“ตอนนั้นที่นี่สวยมาก พื้นที่เขียวขจี ผักอร่อย พอถึงวันหยุดเราทุกคนก็ซ้อมละครโนกัน และทุกอย่างก็เปลี่ยนไป”
The Village คือผลงานการกำกับของ ฟูจิอิ มิจิฮิโตะ (The Last 10 Years) ว่าด้วยเรื่องราวของ ยู คาตายามะ (ริวเซย์ โยโกฮามา) ชายหนุ่มผู้อาศัยอยู่ในหมู่บ้านแห่งหนึ่ง โดยที่หมู่บ้านแห่งนี้มีวัฒนธรรมเก่าแก่อย่างหนึ่งคือ ละครโน ศิลปะการแสดงที่มีอายุกว่า 700 ปี และเป็นการแสดงละครหน้ากากที่เก่าแก่ที่สุดในโลก
แต่เมื่อเวลาผ่านไป สิ่งเหล่านี้ก็ค่อยๆ จางหาย และถูกแทนที่โดยโรงงานกำจัดขยะขนาดใหญ่ ซึ่งเข้ามาหล่อเลี้ยงเงินทุนของหมู่บ้าน ยูที่เลิกแสดงละครโนไป ได้เข้ามาทำงานที่บริษัทแห่งนี้ เพื่อหาเงินมาใช้หนี้แทนแม่ของเขาที่ติดการพนันจนไม่เป็นอันทำอะไร วันหนึ่ง มิซากิ (ฮารุ คุโรกิ) เพื่อนสมัยเด็กของยูได้เดินทางกลับมาจากโตเกียว และเข้ามาทำงานในบริษัทเดียวกัน และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นทำให้ชีวิตของเขาไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
แม้ว่าจุดเริ่มต้นของ The Village จะมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาพยนตร์เลือกที่จะเปิดเรื่องด้วยการแสดงละครโนของชาวบ้าน ซึ่งเป็นเหมือนป้ายประกาศว่า สิ่งที่ผู้ชมกำลังจะได้ดูต่อจากนี้อาจเกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการแสดงที่มีประวัติความเป็นมาหลายร้อยปีในหมู่บ้านแห่งนี้ แต่สิ่งที่ฟูจิอิทำกลับตรงกันข้าม เมื่อเขาเลือกที่จะปัดตกประเด็นเหล่านั้นทิ้งไปอย่างรวดเร็ว และเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของตัวละครที่ต้องก้าวผ่านอุปสรรคในโรงงานกำจัดขยะแทน
ปัญหาข้อใหญ่ของภาพยนตร์เรื่องนี้ที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือ การที่ฟูจิอิเลือกที่จะเล่าเรื่องราวของภาพยนตร์ด้วยประเด็นที่มากจนเกินไป ไม่ว่าจะเป็น ละครโน, พื้นหลังของหมู่บ้าน, การคัดค้านการสร้างโรงงานกำจัดขยะ, ปมในใจของตัวละคร, การเมือง, อำนาจ หรือทุนนิยม ซึ่งแน่นอนว่าด้วยประเด็นที่มากมายขนาดนี้มันไม่ใช่สิ่งที่จะสามารถเอาไปใส่ในภาพยนตร์เรื่องหนึ่งที่มีเวลาจำกัดเพียงแค่ 2 ชั่วโมงได้ หรือต่อให้ทำได้ มันก็ยากมากที่จะควบคุมให้ออกมาอยู่ในคุณภาพที่ดีจนพอจะพูดได้ว่า ‘ผู้กำกับเอาอยู่’
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อฟูจิอิเลือกที่จะโยนจุดขายที่น่าสนใจที่สุดของภาพยนตร์ทิ้งไปอย่างไม่ไยดี สิ่งที่เหลืออยู่ในภาพยนตร์จึงมีแต่ความล้มเหลวในการกำกับที่ดูจะพยายามผลักให้ตัวละครต้องประสบพบเจอชะตากรรมในทิศทางเดียวกับพ่อ ซึ่งแน่นอนว่ามันประหลาดและประดิษฐ์อย่างถึงที่สุด เพราะตัวละครเปลี่ยนแปลงตัวเองจากหลังมือเป็นหน้ามือด้วยระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่วินาที และมันไม่มีคำอธิบายใดๆ อยู่เบื้องหลังสิ่งเหล่านั้นเลยแม้แต่นิดเดียว
