วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวภายในงาน The Year Ahead 2020 ‘Forging Resilience’ ของ บล. ภัทร ว่า ตั้งแต่ต้นปี 2563 สถานการณ์โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ความผันผวนและความเสี่ยงมีมากขึ้นต่อเนื่อง ทำให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติเป็นเอกฉันท์ในการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาอยู่ที่ 1% เพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้เศรษฐกิจไทย โดยสาเหตุที่ปรับลดดอกเบี้ยมาจาก 3 ปัจจัยเสี่ยงที่จะกระทบเศรษฐกิจไทย ได้แก่ การแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้า และภัยแล้ง
ทั้งนี้ ทาง ธปท. การทำนโยบายตั้งรับเชิงรุกเพื่อให้เท่าทันกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น โดยจะดูสถานการณ์ว่าต้องใช้ความสามารถในการดำเนินนโยบายการเงิน (Policy Space) อย่างไร
“วันนี้เรามี Policy Space เช่น ดอกเบี้ยนโยบาย และเครื่องมืออื่นๆ เพียงพอ ขณะเดียวกันก็พร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ หากเกิดสถานการณ์อะไรขึ้นอีก ก็สามารถใช้มาตรการ Policy Space รวมถึงเครื่องมืออื่นๆ ได้”
อย่างไรก็ตาม มาตรการการเงินเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย อย่างกรณีการแพร่ระบาดไวรัสโคโรนา ซึ่งส่งผลกระทบกระจายในหลายอุตสาหกรรม และส่งผลกระทบไม่เท่ากัน ดังนั้น มาตรการที่ตรงจุดคือ การใช้มาตรการทางการคลัง ซึ่งแม้ว่าจะออกมาตรการทางภาษีมาช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยวและส่งออกแล้ว แต่ยังติดปัญหางบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้าต่อเนื่องจากตุลาคม 2562 ทำให้ออกมาตรการทางการคลังอื่นๆ ไม่ได้
สุดท้ายแล้วการใช้เครื่องมือทางการเงินอย่างเดียว (การลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) ไม่ได้สามารถแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ จึงต้องประสานงานกับมาตรการกระทรวงการคลัง มาตรการการเงินในส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด เช่น แม้จะมีการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว ทาง ธปท. มีการพูดคุยกับสถาบันการเงิน เพื่อตั้งทีมงานดูแลลูกค้าเรื่องการปรับโครงสร้างหนี้ในต่างจังหวัด เพื่อให้ผู้ประกอบการยังประกอบธุรกิจได้ในระยะยาว
ขณะที่ค่าเงินบาทช่วงที่ผ่านมา ทาง ธปท. ไม่สบายใจที่เงินบาทปรับตัวแข็งค่าเร็วกว่าสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค และไม่สอดคล้องกับพื้นฐานของเศรษฐกิจไทย และตั้งแต่ต้นปี 2563 ที่ผ่านมาเงินบาทอยู่ในทิศทางอ่อนค่า แต่ยังไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจไทย
ดังนั้น ธปท. จึงร่วมกับกระทรวงการคลัง คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพื่อออกมาตรการต่างๆ เช่น ผ่อนคลายเกณฑ์ให้ผู้ส่งออกเก็บเงินในต่างประเทศ (กระทรวงการคลังออกประกาศ) ผ่อนคลายเกณฑ์การลงทุนในต่างประเทศในกลุ่มธุรกิจประกันภัย (คปภ.)
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล