×

เณรกระโดดกำแพง บันทึกชีวิตของคนรักหนัง และวิบากกรรมของการเป็นคนจน

27.06.2023
  • LOADING...
เณรกระโดดกำแพง

**บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของหนังเรื่อง เณรกระโดดกำแพง **

 

หลายคนอาจคุ้นชื่อของ สืบ-บุญส่ง นาคภู่ ในฐานะนักแสดง แต่แท้จริงแล้วนอกจากอาชีพนักแสดง เขายังเป็นผู้กำกับหนังอิสระที่มีผลงานออกมาอยู่เนืองๆ ตลอดหลายสิบปีที่ผ่านมา และ เณรกระโดดกำแพง ก็เป็นหนึ่งในผลงานที่หลายคนต่างกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘นี่คือหนังที่ดีที่สุดของ สืบ-บุญส่ง นาคภู่’ 

 

เณรกระโดดกำแพง ว่าด้วยเรื่องราวอันแสนเรียบง่าย เมื่อผู้กำกับได้ถ่ายทอดชีวิตของตัวลงไปในงานเป็นเส้นขนาน กับเรื่องราวของสามเณรรูปหนึ่งในรูปแบบของหนังสารคดีที่ซ้อนทับกับหนังฟิกชัน ภาพของคนทำหนังที่พยายามกระเสือกกระสนหาทางให้ตัวเองได้ทำตามความฝัน กับสามเณรหนุ่มที่ยอมทำผิดจริยธรรมเพื่อให้ตัวเองได้ดูหนัง กลายเป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักอันแรงกล้าที่พวกเขามีต่อ ‘ภาพยนตร์’

 

โดยเฉพาะเมื่อมันถูกถ่ายทอดออกมาผ่านชีวิตของผู้กำกับ ที่ครั้งหนึ่งตัวเขาก็เคยบวชเป็นสามเณรด้วย และเรื่องราวเหล่านั้นก็ได้ไหลรวมกันกลายเป็นความหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์ ที่สามารถบันทึกช่วงเวลาต่างๆ ได้ แม้มันจะกลายเป็นอดีต ทั้ง ผู้คน เพื่อนฝูง ครอบครัว หรือแม้แต่ความทรงจำ 

 

 

ในที่นี้ภาพของกลุ่มคนทำหนังที่พยายามวิ่งตามความฝันจึงกลายเป็นเหมือนอนาคตที่เอาแน่เอานอนไม่ได้ การต่อสู้กับความจริงอันโหดร้ายในฐานะคนทำหนังอิสระจึงเป็นเรื่องที่เสียดแทงตัวเขาและทีมงาน ที่ร่วมเดินทางตามหาสถานที่ถ่ายทำหนังเรื่องใหม่ พลางเจรจาต่อรองกับทุกฝ่ายเท่าที่จะเป็นไปได้

 

แต่ก็ต้องพบความจริงว่าโลกไม่ได้ให้คุณค่ากับเรื่องเล่าและงานศิลปะขนาดนั้น เมื่อเด็กหนุ่มที่มาเรียนทำหนังกับเขาได้พูดหยอกล้อกึ่งเล่นกึ่งจริงว่า “ถ้าพี่ทำหนังแบบนี้ไปอีกสัก 20 เรื่องโลกก็จะหันมามองเอง” คำถามก็คือในฐานะคนทำหนังตัวเล็กๆ คนหนึ่ง เขามีสิทธิ์ที่จะเล่าเรื่องที่ตัวเองอยากจะเล่ามากขนาดนี้เลยหรือ ในโลกที่ทุกอย่างต้องสร้างขึ้นมาจากเม็ดเงินจำนวนมหาศาล และบางทีกว่าจะไปถึงจุดนั้นชีวิตของเขาก็อาจไม่มีเวลาเหลือมากพอที่จะได้ทำหนังอีกต่อไปแล้ว เช่นเดียวกับที่ Martin Scorsese เคยพูดเอาไว้ว่า “ตัวเขามีเรื่องที่อยากจะเล่าอีกมากมาย แต่เมื่อถึงเวลามันก็สายเกินไปแล้ว” 

 

 

ถึงกระนั้น มันก็ไม่ได้มีแต่เรื่องร้ายเสมอไป เมื่อการเดินทางมาดูสถานที่ทำหนังเรื่องใหม่ทำให้เขาพบเจอกับผู้คนที่เคยข้องเกี่ยวในชีวิต นัยหนึ่งนอกจากการตามหาความฝันแล้ว การที่ได้เจอกับผู้คนเหล่านั้นยังกลายเป็นการทบทวนเรื่องราวในอดีตที่พวกเขาเคยมีร่วมกัน ความสัมพันธ์ที่ถูกถักทอขึ้นมาด้วยสายใยของคนทำหนังและชาวบ้าน กลายเป็นภาพสะท้อนที่ยากจะเห็นได้จากหนังที่ใช้ดาราเล่น

 

ที่สำคัญคือ ทุกคนมีจุดร่วมเหมือนกันอย่าง ‘ความจน’ และการที่ได้เล่นหนังนั้นก็อาจเป็นบันไดที่จะนำพาให้พวกเขาหลุดพ้นจากความยากลำบาก และมันยิ่งขมขื่นขึ้นเมื่อบทสนทนาระหว่างผู้กำกับ กับอดีตนักแสดงผู้เคยเล่นเป็นพระเอกในหนังของเขา ได้เผยให้เห็นว่าสำหรับคนต่างจังหวัดแล้ว การเข้ากรุงเทพฯ อาจเป็นเหมือนโอกาส หรือทางรอดเดียวที่พวกเขามี แต่ท้ายที่สุดแล้วมันอาจไม่ได้นำมาซึ่งสิ่งใดเลยนอกจากชีวิตที่หยุดนิ่งอยู่กับที่เดิม   

 

“มึงไปกรุงเทพฯ กี่ครั้งแล้ววะ?”

“ก็นับครั้งไม่ถ้วนแล้วละครับ”

“แล้วดีขึ้นไหม?”

“ก็ไม่มีอะไรดีขึ้นมาเลยครับ”

 

และเมื่อเรามองย้อนกลับไปดูผลงานของ สืบ-บุญส่ง นาคภู่ ทั้งหมด ก็จะพบว่าเรื่องราวในหนังของเขาส่วนใหญ่มักวนเวียนอยู่กับชาวบ้าน ชีวิต และความจน ซึ่งหากใครสงสัยใคร่ครวญว่าทำไมหนังถึงมีแต่เรื่องแบบนี้ คำตอบมันก็ง่ายแสนง่าย เพราะนี่คือชีวิตของตัวเขาเอง 

 

การทำหนังจึงเปรียบเหมือนการบำบัดในรูปแบบหนึ่ง และมากไปกว่านั้นคือ การทำให้ผู้ชม ‘รู้สึก’ ในแบบเดียวกัน ซึ่งแน่นอนว่าใครจะเล่าเรื่องของตัวเราได้ดีที่สุดนอกเสียจากตัวของเราเอง

 

 

อย่างไรก็ตาม นอกจากทางฝั่งผู้กำกับแล้ว เราจะเห็นได้ว่าความจนยังแผ่ซ่านมาถึงเด็กหนุ่มที่ต้องจำยอมบวชเพราะสาเหตุนี้ด้วย สามเณรหนุ่มไม่ได้อยากบวชด้วยความตั้งใจของตน แต่ถูกบีบบังคับด้วยความจนต่างหาก และมันยิ่งน่าตั้งคำถามมากขึ้นเมื่อผู้กำกับทำให้เราเห็นว่า สามเณรหนุ่มคนนี้ไม่ได้รักในภาพยนตร์เพียงอย่างเดียว แต่เขาหลงรักหญิงสาวนางหนึ่งด้วย ตัวละครนี้จึงเรียกได้ว่าอยู่คาบเกี่ยวกับเส้นศีลธรรมก็คงจะไม่ผิดนัก

 

และการที่เขาต้องพยายามดิ้นรนหาทางให้ตัวเองทำตามความฝัน ก็เป็นสิ่งที่ไม่ต่างอะไรกับผู้กำกับที่กำลังทำทุกวิถีทางให้ตัวเองได้ทำหนัง ภาพของคนทั้งสองจึงซ้อนทับกันกลายเป็นเหมือนเรื่องราวในอดีตและอนาคตที่ยังคงวิ่งตามทางของตัวเอง แม้จะต้องต่อสู้กับอุปสรรคนานัปการ

