิหร่านเปิดการโจมตีเป้าหมายในอิรัก ซีเรีย และปากีสถาน… พื้นที่ความขัดแย้งขยายจริงๆ แล้ว

 

วันอาทิตย์ที่ 14 เป็นวันที่ 690 ของสงครามยูเครน อีกไม่นานจะถึงวันที่ 24 กุมภาพันธ์ของปีนี้ สงครามยูเครนจะครบ 2 ปีเต็ม และเดินสู่ปีที่ 3… สงครามยังไม่มีแนวโน้มที่จะยุติได้จริง รัสเซียกระชับระบบพันธมิตรทางทหารกับเกาหลีเหนือและอิหร่าน ทำให้กองทัพรัสเซียได้รับความสนับสนุนทั้งกระสุนและยุทโธปกรณ์ ขณะเดียวกัน ผู้นำยูเครนเดินทางเข้าร่วมการประชุม ‘เวทีเศรษฐกิจโลก’ (World Economic Forum) ที่ดาวอส เพื่อแสวงหาความสนับสนุนจากฝ่ายตะวันตก อันเป็นภาพสะท้อนว่าคู่สงครามทั้ง 2 ฝ่ายยังมีศักยภาพในการทำสงครามต่อไปในปีที่ 3 และสงครามยูเครนกำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบของสนามรบในอนาคต และชวนให้นักการทหารต้องเริ่มคิดถึงสงครามสมัยใหม่จากบทเรียนของสงครามยูเครนมากขึ้น

 

ขณะที่ปัญหาความมั่นคงทั้งในทะเลแดงและทะเลไต้หวัน ดูจะเริ่ม ‘ร้อน’ มากขึ้น พร้อมๆ กับสงครามในยูเครนและในกาซาที่เดินหน้าต่อไป และยังไม่เห็นการสิ้นสุดของการรบ ในอีกมุมหนึ่งของโลก สถานการณ์สงครามกลางเมืองในเมียนมา ‘ร้อน’ ไม่หยุด และทวีความเข้มข้นมากขึ้นนับตั้งแต่การรุกใหญ่ของฝ่ายต่อต้านรัฐบาลทหารในเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ปฏิบัติการเช่นนี้ ทำให้กองทัพรัฐบาลเมียนมาเป็นฝ่ายถอยร่นในหลายพื้นที่ แต่ก็ไม่ชัดเจนว่า รัฐบาลจะเป็นฝ่ายพ่ายแพ้หรือไม่ หรือกองกำลังของฝ่ายต่อต้านจะเอาชนะศึกครั้งนี้ได้จริง แต่ในอีกด้านสงครามจะทำให้เกิด ‘วิกฤตมนุษยธรรม’ อย่างแน่นอน 

 

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องไม่ลืมว่าสถานการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เกิดในช่วงแค่ครึ่งเดือนแรกของปีใหม่เท่านั้นเอง ระยะเวลาของปีนี้ยังทอดยาวไปอีกหลายเดือนข้างหน้า…

 

มังกรไฟ!

 

ทั้งหมดนี้บอกแก่เราอย่างเดียวว่าปี 2024 ไม่ใช่ ‘ปีมังกรทอง’ แต่เป็น ‘ปีมังกรไฟ’ ที่รัฐบาลไทยจะต้องคิดและใส่ใจกับประเด็นปัญหาในเวทีระหว่างประเทศมากขึ้น จะพาประเทศไทยหนีออกไปจาก ‘จอเรดาร์’ ของการเมืองโลกในแบบรัฐบาลชุดก่อนไม่ได้… ถึงเวลาจริงๆ แล้วที่รัฐบาลกรุงเทพฯ ต้องคิดเรื่องนี้ด้วยความใคร่ครวญมากขึ้น เพื่อเตรียมประเทศเผชิญกับความผันผวนของการเมืองโลกที่คาดเดาไม่ได้ในอนาคต

 

บางทีไฟจาก ‘มังกร 2024’ อาจจะร้อนมากกว่าที่เราคิดด้วย!

แฟ้มภาพ: Tomas Ragina / Shutterstock

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising