ประเทศไทยเริ่มมีไฟฟ้าใช้ในปี 2427 แต่ก็ยังกระจุกตัวอยู่แค่ในเมืองหลวง จนกระทั่งปี 2503 การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA) เริ่มบุกเบิกนำไฟฟ้าสู่ประชาชน เร่งรัดพัฒนาไฟฟ้าสู่ชนบท
จากวันนั้นจนถึงวันนี้เป็นเวลากว่า 64 ปีที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคมุ่งมั่นพัฒนาไฟฟ้าสู่ชนบท ส่งเสริมความเจริญสู่ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม จนสามารถขยายเขตระบบจำหน่ายไฟฟ้าให้บริการประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่รับผิดชอบ 74 จังหวัดทั่วประเทศ (ยกเว้นกรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ)
โดยเฉพาะช่วงปี 2524 ที่ความเจริญของภาคธุรกิจอุตสาหกรรมเริ่มกระจายตัวจากเมืองสู่ชนบท การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ เพื่อยกระดับมาตรฐานระบบส่งจ่ายพลังงานไฟฟ้าและการบริการให้สามารถแข่งขันเชิงธุรกิจในระดับสากล
ปริมาณความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนเพิ่มขึ้นตามการเติบโตของเมืองและยุคสมัย นั่นเป็นเหตุผลที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาคปรับกลยุทธ์ขับเคลื่อนองค์กรสู่ ‘PEA Digital Utility’ องค์กรที่เป็นเลิศด้านธุรกิจพลังงานไฟฟ้า บริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้มีประสิทธิภาพด้วยระบบไฟฟ้าอัจฉริยะ สร้างคุณค่าให้กับประชาชน สังคม และสิ่งแวดล้อม ด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล
เนื่องในโอกาสการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคครบรอบ 64 ปี จึงจัดงานแถลงผลงาน พร้อมกางแผนบริหารจัดการพลังงานไฟฟ้าให้ประชาชนอย่างทั่วถึงในพื้นที่รับผิดชอบ ภายใต้วิสัยทัศน์ ‘ไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน’ (Smart Energy for Better Life and Sustainability) 64 ปีแห่งการพัฒนาพลังงานเพื่อสังคมไทย สู่อนาคตที่ยั่งยืนด้วยพลังงานสะอาด
เจาะไฮไลต์ผลงาน ‘การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค’ บนวิสัยทัศน์ ‘ไฟฟ้าอัจฉริยะเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีอย่างยั่งยืน’
PEA Digital and Green Grid
- ยกระดับระบบจำหน่ายแรงต่ำ นำ Advanced Metering Infrastructure (AMI) มาให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ทุกราย นำร่องใช้ AMI กว่า 1 แสนเครื่องในเมืองพัทยา และดำเนินการสับเปลี่ยน e-Meter แทนมิเตอร์จานหมุนทั่วประเทศโดยไม่มีค่าใช้จ่าย ภายใต้รูปลักษณ์ทันสมัย สามารถเก็บประวัติการใช้ไฟฟ้าได้ รองรับการซื้อขายไฟในอนาคต พร้อมจัดหาหม้อแปลงที่ติดตั้ง IoT sensors มาเพื่อตรวจวัดและจัดเก็บข้อมูล เสริมด้วยระบบบริหารจัดการหม้อแปลง Distribution Transformer Management System (DTMS) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการหม้อแปลงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
- เสริมความมั่นคงการจ่ายไฟ พัฒนาระบบ Micro Grid และ BESS แก้ไขปัญหาคุณภาพไฟฟ้าและจ่ายไฟฟ้ากรณีไฟฟ้าดับได้อย่างรวดเร็วในหลายพื้นที่ เช่น อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน, อำเภอพร้าว จังหวัดเชียงใหม่ ถือเป็นระบบจ่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่ใหญ่ที่สุดแห่งแรกในประเทศไทย นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งานสายเคเบิลใต้น้ำเส้นเดิมให้สูงขึ้น ต่อยอดการนำเทคโนโลยีระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ใช้งานร่วมกับพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) ในพื้นที่อำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี รวมไปถึงโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (Micro Grid) บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี สำหรับจ่ายกระแสไฟฟ้าให้ประชาชนที่ไม่มีไฟฟ้าใช้ โดยดำเนินการตามนโยบายของรัฐบาล
PEA Green Finance
- ESG Bond หรือพันธบัตรเพื่อความยั่งยืน อายุพันธบัตร 5 ปี วงเงินรวม 1 พันล้านบาท ถือเป็นรัฐวิสาหกิจด้านพลังงานแห่งแรกที่จัดทำกรอบการระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Framework) ที่สอดคล้องกับมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของอาเซียน (ASEAN Taxonomy) ได้สำเร็จ โดยนำเงินที่ได้ไปลงทุนในโครงการสายเคเบิลใต้น้ำไปยังเกาะเต่า จังหวัดสุราษฎร์ธานี และโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าแบบโครงข่ายไฟฟ้าขนาดเล็กมาก บนพื้นที่เกาะพะลวย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
PEA Digital Service
- พัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล เพิ่มช่องทางการให้บริการที่หลากหลายผ่านแอปพลิเคชัน PEA Smart Plus ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงบริการครบวงจรของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เช่น จ่ายค่าไฟฟ้า แจ้งไฟฟ้าขัดข้อง ขอใช้ไฟฟ้าใหม่ ดูสถานะการใช้ไฟแบบรายวัน (PEA Self Meter Reading) ไปจนถึงชำระค่าไฟผ่านระบบออนไลน์ พร้อมขอใบเสร็จรับเงิน ใบกำกับภาษีอิเล็กทรอนิกส์ (PEA e-Service) ได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง นอกจากนี้ยังพัฒนาช่องทาง LINE Official: PEAThailand เพิ่มความสะดวก ง่ายต่อการใช้งานมากยิ่งขึ้น
PEA Green Business
- PEA VOLTA สถานีอัดประจุไฟฟ้า ที่ติดตั้งไปแล้วกว่า 400 สถานีบนเส้นทางหลักทุกระยะ 100 กิโลเมตร ครอบคลุม 75 จังหวัด รองรับรถ EV หลากหลายแบรนด์ ให้บริการ 24 ชั่วโมง มีบริการเครื่องอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าพิกัดสูง (EV Super Charge) ขนาด 360 kW สามารถใช้บริการผ่านแอป PEA VOLTA ในการค้นหาตำแหน่งสถานีตรวจสอบสถานะสถานีอัดประจุไฟฟ้า ควบคุมการเริ่มหรือหยุดการอัดประจุแบบเรียลไทม์ และชำระค่าบริการผ่านระบบเติมเงิน พร้อมวิเคราะห์สุขภาพแบตเตอรี่
เพิ่มบริการอัดประจุที่สถานี PEA VOLTA ให้กลุ่มลูกค้าองค์กรทั้งภาครัฐและเอกชน (VOLTA Fleet) สามารถบริหารค่าใช้จ่ายผ่านระบบ Master Account และ Account ย่อย ช่วยลดระยะเวลาในการเบิกจ่ายค่าอัดประจุขององค์กร พร้อมสรุปรายงานการชาร์จของรถแต่ละคัน จึงสามารถตรวจสอบย้อนหลังได้
- PEA VOLTA Platform ระบบบริหารสถานีอัดประจุยานยนต์ไฟฟ้าขนาดเล็กผ่าน Termfai Platform โดยมี PUPAPLUG เต้ารับสำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า พิกัด 3.7 kW และ PUPAPUMP สำหรับธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า พิกัด 7.2 kW
- Solar Rooftop ส่งเสริมการติดตั้งระบบไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ให้บริการติดตั้ง บำรุงรักษา ไปจนถึงบริการจัดการพลังงานในองค์กร ได้แก่ Renewable Energy (RE) ในรูปแบบ ESCO Model Guaranteed Rebate และ Energy Efficiency (EE) ในรูปแบบ ESCO Model Shared Saving
- จัดหาใบรับรองเครดิตการผลิตพลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy Certificate: REC) สำหรับองค์กรที่มีเป้าหมายมุ่งสู่ความยั่งยืนหรือความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายใต้มาตรฐาน International Renewable Energy Certificate (I-REC) ที่ยืนยันว่าพลังงานไฟฟ้าที่ธุรกิจใช้เป็นพลังงานสะอาดที่ได้มาจากแหล่งพลังงานหมุนเวียน เช่น แสงอาทิตย์ ลม น้ำ ความร้อนใต้พิภพ ชีวมวล และก๊าซชีวภาพ
- CARBONFORM แพลตฟอร์มประเมินการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ช่วยบริหารจัดการการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถระบุแหล่งที่มาของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างละเอียด ติดตามความคืบหน้าของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกแบบเรียลไทม์ เพื่อง่ายต่อการวางแผนกลยุทธ์การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
PEA Sustainability Society
- โครงการ 1 ตำบล 1 ช่างไฟฟ้า ร่วมกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงานและกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น จัดอบรมช่างไฟฟ้า เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนช่างไฟฟ้าในท้องถิ่น ให้สามารถบริการซ่อมแซมไฟฟ้าตามมาตรฐานความปลอดภัย และขยายผลดำเนินการโครงการ 1 หมู่บ้าน 1 ช่างไฟฟ้า ตามภารกิจกระทรวงมหาดไทยที่สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs โดยร่วมกับ 4 กระทรวง 3 หน่วยงาน ตั้งเป้าภายในปี 2569 จะมีช่างไฟฟ้าที่ผ่านการอบรมจากโครงการครบทุกหมู่บ้านในพื้นที่ 74 จังหวัด
- โครงการ PEA LED เพื่อแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทย ติดตั้งหลอดประหยัดพลังงาน LED ส่องสว่างโบราณสถานและแหล่งท่องเที่ยว ประหยัดค่าไฟฟ้า และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก
- โครงการ PEA พลังงานสะอาดเพื่อชุมชน สนับสนุนเครื่องยนต์เรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิง ลดมลพิษทางอากาศและความดังของเสียงเครื่องยนต์ อีกหนึ่งแนวทางส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบคาร์บอนต่ำ
- โครงการขยายเขตไฟฟ้าให้พื้นที่ทำกินทางการเกษตร ระยะที่ 2 ขยายเขตไฟฟ้าให้เกษตรกร 55,876 ราย ในพื้นที่ทำกินทางการเกษตรและพื้นที่ห่างไกลให้มีไฟฟ้าใช้ครอบคลุมทุกครัวเรือน โดยในปี 2567-2571 จะดำเนินงานในระยะที่ 3 ยกระดับมาตรฐานความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตของเกษตรกร
- โครงการ PEA ส่งเสริมพลังงานทดแทนเพื่อวิสาหกิจชุมชน สนับสนุนโรงอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อใช้อบแห้งผลผลิตทางการเกษตรให้มีมาตรฐานตามความต้องการของตลาด
- มาตรการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าประชาชนตามนโยบายรัฐบาล ขยายระยะเวลางดจ่ายไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยที่มียอดการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 บาทต่อเดือน และค้างชำระค่าไฟฟ้าได้ไม่เกิน 3 บิลเดือน ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2567
ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค
สำหรับก้าวต่อไปของ PEA ศุภชัย เอกอุ่น ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เผยว่า “PEA ยังคงมุ่งเน้นระบบโครงข่ายและระบบจำหน่ายที่มั่นคง รองรับการขยายตัวของลูกค้าอุตสาหกรรม และการเพิ่มขึ้นของพลังงานสะอาด สร้างพันธมิตรกับเครือข่ายสตาร์ทอัพ เพื่อนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ยกระดับผลประกอบการของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ต่อยอดสู่ธุรกิจใหม่ รวมถึงเตรียมความพร้อมของระบบ เพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงพลังงานในอนาคต ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของ Grid Modernization วางแผนการดำเนินงาน Green Tech Fund เพื่อสร้างผลตอบแทนการลงทุน พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการดำเนินงานของ PEA และยกระดับการพัฒนาองค์กรไปสู่ Carbon Neutrality”