 

สำหรับสามเณรหนุ่มสิ่งที่เป็นกำแพงขวางกั้นระหว่างตัวเขากับความฝันอาจไม่ใช่เรื่องที่ใหญ่นัก เพราะเป็นแค่ข้อห้ามทางศีลธรรม ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงแค่เขาสึกก็เป็นอันหลุดพ้นจากพันธะเหล่านั้นแล้ว เพียงแต่มันไม่ได้ง่ายดายแบบที่คิด เมื่อมองย้อนกลับไปว่าชีวิตของเขายังมีสมการที่เรียกว่า ‘ความจน’ อยู่

 

 

ส่วนทางผู้กำกับนั้นอาจเรียกได้ว่า หนักหนาสาหัสกว่านัก เมื่อสิ่งที่ขวางกั้นระหว่างตัวเขากับความฝันไม่ใช่กำแพงเล็กๆ อย่างกำแพงวัด หากแต่เป็นกำแพงของโลกทุนนิยมที่ตีตราให้ค่ากับเรื่องเล่าและงานศิลปะเป็นเพียงแค่ตัวเลข ทางเลือกของคนทำหนังที่ต้องต่อสู้ท่ามกลางสภาวะเหล่านี้จึงมีเพียงแค่สองทางคือ ทำหนังโดยใช้เงินให้น้อยที่สุด (แต่ต้องดี) กับยอมแพ้แล้วไปทำอย่างอื่น ซึ่งแน่นอนว่าทางเลือกที่สองดูเป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าเยอะ 

 

เพียงแต่คำถามที่แท้จริงของหนังเรื่องนี้อาจเป็นการแสดงให้เห็นว่า ‘ถ้ามีความฝันอันแรงกล้าคุณจะต่อสู้เพื่อมันไหม ในโลกที่งานของคุณอาจเป็นเพียงแค่อากาศธาตุสำหรับคนอื่น’ และการนั่งดูหนังเรื่องนี้ก็เปรียบได้กับการเฝ้ามองกลุ่มคนที่กำลังต่อสู้เพื่อสิ่งนั้น ทว่ามันไม่ใช่การแสดงความแตกหักให้กับคนดูได้เห็น หากแต่เป็นจับจ้องชีวิตที่ผ่านมาและกำลังผ่านไปของพวกเขาในโลกภาพยนตร์ โดยเฉพาะกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไปตามกาลเวลา 

 

 

ภาพของหนังไทยที่ถูกถ่ายโดยฟิล์มสิบหกในโรงหนังร้างจึงกลายเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นถึงความรุ่งโรจน์ในอดีต และพลังของภาพยนตร์ในฐานะภาพเคลื่อนไหวที่สามารถชุบชีวิตสิ่งที่ตายไปแล้วให้กลับขึ้นมาอีกครั้ง แต่แท้จริงแล้วมันไม่เคยหายไปไหน เพียงแค่เปลี่ยนรูปร่างจากม้วนฟิล์มไปสู่ดิจิทัลเท่านั้นเอง

 

และโรงหนังก็กลายเป็นห้วงเวลาที่คนเหล่านั้นจะได้คิดทบทวนชีวิตของตัวเอง เมื่อเรื่องเล่าในอดีตได้มาบรรจบกับปัจจุบันก่อเกิดคำถามที่ใคร่ครวญชีวิตว่า ‘ตัวเองทำหนังไปเพื่ออะไร เพื่อเงิน เพื่อชื่อเสียง หรือเพื่อมีตัวตน’   

 

ท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนอยากกระโดดข้ามกำแพงนั้น กำแพงที่ตั้งคำถามว่า แท้จริงแล้วเราทำสิ่งนั้นไปเพื่ออะไร คุณค่าของมันอยู่ตรงไหน และเราสมควรเดินหน้าแบกรับความฝันต่อไป หรือปล่อยวางมัน

 

ไม่ว่าจะเลือกทางไหน สำหรับ สืบ-บุญส่ง นาคภู่ คำตอบของเขาก็คงชัดเจนและงดงามเหมือนกับช่วงเวลาสุดท้ายอันเงียบงันของภาพยนตร์

 

สามารถรับชม เณรกระโดดกำแพง ได้แล้ววันนี้ทาง Netflix 

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X