วานนี้ (31 สิงหาคม) อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กลับมามีบทบาทในประเทศอีกครั้ง โดยระบุว่า ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงไปจากวันที่ทักษิณเคยเรืองอำนาจ
ส่วนที่ทักษิณเข้ามามีบทบาทในการบริหารประเทศจะกระทบกับการบริหารประเทศมากน้อยแค่ไหนนั้น อภิสิทธิ์กล่าวว่า จริงๆ สังคมก็มองออกว่าทักษิณมีบทบาทมาต่อเนื่อง เพียงแต่จะเปิดเผยมากน้อยแค่ไหนเท่านั้นเอง ส่วนหนึ่งถ้ามองในมุมบวกก็ต้องบอกว่า สำหรับคนที่เชื่อในแนวทางนั้นก็อาจจะมีความเชื่อมั่น มีความมั่นใจมากขึ้น อาจจะทำให้การประสานงาน อาจจะใช้ประสบการณ์ผลักดันในสิ่งที่ตัวเองต้องการ
“ขณะเดียวกัน อย่างที่ผมเคยบอกว่า วันที่คุณทักษิณเคยมีอำนาจมากมายมหาศาล สุดท้ายก็ต้องยุติลงด้วยหลายสิ่งหลายอย่างที่เป็นความไม่ถูกต้อง ดังนั้นถ้ายังไม่เก็บเกี่ยวบทเรียนตรงนี้ ความเสี่ยงที่จะเกิดแบบนี้อีกก็มี” อภิสิทธิ์กล่าว
สื่อมวลชนถามว่า ก่อนหน้านี้ช่วงที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ลงเล่นการเมือง อภิสิทธิ์เคยปราศรัยว่า สงสารยิ่งลักษณ์ วันนี้ แพทองธาร ชินวัตร มาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว มองอย่างไร อภิสิทธิ์กล่าวว่า เรากำลังพูดถึงคนในครอบครัว ตนเองไม่ไปก้าวล่วงในแง่ความสัมพันธ์ในครอบครัวว่าจะเป็นอย่างไร แต่แสดงว่าเป็นแนวทางที่ต้องสอดรับกัน
“ผมเคยพูดหลายครั้งว่า แม้จะต่อสู้กับพรรคเพื่อไทยมาอย่างยาวนาน ก็ยอมรับว่าพรรคเพื่อไทยมีความสำเร็จในบางเรื่อง และเสียดายว่าเขาไม่ได้ต่อยอดเอาตรงนั้นมาเป็นแกนในการขับเคลื่อนพรรค และยังไม่สามารถที่จะก้าวพ้นครอบครัวได้” อภิสิทธิ์ระบุ
ส่วนทั้งทักษิณและยิ่งลักษณ์ต่างมีจุดจบที่ไม่สวย มาวันนี้สังคมก็มองว่าจุดจบของแพทองธารจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ อภิสิทธิ์กล่าวว่า เราไม่อยากให้มีปัญหา จริงๆ ดีที่สุด หากรัฐบาลสามารถที่จะแก้ไขปัญหาของประเทศบนความถูกต้องได้ ทุกคนก็ควรจะดีใจ
ส่วนจะมองว่าจากนี้จะมีการปฏิวัติรัฐประหารเกิดขึ้นหรือไม่ เพราะคนในตระกูลชินวัตรมาเป็นนายกฯ คนที่ 3 แล้ว อภิสิทธิ์กล่าวว่า คงไม่ใช่เรื่องตระกูลหรืออะไร แต่อยู่ที่ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้มันมีเงื่อนไข และเราก็ไม่อยากจะต้องไปสู่จุดนั้นกันอีก
อภิสิทธิ์ยังประเมินรัฐบาลของแพทองธารว่าจะอยู่ครบวาระหรือไม่ โดยมองว่า สภาน่าจะอยู่ครบวาระ เพราะก็มองไม่เห็นว่าจะมีปัญหาในพรรคร่วมรัฐบาล และไม่น่าจะมีพรรคไหนอยากเลือกตั้งเร็ว
อภิสิทธิ์ยังให้ความเห็นว่า จุดอ่อนหรือจุดตายของรัฐบาลชุดนี้ คือปัญหาศรัทธาของประชาชนที่ไปเกี่ยวข้องกับความไม่ถูกต้อง