ผู้เขียนไม่รู้ว่าควรโทษที่ตัวบทหรือการกำกับกันแน่ เพราะทั้งสองอย่างต่างอ่อนแอจนเอาแน่เอานอนไม่ได้ ราวกับว่าฟูจิอิไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าเรื่องไหนเป็นประเด็นความขัดแย้งหลักที่ต้องการจะนำเสนอให้กับผู้ชม เขาเปลี่ยนจากโครงเรื่องหนึ่งไปสู่อีกโครงเรื่อง และในท้ายที่สุด ทั้งโครงเรื่องและตัวละครก็ไม่ได้รับการเติมเต็มอย่างเหมาะสม
อย่างไรก็ตาม หากเรามองประเด็นที่ดูจะจับต้องได้มากที่สุดในเรื่องก็คงจะเป็น วัฒนธรรมละครโนที่ค่อยๆ ล้มหายตายจากไป เพราะการเข้ามาของบริษัทยักษ์ใหญ่ในหมู่บ้าน และการใช้อำนาจในการโกหกเพื่อเปลี่ยน ‘ดำ’ เป็น ‘ขาว’ ของนายทุน ซึ่งทั้งสองประเด็นนี้ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ฟูจิอิอยากจะเล่ามากที่สุด แต่ผู้เขียนก็ไม่อาจทราบได้ว่า เหตุใดเขาถึงเลือกที่จะให้เวลากับสิ่งที่ดูไม่ได้มีความสำคัญอะไรเลยแทนที่จะเป็นเรื่องเหล่านี้
ตัดกลับมาทางฝั่งของตัวละครบ้าง ยู คาตายามะ เป็นตัวละครที่ถูกเซ็ตขึ้นมาว่าเขาเป็นคนที่ถูกสังคมกีดกันเป็นเวลานาน แต่เขากลับได้รับความรักและความเสน่หาทั้งหมดในชั่วข้ามคืน ซึ่งแน่นอนว่ามันเปลี่ยนแปลงตัวเขาจนแทบจะจำเค้าเดิมไม่ได้ เหมือนกับมุกตลกที่เล่นกันทั่วไปอย่าง ‘ความรักชนะทุกสิ่ง’
ส่วนตัวละครที่เป็น Plot Point หรือจุดหักเหของภาพยนตร์อย่าง มิซากิ และ โทรุ (วาตารุ อิจิโนเสะ) ก็ดูเหมือนมีนัยที่จงใจเสียเหลือเกิน การมีอยู่ของสองคนนี้คือสิ่งที่ทำให้ยูเกิดการพัฒนาภายในเรื่อง มิซากิเป็นเหมือนธงที่ฟูจิอิตั้งเอาไว้ว่า เธอจะต้องเข้ามาเปลี่ยนแปลงยูให้กลายเป็นชายหนุ่มที่ตั้งใจทำงานและรักบริษัท ซึ่งเป็นสิ่งที่สวนทางกับตัวตนของเขาในช่วงแรกอย่างถึงที่สุด เพราะต้นเรื่องเราจะเห็นได้ว่า ยูไม่ใช่คนที่รักบริษัท และเขากล้ำกลืนทำงานเพื่อใช้หนี้แทนแม่เท่านั้น
ทางด้านของ โทรุ ที่เป็นเหมือนเจ้านายและเพื่อนร่วมงานในบริษัท เขามักจะแสดงท่าทีโกรธเกลียดต่อยู และแสดงอาการหึงหวงต่อมิซากิ แน่นอนว่าด้วยลักษณะนิสัยแบบนี้เราคงไม่ต้องแง้มอะไรอีกแล้วว่าธงที่ฟูจิอิตั้งเอาไว้ให้กับชายหนุ่มร่างกำยำนั้นคืออะไร เพราะมันเป็นสิ่งที่หลายคนเดาได้ตั้งแต่แรกเห็น โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมันโจ่งแจ้งเกินไปจนเหมือนยัดเยียด
แม้นักแสดงจะทำหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มความสามารถ และมีบางฉากที่สมควรได้รับคำชมจากใจจริง ผู้เขียนก็ขอกล่าวอย่างตรงไปตรงมาเลยว่า การแสดงของพวกเขาคือสิ่งที่ช่วยชีวิตภาพยนตร์เอาไว้ พอๆ กับงานภาพที่ถูกถ่ายออกมาด้วยความประณีตของ โทโมยูกิ คาวาคามิ ซึ่งเป็นจุดเด่นที่สุดของภาพยนตร์เรื่องนี้
แต่ก็น่าเสียดายที่มันไม่สามารถปกปิดรอยแผลขนาดใหญ่ที่โผล่ขึ้นมาด้วยเหตุปัจจัยอื่นๆ ตลอดทั้งเรื่องได้
สามารถรับชม The Village ได้แล้ววันนี้ ทาง Netflix